เส้นทางที่ต้องพิสูจน์ตัวเองของแคทลียา อัศวานันท์
นิทรรศการจากดาวน์สู่ดาวของคุณแคทลียา อัศวานันท์ คือการคัดเลือกจากผลงานกว่าสองร้อยชิ้นมาจัดแสดง เธอต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่า งานศิลปะของเธอไม่ใช่ แค่งานง่ายๆ
สิ่งที่เหมียววาดได้ดีคือ
“ความรู้สึก”
ไม่ใช่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทรงคุณวุฒิด้านศิลปะ แต่เป็นความเห็นของ คุณแม่จ๋า (คุณพรประภา อัศวานันท์) คนที่รู้จักคุณเหมียวมาทั้งชีวิต และภาพที่คุณเหมียวเลือกมาเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกเบื้องหลังงานแต่ละชิ้นนั้น เราสัมผัสได้ถึง ความคิด ความรู้สึกมากมาย และลึกซึ้ง
[ ภาพเจ้าหมาขี้ผวาหมา ]
คุณเหมียว “มันกดดันนะ มันไม่ใช่แค่หมานะ อาม่าก็เสียไปแล้วด้วย”
BeamTalk นี่กำลังหมายถึงความตาย การสูญเสีย ? (คุณเหมียวเพิ่งสูญเสียคุณยายไปเมื่อไม่นานมานี้)
คุณเหมียว “ใช่ มันไม่ได้อยู่ในโลกมนุษย์ ก็อยากให้อยู่ด้วยกันไปตลอด แต่มันต้องไป”
BeamTalks นี่คือวิธีการทำงานใช่ไหมคะ เมื่อมีความรู้สึกเข้ามากระทบ ?
คุณเหมียว “ทุกคนแหละ…”
BeamTalks ไม่นะ บางคนมีความรู้สึกเสียใจ เขาอาจแค่เขียนสเตตัสในเฟซบุ๊ค บางคนก็แค่ระบายเป็นคำพูด ด่าว่าออกมา ไม่ใช่ทุกคนจะวาดออกมาเป็นภาพเหมือนคุณ
คุณเหมียว “ความรู้สึกหรือคำพูดนั้น เราอาจจะมองไม่เห็นว่าเรารู้สึกอย่างไร ถ้าเราไม่ส่องกระจก เราจะกลายเป็นคนที่มีคนเกลียดเรา เราอย่าไปพูดในสิ่งที่ ไม่น่าจะพูดเลยดีกว่า”
“คำพูด คำจา
ที่ไม่เห็นความรู้สึกของคน
เพราะความรู้สึกในใจเรา
มันมองไม่เห็น
นี่มันรู้สึกแย่เนอะ”
[ ภาพชีวิตโดดเดี่ยวในห้อง ]
คือ สภาพสังคมรอบตัว มีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกัน มีคนทำร้ายร่างกายกันจนต้องติดคุก
แต่ในภาพ คือ ความโดดเดี่ยวที่อยู่ในใจเรา
คุณมีวิธีผ่อนคลายตัวเองอย่างไร ?
คุณเหมียว “ก็พยายามฟังเขาเยอะๆ แต่พอเจอคำพูดแรงๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเขาคิดยังไง หนูคิดนะไม่ใช่ไม่คิด คนเราก็ต้องมีการปลดปล่อย ของหนูก็ใช้การทำงานวาดภาพ ไม่อยากไปเล่นกับอารมณ์คนอื่น”
คุณเหมียว “การเรียนต้องฝึกฝน อยู่ที่บ้านก็ทำสเก็ตซ์ไป แต่ลงมือทำงานจริงในสตูดิโอที่เรียน งานอย่างชิ้นใหญ่ๆ นี่ใช้เวลาหลายวัน ช่วงปีหนึ่ง ปีสองอาจารย์ก็จะให้หัวข้อนะ มาปีหลังๆ นี่ ปล่อยอิสระแล้ว การวาดภาพหนูโอเคอยู่ แต่ติดขัดเขียนบรรยายไม่ได้ ต้องใช้การคุยแล้วมีคนเขียนออกมา หนูนำเสนอพอได้ แต่การสื่อสารอาจจะยังไม่ดีนักอาจจะไม่เข้าใจกันต้องมีคนแปล งานของหนูใช้สีผสม สีตัดกัน ครูกอล์ฟ (อาจารย์สุทธาสินีย์ สุวุฒโท) เป็นคนแนะนำ หนูก็ชอบนะ สีมันสวยดี การเลือกใช้สีก็ตามที่เรียนรู้มา”
[ ภาพดำน้ำ ] ผลงานได้รับการคัดเลือกไปร่วมจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อถามเธอว่า ศิลปะคืออะไร ?
“ใจรักอย่างเดียว ไม่มีกรอบกำหนด”
Beam Talks มีโอกาสได้พูดคุยเบื้องหลังที่มาของงานของคุณเหมียวกับ อาจารย์สุทธาสินีย์ สุวุฒโท (ครูกอล์ฟ) คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ทั้งกระบวนการขึ้นชิ้นงาน พัฒนาการ และ ขั้นตอนการประเมินผลงานซึ่งต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
คุณครูกอล์ฟ “เดิมสถาบันฯ รับนักศึกษาพิการทางร่างกาย ก็มีแคทเข้ามาเป็นเคสสมองรุ่นแรก การทำงานกับแคท ครูจะช่วยดูกำชับในรายละเอียด ล้างสีหรือยัง บางทีเหมือนเขาจะทำเพลินไปสีก็ไม่มีคุณภาพ ครูจริงจัง บางทีก็ดุ คุณเปลี่ยนน้ำ คุณเพิ่มตรงนี้ คุณไม่ดูสเก็ตซ์เลย ก็โต้ตอบกันเหมือนคนทั่วไป บางทีเขาก็แอบไปร้องไห้
งานแคทระบายเหมือนเด็ก แต่เขามีเอกลักษณ์เรื่องสัญลักษณ์ ที่ไม่ต้องเหมือนจริง ซึ่งเขาเคยผ่านช่วงทำงานเหมือนจริงแล้ว แต่มันไม่ได้ เวลาแคททำงาน มันไม่ใช่ทำง่ายๆ ปาดๆ ครั้งเดียวผ่าน เขาต้องทำงานเบิ้ลสามเท่า ห้าเท่า มากกว่านักศึกษาทั่วไป เพื่อนทำห้า แคททำสิบห้า ซึ่งไม่ใช่แค่ปะต้องมีกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นหนึ่งไปจนเสร็จ แม้จะไม่ได้เหมือนจริงแต่มันมีความยาก ไม่ได้ทำเอาง่าย ไม่ได้ทำวันเดียวเสร็จ เราต้องให้คนยอมรับด้วย”
คุณครูกอล์ฟ “พัฒนาการงานของเขาคือ เทคนิค เราถอดศิลปะเด็กกับแคท คือ เริ่มโครงลงสีให้เต็ม ตอนแรกแคทเป็นอย่างนั้น พัฒนาการของเขาคือมีการทับสี การทับจินตนาการ อารมณ์ความรู้สึกของศิลปินกับเนื้อหาตรงนั้น เช่น เขาพูดถึง เพื่อนรัก วันนี้คุณทำตรงนี้ต่อมาคุณจะทับเน้นตรงไหนให้เนื้อหาเด่นขึ้น สีตรงนี้ไม่ขึ้นแล้ว ให้ลองทับด้วยปากกา อีกวันเขาทับด้วยสีชอล์ก ดังนั้นเมื่อมีฟอร์มขึ้นแล้วมันไม่ใช่ลงสีวันเดียวเสร็จ มันมีการทับเนื้อหา จินตนาการ ความคิดอารมณ์ศิลปิน เพื่อการไตร่ตรองฉาบให้เนื้อหาตรงนั้นมันขึ้นมาอย่างชัดเจนมากขึ้น นี่คือพัฒนาการ”
คุณครูกอล์ฟ “ในส่วนของการประเมินก็ได้ศึกษาข้อกฎหมายของการศึกษาพิเศษว่าบางคนจบได้อย่างไรพบว่ามีช่องทางให้ช่วยเหลือคนที่มีข้อติดขัดเรื่องการสื่อสาร คือให้เครดิตครูหรือคนที่มาช่วยถอด ตีความหมาย สไตล์ การใช้สี วิธีการสร้างสรรค์ โดยต้องมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเซ็นรับรอง”
คุณครูกอล์ฟกล่าวทิ้งท้ายว่า “การมีโอกาสได้ทำโครงการศิลปะสำหรับเด็ก เยาวชน ทั้งผู้พิการด้อยโอกาส หลายงาน เราเห็นหลายคนผ่านความท้อแท้สิ้นหวัง แต่เมื่อได้ทำศิลปะเขามีความสุขมากขึ้น ศิลปะเข้าไปช่วยเยียวยาได้ระบายความรู้สึก ช่วยเรื่องการสื่อสารเขาแสดงออกผ่านงาน บางคนเข้าไปทำงานกับผู้พิการอื่นๆ ได้เห็นว่าถึงตัวเองมีปัญหาข้อบกพร่อง แต่การได้ไปช่วยคนพิการขั้นรุนแรงได้มีประสบการณ์เห็นความทุกข์ของคนอื่นต่างก็ช่วยเยียวยาให้กันและกัน” (จากภาพคุณเหมียวไปเป็นครูผู้ช่วยสอนบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ).
อ่านเพิ่มเติม แคทลียา อัศวานันท์
ขอขอบพระคุณ คุณพรประภา อัศวานันท์ คุณแคทลียา อัศวานันท์ อาจารย์สุทธาสินีย์ สุวุฒโท (ครูกอล์ฟ) คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม บริษัท วิช กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด
ประวัติและผลงานคุณแคทลียา อัศวานันท์
การศึกษา
ประถมศึกษา : โรงเรียนรุ่งอรุณ
มัธยมศึกษา : โรงเรียนรุ่งอรุณ
อุดมศึกษา : กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 4 คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
การแสดงงาน / ผลงาน
2556 ร่วมแสดงงานนิทรรศการผลงานภาพสีน้ำผู้เข้าอบรมศิลปะบุคคลทั่วไป
วันที่ 2 – 7 กรกฎาคม 2556 ณ หอศิลป์วังหน้า
2556 ร่วมแสดงงานนิทรรศการย้อนรอยชีวิตอยุธยากรุงเก่า
วันที่ 16 – 20 ธันวาคม 2556 ณ ห้องนิทรรศการ คณะศิลปวิจิตร ศาลายา
2557 ร่วมแสดงงานนิทรรศการผลงานของผู้เข้าอบรมศิลปะบุคคลทั่วไปปี 2557
วันที่ 2 – 7 กันยายน 2557 ณ หอศิลป์วังหน้า
2558 ร่วมเป็นวิทยากรโครงงานสร้างสรรค์
ดวงจันทร์สัญลักษณ์ทางศิลปะร่วมสมัยสะท้อนวัฒนธรรมอาเซียน
วันที่ 2 เมษายน 2558 ณ สถาบันแสงสว่าง
2558 ร่วมแสดงงานนิทรรศการผลงานภาพสีน้ำของผู้เข้าอบรมศิลปะบุคคลทั่วไป ปี 2558
วันที่ 27 สิงหาคม – 10 กันยายน 2558 ณ เซ็นทรัล ศาลายา
2559 ร่วมแสดงนิทรรศการ “พอดีเฟรม”
นำเสนอผลงานนักศึกษา คณะศิลปวิจิตร สาขาจิตรกรรม
วันที่ 28 มกราคม 2559 ณ คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
2560 ร่วมแสดงนิทรรศการ Self + Art Museum
วันที่ 18 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์
2560 ร่วมเป็นวิทยากรกิจกรรมศิลปะ
วันที่ 19 มิถุนายน 2560 ณ โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล
2560 ร่วมแสดงงาน The Art of Us
วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ณ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
2560 ร่วมแสดงงานศิลปะกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ
วันที่ 15 สิงหาคม 2560 ณ เมืองคุมาโมโต้ ประเทศญี่ปุ่น
2560 นำรูปภาพไปแสดงงานในฐานะ Guest for International Partnership with Community Engagement
งานประชุม Smart IT Solutions for Integrating Healthcare, Mental Health and LTC
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ณ เมือง Kaohsiung ประเทศไต้หวัน
2560 จัดแสดงนิทรรศการภาพ “จากดาวน์… สู่ดาว” The Art of Inspiration
วันที่ 1-31 ธันวาคม 2560 ณ Venice Art Space วัชรพล รามอินทรา
Beam Talks คือความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ