ภาสกร สารภี ชีวิตไม่ง่าย แต่เรียบง่ายได้
“ตอนเล็กๆ สิงห์เหมือนจะพูดได้แต่ไม่พูด เขาจะเอาอะไรก็มาชี้ๆ จูงมือเราไปเอา จน 4 ขวบกว่าพาไปคลินิกเขาอยู่ไม่นิ่ง ไม่สบตา ไม่ทำตามคำสั่ง คุณหมอก็ทักว่าลูกมีพัฒนาการผิดปกตินะ ตอนนั้นเราแค่คิดว่าซนอย่างเดียว จนส่งไปพบจิตแพทย์เด็กก็บอกว่าเป็นออทิสติก ถ้าไม่รักษาก็จะไม่รู้เรื่องอย่างนี้ไปเรื่อยๆ” คุณดวงใจ สารภี (คุณแม่) ย้อนเล่าถึงการทำความรู้จัก ออทิสติก ครั้งแรกของครอบครัวและคุณสิงห์อาจจะเป็นกรณีแรกๆ ของจังหวัดเชียงรายที่มีการระบุถึงออทิสติก
คุณภาสกร สารภี (สิงห์) เข้าเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครูเชียงรายเพียงปีแรกก็ได้รับการวินิจฉัยเป็นออทิสติก จากนั้นเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ โดยมีคุณพ่อ (คุณประสิทธิ์ สารภี) ซึ่งขอย้ายงานราชการจากเชียงรายไปช่วยราชการที่กรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการแทนเพื่อติดตามศึกษาวิธีการและลงมือดูแลช่วยเหลือกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกตลอดระยะเวลาสองปี
คุณสิงห์กลับมาอยู่ที่เชียงรายอีกครั้งในวัย 7 ปี เข้าเรียนร่วมในระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนบ้านดู่สหราษฎร์พัฒนาคาร และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรี วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตพะเยา และ ระดับปริญญาโท เทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ปัจจุบันคุณสิงห์อายุ 31 ปี ทำงานตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สำนักงานส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ชีวิตไม่ง่าย แต่เรียบง่ายได้
คุณดูเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ เป็นคนไม่ค่อยหงุดหงิดใช่ไหมคะ ?
คุณสิงห์ : จริงๆ ก็มีอยู่ ตอนเด็กๆ ก็มีบ้างนะ แต่ในระยะหลังก็ตามวุฒิภาวะเลย เมื่อโตแล้วก็ต้องคิดเอาว่า ถ้ายังหงุดหงิดอาละวาดก็ไม่ให้ผลดี
สำหรับคนที่ต้องดูแลเด็กออทิสติก คุณมีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง ?
คุณสิงห์ : สิ่งแรกคือถามเขาว่าอยากได้อะไร แต่ถ้าเขาไม่รู้ว่าอยากได้อะไร เราก็ต้องหัดสังเกตว่าสิ่งที่ลูกต้องการคืออะไร เหมือนกับที่พ่อสังเกตผมนั่นแหละ การเดาว่าลูกอยากได้อะไรจากลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหว มันทำได้ยากมาก การสังเกตอาจต้องใช้เวลาซักระยะหนึ่ง กว่าจะรู้ว่าลูกต้องการอะไร ก็พยายามทำสิ่งนั้น หรือให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ลูกต้องการ
เมื่อลูกได้สิ่งที่ต้องการแล้ว ต่อไปอาจจะกำหนดเงื่อนไขว่า ถ้าลูกต้องการสิ่งนี้ต้องทำอะไรก่อน เหมือนเราในตอนนั้น พ่อจะให้ลูกทำตามเงื่อนไขให้ได้ก่อน ถ้าไม่ทำก็จะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ อย่างเช่น ถ้าอยากเที่ยว แต่ถ้าไม่ยอมทานข้าว พ่อจะไม่ให้ไป มีเงื่อนไขที่ชัดเจนให้ทำตาม ดีกว่าให้คิดเอง คิดเองก็ไม่รู้ว่า อยากให้ทำอะไร
แต่ต้องให้ลูกหัดแก้ปัญหาเองบ้างใช่ไหม เพราะพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับเราตลอด ?
คุณสิงห์ : ใช่ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่อันตรายเกินไป เรื่องที่กังวล พ่อแม่ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่จากนั้นก็อาจจะเจออีกระดับหนึ่ง
คุณมีเรื่องยากๆ ในชีวิตที่ต้องก้าวข้ามไหม ?
คุณสิงห์ : เรื่องยากในชีวิต น่าจะเป็นการฝึกพูดนะ เราแทบไม่ค่อยพูด เริ่มมาพูดตอน 6 – 7 ขวบ ก่อนหน้านั้นไม่ค่อยรู้เรื่อง เคลื่อนไหวตัวเองมาก การก้าวข้ามคือช่วงที่ไปอยู่ ร.พ.ยุวประสาทฯ เข้าไปเรียน ทำกิจกรรม มีฝึกให้กิน เรามีการฝึกที่ล้มเหลว แต่ก็พยายามต่อไป คือหัดขี่จักรยาน พอพ่อเอาล้อเด็กออกก็ล้มจนบาดเจ็บ แต่ถ้าเราสนใจสิ่งใด ก็จะทำสิ่งนั้นแบบไม่หยุด เอาจนขี่ได้เพียง 3 วัน แต่ก็เจ็บอยู่
พูดถึงเรื่องซ้ำๆ ทำไมออทิสติกชอบทำอะไรซ้ำๆ ?
คุณสิงห์ : เราชอบอะไรก็จะทำวนอยู่อย่างนั้นจนคนอื่นๆ แทบเบื่อไปเลย ซ้ำมาก ซ้ำเพราะรู้สึกสนุก
มาคุยเรื่องการเรียนบ้าง คุณเป็นคนชอบเรียนนะ ยากไหม ต้องปรับตัวเยอะไหม ?
คุณสิงห์ : เลือกไปเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่พะเยา ก็ไปอยู่หอ คือเราอยู่ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ไกลมากเกินไปเข้าไปเรียนเจอคนก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดอะไร มีเพื่อนที่มาเรียนด้วยกัน เราช่วยเขา เขาช่วยเรา ผมช่วยเรื่องการเรียนแคลคูลัสและคอมพิวเตอร์ ส่วนเพื่อนก็ช่วยสอนแก้โจทย์ปัญหา ทำงานกลุ่มช่วยกันคิดหัวข้อ
แคลคูลัสไม่ยากหรือ คุณมีวิธีการเรียนอย่างไร ?
คุณสิงห์ : แคลคูลัสมันมาจากคณิตศาสตร์ ถ้าเราบวกลบเป็นก็ฝึกไปเรื่อยๆ ก็น่าจะทำได้อยู่ แต่ถ้าเราไปอ่านหนังสือล่วงหน้าซักนิดนึง ลองฝึกตามก็เป็นอีกแบบนึง เป็นวิธีที่ผมใช้อยู่บ้าง คือถ้าสนใจส่วนไหน ก็พยายามทำส่วนนั้น อย่างน้อยพยายามดูเนื้อหาบทนั้น และลองทำอะไรเองบ้าง ก็อ่านเพิ่ม ฝึกเพิ่ม แต่ถ้าคนนั้นเขาไม่สนใจ ยิ่งไปโน้มน้าว เขาอาจจะยิ่งไม่ชอบก็ได้
เคยโดดเรียนบ้างไหมคะ ?
คุณสิงห์ : นิสัยของเราแล้วนี่ไม่ค่อยจะหนีวิชาไหนซักวิชา เข้าเรียนทุกวิชา ยังไงก็ไม่หนี การเข้าเรียนครบทุกวิชานี่ก็เป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่ควรจะมี ถึงไม่ชอบก็อยู่ไป ถ้าตกวิชาใดวิชาหนึ่งอาจจะลำบากในภายหลัง นั่นคือสิ่งที่คิดได้ เคยเห็นบางคนซ้ำเรียนสองปีก็มีสามปีก็มี
ตอนเรียนปริญญาโท เป็นอย่างไรบ้างคะ ?
คุณสิงห์ : ปัญหาที่ยากคือ การคิดหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาสารสนเทศ เราทำเรื่องระบบตอบคำถาม อันนี้ใช้เวลาเสนอหัวข้ออยู่สี่เดือน ใช้เวลาในการทดลองระบบใช้งานสองปีเพื่อรวบรวมข้อมูล และต้องกลับมาแก้ไขวิทยานิพนธ์อีกหลายครั้ง เราต้องการรีบจบให้เร็วที่สุด ต้องพยายาม
คุณมีงานอดิเรกไหม เวลาว่างชอบทำอะไร ?
คุณสิงห์ : ช่วงที่เรียนชอบเขียนนิยายเกี่ยวกับรถ คิดอะไรได้ก็เขียน ชอบเขียนแกล้งเพื่อน คือเอาชื่อเพื่อนมาใส่เป็นตัวละครในเรื่อง วางบทอะไรแปลกๆ ตอนนั้นมีเพื่อนหลายคนบอกว่าอยากเป็นตัวละครในเรื่องด้วย ก็เลยพยายามหาบทเท่าที่จะใส่ได้ แล้วก็ให้เพื่อนอ่าน
ผมสมัครบล็อกไว้ที่เด็กดีตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน คือ my.dek-d.com/Singhastar/ ทุกวันนี้ก็ยังเขียนอยู่เรื่องรถ แปลเกมส์ ก็ไม่ถึงกับเลิศหรอก แปลตามความสนใจ
คติประจำใจ
อะไรที่เป็นไปไม่ได้ไม่ค่อยมีนักหรอก
– Singhastar
ยังมีโอกาสพบเพื่อนๆ สมัยเรียนบ้างไหมคะ ?
คุณสิงห์ : ไม่ค่อยได้ติดต่อกัน แต่ละคนแยกย้ายกันไปคนละที่
เล่าถึงงานที่ทำอยู่ตอนนี้สิคะ
คุณสิงห์ทำตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สำนักงานส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
คุณสิงห์ : การทำงานยังต้องเรียนรู้อีกมาก บางเคสนี่อาจไม่สามารถตอบคำถามด้วยตัวเองต้องรอให้ผู้ใหญ่มาตอบคำถาม ผมทำเกี่ยวกับการสแกนเก็บเอกสารข้อมูล บันทึกป้อนข้อมูลตรวจสอบวุฒิ ส่วนงานอื่นๆ ก็ตามที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือ
ปัญหาที่พบไม่ใช่ปัญหาระบบ เพราะระบบทำไว้ดีอยู่แล้ว จะพบปัญหาที่คนมาใช้บริการมากกว่า เช่น ลงวิชาไม่ได้ ก็จะไม่พอใจ ส่วนใหญ่ผมไม่ได้เจอเอง เวลาเจอเองก็พยายามปล่อยวางไว้ ไม่อยากทำอะไรมาก ไม่งั้นปัญหาลุกลามมากกว่าเดิม
พยายามทำหน้าที่ตัวเองต่อไปให้ดีที่สุด ต้องคอยสังเกต ที่มีบ่อยคือ มีคนมาบอกให้เราไปช่วยทำตรงนั้นตรงนี้ เพราะบางทีเราจดจ่อทำอย่างอื่นอยู่ อันนี้เป็นบ่อย เขามาบอก ผมรับได้ จริงๆ มันต้องเป็นหน้าที่แหละ ไม่งั้นหน่วยงานนี้จะถูกหาว่าบกพร่องต่อหน้าที่ ยิ่งเป็นหน่วยงานบริการด้วย
ทำมาเจ็ดปีแล้ว กลางวันชอบไปทานข้าวหน้าม. คนเดียว เป็นความชอบส่วนตัว อยากกินอะไรก็ไปร้านนั้น
ทราบว่าคุณขี่จักรยานไปกลับ บ้าน-ที่ทำงาน และไปที่ต่างๆ ในเมืองเชียงรายด้วย
คุณสิงห์ : ชอบขี่จักรยานมาตั้งแต่ประถม อยากเดินทางด้วยตัวเอง มันมีความสุข หลังจากที่ฝึกขี่จักรยานได้เรากลับมาขี่อีกทีตอน ป.5 เห็นเพื่อนขี่มาโรงเรียนเองได้ เลยขออนุญาตพ่อ ขี่ได้ถ้าเรารู้เส้นทาง ต้องคอยระวังเรื่องรถ
ความสุขและชีวิตครอบครัวของคุณในวันนี้คืออะไร
คุณสิงห์ : ความสุขในแต่ละวัน คือได้ไปเที่ยวในเมืองด้วยตัวเอง ได้ไปกินอะไรที่ตัวเองอยากบ้าง ซื้ออะไรตามที่ตัวเองต้องการและมีกำลัง เพียงแต่ต้องระวังบางเรื่องเท่านั้นเอง ก็วางแผนเก็บเงินไม่ใช้จ่ายมากเกินไป เพื่อนร่วมงานบอกว่าเราเนี่ย ใช้จ่ายน้อยมากเมื่อเทียบกับคนอื่น
เคยมีช่วงที่คุณแม่ของคุณเป็นห่วง ว่าคุณอาจมีความกังวลเรื่องต่างๆ มากไป
คุณสิงห์ : ผมอ่านข่าวเยอะ แต่ก็ไม่ได้กังวลมาก พ่อเคยสอนเรื่องโอกาสความน่าจะเป็นว่าถ้าโอกาสมันน้อยก็ไม่ต้องใส่ใจ พ่อสอนว่าถ้าคิดดี ก็จะมีสิ่งอื่นๆ ดีไปด้วย
ในครอบครัวคุณสนิทกับใครบ้างคะ มีปัญหาปรึกษาใคร ?
คุณสิงห์ : ผมมักคุยปรึกษาคุณพ่อบ่อย ปัจจุบันก็คุยเรื่องข่าวต่างๆ ที่อ่านจากเว็บ ถ้าเป็นปัญหาเรื่องงานไม่ได้ปรึกษา แต่ถ้าเป็นเรื่องโปรแกรม ระบบก็จะถามบ้าง (แล้วคุณเอิธ น้องชายล่ะค่ะ) สนิทกับน้องก็คุยกันบ่อยอยู่ เพราะใช้ห้องเล่นคอมฯ ด้วยกัน พยายามบอกน้องไม่ให้โกรธโมโหไม่มีเหตุผล เขาก็พอฟังเราบ้าง (คุณเอิธ อายุห่างจากคุณสิงห์ 7 ปี และมีภาวะออทิซึ่มเช่นกัน)
ส่วนพี่สาวคนโตอยู่กรุงเทพฯ เราคุยกันบ้างเรื่อง การ์ตูน เกม พี่ยังไม่ได้แต่งงานและยังไม่สนใจเรื่องแฟน พี่สาวเคยบอกมาเองยังไม่พร้อมถึงเรื่องแบบนั้น อีกอย่างความสัมพันธ์ การหาแฟนนี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสับสนและวุ่นวาย เหมือนกับคนทั่วไปเป็นนั่นแหละ
แล้วคุณสนใจผู้หญิง หรือการมีชีวิตครอบครัวบ้างไหม ?
คุณสิงห์ : เรื่องผู้หญิงไม่ได้สนใจครับก็มีเพื่อนผู้หญิงตอนเรียนตามปกติ (วางแผนชีวิตให้ตัวเองบ้างไหม ?) ทำงานตามที่มีอยู่ไปก่อน ยังไม่ได้คิดอะไร ถ้ามีเป้าหมายก็หมายถึงความรับผิดชอบก็ต้องมีมากขึ้นด้วย เราอาจจะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของพ่อแม่บ้าง อะไรที่ทำแทนพ่อแม่ได้ก็น่าจะลองทำ เพียงแต่ในเวลานี้พ่อแม่ยังพอมีแรงอยู่
มุมมองจากเพื่อนร่วมงาน
คุณนริศ แสงทอง และ คุณเจษฎากร สมประสงค์ นักวิชาการศึกษา
งานของสิงห์ คือการแบ่งเบาภาระงานเอกสาร การส่งต่อเพื่อตรวจและจัดเก็บ ซึ่งจะมีมากน้อยเป็นช่วงๆจุดเด่นของเขาคือ มีความแม่นยำในการคัดแยกและจัดการงานเอกสาร โดยเฉพาะถ้าเป็นการจัดการระบบที่เขาออกแบบเองขอเมื่อไหร่ก็จะค้นหาเจอได้ดี (แต่ห้ามไปย้ายของเขานะครับ)
บางเรื่องที่ควรพัฒนา คือ การสั่งงานอะไร สำหรับสิงห์ สั่งแค่ไหนก็คือแค่นั้น จบ เขาจะไม่ทำต่อ เราต้องแนะนำให้ข้อมูลเพิ่ม และต้องตรวจสอบอีกที เพราะบางทีเขาเจออะไรที่ผิด แต่ไม่ได้บอกเราก็ต้องคอยดู หลังๆ มานี่ยังมีหลุดบ้าง แต่เราก็ลองปล่อยเขา ซึ่งส่วนใหญ่ก็สำเร็จนะครับ
สังคมและการอยู่ร่วมกัน
สิงห์ทานข้าวคนเดียวเพราะชอบทานบางอย่างซ้ำ แต่งานต่างๆ ของหน่วยเขาก็มาร่วมพูดคุยด้วยเหมือนทุกคน ความจำดีเป็นข้อได้เปรียบ ภาวะอารมณ์มีบ้างแต่ไม่เคยทำอะไรใคร อยากให้สังคมเปิดกว้างกว่านี้ ไม่จำเป็นต้องให้กฎหมายบังคับถึงจะจ้างงาน
คุณกนกอร กาววิไล เจ้าพนักงานประชาสัมพันธ์
พี่สิงห์เป็นคนมีความตั้งใจ ถ้าหัวหน้าให้เขาทำอะไรเขาก็จะทำๆๆๆ หนูเป็นเด็กกว่าก็จะชอบคุยเล่นกับพี่เขา ชอบแหย่ เอาขนมให้เขา เขาก็จำและเอามาคืนหนูบ้าง เขาก็จะยื่นขนม พูดแค่เอาไป พอเราพูดคุยกันก็ทราบว่า พี่เขาชอบเขียนจินตนาการแต่งเรื่องรถ เรื่องอะไร เขาก็มาพูดกับหนู ดูเหมือนเขามีความสุข เล่าว่าเขาแต่งเรื่องนั้นเรื่องนี้นะ แต่ในที่ทำงานเขาไม่สามารถจะคุยเล่นกับคนอื่นได้มากนัก
สิ่งที่แตกต่างชัดเจนคือ เรื่องมิตรสัมพันธ์ เขาจะไม่ทักทายคุยเล่น ล่าสุดแม่ของหนูเสียชีวิต หนูบอกพี่สิงห์แม่หนูเสียนะ เขาบอก ทำไมแม่เธอต้องเสีย คือเขาอาจไม่เข้าใจว่าต้องแสดงความรู้สึกเสียใจยังไง
เรื่องอื่นๆ เขาก็ไม่ได้ต่างจากเรา พี่สิงห์จบตั้งป.โท คือเขาเก่งนะ ตอนนั้นไปอบรมด้วยกัน อาจารย์เขาให้โจทย์ทำข้อนึง คนอื่นทำไม่ได้แต่พี่สิงห์ทำได้ พวกแก้ปัญหาหรือทำกิจกรรมเป็นทีมเขาตั้งใจทำมาก หนูว่าดีหากองค์กรต่างๆ ให้โอกาสนะคะ เป็นการได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม
ครอบครัวสารภี สมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
อ่านเพิ่มเติม :
ครอบครัวสารภี แตกต่าง เติบโต เป็นธรรมดา
บนโลกใบเดียวกัน ความพยายามของ วสุ สารภี
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ