มุมมองของเด็กหนุ่มเกี่ยวกับภาวะออทิซึ่มที่ติดตัวมา และบทเรียนที่น่าเรียนรู้ร่วมกัน
ประสบการณ์ที่ผ่านมาตอนเด็กๆ ผมจำได้อย่างเดียวว่าเป็นเด็กขี้โมโหมาก ชอบอาละวาด แค่รู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์โกรธ ไม่ได้คิดอะไรมาก พอโตขึ้นก็ยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์อยู่บ้าง
เรื่องการจัดการอารมณ์จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมคิดว่าช่วยได้คือ การทำอะไรไปซ้ำๆ แล้วมีคนมาเตือนว่า เออนี่มันผิดนะ มันไม่โอเคนะ ผมก็ค่อยๆ ปรับตัวตามที่เขาว่ามา ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้คุยกับตัวเองว่า เออ อย่างนี้มันไม่ได้แล้วนะ เอ็งโตแล้วนะ (เวลาผมพูดกับตัวเองก็จะใช้ภาษากันเองแบบนี้)
ครอบครัวและเพื่อนก็มีส่วนช่วยในระดับหนึ่งด้วย ถ้าเราพยายามเข้าใจตัวเองไป แต่ไม่มีใครให้สื่อสารออกไป ก็คงอยู่ตัวคนเดียวและไม่มีความสุข ผมมีพ่อแม่ที่ถือว่าค่อนข้างเปิดกว้างให้อิสระมาก คือไม่เหมือนบางครอบครัวที่บังคับให้ลูกเรียนนู่นทำนี่
ที่ผ่านมาผมไม่เคยรู้เรื่องที่ตัวเองมีภาวะความต้องการพิเศษ พ่อแม่อยากเลี้ยงผมให้ปกติมากที่สุด ซึ่งอาจเป็นความคิดที่แหวกซักหน่อย เวลามีเพื่อนมาถามอาจารย์ว่า เอ๊ะ.. คนนี้เขาเป็นเด็กพิเศษหรือเปล่า? ผมก็จะไม่ค่อยรู้ไม่ค่อยชี้นะ พ่อบอกผมตอนอายุ 17 ปี ทานข้าวกันแค่สองคน แกบอกว่าผมเกิดมามีภาวะออทิซึ่ม พ่อแม่ก็พยายามหาทางบำบัดและให้ไปเรียนร่วมในโรงเรียนด้วยโควตาเด็กพิเศษ แต่ตอนเข้าระดับมัธยม และ มหาวิทยาลัย ผมสอบเข้าได้เองตามปกติ
อะไรคือของขวัญ อะไรคืออุปสรรค
ผมไม่ค่อยอยากเรียกว่าอะไรเป็นอุปสรรค หรือข้อได้เปรียบ มันอยู่ด้วยกัน มันคืออย่างเดียวกัน
ก็คือ เวลาผมมองดูตัวเอง ผมจะมีความรู้สึกผ่านประสาทสัมผัสที่มากกว่าคนทั่วไป
สัมผัสทั้งห้าของผมนี่มันไปไวกว่าคนอื่นมาก ที่ไวที่สุดคือ หู เคยตรวจแล้วพบว่า หูจับความถี่ได้ละเอียดมาก รับเสียงที่เบาที่สุดที่สุนัขได้ยิน อาจเรียกได้ว่า ผมมีหูหมาครับ (หัวเราะ) อันนี้เป็นข้อได้เปรียบที่ผมใช้บ่อย ผมชอบฟังเพลงมาก การที่หูได้ยินมากกว่าคนอื่นทำให้ผมใช้หูฟังเปิดระดับเสียงที่เบา และยังสามารถเดินไปมาตามถนนได้ข้ามถนนได้ทั้งที่ใส่หูฟังตลอด ตาผมนี่หยอดตายาก หมอบอกว่าตาผมตอบรับไวมาก ส่วนผิวสัมผัส ผมจะแพ้อะไรๆ ง่าย ทั้งหญ้าหรือเนื้อผ้าระคายเคืองผิวง่ายมาก ลิ้น(ช่องปาก) นี่เวลาทานข้าวผมต้องดื่มน้ำตลอด คอยล้างปากไม่งั้นจะเลี่ยนเร็วมาก
อาการนี้ (ออทิซึ่ม) มีส่วนทำให้ร่างกายเราแปลกๆ และคงส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก เวลามีสิ่งเร้ารอบตัวมาก ความรู้สึกก็จะไปไว อย่างที่บอกว่าตอนเด็กผมมีปัญหาความโกรธค่อนข้างเยอะ คือ ระดับความดังปกติสำหรับบางคน มันอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผมโมโหขึ้นมาได้โดยที่ผมก็ไม่รู้ตัว
ช่วงเรียนในมหาวิทยาลัยเวลาเกิดความรู้สึกเครียด โกรธ เศร้า อิจฉา ผมรู้สึกว่าต้องใช้เวลานานมาก อาจจะมากกว่าคนทั่วไปในการควบคุม และทำความเข้าใจความรู้สึกพวกนั้น ซึ่งผมก็ต้องพยายามทำตัว ใจเย็นๆ เพื่อที่จะปรับตัวตามความรู้สึกเหล่านั้น บอกตัวเองว่า เราค่อยเป็นค่อยไปเนอะมันก็เป็นอย่างนี้ เราเคยเจออะไรที่แย่กว่านี้อีก
อะไรคือแรงบันดาลใจกระตุ้นให้ก้าวผ่านมาได้
มีหลายๆอย่างครับ อันนึงคือผมมีความฝันอยากเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง นักดนตรี ทำอะไรก็ได้เกี่ยวกับดนตรี ผมรักดนตรีมาก ทำให้ผมคิดว่า ถ้าอยากเป็นนักร้องมืออาชีพ แกต้องไม่เป็นแบบนี้นะ ต้องค่อยๆ ปรับตัว มีอีกอย่างคือ ผมชอบอ่านการ์ตูนและหลายๆ เรื่องก็สร้างแรงบันดาลใจให้เราในเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ผมได้มาจากเรื่องหนึ่งคือ วากาบอนด์ มีเนื้อหาปรัชญาแบบเซน เรื่องการมองโลกให้รอบด้าน ขอยกประโยคหนึ่งคือ
“ถ้าเราสังเกตเห็นแต่ใบไม้ เราจะไม่เห็นต้นไม้
ถ้าเราสังเกตเห็นแต่ต้นไม้ เราจะไม่เห็นป่า”
มันทำให้ผมเห็นว่า เราต้องมองโลกให้กว้างออกนอกไปจากตัวเราเองด้วย ในขณะที่เราก็เข้าใจตัวเองในฐานะส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม
ถ้าพูดถึงสมัยม.3 ม.4 ผมมีไอดอลคือ เคิร์ท โคเบน นักร้องวงเนอร์วาน่า เริ่มฟังตั้งแต่อายุ 15 ตอนนั้นผมคิดว่าเขาเป็น ร็อคเกอร์ที่มีของ (attitude) แรงมาก สำหรับเพลงที่ขึ้นท็อปชาร์ตสมัยนั้น ภายหลังผมมาดูสารคดีเกี่ยวกับเขาแล้วพบว่า เขาอาจจะไม่ได้เป็นออทิซึ่ม แต่น่าจะเป็นไฮเปอร์เซ็นซิทิวิตี้ (hypersensitivity) คือมีความรู้สึกมากกว่าคนอื่น และนำความรู้สึกนี้ออกมาใช้ทำเพลงให้กลายเป็นศิลปะ ผมชอบตรงนี้ แต่ขณะเดียวกันผมก็ไม่คิดว่าเขาควรเป็นไอดอลของใครเพราะเขาอารมณ์ไม่มั่นคงเหมือนคนบ้า และฆ่าตัวตายตอนอายุ 27
ก็ทำให้ผมเรียนรู้จากข้อผิดพลาดด้วย ไม่ใช่ว่าเรียนรู้จากความสำเร็จอย่างเดียว ผมว่าสองอย่างนี้ควรจะมาคู่กันไม่ควรโฟกัสที่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะชีวิตเราต้องผ่านทั้งสองอย่างนี้มาทั้งนั้น พวกนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่ง
ความแตกต่าง ที่เหมือนกัน
เวลาทำงานกับเพื่อน ผมไม่ได้บอกใครเรื่องอาการของผม ก็ใช้การปรับตัวจากประสบการณ์พยายามเข้ากับสังคมรอบข้าง เลือกเพื่อนที่ถูกโฉลกกัน ซึ่งแต่ละมีคนรสนิยมหลากหลาย มีความคิดค่อนข้างแตกต่าง เราคุยกันโดยที่เรายังเป็นตัวของตัวเองได้
ในบางเวลาที่ผมเป็นตัวเองมากไป ขึ้นเสียง มีปัญหาก็ค่อยๆ ปรับตัว แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องของคนที่มีความต้องการพิเศษเท่านั้น คนทั่วไปคุยกันก็ต้องมีเรื่องทะเลาะกันบ้างอยู่แล้ว ไม่ว่าเป็นใครมากจากไหนก็ต้องเคยเจอ เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เราต้องทำคนเดียวนะ คนอื่นเขาก็ต้องทำเหมือนกัน พอผมมองแบบนี้ ก็มีความสุขกับตัวเอง ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นอะไรที่มันผิดแผกไปมากขนาดนั้น
คุณวางแผนเส้นทางตัวเองอย่างไร ?
ผมคิดไว้ทั้งสองทางคือ เรื่องความมั่นคง เรียนจบต้องทำงานดูแลตัวเองได้ ก็อาจร่วมกับเพื่อนใช้บ้านของพ่อที่ว่างอยู่ทำให้เป็นแหล่งรวม Culture สำหรับคนในย่านนั้น ทั้งห้องซ้อมดนตรี สอนภาษา หรือเปิดบริการบอร์ดเกม อีกอันคือ ความฝันส่วนตัว คือผมเล่นดนตรีกับเพื่อนที่คณะซึ่งส่วนใหญ่เราก็ต้องเล่นเพลงที่คนฟังชอบซึ่งผมอาจไม่ได้ชอบเท่าไหร่ แต่เล่นแล้วคนฟังมีความสุขผมก็โอเค แต่ถ้าตัวผมเองจะมีความสุขที่สุดก็อยากจะมีซักงานได้ทำงานเพลงทดลองในสไตล์ตัวเอง เล่นในงานเล็กๆ ที่มีคนดูที่ตั้งใจมาดูเรา มีคนที่ไม่รู้จักเรามาก่อน แต่มาดูเพราะอยากดูเราจริงๆ
การอยู่ร่วมกันที่แท้จริง
ในเมื่อผมถูกพ่อแม่เลี้ยงดูมาแบบให้โตแบบเด็กทั่วๆ ไป ผมคิดว่าคนพิเศษนี่ไม่ควรถูกแบ่งไปอีกกลุ่มหนึ่ง คือเวลาคนเห็นว่า นี่เป็นคนพิเศษนะ เขาจะดูแลอีกแบบ แบบ special น่ะ ต้องเอาข้าวมาให้เวลาไปอยู่ค่าย หรืออยากทำอย่างโน้นอย่างนี้ให้ คือเหมือนจะมีโทนที่แตกต่างกันออกไปจากการคุยกับคนทั่วไป
ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าเราจะอยู่ในสังคมที่คนพิเศษกับคนทั่วไปอยู่ร่วมกันได้นี่ ทุกอย่างต้องปฏิบัติให้เท่าเทียมกัน ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่มา รังแกหรือล้อเลียน ซึ่งเรื่องแบบนี้มันไม่ควรมีใครโดนอยู่แล้ว
คือ ไม่ต้องโดนปฏิบัติแบบพิเศษ
แต่ได้รับ “ความเคารพให้เหมือนคนทั่วไปคนหนึ่ง”
ไม่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะสุดท้ายเมื่อเรามาอยู่ในสังคม ทุกคนต้องดูแลตัวเองครับ
เพียงแต่ความต้องการของแต่ละคน ก็มีความแตกต่างกันออกไป
มองความพิเศษด้วยความเข้าใจที่พอดี
มันมีสิ่งหนึ่งที่คนที่มีความต้องการพิเศษจะรู้สึกแย่มากเป็นพิเศษ คือ การเป็นภาระให้คนอื่น อย่าคิดว่ามีเขาเป็นภาระแล้ว เราจะทุกข์ฝ่ายเดียวนะครับ ถ้าคนที่มีความต้องการพิเศษเขาเห็นคนที่เขารักเป็นทุกข์เพราะเขา เขาจะทุกข์มากกว่าในการสอนอะไรก็ตามให้ ใจเย็นๆ กับเขา ใช้เวลาให้มากๆ รอจังหวะที่พอเหมาะ ไม่ต้องรีบร้อน ใช้เวลาและความอดทน ซึ่งอันที่จริงการเลี้ยงเด็กทั่วไปก็ต้องใช้แบบนี้ทั้งนั้นนะครับ และบางกรณีเด็กๆ มีเหตุผลมากกว่าผู้ใหญ่บางคนเสียอีก
คนที่มีความต้องการพิเศษแค่มี ขั้วบวก ขั้วลบ มากกว่าคนอื่น ถ้าเราคิดว่าขั้วบวกขั้วลบนี้เป็นสิ่งที่มีในตัวเราทุกคน แค่ต่างรูปแบบกัน ผมคิดว่านี่ควรเป็น วิธีคิด (mindset) ที่ไม่ใช้เฉพาะกับเรื่องความต้องการพิเศษเท่านั้น แต่กับเรื่อง เพศสถานะ เชื้อชาติ ฯลฯ ด้วยเช่นกัน ควรเป็นหลักการที่มองคนให้เท่าเทียมกัน
สำหรับผม คนพิเศษ ก็มีความต้องการบางอย่างที่ต่างไปจากคนทั่วไปเท่านั้น จะมากหรือน้อยแค่นั้นเอง ถ้าเรามองคนพิเศษในแง่นี้ได้ เราก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้จริงๆ โดยที่ไม่ต้องแบ่งแยก คนพิเศษนี่เขาก็สามารถใช้ความพิเศษช่วยสังคมในแบบของเขาได้
ถ้าสังคมมองเราในแบบนั้นได้ผมว่าจะดีมาก
ที่มา : กองบรรณาธิการ Beam Talks
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ