Self+Art

การบำบัดและพัฒนาด้วยกระบวนการศิลปะที่เคารพตัวตนภายใน

เรื่องราวของ ‘ลำพู’ เด็กชายวัย 14 ปี ผู้รู้จักโรงเรียนแต่ไม่เคยได้เรียน แต่ผ่านกระบวนการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือบำบัดและพัฒนาต่อเนื่องมากว่า 10 ปี โดยคุณจุมพล ชินะประพัฒน์ เจ้าของ Self+Art Borderless Art Museum

คุณจุมพล (หรือครูแป๊ะ) พบลำพูในวัย 3 ขวบซึ่งยังไม่มีภาษาสื่อสาร ไม่อยู่นิ่ง วิ่งและปีนป่ายตลอดเวลา ครอบครัวตัดสินใจให้ลำพูเรียนรู้อยู่ที่บ้าน (หลังจากถูกปฏิเสธจากโรงเรียน) เน้นการทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันลำพูเป็นคนอารมณ์ดี ฟังเข้าใจและมีภาษาที่สื่อสารได้ ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ดี เขานั่งทำงานศิลปะมีสมาธิยาวนานทุกวัน และมีสไตล์หรือตัวตนในการทำงานศิลปะอย่างชัดเจน

Self+Art 17

Self+Art ของลำพู

ผ่านกระบวนการทำงานอย่างไร ?

คุณจุมพล : เราทำงานเป็นเรื่องๆ ดูว่าสิ่งที่เห็นนี้เกิดจากอะไร ออทิสติก มีปัญหาทางสมองที่ส่งผลต่อ พฤติกรรม อารมณ์ การสื่อสาร ทักษะทางสังคมใช่ไหม ปัญหาพฤติกรรมมาจากการสื่อสาร ไม่ใช่เขาสื่อไม่ได้ แต่ระบบการสื่อสารยังไม่ดี เราจะทำอย่างไร? ผมมองการสื่อสารของลำพูเหมือนเด็กอ่อน การส่งเสียง คือต้องการอะไรบางอย่าง เราก็ใส่ความหมายลงไปทำงานเหมือนนักพากย์ ไม่ว่าเขาทำอะไร เราก็พากย์ตามไปเริ่มอย่างนั้นในหกเดือนแรก

จากนั้นก็เช็คว่า วิธีการแบบนี้เขารับรู้ไหมด้วยการใช้ประโยคชวนทำตาม ผมบอกเขาว่า “ลำพูวิ่ง กระโดด เหนื่อยแล้วก็มานั่งตรงนี้ได้นะ” เขาก็มานั่งขีดๆ เขียนๆ นิดนึง แล้วก็ไปวิ่งต่อ การทำงานช่วงแรกบนโต๊ะเราใช้แค่กระดาษแผ่นเดียวกับดินสอสี ดินสอดำอย่างละหนึ่งด้าม

Self+Art 18

เมื่อเริ่มเข้าใจภาษา พฤติกรรมเขาดีขึ้นเราก็เพิ่มกระบวนการทำงานให้เขารู้จักควบคุมตัวเอง และการนั่งทำงานร่วมกันยังเป็นช่วงเวลาเดียวที่เขามีโอกาสได้ควบคุมคนอื่น (ในวันที่เราไปดูลำพูทำงานศิลปะ เขาเป็นคนออกแบบว่าครูแป๊ะต้องทำอะไรร่วมกันในงานชิ้นนั้น)

หลังจากพูดพากย์เวลาทำงานไปปีกว่า ก็เริ่มใช้กระบวนการศิลปะทำให้เขาคิดเขียนอะไรมากขึ้นเพราะเขาอยู่นิ่งกับโต๊ะทำงานได้แล้ว เช่นเคยหากเขายังอยากวิ่ง ก็ลุกไปวิ่งได้นะเสร็จแล้วก็กลับมา

จาก ‘จุด’ สู่ ‘ภาษา’

คุณจุมพล : โจทย์ต่อมาคือ ทำอย่างไรให้เขาขีดเขียนได้ในแบบของเขาเอง ถ้าเราจะวาดรูปหรือลากเส้นเส้นหนึ่ง เราคิดว่า ‘จุด’ เป็นการเริ่มต้นที่ดี ก็จุดลงในกระดาษ ให้ลำพูลากเส้นโยงหากัน จากจุดไปจุดจึงเกิดเส้นเมื่อเริ่มควบคุมเส้นได้ ก็ทำงานจากจุด เส้น จนเป็นรูปทรง ต้องบอกก่อนว่าแต่ละขั้นตอนนี่ทำซ้ำเป็นเดือน ทำต่อเนื่องเป็นปี

จากนั้นเราเติมการทำงานกับผิวสัมผัส ลองใช้ที่เจาะกระดาษเจาะสติ๊กเกอร์ให้เป็นดวงๆ แล้วก็ลอกติดจุดต่อๆ กัน ชิดกันบ้างห่างกันบ้าง ลากให้เป็นเส้น ซึ่งเรายังคงทำงานสื่อสารอยู่ตลอดเวลา แกะสติ๊กเกอร์มาแปะตามอวัยวะต่างๆ ของเขา เวลาแกะออกก็บอกชื่ออวัยวะ หลังจากนั้นเมื่อถามชื่ออวัยวะต่างๆ เขาก็แตะได้ถูกต้อง

Self+Art 19Self+Art 20

จากจุด ขึ้นเป็นรูปทรงและรูปร่าง เขาชอบแมว เราลงเส้นต้นแบบรูปแมวด้วยดินสอบางๆไว้ วางกระดาษลอกลายทับ ให้เขาลองเขียนตาม เขาก็ควบคุมการเขียนได้ดีมาก เราใช้สัตว์พยางค์เดียวพูดง่ายๆ เช่น หมา แมว ปลา

เรียนรู้จากการมอง

คุณจุมพล : ออทิซึ่มเข้าใจได้จากการเห็น ลงมือทำได้มากกว่าการใช้ภาษา เวลาเขาลากจาก จุดไปจุดได้ตรงผ่านเส้น เราก็วงไว้ เขาเริ่มหยุดได้ มีจังหวะที่ดี สมาธิเริ่มดี เราไม่ใช้ดินสอแต่ ใช้สีที่ตรงกับจุด เพื่อไม่ทำให้เขว สับสน สื่อสารได้ตรงความเข้าใจ เมื่อควบคุมเส้นได้ งานไหนที่ทำได้แล้ว เราต้องเพิ่มขั้นตอนเข้าไป จาก จุด เส้น เป็นรูปทรง เริ่มการเขียนรูป เพิ่มสีเข้ามา และยังคงสื่อสารตลอด

อย่างรูปแมวนี้ ทำไมถึงเลือกแมวนั่ง ? แมวคือความสนใจของเขามันคงมีแรงดึงดูดแต่เราเลือก แมวนั่ง เพราะเราเห็นว่าเขาเคลื่อนไหวเร็ว เราคิดและออกแบบเสมอว่าสัญลักษณ์นี้เข้าไปสื่อสารอะไรกับเขา ทำให้พฤติกรรมเขาช้าลง

Self+Art 21Self+Art 22

เมื่อเข้าใจก็ต่อยอดได้

คุณจุมพล : ลำพูเริ่มเขียนวงกลมเอง วาดตามเส้นได้ เราให้ใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เช่น สีน้ำ เน้นการพัฒนาเรื่องการควบคุม ถึงเขาควบคุมได้แล้วก็ทำให้ดีมากขึ้นไปอีก เพราะเวลาที่เขาควบคุมไม่ได้มันมีภาวะทางอารมณ์ตามมา การทำงานศิลปะมันยืดหยุ่นมากพอที่จะให้เราพัฒนา เพียงแต่เราต้องเข้าใจ

ตลอดการทำงานร่วมกันนี้ คุณแม่ของลำพูเขาดูอยู่ตลอดเวลา เขาเห็นการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงของลูก สีหน้า แววตาที่ดีขึ้น เมื่อเห็นว่าศิลปะสนุก ไม่ใช่เรื่องยาก จึงเริ่มต้นทำงานศิลปะกับลูก ของานเพิ่มเพื่อไปทำที่บ้านด้วยกัน ใช้การทำงานศิลปะเป็นสื่อในการสอนเรื่องต่างๆ ให้ลำพู งานเริ่มมีรายละเอียดขึ้น ทำบันทึกยิ่งเห็นพัฒนาการ เห็นช่องทางช่วยเหลือลูกมากขึ้น

 

Self+Art 23Self+Art 24

ที่บ้านเขาให้ลำพูอยู่แบบธรรมชาติ คือ ทำกิจวัตรมีงานบ้าน อย่างเก็บใบไม้ เขาทำได้ดีถึงไม่ได้เข้าโรงเรียน แต่คุณแม่สอนทุกเรื่องเองที่บ้าน มาถึงวันนี้แม่ออกแบบการทำงานเอง เช่น งานปัก งานเพ้นท์ ให้ลำพูเย็บผ้า ฝีเข็มละเอียดเหมือนเย็บจักรเลย ลำพูชอบทำงานกับกล้ามเนื้อมัดเล็กและผิวสัมผัสบางอย่าง เช่น การฉีก จนทุกวันนี้เขาหยุดการวิ่งกระโดดอยู่กับการทำงานได้นานงานละเอียด สื่อสารอารมณ์ภายในทำได้ดีอารมณ์รื่นไหล

เช่นเดียวกันเมื่อเข้าใจ

คุณแม่เองก็เปลี่ยนแปลง

มีรอยยิ้มมากขึ้น ทุกข์น้อยลง

ก่อนก้าวกระโดด ต้องถอย

คุณจุมพล : เมื่อลำพูเริ่มควบคุมตัวเองได้ มีพัฒนาการภาษาสื่อสารได้ในระดับนึงแล้ว เราคิดว่าน่าจะทำเรื่องทักษะสังคม ก็เลยชวนลำพูทำรถลาก (รถกะบะ) ติดสติ๊กเกอร์ ออกแบบให้วางกล่องข้าวไว้บนรถกะบะ เพื่อใช้การฝึกเรื่องการควบคุมต่อเนื่อง ถ้าลากไม่ดี กล่องบนกะบะด้านท้ายตกก็ต้องเก็บ ลำพูต้องฝึกควบคุมตัวเอง แต่เราไม่ได้สั่งว่าห้ามตก หรือติดให้แน่นนะ นี่คือให้เขาเรียนรู้เอง

Self+Art 25

ลำพูยังเล่นไม่เป็น เขาลากแบบหันหน้าเข้ารถและเดินถอยหลัง ต้องสอนวิธีลากนานเป็นเดือน ลองพาไปลากรถในสนามเด็กเล่น ชวนเด็กคนอื่นๆ ให้ไปสร้างของเล่นของตัวเองมาแล้วมาสร้างเป็นเมืองกัน ผลคือไม่มีใครสร้าง มีแต่มารุมแย่งลำพูเล่น

ตอนนั้นลำพูยังจัดการตัวเองไม่ได้ เราก้าวยาวเกินไปยังเตรียมเขาไม่พอแต่พาไปลงสนาม เลยกลับมาเอาใหม่ ชวนตัดกระดาษเป็นผลไม้ ทดลองเล่นด้วยกันสามคนก่อน คุณแม่ ลำพู เรา ให้เขาลากรถ เก็บผลไม้เอาไปให้แม่ นับเลข บอกสี

จากนั้นกลับมาเขียนรูป ลองเรียนรู้สังคมจากการเขียนรูปภาพ เช่น มีเป็ด และเป็ดตัวอื่นๆ  ช้าง ยีราฟ สังคมคืออยู่ด้วยกัน ไม่ได้อยู่ตัวเดียว พี่สาวของลำพูเห็นน้องทำงานก็มาทำงูตกบันไดด้วยกัน นี่ก็เป็นสังคมรูปธรรมที่ใกล้ตัวที่สุด

 

Self+Art 26Self+Art 27

ตอนนี้งานของลำพู คุณแม่ช่วยออกแบบและบริหารจัดการเอง ลำพูมีความสุขกับการทำงานศิลปะระบายสีทำได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ  เพ้นท์เอง คอลลาจ ปักผ้า ปักกระดาษ ผสมสีได้เอง เราไม่ได้สอนเรื่องทฤษฎีสี งานชิ้นใหญ่ก็ทำได้

กระบวนการศิลปะ/งานบำบัด

คุณจุมพล : ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า กระบวนการศิลปะ ไม่ใช่วิชาศิลปะ ลำพู คือตัวอย่างที่ดีที่สุดเมื่อพูดถึงการสร้างโครงสร้างการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทำงานศิลปะ เพราะเขาไม่ได้ผ่านระบบโรงเรียนเลย และมีพัฒนาการ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างครอบคลุม

ศิลปะ จึงไม่ใช่วิชาศิลปะ

แต่เป็น ทักษะชีวิต

คือ การได้ลงมือทำ แฝงแนวความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหาและพัฒนาตัวเด็กซึ่งพ่อแม่คนรอบตัวทำได้ทุกวินาที ไม่ต้องรอนักบำบัด ถ้าเข้าใจ

ศิลปะบำบัด คือ การใช้กระบวนการศิลปะเข้าไปทำงานกับร่างกายและจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบบางอย่างเพื่อให้เกิดความสมดุล ทำให้เขาได้รับรู้ เรียนรู้ เข้าใจ และเข้าถึงผลกระทบ เพื่อปรับให้สมดุลและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

Self+Art 28

ความเข้าใจสำคัญกว่าทฤษฎีศิลปะใดๆ

คุณจุมพล : กระบวนในการเข้าถึงแต่ละคนมีความแตกต่าง เบื้องต้นก่อนทำงานเรามองให้ออกก่อนว่าปัญหาคืออะไร และมาจากไหน ตัวเขา หรือ สภาพแวดล้อม คนรอบข้าง ถ้ามองทะลุ เราก็จะค้นพบว่าต้องทำงานอย่างไรเพื่อแก้ปัญหา ถ้าปัญหามาจากพ่อแม่ ก็ต้องทำงานกับพ่อแม่

ส่วน ศิลปะ คือ เครื่องมือ เมื่อรู้ว่าปัญหาคืออะไร  มาดูต่อว่า Self ของเขาทำงานกับศิลปะประเภทไหน บางคนไม่ชอบทำงานซักประเภท คุยอย่างเดียวเลย แต่การคุยของเขาไม่ปะติดปะต่อเป็นเรื่องเป็นราว ชอบคุยซ้ำๆ เรื่องเดิม การคุยก็เป็นศิลปะการสื่อสาร ถ้าเราให้คุณค่าในการสื่อสาร เราจะเข้าใจเขามากขึ้น เช่น เด็กผู้ชายคนหนึ่งพอเริ่มเป็นหนุ่ม คุยแต่เรื่องเซเลอร์มูน มันคือตัวแทนของความเซ็กซี่ แต่เขาไม่ควรถูกห้ามเพราะเขาบอกเราว่า มันสอนให้เขากล้าหาญ เข้มแข็ง อดทน เป็นคนดี การ์ตูนนี่คือสิ่งที่เขาพูดถึงได้ บางคนก็พูดถึงแต่ไรเดอร์ทั้งหลายเป็นคำสอนที่เขายึดติด ต้องไม่เจ้าอารมณ์เป็นคนเก่งคนดี พวกนี้เป็นตัวเตือน ตัวช่วยควบคุมเขา มันเป็นสัญลักษณ์บางอย่าง เราจะห้ามเขาหรือเปล่า หรือให้การคุยเรื่องนี้กับเราเป็นช่วงเวลาปลอดภัยที่เขาคุยได้ บอกกับพ่อแม่ว่าไม่ต้องห่วง เมื่อการทำงานบำบัดจบลง เรื่องพวกนี้จะไม่มีแล้ว เปิดโอกาสให้เขาได้มาคุยกับเรา นี่คือเรื่องทักษะชีวิตที่มาจากความเข้าใจ ไม่ใช่ศิลปะบำบัดแล้ว ทำอะไรก็ได้

ศิลปะบำบัดมีทฤษฎีอยู่ แต่เราเรียนจากการทำงานด้วยตัวเอง

การลงมือทำจากความเป็นจริงคือ

ทฤษฎีที่อัพเดทอยู่ตลอดเวลา

ทฤษฏีสำคัญเพราะมันเป็นตัวให้รายละเอียดว่าทำงานครอบคลุมอะไรแบบไหนกับความเป็นมนุษย์บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ทฤษฎีไม่มีคือ ข้อควรระวัง เช่น ผู้ป่วยหนักหน่อย อาจเกิดสถานการณ์อันไม่พึงประสงค์ เราก็ต้องหาทางป้องกัน แก้ไข ต้องสังเกตเมื่อเริ่มขีดเขียนแรงๆ ต้องเข้าถึงรายละเอียดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม การเตรียมท่านั่งควรเลี่ยงการนั่งเผชิญหน้าที่ให้ความรู้สึกจับผิด กังวล ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขา เราถามความต้องการของเขา บางคนก็ขอให้เราออกไปนั่งนอกห้อง หรือจะนั่งข้างๆ ก็ต้องดูว่าเขาถนัดซ้ายหรือขวาเพื่อดูจังหวะหลบหลีกยามฉุกเฉิน หรืองานเพ้นท์ถ้าเขาเริ่มลงฝีแปรงแรงขึ้น เราเลือกที่จะเก็บสีที่เป็นโทนร้อนออกเพราะเกรงว่าจะไปกระตุ้นเพิ่ม

Self+Art 29

เราเรียนจากการลงมือทำ

อะไรก็ตามที่ถูกกำหนดเป็นทฤษฎีได้ ต้องเกิดจากการลงมือทำก่อน ในเมื่อเราไม่สามารถไปเรียนทฤษฎีได้ ก็ลงมือทำให้มาก เรียนรู้เองจากการทำงานแต่ละเคส ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นงานบำบัด แต่ชั่วโมงการทำงานมากจนกระทั่งนักศิลปะบำบัดจากแคนาดาท่านหนึ่งซึ่งมีโอกาสได้การพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันทุกปี เหมือนเป็นที่ปรึกษาให้เรา เทคนิควิธีการบางอย่างก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ท่านนี้จึงเป็นทั้งอาจารย์และเพื่อนในเวลาเดียวกัน จนวันหนึ่งเขามอบ The HONORARY DIPLOMA in Art Therapy จาก The Canadian International Institute of Art Therapy มาให้ เพราะดูจากชั่วโมงการทำงาน ผลงาน และความน่าเชื่อถือจากคนที่เราทำงานด้วย

ทุกเคสจะใช้โครงสร้างความคิดแบบนี้ คือ เรียนรู้ก่อนว่า ปัญหาของเขาคืออะไร ทุกสิบชั่วโมงทำงานก็มาหารือกับครอบครัวว่าเห็นอะไรบ้าง เมื่อถึงจุดที่ปัญหาถูกคลี่คลายไปแล้ว เช่น ปัญหาอารมณ์ พฤติกรรม สื่อสาร ที่เคยมีไม่มีแล้ว ก็จะบอกหยุด ซึ่งบางทีครอบครัวไม่หยุด เมื่อผ่านพื้นที่บำบัดไปแล้ว เข้าสู่พื้นที่ศิลปะ หรือพัฒนาศักยภาพต่างๆ ที่เราเห็น เช่น ทำอาหาร สนใจเรื่องโบราณคดี บางทีก็ไปหาคนที่มีจิตอาสามาทำโปรเจคร่วม มันนอกหน้าที่นักบำบัด แต่เราเสียดายโอกาส

Self+Art 30

Self+ศักยภาพ

คุณจุมพล : การทำงานต่อเนื่องมานับสิบปี เราเห็นความแตกต่างของเด็กอยู่ในระบบโรงเรียนจะมีอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์มากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียน คือการเรียนทำงานกับแบบแผน ตัวชี้วัด ข้อกำหนด เงื่อนไข ที่เด็กไม่อยากทำ แต่บอกอธิบายไม่ได้ ทำแล้วไม่มีความสุข หรือทำแล้วต้องมีเงื่อนไขให้รางวัล คือ ฝึกเพื่อให้เขาเปลี่ยนแปลง พวกนี้ก็มีผลต่ออารมณ์

เด็กมีศักยภาพบางอย่างแต่ตัวตนของเขามักหายไปเมื่อผ่านระบบการศึกษา เรื่อง Self เรามีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมามีศักยภาพติดตัวมา อยู่ที่เขาจะเจอด้วยตัวเขาเอง หรือ คนอื่นเจอ หรือไม่มีโอกาสเจอเลย เราจะเจอได้ก็ต่อเมื่อเราทำงานด้วยกัน ไม่ว่าคนป่วย หรือเด็กพิเศษ

คนป่วยทำงานจากจิตไร้สำนึก ไม่ได้เสแสร้ง หรือมีความคิดมากลั่นกรอง ข้างในมันออกมาตรงๆ โดยเฉพาะศิลปะที่ไม่มีข้อจำกัดผ่านการสื่อสารหรือกระบวนการทำงาน เราจะเห็น Self ของเขาชัดเจน เรื่องที่เราควรทำคือพัฒนา Self ของเขาให้เติบโต

ลำพู คือผลผลิตของการทำงานผ่านกระบวนการศิลปะกว่าสิบปี ระยะหลังไม่ใช่กระบวนการบำบัด แต่เราเป็นเพื่อนกันมากกว่า พยายามค้นหาศักยภาพ ความเป็นศิลปะบริสุทธิ์ในตัวเขาว่าจะพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน งานเขาอาจเข้าข่าย Art Brut  หรือศิลปะดิบ  เป็นโอกาสที่ดี มีอนาคตที่ดีกว่า

ทุกคนมีอาชีพ คือ มีอะไรทำ สำหรับลำพูหรือแม้แต่คนอื่นๆ เราควรพางานศิลปะเขาให้ไปถึงระดับนึง

ตอนนี้เขาทำหน้ากากซ้ำๆ หน้ากากเป็นตัวแทนของคน เป็นการสื่อสารกับคน เวลาทำเขาให้เราทำไปด้วย จะให้ทำอะไรเดี๋ยวเขาจะจัดการ เขาสื่อสารได้ แต่อาจไม่ชัดเจนมาก ตามธรรมชาติคนทั่วไปพอฟังไม่ออก ก็จะถามซ้ำว่าอะไรนะ เขาก็จะหยุดสื่อสาร ไม่ต้องการความวุ่นวาย

Self+Art 31Self+Art 32

คุณจุมพล ชินะประพัฒน์

เจ้าของ Self+Art Borderless Art Museum / สตูดิโอ Benefit of Art therapy by PAE และ Art Therapy Cafe’  (สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจศิลปะ)

อดีตนักโฆษณาผู้ทดลองทำงานศิลปะกับลูกตั้งแต่สามขวบ สนใจเรื่องพัฒนาการเด็กและศิลปะบำบัด เคยเปิดโรงเรียนสอนศิลปะเด็กแต่ตัดสินใจเลิกไป เพราะรู้สึกว่าเด็กไม่ได้รับประโยชน์อันใด เมื่อเห็นพัฒนาการของลูกผ่านงานศิลปะจึงเริ่มหลักสูตรเพื่อพัฒนาเด็กด้วยกระบวนการศิลปะซึ่งตอบโจทย์พ่อแม่ที่ไม่ได้สนใจเฉพาะชิ้นงานที่สำเร็จ

จนกระทั่งมีโอกาสพบและทำงานกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษหลากหลายกลุ่ม จึงมองเห็นศิลปะในมุมใหม่

คุณจุมพลยังเป็นวิทยากรอาร์ตบรุทที่ประเทศญี่ปุ่น และเป็นตัวแทนค้นหาศิลปินอาร์ตบุทของประเทศไทยและ ช่วยพัฒนางานศิลปะที่น่าสนใจของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษให้เป็นผลิตภัณฑ์ โดยสร้างแบรนด์ Borderless ซึ่งไม่จำกัดประเภทงาน ร่วมกับครอบครัวเพื่อพัฒนาให้เป็นอาชีพ

และอยู่ระหว่างการสร้างพิพิธภัณฑ์ Self+Art Borderless Art Museum เพื่อจัดแสดงงานโดยใช้บ้านของเขาเองและใช้สื่อออนไลน์ขยายผลงานออกไป

นอกจากยังมีความฝันอยากมีพื้นที่ให้เด็กพิเศษได้ทำงานร่วมกับผู้คนในสาขาอาชีพต่างๆ ด้วยความเชื่อว่า มีคนรุ่นใหม่สนใจงานอาสาสมัครมากมาย การเปิดพื้นที่ให้เริ่มต้นทำงานใหม่ๆ และมีโอกาสทำงานเพื่อคนอื่น จะทำให้พวกเขาและสังคมเติบโตอย่างมีคุณภาพในวันข้างหน้า


ขอขอบคุณ ครอบครัวของลำพู และ คุณจุมพล ชินะประพัฒน์

ถ่ายภาพโดย :  ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ

แอดมิน - ลูกบัว

ด.ญ. อริสา ภิรมย์รัตน์ ตำแหน่ง: เวบแอดมิน หน้าที่: สร้างหน้าบทความ โอนย้ายข้อมูล และตกแต่งรูปภาพบทความต่างๆ

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก