ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand

สังคมใดที่คนพิเศษอยู่ได้ด้วยดี ย่อมเป็นสังคมที่น่าอยู่สำหรับเราทุกคน

ถ้าเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต่างมี ดวงจิต (Soul) ที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ แม้ว่าภายนอกของเขาอาจมีความแตกต่าง และมีความยากลำบากในการสื่อความคิด ความรู้สึก เคลื่อนไหวร่างกาย หรือ ลงมือกระทำ แต่ดวงจิตของเขาสามารถรับรู้และเติบโตได้ สิ่งเราทำได้ดีที่สุดอาจไม่ใช่การดูแลช่วยเหลือเขาในฐานะ ‘ผู้รับ’ เท่านั้น แต่คือการเปิดพื้นที่ภายในใจของเรารับรู้เชื่อมโยงกับตัวตนของเขา อยู่ร่วมและรับฟังเขาอย่างแท้จริง และเราจะตระหนักถึงภารกิจของเขาที่เกิดมาเพื่อเป็น ‘ผู้ให้’ เช่นกัน เขาคือผู้ส่งสารให้ร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเกื้อกูล

นี่คือแนวคิดของคณะทำงาน Curative Thailand กลุ่มการศึกษาบำบัดและสังคมบำบัดแนวมนุษยปรัชญา (Anthropology) ซึ่งเป็นหลักในการจัดงาน “ก้าวไปด้วยกัน” หรือ การประชุมสภาคนพิเศษ ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ สองปี และในปีพ.ศ.2561 ได้จัดการประชุมฯ ครั้งที่ 4 ขึ้น ในจังหวัดกาฬสินธุ์

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 28

ผศ.ดร.ศศิลักษณ์ (อ.เปรียว) ขยันกิจ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ.เปรียว : การทำงานกับคนพิเศษตามแนวทางของการศึกษาบำบัด สังคมบำบัดบนทางของมนุษยปรัชญา เรามองว่าทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่คนพิเศษต่างกับเราตรงที่ เขายากลำบากในการนำความคิดถ่ายทอดผ่านภาษา การลงมือกระทำ การเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว บางทีควบคุมบอกอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ แต่ในความเป็นปัจเจกภาวะนั้นมีอยู่ ในการทำงานเราจึงพยายาม สื่อสารผ่านศิลปะ คือการทำงานกับหัวใจ อารมณ์ ความรู้สึก

เมื่อใจเปิด จะนำ ร่างกาย ความคิด ให้ตื่นขึ้น

รู้ว่าต้องการสื่อสารอะไร

ศิลปะจึงเป็นแกนหลัก ไม่ว่าเป็น ดนตรี บทเพลง ระบายสี การเคลื่อนไหว เพื่อที่จะปลุกให้ร่างกาย สำนึกการรู้เนื้อรู้ตัวของเขาให้ตื่นขึ้น

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 29 ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 30ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 31ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 32

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 33

อ.สิริมิตร (ครูกลาง) ทวีปรังษีนุกูล มูลนิธิต้นรักเพื่อบุคคลพิเศษ

ครูกลาง : มนุษย์ไม่ได้มีแค่เรื่องเชาวน์ปัญญา การคิด การพูด เท่านั้น เขามีความรู้สึก มีจิตใจที่บริสุทธิ์อยู่ข้างใน หากเรามองมนุษย์ครบทุกมิติ ไม่ได้มองเพียงจุดที่บกพร่องหรือสิ่งที่เห็นชัดเจน และยอมรับตัวตนของเขา มันจะทำให้เราทำงานกับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษได้ดีขึ้น อย่างน้อยคือเคารพเขาในฐานะบุคคลคนหนึ่ง เขามีคุณค่า เขามีภารกิจในการเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนเรา เรามีภารกิจอะไรบนโลกนี้ บางคนเป็นครู เป็นพ่อแม่ที่ดี … เช่นเดียวกับคนพิเศษที่เขามีภารกิจที่จะปลุกคนรอบข้างให้ตื่นขึ้น รับรู้ว่าเขามีตัวตนมีคุณค่าเขาเป็นประโยชน์ต่อโลกนี้เช่นกัน

ส่วนใหญ่คนมักมองหาทางที่จะพัฒนาเขาให้เก่งขึ้นเหมือนคนปกติทั่วไป แต่หลักคิดของมนุษยปรัชญา หรือ การศึกษาบำบัด/สังคมบำบัดนี่ไม่ใช่  สิ่งสำคัญที่สุดคือ เรามองในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเขา และจะทำอย่างไรให้เขามีคุณค่าอยู่ในแบบที่เขาเป็น บางคนจำทางได้ดี ท่องปฏิทินร้อยปีได้ แต่เราต้องดูแลเรื่องอื่นๆ ไปด้วย กินข้าว เข้าห้องน้ำเอง ฯลฯ คือ พัฒนาเพื่อให้เขาอยู่ได้ “ในแบบของเขาเอง”

สิ่งสำคัญที่สุด คือ

เราได้ฟังเสียงของพวกเขา

ไม่ว่าเขาจะพูดได้ หรือ พูดไม่ได้

ซึ่งก็คือผ่านงานศิลปะและการงานต่างๆ ที่แสดงออกมา นอกจากทำให้เขารู้สึกว่าเขาได้รับการยอมรับ เราเองจะได้ฟังเสียงของเขาที่แท้จริง ว่าเขาต้องการอะไร อยากอยู่อย่างไร ชีวิตเขาเป็นอย่างไร

ถ้าเราฟังเขาจริงๆ  เราจะรู้อะไรที่ไม่เคยรู้อีกเยอะเลย

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 34

การประชุมสภาคนพิเศษคืออะไร

การประชุมสภาคนพิเศษริเริ่มโดย Thomas Kraus อดีตผู้อำนวยการชุมชนบำบัดสำหรับผู้ใหญ่ที่มีความต้องการพิเศษแนวมนุษยปรัชญา ณ เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี  Thomas Kraus และกลุ่มเพื่อนได้เตรียมงานการประชุมสภาคนพิเศษในภาคพื้นยุโรป และขยายไปยังประเทศต่างๆ  มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ สร้างโอกาสให้บุคคลที่มีความต้องการพิเศษได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคม

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 35

Thomas Kraus ผู้ริเริ่มการประชุมสภาคนพิเศษ

การประชุมสภาคนพิเศษในประเทศไทยเกิดขึ้นภายใต้โครงการ “ก้าวไปด้วยกัน”  ริเริ่มโดยกลุ่มการศึกษาบำบัดและสังคมบำบัดแนวมนุษยปรัชญา ร่วมกับเครือข่ายทางการศึกษาพิเศษ  มีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปหรือคนที่สังคมมองว่ามีความต้องการที่แตกต่าง  สร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ที่มีความต้องการพิเศษให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านี้  ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษให้มีพลังกลุ่มในการเป็นกระบอกเสียงแทนบุคคลเหล่านี้ในอนาคต โดยการประชุมเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความต้องการพิเศษอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ร่วมด้วยจิตอาสา ผู้ดูแล และผู้ปกครอง ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลา 4 วัน 3 คืน  ผู้เข้าร่วมได้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย ได้แก่ การฟังบรรยาย  การทำกิจกรรมกลุ่มย่อย  การเดินเล่นในธรรมชาติ/ทัศนศึกษา การสันทนาการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และ แบ่งปันประสบการณ์

ครูกลาง : การประชุมสภาคนพิเศษไม่ใช่ค่ายที่มาเล่นเฮฮากัน กิจกรรมทุกอย่างถูกออกแบบมา เริ่มจากการปลุกกายให้ตื่นขึ้นด้วยโยคะและวงกลมทักทายยามเช้า เปิดฐานคิดผ่านเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนหรือฟังองค์ปาฐก  มีฐานงานศิลปะให้ใจได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกหรือสิ่งที่รับเข้ามาผ่านการทำงานต่างๆ  ช่วงบ่ายออกไปทัศนศึกษาในชุมชน มันทำให้เขาได้เบิกบานแสดงศักยภาพได้ช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งเขาอาจไม่มีโอกาสอยู่ในบริบทแบบนี้มากนัก นอกจากความสุขความอิ่มเอมแล้ว

การที่เขาตื่นขึ้น รู้ตัวว่าเขาทำได้

นี่คือการปลุกความสามารถภายในของมนุษย์ เป็นการเติบโตภายใน

เราก็ดูเขา เข้าใจเขา ชุมชนก็ได้เห็นเขา แบบที่เขาเป็น และเติบโตไปด้วยกัน

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 36 ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 37ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 38ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 39ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 40 ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 41

การริเริ่มการประชุมสภาคนพิเศษในต่างประเทศนั้นเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับคนพิเศษอย่างเดียวเป็นหลัก เพราะเขาไม่มีพื้นที่ แต่ในบริบทของไทยเรารู้ว่าเขาอยู่กับพ่อแม่ มีวัฒนธรรม ครอบครัว ผู้ดูแล ญาติพี่น้อง ชุมชน ซึ่งคนเหล่านี้มีความสำคัญต่อเขามาก ถ้าเราแค่เอาคนพิเศษมามีความสุขกับกิจกรรม กลับไปก็ยังเจอคนรอบข้างที่เข้าใจแบบเดิม คือจะพัฒนาเขายังไงให้เป็นคนปกติ ก็คงไม่เกิดอะไรขึ้น เราเลยให้พื้นที่กับคนรอบข้างคนพิเศษ พ่อแม่ ผู้ดูแล ครู บุคคลต่างๆ ที่สนใจและยินดีมาเรียนรู้ แรกๆ ส่วนใหญ่เขาก็จะไปกับลูก อยากตามไปช่วยเหลือ แต่สุดท้ายเขาจะรู้เองว่า ปล่อยเขาเถอะ… พ่อแม่ผู้ดูแลจึงมาเป็นผู้สังเกต ดูอยู่ห่างๆ ได้เห็นลูก นักเรียนทำสิ่งต่างๆ ที่ต่างไปจากตอนที่อยู่กับเขา ทำให้เขาได้รู้จักลูกเขามากขึ้น เลยให้ความสำคัญกับส่วนนี้เท่าๆ กัน การประชุมสภาคนพิเศษที่เมืองไทยจึงไม่เหมือนที่อื่นทั่วโลก

เราเริ่มจัดครั้งแรกที่นครนายก จากนั้นมาระยอง ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธ์ุ การสร้างเครือข่ายในแต่ละจังหวัดเราพยายามเปิดพื้นที่ให้คนที่ไม่ค่อยมีโอกาสอาจเป็นกลุ่มอิสระไม่มีสังกัดองค์กรอะไรได้มาร่วม เราเองก็ได้เรียนรู้จากเขาด้วย ว่าเขาอยู่ในสภาพแบบใดและน่าจะสนับสนุนเขาอย่างไร

อ.เปรียว : การประชุมสภาคนพิเศษคือการเปิดพื้นที่ให้คนพิเศษได้แสดงตัวตนของเขา สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เขาได้ทำได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง ทุกคนเกิดมาบนโลกนี้เพื่อทำอะไรบางอย่างมอบให้โลก เรารับแล้วเราก็ต้องให้ แต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน ถ้าเราเข้าไปช่วยเหลือเขาตลอดเวลา ไม่เปิดโอกาส เขาก็จะไม่รู้ตัวว่าเขาทำอะไรได้อีกมาก และเราเองก็จะไม่เห็นเช่นกัน

เมื่อเปิดพื้นที่ให้เขาทำอะไรเองมากขึ้น เราจะเห็นความเป็นเขา เป็นคนในวัย 15, 20, … ที่อยากจะสื่อสาร พูดคุย แม้เขาไม่มีชุดภาษา แต่ถ้าเราสบตา จับมือกันก็จะเห็นว่า เขารู้สึกดีที่มีคนเปิดรับ และรับฟัง

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 42

สู่การตื่นรู้ของครอบครัว

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 43

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษและครอบครัว

แม่ฟ้า : บ้านเรามาร่วมทุกครั้ง ครั้งแรกมาด้วยความอยากรู้ว่าสภาคนพิเศษคืออะไร เรามากับลูกอายุ 14 เห็นการประชุมที่มีคนพิเศษมารวมกัน ได้เห็นผู้ใหญ่พิเศษเป็นครั้งแรกว่า เขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ได้นะ ลูกมาครั้งแรกยังไม่ค่อยกล้าจะอยู่กับแม่ตลอด ทำให้เราเห็นว่าต้องกลับไปทำงานเพิ่มเพราะวัยรุ่น 14-15 เขาจะไม่อยากอยู่กับแม่แล้ว ครั้งแรกนี้เป็นการปลุกแม่ให้ตื่นขึ้น กลับไปแยกห้องนอน ให้ลูกฝึกจัดกระเป๋า มีตู้เสื้อผ้าของตัวเอง เพราะตอนที่มาเขาให้เยาวชนแยกกับผู้ดูแลทั้งเราและลูกก็อึดอัด แต่นี่คือชีวิตจริง เราก็เตรียมตัวกันว่าอีกสองปีจะมาอีก ครั้งที่สองลูกอายุ 16 ครั้งนี้เป็นการตื่นรู้ของลูก เขาเริ่มมีเพื่อนอยากทานข้าวโต๊ะนั้น จากฐานกิจกรรมก็เห็นว่าเขาชอบเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอยากขึ้นไปพูดบนเวที

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 44

จบครั้งที่สอง เราก็เริ่มคิดทำกลุ่มเพื่อนให้ลูกเพราะเห็นแล้วว่า เวลาลูกอยู่กับเพื่อนไม่เหมือนอยู่กับเรา ก็เริ่มทำกลุ่มพ่อแม่เพื่อให้ลูกมีสังคม พ่อแม่ก็มีโอกาสพบกันแลกเปลี่ยน ครั้งที่สามเราชวนกลุ่มพ่อแม่ของเรามาร่วมด้วย ซึ่งเป็นความมหัศจรรย์มากๆ  ครั้งนี้ลูกอายุ 18 เขาพยายามดูแลตัวเอง และดูแลกลุ่มน้องๆ ที่มาด้วยกันให้ได้ ในส่วนของแม่ ครั้งนี้เรารู้แล้วว่าการทำกลุ่มพ่อแม่คือ การเปิดให้ทุกคนช่วยกันหล่อเลี้ยง ความคิดที่จะทำเป็นชุมชนก็ชัดเจนขึ้น (ปัจจุบัน แม่ฟ้าสร้างชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษและครอบครัวขึ้นแล้ว ที่จ.สระบุรี)

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 45ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 46

และในปีที่ผ่านมาครอบครัวเรามีโอกาสได้ไปร่วม การประชุมสภาคนพิเศษโลก (The First World Congress for Persons with Disabilities) ที่ประเทศรัสเซีย ทำให้เราได้เห็นบุคลิกผู้ใหญ่พิเศษหลายช่วงวัยที่มาจากชุมชนต่างๆ ในยุโรป เราได้เห็นแล้วว่าการที่คนพิเศษเขามีพื้นที่และได้เป็นตัวเองมันทำให้เขามีความสุขจริงๆ

สำหรับเราพื้นที่ที่บุคคลพิเศษต้องการไม่ใช่พื้นที่ทางกายภาพ เขาต้องการพื้นที่ข้างในของคุณ คือพื้นที่บุคคลต่อบุคคล คือการทักทาย พูดคุย ให้การต้อนรับ พื้นที่ในใจสำคัญมาก และคนพิเศษเขารับรู้ได้ด้วยใจ

การเติบโตของคนพิเศษ

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 47

รัฐนนท์ ทำหน้าที่ผู้ช่วย เป่าขลุ่ยเรียกผู้เข้าร่วมกลับเข้าห้องประชุม ในปีนี้เขาอยากขอบทบาทอื่นเพิ่มเติม

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 48

ภีม ใช้ความสามารถที่เขามีด้านไอที ในการช่วยเหลือให้การนำเสนอด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านไปได้ด้วยดี

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 49

สันติ ชอบสีน้ำ และทำได้ดีมาก ปีนี้เขาเปิดตัวเองมากขึ้น สื่อสารมากขึ้น

เมื่อเราตั้งใจฟังเขา

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 50

“เรามีสิ่งที่คนยังไม่รู้ พวกเราอาจจะไม่เก่งในเรื่องการเรียน แต่เรื่องงานฝีมือเราไม่เคยแพ้ใคร ก็อยากให้ผู้ที่ยังไม่มีโอกาส เข้ามาสนทนาเป็นวงใหญ่มากขึ้นให้เราได้รู้จักกันมากขึ้น” – เฟรช จ.ขอนแก่น

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 51

“จริงๆ มันก็เท่าเทียมกันหมดนะ ไม่แบ่งแยกว่า เด็กพิเศษอยู่ส่วนหนึ่ง เด็กปกติอยู่ส่วนหนึ่ง มันไม่ใช่แบบนั้น เราต้องมีทักษะทางสังคม ร่วมมือและอยู่ร่วมกันได้” – ธีรพัฒน์ กรุงเทพฯ

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 52

“อยากให้คนบนโลกนี้โกรธกันน้อยลง” – ตนุภัทร ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ สระบุรี

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 53

ผศ.ดร.อรสา (อ.แอ๊ว) กงตาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อ.แอ๊ว : การจัดการประชุมสภาคนพิเศษในประเทศไทยนี้ถือเป็นกระแสเดียวกันกับกระแสของโลก เชื่อมโยงทำให้เกิดสิ่งดีในสังคม เราเชื่อว่าถ้าคนพิเศษอยู่ในสังคมได้ดีแล้ว สังคมนี้ก็คือสังคมที่ดีสำหรับทุกคน และในฐานะผู้จัด เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นความรู้ที่มีชีวิต เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าคนเราทุกคนมีโอกาสในชีวิตที่จะเป็นคนพิเศษทั้งนั้น หากเราเดินทางไปในประเทศที่เราไม่รู้ภาษาและวัฒนธรรมของเขาเลยเราก็คือคนพิเศษในบริบทนั้น เราควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบเจอคุณภาพที่ดีๆ กับผู้คนที่หลากหลายไม่มองเพียงร่างกายภายนอก แล้วตัดสินจากความรู้เดิมๆ เราควรเปิดใจให้กันเพราะเราทุกคนล้วนเชื่อมโยงกัน

ครูกลาง : งานเราเป็นการเกื้อหนุนทางใจ คนพิเศษที่มารู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน มีเพื่อน ทั้งๆ ที่อาจไม่รู้จักชื่อกันด้วยซ้ำ คือคนอื่นยอมรับเขา หากเราทำให้ทัศนคติแบบนี้เกิดขึ้นทั่วๆไป  คนพิเศษก็จะอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิต มีความสุขมากขึ้น ความสุขจะเกิดขึ้นในสังคม มันเป็นสังคมอุดมคติ  เหมือนเขาเป็นของขวัญที่ทำให้สังคมเกิดสิ่งนี้ขึ้น และเขาบอกเราอยู่ตลอดเวลา

หลักการการดูแลคนพิการร่างกายมีว่า เราให้ในสิ่งที่เขาต้องการ ไม่มีขาก็มีวีลแชร์เพื่อให้เขาก้าวข้ามอุปสรรคที่มีได้  สำหรับคนพิเศษที่มิได้มีความบกพร่องด้านร่างกายที่เห็นได้ชัดเจนมันอธิบายยากนะ เขามีภาวะหลายอย่างซี่งมีวิธีคิด วิธีมองโลกต่างจากเรา เขามีความแตกต่าง มีความเฉพาะตัว

แต่สำคัญที่สุดคือ เราไม่ควรแปะป้ายว่าใครเป็นอะไร

แล้วคิดไปว่า เขาจะเป็นอย่างนั้นเสมอไป

ถ้าสังคมให้โอกาสยอมรับเขา เราก็จะเติบโตไปด้วยกัน

ก้าวไปด้วยกัน : Curative Thailand 54

ขอขอบคุณ 

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) ผู้อำนวยการชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษและครอบครัว / ผศ.ดร.ศศิลักษณ์ (อ.เปรียว) ขยันกิจ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / ผศ.ดร.อรสา (อ.แอ๊ว) กงตาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น / อ.สิริมิตร (ครูกลาง) ทวีปรังษีนุกูล มูลนิธิต้นรักเพื่อบุคคลพิเศษ / http://www.curativethailand.com/

การประชุมสภาคนพิเศษ ครั้งที่ ร่วมจัดโดย : ภาคีเครือข่ายการศึกษาเพื่อการเยียวยา / ศูนย์การศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม / สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ / มูลนิธิสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น

ถ่ายภาพโดย :  ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ

แอดมิน - ลูกบัว

ด.ญ. อริสา ภิรมย์รัตน์ ตำแหน่ง: เวบแอดมิน หน้าที่: สร้างหน้าบทความ โอนย้ายข้อมูล และตกแต่งรูปภาพบทความต่างๆ

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก