ดนตรีพาเพลิน

ครูสอ พาเพลิน : ตอบทุกคำถาม ดนตรีกับเด็กพิเศษ

ใครๆ ก็มักบอกว่า เด็กพิเศษน่ะ ให้เรียนดนตรีซิ

แต่ไม่มีใครพูดถึงว่า เรียนอย่างไร ?

ฐานันดร ชูประกาย หรือ คุณครูสอ ของครอบครัวดนตรีพาเพลิน เรียนจบดนตรีสากลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สายวิชาที่จบมาเพื่อเป็นนักดนตรี ไม่ใช่ครู หรือครูสอนดนตรี แต่เขามีความสนใจในดนตรีสำหรับเด็ก ว่าการให้เด็กเรียนรู้ดนตรีจะเกิดผลดีอย่างไร และควรทำอย่างไร ในระยะแรกคุณครูสอจึงเป็นนักดนตรีอาชีพควบคู่ไปกับการเป็นครูสอนดนตรีโรงเรียนในระบบจนกระทั่งมีโอกาสได้ทำงานกับเด็กๆ ที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนร่วมอยู่ในโรงเรียนรุ่งอรุณ

เขาคิดว่าดนตรีน่าจะมีอะไรให้มากกว่าการพัฒนาสุขภาวะทางดนตรีเท่านั้น เพราะเห็นผลจากเด็กบางคนมีพัฒนาการบางอย่างที่จับต้องได้ผ่านการทดลองทำกิจกรรมดนตรีสำหรับกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่โรงเรียนรุ่งอรุณซึ่งเป็นเหมือนห้องทดลองอยู่หลายปี ต่อมาจึงออกมาเปิดโรงเรียนดนตรีพาเพลิน

ดนตรีพาเพลิน 16

“ระบบกลุ่มทำให้เราจำแนกความคิดของเราจากวิธีคิดเดิมคือ ครูสอนดนตรีก็ต้องสอนให้เด็กเป็นดนตรี แต่การที่เราเรียนมาแบบนักดนตรี พอเรามาอยู่ในระบบโรงเรียนอยู่กับเด็กๆ ผมเห็นว่า ราควรก้าวข้ามจากความเป็นดนตรีเพียวๆ เพราะดนตรีมันมีคุณค่าน่าจะไปช่วยอะไรได้มากกว่านั้นก็ค่อยๆ ไล่ดู ดนตรีกลุ่มน่าจะสร้างปฏิสัมพันธ์ให้เด็กเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันได้จะมีกิจกรรมประเภทไหนบ้าง จะลงลึกไปถึงขั้นเล่นดนตรีไหม ก็ค่อยๆ ปะติดปะต่อมาพบว่าถ้าเราทำกิจกรรมกลุ่ม เอาจังหวะ ทำนอง นำให้เขาได้เคลื่อนไหวกายก่อนจะเข้าถึงเด็กได้เร็วมาก แต่ถ้าเราไปแตะเทคนิคให้เล่นเครื่องก่อนจะเข้าถึงเด็กแต่ละคนยาก”

‘กาย’ ต้องเคลื่อนไหว

“เครื่องดนตรีนี่เวลาเล่นเราใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมันละเอียดมากต้องใช้นิ้วทั้งนั้นเลย ซึ่งเด็กของเราก็ติดปัญหาตรงนี้ทั้งนั้น มันถึงเป็นโจทย์ใหญ่ของพ่อแม่ทุกคน เรามักพูดกันว่าเด็กพิเศษหรือแม้แต่เด็กทั่วๆไป ต้องเรียนดนตรีสิ แต่เรียนอะไรล่ะ เรียนอย่างไรไง ตรงนี้ไม่ค่อยพูดถึงกัน

ผมเห็นว่าเรายังไม่ควรที่จะเริ่มจากการเล่นเครื่องดนตรีเลย อันดับแรกต้องขยับกายก่อน แล้วก็ดูใจเขาให้เขาเปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้ เมื่อเข้ามาเรียนแล้วมีความสุข สนุก ซึ่งใช้เวลาค่อยๆ ทำไป แล้วค่อยมาประเมินอีกทีว่า เราจะเจาะช่องให้เขาได้สัมผัสเครื่องดนตรีมากน้อยแค่ไหน ใครมีศักยภาพตรงไหน”

ที่ต้องขอคือ ‘โอกาส’

“จากประสบการณ์การทำกิจกรรมกลุ่ม การเปิดโอกาสให้เรียนร่วมสำคัญมาก เด็กที่มีความต้องการพิเศษที่ถูกฝึกมาให้เรียนร่วมได้แล้ว (หมายถึงไม่กวนกลุ่ม ถึงยังไม่ทำ ไม่ร่วมกิจกรรมก็ไม่เป็นไร) ถ้าเขาได้เริ่มตั้งแต่เล็กๆ จะได้ประโยชน์มาก ซึ่งงานที่ยากคือ การทำความเข้าใจกับพ่อแม่ว่าพื้นที่นี้ทั้งเด็กทั่วไปและเด็กพิเศษจะได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่เราขอโอกาส ขอเวลาให้เขาได้ปรับตัวได้เรียนร่วมกัน ทางพ่อแม่เด็กพิเศษก็มักจะกลัวว่าลูกจะไปเป็นภาระคนอื่นก็ต้องคุยกันทั้งสองฝ่าย

เด็กบางคนร้องไห้เป็นเดือน แต่พอเด็กหยุดร้องเพราะเขาเห็นแล้วว่าพื้นที่นี้ปลอดภัย เขาจะเริ่มทำได้ ให้ทำซ้ำเรียนรู้ต่อเนื่องเป็นปี เราพบว่าในกลุ่มนี้หลายคนสามารถพัฒนาเขาไปสู่การเล่นเครื่องดนตรีได้อย่างไม่น่าเชื่อ”

การช่วยเหลือที่ ‘เข้าใจ’

การเรียนรู้ของคน ไม่ได้อยู่ที่ต้องทำให้ได้เท่านั้น

“กิจกรรมกลุ่มนี่เราประเมินแล้วว่า ไม่ได้ยากเกินความสามารถหรอก แต่เขายังไม่พร้อมที่จะทำ เราแยกดูเป็นสองส่วนคือ ความเข้าใจ เด็กมีปฏิภาณไหวพริบที่จะเข้าใจได้ไหมกับอีกส่วนคือ พฤติกรรม บางคนที่เขาไม่ทำไม่ใช่ไม่เข้าใจแต่ติดเรื่องไม่ยืดหยุ่น ไม่ปรับตัวเขาติดข้อนี้ต่างหาก ผมก็เข้าไปจัดการกับตรงนี้ ภาวะที่มันบังตัวเขาอยู่ ไม่ใช่ระดับสติปัญญา เขาไม่ทำแต่เขามองเห็น ได้ยิน เมื่อพฤติกรรมเขาคลาย การทำได้ยินซ้ำๆ ไป มันก็มีทางที่จะพัฒนาขึ้นได้”

ดนตรีพาเพลิน 17

เปิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย

“ตอนอยู่ในระบบโรงเรียนนี่ทำอะไรได้เยอะมาก ขอความร่วมมือครูให้ส่งเด็กมาเราก็ทำงานได้เยอะ พอมาเริ่มทำโรงเรียนของตัวเอง ข้อดีคือได้เห็นเด็กที่มาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันเห็นความหลากหลาย ได้ลองและเรียนรู้ว่าจะหาวิธีไหนมาช่วยเด็กแต่ละคนก็เน้นมาที่การพัฒนาแต่ละบุคคล (แบบเดี่ยว) มากขึ้น

การสอนผมดูเด็กเป็นหลักเด็กเข้าใจแต่ติดขัดที่พฤติกรรม เด็กที่มีเซ้นส์ด้านดนตรีบางคนจังหวะดี หูดี แต่พอเจองานยากนิดนึงก็จะท้อเล่นไปก็ชวนคุยถ่วงเวลาเพราะเขาฉลาดไง หรือถ้าเราอยู่ด้วยก็จะให้เราช่วย เราก็ต้องดู อ่ะอันนี้เข้าใจแล้วนะ เล่นเองนะ ถ้าเล่นเสร็จได้กลับเร็ว เสร็จช้ากลับช้า เด็กก็ต้องชั่งใจ การเรียนต้องให้เด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการด้วย ไม่ใช่เราจัดการทั้งหมด  เราดูทั้งดนตรีด้วยดูเรื่องที่เขาติดขัดด้วยว่าช่วยอะไรเขาได้ มีภาวะอะไร ยืดหยุ่นน้อย ชอบอู้ ชอบ…ฯลฯ   เราออกแบบการเรียนการสอนให้ไปช่วยเขา ผ่านดนตรี”

“เด็กบางคนยังเล็กอยู่พาไปเคลื่อนไหว เล่นผ่านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ พาไปฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกร้องเพลงเพื่อให้เขาพูดตรงจังหวะ ร้องได้ตรงจังหวะ ทำหลายๆ อย่าง จนสุดท้าย ถึงดูว่าเขาจะเล่นเครื่องดนตรีอะไรได้บ้าง ในหนึ่งชั่วโมงทำหลายๆ อย่างให้มันไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่หนึ่งชั่วโมงมานั่งเรียนเปียโนอย่างเดียว ถ้ากายมีปัญหาแล้วไปลงเครื่องดนตรีที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กเลย นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ เราต้องช่วยให้กายเขาพร้อมก่อน ใจสนุก แล้วค่อยย้อนกลับมาที่เครื่องดนตรี”

ดนตรีพาเพลิน 18ดนตรีพาเพลิน 19ดนตรีพาเพลิน 20ดนตรีพาเพลิน 21

เรียนดนตรีต้องอ่านโน้ต ?

“อ่านโน้ตออกแล้วยังไง ครูโดยมากจะอยากให้เด็กอ่านเป็น แต่ขนาดเราเป็นนักดนตรีบางทีเห็นโน้ตยากๆ เรายังเหนื่อยท้อไม่อยากอ่านเลย การสอนดนตรีส่วนใหญ่มักเอาหลักสูตรปกติมาใช้ สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเราต้องวิเคราะห์ว่า เด็กมีเซ้นส์ทางดนตรีไหม จำเป็นต้องสอนโน้ตไหม บางคนไปได้ก็สอน แต่บางคนเขามีความสุขจากการเล่นด้วยความจำ”

ดนตรีพาเพลิน 22

เด็กทุกคนต้องเรียนเปียโน ?

“คนมักรู้สึกว่าเรียนดนตรี ต้องเรียนเปียโนคือสุดยอดของเครื่องดนตรี ความจริงคือเปียโนต้องใช้สองมือ มือขวาทำนองมือซ้ายเล่นเสียงประสานมือต้องสอดประสาน มันยากมากนะไม่ใช่เด็กทุกคนเรียนเปียโนได้ มันดูเหมือนง่ายนิ้วกดลงไปก็มีเสียง แต่ถ้าเด็กสมาธิไม่ดีก็เตะเปียโนวิ่งไปแล้ว”

แซ็คโซโฟน

เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างการมีส่วนร่วมได้ดีกว่า

ดนตรีพาเพลิน 23

การมีส่วนร่วมสำคัญอย่างไร ?

“แซ็คโซโฟนมันมีน้ำหนักคนเล่นต้องประคองเครื่องวิ่งไม่ได้เขาต้องรักษาสมดุลร่างกายยืดตัวขึ้นเพื่อรับน้ำหนัก แล้วจะออกเสียงมั่วๆ ก็ไม่ได้ต้องบีบปากแล้วเป่าให้มันออกการวางปากวางลิ้นนี่มันอธิบายยากต้องตั้งใจมีสมาธิต้องทำให้ถูกท่าเพราะมันหนักมันเจ็บเขาต้องให้ความร่วมมือ”

ดนตรีพาเพลิน 24

หัวใจฟู เมื่อบรรเลงเป็นเพลง

“ก่อนที่จะให้เริ่มจับแซ็คเด็กเล็กที่เรียนกันมาหลายปีผมมักให้ฝึกขลุ่ยก่อนจนวางนิ้วได้เล่นเป็นเพลงได้ ค่อยให้แซ็คเพิ่มน้ำหนัก บางคนมาตอนโตดูแล้วไปเปียโนมันยากไปเด็กหลายคนเรียนเปียโนแล้วไม่รอด แต่เด็กของเราเป่าแซ็คได้สิบกว่าคน คือแซ็คนี่เมื่อเป่าถูกต้องเสียงเริ่มออกจะเริ่มเล่นเพลงได้ มันประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่าเขาเล่นทำนองได้จบเพลง แต่เปียโนพอเล่นทำนองแล้วยังต้องรอมือซ้ายมาประสาน เพลงจึงจะสมบูรณ์มันใช้เวลานานกว่า”

ดนตรีพาเพลิน 25

ดนตรีเพื่อการพัฒนา

โดยสรุปกระบวนการทำงานกับเด็กๆ ที่คุณครูสอถอดประสบการณ์ออกมาคือ ขยับกาย สร้างปฏิสัมพันธ์ ให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก จัดกิจกรรมที่สนุกเด็กรู้สึกเป็นพื้นที่ปลอดภัย เมื่อเปิดใจแล้วจึงดูโอกาสด้านดนตรี เมื่อคุ้นเคยกันแล้วเราจะเห็นความพร่อง และ ศักยภาพ จึงสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับเขา จุดสำคัญคือผู้ปกครองควรให้เวลาเด็กในการพัฒนา ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง สำหรับเด็กที่มีศักยภาพในการก้าวสู่การเป็นนักดนตรี การมุ่งไปที่การฝึกและสร้างความพร้อมให้เป็นอาชีพจะได้ประโยชน์มากกว่าการพยายามสอบเพื่อคะแนนเท่านั้น

ดนตรีพาเพลิน 26

ชวนส่งต่อคุณค่าของดนตรี

คุณครูสอรู้ดีว่าการทำงานพัฒนาลำพังด้วยตัวครูคนเดียวไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงขยายไปสู่วงกว้างได้ จึงใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งพัฒนาหลักสูตรและยินดีออกไปเป็นวิทยากรให้กับคุณครูทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้ง หลักสูตรบูรณาการดนตรีสู่ห้องเรียน (สำหรับครูประจำชั้นที่ไม่ต้องใช้ทักษะดนตรี)  ซึ่งมีทั้งกิจกรรมและเพลงที่แต่งใหม่ให้เหมาะสม ซึ่งคุณครูสามารถนำไปใช้ออกแบบสร้างการเรียนรู้ให้มากกว่าเดิม

และการรวบรวมหลักสูตรดนตรีพาเพลิน สำหรับครูดนตรีในโรงเรียน ที่ออกแบบให้เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนดนตรีที่มีต้นทุนอุปกรณ์การสอนที่ถูกมาก (ตามภาพประกอบด้านบน) ที่ทำให้เด็กอ่านโน้ตได้ และเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมได้

โรงเรียนและศูนย์การศึกษาพิเศษที่สนใจ ติดต่อได้ที่ facebook : สอ พาเพลิน

ชมฝีมือลูกศิษย์ของครูสอและอ่านเพิ่มเติม  ดนตรีพาเพลิน (๒) : ฟังเสียงความพิเศษผ่านดนตรี

ดนตรีพาเพลิน 27ดนตรีพาเพลิน 28ดนตรีพาเพลิน 29ดนตรีพาเพลิน 30

ขอขอบคุณ โรงเรียนดนตรีพาเพลิน คุณครูฐานันดร ชูประกาย (ครูสอ) ครอบครัว  ดช.วรพรต บุญฉาย (นักปราชญ์) ด.ช.กัลยกฤตย์ อิทธิพันธกร (ต้าตี้)  พิรัชย์การ ชัยประเสริฐสุข (ฟิโก้)  ธนัท สันฟูวัน (อิก) สิตา แอ่งสมบัติ (ฟ้า)

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks  คือความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ

แอดมิน - ลูกบัว

ด.ญ. อริสา ภิรมย์รัตน์ ตำแหน่ง: เวบแอดมิน หน้าที่: สร้างหน้าบทความ โอนย้ายข้อมูล และตกแต่งรูปภาพบทความต่างๆ

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก