แคทลียา อัศวานันท์

จังหวะชีวิตที่มีศิลป์ของศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทย

ก่อนที่ คุณแคทลียา อัศวานันท์ หรือ เหมียว จะเริ่มจับพู่กันสาดสีฉูดฉาดทับซ้อนบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ จนวันนี้เธอได้รับการขนานนามว่าเป็น “ศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทย” ผู้สร้างศิลปะด้วยหัวใจไร้ขีดจำกัด  คุณเหมียวสั่งสมประสบการณ์ทางศิลปะมาตั้งแต่ครั้งศึกษาในโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งคำว่าศิลปะในที่นี้ ไม่ใช่การนับชิ้นผลงานตามครูสั่ง หากแต่เป็นศิลปะการใช้ชีวิตที่หล่อหลอมให้คุณเหมียวเติบโตทั้งทางกาย ความคิด และ จิตใจ

แม้โรงเรียนรุ่งอรุณจะอยู่ไกลจากบ้านของเธอมาก แต่อุปสรรคนี้กลับกลายเป็นโอกาส เมื่อครอบครัวตัดสินใจให้คุณเหมียวเดินทางไป กลับ ด้วยรถเช่าเหมาร่วมกับครอบครัวอื่นที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน การที่เธอไม่ถูกครอบครัวจำกัดโอกาส เพียงเพราะว่าเธอมีภาวะดาวน์ซินโดรม แต่กลับเชื่อมั่นว่าลูกจะดูแลตัวเองได้ ด้วยเหตุนี้คุณเหมียวจึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ต้องรับผิดชอบกิจวัตรของตัวเองตั้งแต่เล็ก อีกทั้งการมีกลุ่มเพื่อนร่วมทางในวัยใกล้กันที่คอยแนะนำ ดูแล สานมิตรภาพเติบโตไปพร้อมๆ กัน

การเรียนรู้ในโรงเรียนรุ่งอรุณซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกแนวใหม่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ได้กลายเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้คุณเหมียวได้ฝึกฝนทักษะต่างๆ อาทิ การทำอาหาร การเดินเรียนเวียนฐานไปตามหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ เน้นวิชาชีวิตที่ลงมือทำ ไม่ใช่การฝึกนั่งอ่านเขียนนานๆ เหมือนห้องเรียนทั่วไป รวมทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายคุณเหมียวมีโอกาสเลือกงานทอผ้าเป็นงานฝึกฝนหลักตามความสนใจ ที่ช่วยเสริมทักษะตา มือ สัมพันธ์ และคงสมาธิในการทำงาน พื้นฐานเหล่านี้น่าจะบ่มเพาะให้คุณเหมียวเติบโตมีความมั่นคงมากพอ จนวันที่เธอตัดสินใจก้าวต่อสู่ระดับอุดมศึกษา

จากบทสนทนาระหว่าง Beam Talks กับคุณเหมียว และ อีกบทสนทนาหนึ่งซึ่งเราแยกออกมาคุยกับคุณแม่จ๋า (คุณพรประภา อัศวานันท์) อาจจะฉายภาพการทำงานสนับสนุนจัดปัจจัยแวดล้อมของครอบครัวที่ส่งผลต่อภาวะภายในของคุณเหมียวได้เป็นอย่างดี

แคทลียา อัศวานันท์ 11

ไม่มีอะไรยาก

คุณเหมียว : “เพื่อนมีตั้งแต่อนุบาล ประถม ก็มีเพื่อนหลายรูปแบบ มีประสบการณ์ที่ดีค่ะ มีเพื่อนที่ช่วยเราเยอะ ทำให้เรากล้าแสดงออกมากขึ้น ตั้งแต่ประถมหก ใบตาล (ครอบครัวของใบตอง ใบตาล ใบเตย ที่ขึ้นรถโรงเรียนไปกลับด้วยกันหลายปี) ช่วยกันเรื่องงานหยดน้ำด้วย (งานหยดน้ำคือ งานแสดงผลงานและการเรียนรู้ในช่วงปลายภาคการศึกษาของโรงเรียนรุ่งอรุณ) ก็ดี มีเพื่อนที่ดี ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยมีเพื่อน (ญาติ) ทำงานศิลปะอยู่แล้ว หนูไม่ได้คาดหวังจะเข้ามหาวิทยาลัย แต่หนูไปเรียนโรงเรียนช่างศิลป์ที่เป็นของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อนบอกว่าที่ศาลายา (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) เขาเปิดรับนะ เลยไปสมัครก็มีเพื่อนมาสอบที่เดียวกัน

ตอนที่สอบเข้าไม่ได้เตรียมตัวอะไรเพราะเรียนศิลปะอยู่แล้ว หนูชอบ สอบข้อเขียนไม่ได้กังวลอะไร หนูไม่รู้คะแนน แต่เพื่อนบางคนก็กังวลเพราะทำไม่ได้ ตอนสัมภาษณ์นี่ก็เรามีผลงานที่เราทำมาอยู่แล้วตั้งแต่ที่เรียนรุ่งอรุณ เขาก็อยากดู”

กล้าที่จะก้าว

คุณแม่จ๋า : “วันหนึ่งเหมียวมาบอกว่าอยากเรียนวาดรูป แม่ก็ยังไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร มีคุณครูที่รุ่งอรุณโทรมาบอกให้ลองไปสมัครที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ดู คือเราอยู่ที่รุ่งอรุณมาสิบกว่าปี ก็เหมือนเป็นพื้นที่คุ้นเคย (comfort zone) ทั้งของเหมียวและแม่ แต่นี่มันเป็นพื้นที่ใหม่ที่เราต้องชั่งใจ…

การตัดสินใจไปสมัครเรียนวันนั้นยังไม่รู้เลย ว่าสถาบันอยู่ตรงไหน ทุกขั้นตอน การสมัคร การสอบ สอบสัมภาษณ์ เหมียวเขาทำตามขั้นตอนเหมือนนักเรียนทั่วไป แต่เราต้องมาซักซ้อม มาเตรียมลูกเรา จะฝนกระดาษคำตอบอย่างไร ใส่ชื่อ ใส่รายละเอียดอะไรนี่ต้องซ้อมกันซ้ำๆ”

ทุกคนเท่าเทียมกัน

คุณเหมียว : “ปีหนึ่งต้องเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกันทุกคน ก็ไม่ได้ยากมาก การปรับตัวในมหาวิทยาลัย คือสังคมมันต้องเป็นค่ะ เราต้องเจอ เราไม่ได้อยู่คนเดียวตลอดไป ทุกคนเท่าเทียมกัน การที่จะดูแลตัวเองได้ ก็ต้องเริ่มเรื่องสังคมก่อน สังคมเขาจะมองเราอย่างไร นี่ก็สำคัญ การที่เราต้องปรับตัวนี่มันแน่นอนอยู่แล้ว ไม่ได้ยาก เพราะทุกคนเขาก็ทำกันหมดล่ะค่ะ

การดูแลตัวเอง กิจวัตรที่เราเป็นนักเรียนนี่อยากบอกทุกคนว่า ความกระตือรือร้นต้องมีติดตัวเรา การที่เรามีอาจารย์คอยติชมผลงานนี่เป็นเรื่องธรรมดา ต้องมีสติที่ดีก่อนเป็นอันดับแรก ปกติหนูเป็นคนตื่นสาย แต่หนูก็มาทันเรียนตลอด หนูย้ายบ้านมาอยู่ใกล้ๆ”

แคทลียา อัศวานันท์ 12

ชีวิตของลูก งานของแม่

คุณแม่จ๋า : “สองสัปดาห์แรกแม่ไปขอนั่งฟังในแต่ละวิชาเพื่อให้เห็นแนวการสอน ทั้งวิชาพื้นฐานต่างๆ เรียนห้องไหน จดชื่อครู ทำตารางสอนให้ลูก ว่าวิชานี้เขาต้องเตรียมอะไรไปบ้าง วิชาเลคเชอร์ต่างๆ ก็ต้องจดมาว่าครูเขาให้อ่านหนังสืออะไร

งานที่ครูสั่งมาเป็นการบ้าน เราก็มาวางแผน ช่วยอำนวยการ คือช่วยย่อยขั้นตอนให้ง่ายขึ้น แต่ให้ลูกลงมือทำเอง ช่วงแรกๆ วิชาเลคเชอร์ต้องมีเครื่องบันทึกเสียงช่วยเพราะเหมียวขี้ลืม ก็จะบรีฟ (brief) กันในทุกๆ วัน ให้คุ้นชิน วันนี้ต้องเรียนอะไร ต้องเตรียมอะไร วันหยุดก็มานั่งสางงานการบ้านต่างๆ

จนปีสองเขาก็เอ่ยปากบ่อยๆ ว่าเพื่อนๆ อยู่หอกัน เราก็คิดว่าคงถึงเวลาแล้ว โชคดีที่น้องสาวเขาเรียน ม.มหิดล ศาลายาก็พักที่หออยู่ก่อนแล้ว เราเลยตัดสินใจเช่าบ้านให้พี่น้องอยู่ด้วยกัน อย่างน้อยก็สะดวกในการเดินทาง และเหมียวนี่เป็นคนตรงเวลา เช้ามาก็นั่งรอเรียนแล้ว ในห้องยังไม่มีใครมาหรอก

เรื่องเรียนก็มีต้องลงซ้ำบ้าง ตกบ้างเป็นธรรมดา แต่พื้นฐานการดูแลตัวเองเหมียวฝึกมาตลอดอยู่แล้วจากรุ่งอรุณ มีอย่างเดียวที่ทำเองไม่ได้คือ สระผม ถึงจะว่ายน้ำเป็น เขาก็ใช้การเข้าร้านสระผมแทน การหั่นปอกไม่ถนัดนัก การข้ามถนนยังทำไม่ได้ เล่นกีฬาบางชนิดไม่ได้ อย่างขี่จักรยาน นี่ทรงตัวไม่ได้  เราก็ทำในสิ่งที่ทำได้ บางอย่างทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราต้องดูว่าเขาทำอะไรได้ดี แล้วส่งเสริม”

เส้นทางการเติบโตสร้างสรรค์งานศิลป์ในคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ของคุณเหมียวต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งสมยาวนานกว่าเพื่อนๆ ร่วมรุ่น จนถึงวันนี้เธอใช้ระยะเวลากว่าเจ็ดปี จึงมีงานนิทรรศการแสดงภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แคทลียา อัศวานันท์ 13

ผลงานของ แคลียา อัศวานนท์ ได้รับการคัดเลือกจากงาน The Art of Us ของสถาบันราชานุกูล ไปร่วมจัดแสดงกับผลงานของศิลปินที่มีความต้องการพิเศษ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น และ ประเทศไต้หวัน

เมื่อกลับมาครอบครัวจึงได้คัดเลือกผลงานที่คุณเหมียวทำอย่างต่อเนื่องนับร้อยชิ้น มาจัดแสดงในงาน The Art of Inspiration ตลอดเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก มีผู้ชื่นชอบซื้อผลงานของเธอ ซึ่งรายได้ครึ่งหนึ่งมอบให้สถาบันราชานุกูลเพื่อสนับสนุนงานศิลปะของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษต่อไป

แคทลียา อัศวานันท์ 14แคทลียา อัศวานันท์ 15แคทลียา อัศวานันท์ 16

คุณเหมียว : “การแสดงงานที่ไต้หวันและญี่ปุ่น ร่วมกับเด็กพิเศษเหมือนกัน บรรยากาศดีมาก มีคนชมงานเรา เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ไปแสดงงาน เห็นงานของคนอื่นๆ ก็สนุกดี ที่ญี่ปุ่น มีงานมาโชว์จำนวนมาก ที่ไต้หวันก็มีเด็กพิเศษมาร่วมแสดงงานด้วย

หนูอยากให้คนมาดูงานกันเยอะๆ การจัดนิทรรศการฯ นี่ ได้เรียนรู้เยอะนะ มีคนมาซื้อภาพเยอะอยู่ เวลาให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ หนูรู้สึกดีนะที่ได้ทำตรงนี้ การเผชิญหน้า ได้ฝึกการสื่อสารด้วย

แคทลียา อัศวานันท์ 17แคทลียา อัศวานันท์ 18

แต่มันไม่ได้จบแค่นั้น ต้องมีสอบศิลปะนิพนธ์ด้วย ซึ่งค่อนข้างยาก

(กังวลไหม ?)  หนูก็ไม่อะไร…

ออกแบบเส้นทางของตัวเอง

คุณเหมียว : “อาชีพต่างๆ หนูก็ค้นหาจากมือถือ มันก็มีหลายอาชีพนะ หนูน่าจะสอนสีน้ำได้ เป็นครูสอนศิลปะสอนเด็กพิเศษ ไปสอนตามบ้านก็มีรายได้นะ หนูต้องการแบบนั้น หนูจัดการดูแลตัวเองได้ สอนระดับอนุบาลก็น่าจะได้อยู่นะ ก็เป็นคนที่รักเด็ก อนาคตหนูไม่ได้อยากทำแค่งานศิลปะอย่างเดียว คิดว่าต้องทำอย่างอื่นด้วย เช่น ทำน้ำปั่น หนูหาข้อมูลแล้วมันเป็นอาชีพได้ เคยลองทำแล้ว อร่อยนะ อีกอันก็อยากทำตุ๊กตาขายหนูเคยไปเรียนที่สยาม ทุกคนต้องหาจุดให้เจอ

ความสุขของแม่ แต่งานยังไม่จบ

คุณแม่จ๋า : “ตอนนี้แม่ยังไม่ได้มองเรื่องอนาคตไปไกล ไม่ว่าจะเรียนจบหรือไม่จบ แต่ที่บ้านก็อยากให้เหมียวอยู่ในสภาพแวดล้อมนี้ (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) ให้ครบแปดปี ต่อไปชั้นล่าง (ตึกที่ทำงานของคุณพ่อ) จะจัดเป็นแกลอรี่แสดงงานของเหมียว เขาจะขายน้ำปั่นก็ทำได้ … ถามใจแม่อยากก็ให้ลูกได้สอนจริงจังได้ทำงานประจำแต่ประเทศเราจะเป็นครูก็ต้องจบครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ก็ต้องเรียนปริญญาอีกใบ?

มาถึงวันนี้ชีวิตแฮปปี้ดีกว่าที่คิดไว้นะ อย่างน้อยคิดว่า เขาจะมีวิถีชีวิต มีเป้าหมาย การทำงาน แต่เราต้องสานต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่จุดพลุครั้งเดียวแล้วจบ ที่จัดนิทรรศการฯ ครั้งนี้นอกจากให้เหมียวแล้ว ก็อยากให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษทุกคนมีที่ยืนมากขึ้น แม่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์อย่างนั้น”

การนำเสนอเรื่องราวของคุณเหมียวเป็นเพียงการย่อภาพเส้นทางกว่ายี่สิบเจ็ดปีให้เห็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งความสำคัญของครอบครัวในเส้นทางการเติบโตสายพิเศษนี้ คงไม่มีใครเล่าได้ดีไปกว่าตัวคุณเหมียวเอง

แคทลียา อัศวานันท์ 19

“น้องสองคน ไม่ได้สนิทกันเท่าไหร่ แต่น้องสาว เขาเก่งนะ เวลาพ่อแม่ไม่อยู่เขาก็ดูแลพี่ได้อย่างใกล้ชิด เขาทำแทนพ่อแม่ได้เสมอ ก็ในระดับหนึ่ง ตอนนี้เขาเรียนหมอ (ทันตแพทย์) ปีห้า ส่วนน้องชายเป็นคนขี้สงสัย ก็ดูแลพี่ได้นะ อยู่ปีสองคุณยายเป็นคนสอนน้องสาวให้ขับรถ ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ตอนนี้คุณยายไม่อยู่แล้ว คุณยายเป็นคนเลี้ยงเหมียวมาค่ะ สนิทกัน เสียใจค่ะพ่อแม่นี่ต้องให้อยู่แล้ว เพราะพ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิด หนูประทับใจที่พ่อแม่เขาสนับสนุนค่ะ เขาติดตามตลอด คุณพ่อรักลูกสาวมากกกกก เห็นผลงานเขาก็ชื่นชม”

หนูมีอิสระอยู่แล้ว ทุกคนไม่เหมือนกัน

หนูไม่เป็นภาระกับใคร หรือต้องมาดูแลเราตลอด

ภาระมีซ่อนอยู่ ต้องหาให้เจอ

หนูก็ดูแลตัวเองได้ในระดับนึง

แคทลียา อัศวานันท์ 20

ในเดือนมิถุนายน 2561 เราได้ทราบข่าวดีว่าคุณเหมียวสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีตามที่เธอมุ่งมั่นตั้งใจเรียบร้อยแล้ว Beam Talks ขอร่วมแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ

อ่านเพิ่มเติม  The Art of Inspiration

ขอขอบพระคุณ  คุณพรประภา อัศวานันท์  คุณแคทลียา อัศวานันท์  อาจารย์สุทธาสินีย์ สุวุฒโท (ครูกอล์ฟ)  คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม บริษัท วิช กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด


Beam Talks  คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ

แอดมิน - ลูกบัว

ด.ญ. อริสา ภิรมย์รัตน์ ตำแหน่ง: เวบแอดมิน หน้าที่: สร้างหน้าบทความ โอนย้ายข้อมูล และตกแต่งรูปภาพบทความต่างๆ

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก