คุณวสุ สารภี ออทิสติกหนุ่ม เจ้าหน้าที่ห้องสมุด ม.ราชภัฏเชียงราย
“ผมทำงานที่ห้องสมุดมา 3 ปีกว่า เป็นเจ้าหน้าที่ดูแล จัดเก็บหนังสือ ดูแลความเรียบร้อยที่นั่งอ่าน เปิดปิดคอมพิวเตอร์ในช่วงเปิด ปิดทำการ ช่วยใส่หนังสือพิมพ์ ใช้เครื่องมือบันทึก อ่านบาร์โคด มีเพื่อนร่วมงานเยอะครับ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำห้องสมุด ไม่ได้อ่านทุกเล่ม แต่ผมรู้ว่าหมวดไหนอยู่ตรงไหน ช่วงหลังเลิกงานผมชอบไปฟิตเนสออกกำลังให้แข็งแรงและมีกล้ามครับ มันเท่ ไม่ทำเพื่อจีบสาวครับ แต่เพื่อไม่ให้ตัวเองลงพุง ผมตรวจสุขภาพทุกปี ผลก็ปกติดีครับ”
คุณวสุ สารภี (เอิธ)
: เจ้าหน้าที่ห้องสมุด หน่วยงานสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
การศึกษา อนุบาล – มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านดู่สหราษฎร์พัฒนาคาร
ประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาการบัญชี โรงเรียนพณิชยการเชียงราย
ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นสูง สาขาการบัญชี วิทยาลัยอาชีวศึกษาพณิชยการเชียงราย
คุณพิชญาภัค โชคพัฒนสกุล บรรณารักษณ์ (หัวหน้างานของคุณเอิธ)
ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับบุคคลออทิสติกมาก่อนค่ะ เอิธเป็นคนแรก งานหลักของเขาคือต้องนำหนังสือที่คนยืมนำมาคืนและหนังสือที่ถูกใช้ในห้องสมุดเก็บเข้าชั้น เราจะแบ่งสัดส่วนให้เขา ที่นี่มีเจ้าหน้าที่จัดหนังสือเข้าชั้น 3 คน อีก 2 คนที่เป็นเพื่อนร่วมงานก็มอบหมายให้เป็นผู้สอนงานเอิธในช่วงแรก ก็แบ่งกันว่าใครจัดชั้นไหน แถวที่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ เขาก็ตั้งใจทำงานดีนะคะ เพียงแต่เราต้องบอก ต้องดูแลตลอด เขาจะรู้ว่าช่วงเช้ามาต้องทำอะไร พอมีช่วงเวลาว่าง (ระหว่างที่รอรับหนังสือยืมคืนกลับไปจัดเป็นช่วงๆ ตลอดทั้งวัน) ก็จะไปช่วยงานอื่นๆ เช่น วารสารและหนังสือพิมพ์ ดูว่ามีอะไรให้ช่วยไหม การทำงานถ้านอกเหนือจากงานหลักมีอะไรเพิ่มเติม เราบอกเขาจะฟัง และเราก็ต้องบอกเป็นขั้นเป็นตอนค่ะ
จุดเด่น คิดว่ามอบหมายงานจัดชั้นหนังสือให้คือเหมาะแล้ว เขามีความแม่น เป๊ะในการจัดหนังสือตามเลขหมู่บนสันหนังสือ จัดได้ถูกต้อง ไม่ค่อยมีผิดพลาด และถ้าอยากให้เขาทำอะไรเพิ่มเติมก็บอกเขาได้ เวลาคนมาถามข้อมูลอะไร ถ้าตอบได้ เขาก็จะตอบเลย ถ้าเขาตอบไม่ได้ก็จะพามาถามที่นี่ หรือพี่ๆ ที่อยู่ใกล้ๆ
ในส่วนที่เป็นการเข้าสังคมและมารยาท คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าเขาเป็นอย่างไร แต่เราก็ยังคอยสอนตลอด ทั้งการเดินลงบันไดเสียงดัง ช่วงเครียดอาจจะมีกระทืบเท้า เปล่งเสียงคนเดียวหรือม้วนผมบ้าง เมื่อเตือนก็จะหายไปค่ะ ถ้ากลับมาใหม่ก็ยังคอยบอกตลอดค่ะ ตัวอย่างความกังวล เช่น เรื่องการปิดบริการตามเวลา แต่ยังมีคนใช้บริการไม่เสร็จ เป็นต้น
เรื่องภาระงาน ที่นี่เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกภาระงานประจำวันว่าแต่ละวันทำอะไรไปแล้วบ้าง เป็นระบบของกองบริหารงานบุคคล ของมหาวิทยาลัย แบ่งเป็นภาระงานหลัก ภาระงานรอง และภาระงานอื่นๆ เขาจะจดมาและดิฉันเป็นคนบันทึกให้ ถ้าเขามีศักยภาพจำกัดงานส่วนที่ยาก งานระดับสูงขึ้นมาก็จะเป็นภาระงานของคนอื่นแทน อย่างงานการประเมิน การจัดเก็บสถิติ อย่างนี้เราก็ทำแทนเอิธทั้งหมด
แต่ที่นี่ก็ถือว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่สำนักนี้ค่ะ มีงานเลี้ยงหรือทำอะไรก็จะไปด้วยกัน หลังเลิกงานถ้าวันไหนเขาไม่ได้ขี่จักรยานมาก็จะมีพี่ที่สำนักงานให้ติดรถไปฟิตเนสเขาชอบออกกำลัง งานทำดีก็มี มีข้อผิดพลาดก็เตือน ไม่เชื่อก็ต้องดุ เพราะมองเขาเหมือนเด็ก อย่างเช่น วันหยุดจะมีแบ่งเจ้าหน้าที่เวียนกันมา เอิธชอบเปิดดูรายการกีฬาเคยเปิดเสียงผ่านลำโพง มันรบกวนคนมาใช้บริการก็จะบอกว่าเปิดฟังได้ แต่ต้องเตรียมหูฟังมาด้วย สำหรับการให้โอกาสในการทำงานก็ถือเป็นเรื่องดีค่ะ
คุณวิไลวรรณ ชุมแปง เจ้าหน้าที่ห้องสมุด (เพื่อนร่วมงานของคุณเอิธ)
มองเขาเหมือนกับเด็กทั่วไป บอกอะไรแกก็ฟัง ถ้าทำไม่ถูกก็บอกก็เตือน มาถามอะไรก็ช่วยบอกให้ค่ะ คิดว่าคนเราก็น่าจะมีงานทำ ดีกว่าอยู่บ้านจะได้พัฒนาให้ดีขึ้น เห็นเขาอ่านภาษาอังกฤษเก่งนะคะ
ก่อนถึงวันนี้
คุณเอิธ : เวลาเห็นน้องๆ ร้องไห้ก็รำคาญบ้างครับ ตอนเด็กๆ เวลาผิดหวัง ไม่ได้ดั่งใจก็เป็นอย่างนี้แหละครับก็จะดีขึ้น เดี๋ยวโตก็จะรู้เอง ตอนเด็กๆ ที่ผมพอจำได้ … ไม่ค่อยอยู่นิ่ง ซุกซน เดินเที่ยวตามที่ต่างๆ ไปนอนเล่นตามที่ๆ ชอบ ไม่ค่อยเรียนหนังสือเลยเรียนแค่บางวิชา
คุณเอิธ : ผมประทับใจที่แม่พาผมมาทำกิจกรรมที่บ้านครูอ้อย (สมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย) ตั้งแต่ผมอยู่ ป.6 ชอบที่ได้ทำงานศิลปะ อ่านหนังสือ ช่วงนี้ผมชอบท่องเที่ยวทัศนศึกษา เพราะกิจกรรมอื่นๆ ก็เป็นของเด็กๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ของน้องๆ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด สอนสื่อภาษาให้คล่อง ไม่ให้ลูกออกนอกลู่นอกทาง เช่น ไปที่ต่างๆ ต้องรั้งไว้ คล้องแขนเอาไว้ พ่อแม่ดูแลผมอย่างดี พ่อผมฝึกให้ผมเล่นดนตรี ว่ายน้ำด้วย ปั่นจักรยาน ฝึกมาจนขี่คล่องแล้ว งานบ้านผมก็กวาดห้องนอน บันได ทำกับข้าวกินเองบ้าง ทอดไข่ ตุ๋นไข่ เวฟข้าว ตั้งเวลาทำข้าวเหนียวก็เป็น ซักผ้าก็ได้ครับ
ช่วงที่เรียนปวส. ผลการเรียนดีขึ้นมาจากความตั้งใจความพยายามครับ ผมชอบตัวเลขและได้เลือกสาขาที่ถนัด คุณครูช่วยเหลือทุกวิชาครับ ใจเย็น อธิบายให้เข้าใจ เวลาใกล้สอบผมก็เตรียมตัว อ่านหนังสือท่องจำ เวลาสอบก็ทำได้ครับ จบเกียรตินิยมเหรียญเงิน คืออันดับสองได้เกรด 3.63 ผมพยายาม ไม่ได้ติวครับทำเอง
ก่อนหน้านี้ผมเคยอยากเป็นพนักงานเสริฟร้านอาหาร ทำธุรกิจส่วนตัวเคยไปฝึกงานในโรงแรมก็ได้บริการ ทำห้อง รีดผ้า เสริฟอาหารให้แขก ล้างถ้วย กวาดทำความสะอาดห้อง งานหนักพอสมควร ผลก็ออกมาพอใช้ แต่ผมได้งานที่ห้องสมุดแล้วครับ.
คุณดวงใจ สารภี คุณแม่ของคุณเอิธได้ช่วยขยายภาพให้เห็นเพิ่มเติม :
คุณดวงใจ : ช่วงอนุบาลเอิธจะนั่งเงียบอยู่ในชั้นเรียนไม่ค่อยพูดคุยกับใคร จนคุณครูคิดว่าพูดไม่ได้ เล่นกับเพื่อนไม่เป็น ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว ช่วงประถม เอิธก็จะเรียนบ้างไม่เรียนบ้าง อยากนอนก็จะนอนที่พื้นห้อง หรือที่ห้องคหกรรม และชอบเดินไปดูนาฬิกาลูกตุ้มที่ห้องครูใหญ่เพื่อดูลูกตุ้มแกว่งและฟังเสียงนาฬิกาตีบอกเวลาแทบทุกชั่วโมง
พ่อกับแม่ก็เห็นพฤติกรรมที่ถดถอยแล้วก็พยายามช่วยเหลือลูก สอนให้ระบายสีรูปภาพ (ซึ่งระบายได้เลอะมาก ไม่อยู่ในกรอบรูปเลย) สอนอ่านนิทาน และในช่วง ป. 3 คุณพ่อฝึกให้ท่อง สูตรคูณ ท่องอาขยาน ตอนที่นั่งรถ กับพ่อตอนรับ-ส่งไปโรงเรียน เช่น เด็กเอ๋ยเด็กน้อย ความรู้เจ้ายังด้อยเร่งศึกษา… ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ… ระฆังดังเหง่าหง่าง… ซึ่งเอิธท่องได้แม่นยำครบถ้วนทุกอย่างที่สอน และไม่เบื่อที่จะท่องซ้ำๆ ใช้เวลาคราวละ 4-5 นาทีทุกวันตอนไปรับ-ส่ง จากบ้านไปโรงเรียน และคุณพ่อฝึกให้เล่นเปียโน (เป็นเปียโนของเล่นสำหรับเด็กๆ แบบไม่ใช้ไฟฟ้า) เล่นเพลงง่ายๆ ก่อน จน ป.4 ก็ฝึกเล่นเพลงที่ยากขึ้น เช่น ศรีนวล เธอผู้เสียสละ เพื่อมวลชน พรพรหม… แต่ในด้านการเรียนในชั้นเรียนก็ยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม การเรียนไม่ดีขึ้น (จริง ๆ คือไม่เรียนเลย)
จนถึง ป.6 แม่พาเอิธมาฝึกที่สมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย (ชื่อเดิมชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกเชียงราย หรือรู้จักกันในชื่อ บ้านทอฝันของครูอ้อย) ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ครูอ้อยให้ฝึกตั้งแต่พื้นฐานเลย คือฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กด้วยการฝึกร้อยลูกปัด ปักแผ่นเฟรม ปั้นแป้งโด แล้วค่อยฝึกระบายสี ฝึกอ่านหนังสือนิทาน โดยทุกกิจกรรมแม่มีส่วนร่วมด้วย ในตอนแรกก็เริ่มฝึกอ่านหน้าเดียวก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มไปทีละนิดๆ จนอ่านได้จบเล่ม
คุณดวงใจ : การหัดเขียนหนังสือ (โดยใช้วิธีมือกำดินสอทั้ง 5 นิ้ว เนื่องจากกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ถ้าใช้สามนิ้วเหมือนเด็กปกติ ก็จะเขียนได้ไม่นานหรือเลิกเขียนไปเลย) ตอนแรก ก็เริ่มเขียนตัวเต็มบรรทัดตามบทเรียนทีละ 3-4 บรรทัดก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น ต่อมาก็พัฒนาจากเขียนตามแบบเป็นเขียนเล่าเรื่องของตนเอง เช่น เล่าเรื่องกิจวัตรประจำวัน ซึ่งแม่ก็ต้องช่วยลำดับเหตุการณ์ให้ก่อน สำหรับการฝึกภาษาอังกฤษ ครูอ้อยก็จะช่วยสอนให้ทั้งการอ่านและการเขียน เราฝึกอย่างนี้สลับกับการเล่นเกมนันทนาการบ้างเป็นเวลาหลายปี โดยที่ทางบ้านก็ฝึกเล่นเกมคณิตศาสตร์กับลูกๆ เริ่มจากการบวก การลบ การคูณ การหาร และการยกกำลัง 2 อย่างง่ายๆ ก่อน จนมาถึงเกม 24 คือบวกเลขให้ได้ 24 จากป้ายทะเบียนรถยนต์ จาก ป.6 – ม. 3 เอิธได้รับการฝึกมา 4 ปี ผลการเรียนในระดับชั้น ม. 3 จบออกมาด้วยเกรดเฉลี่ย 1.04
แม่บอกได้เลยว่า มองไม่เห็นอนาคต
ว่าลูกจะไปเรียนต่ออะไร ที่ไหน
แต่จะให้ลูกอยู่บ้านเฉยๆ ยิ่งแย่ใหญ่
แม่ตัดสินใจพาเอิธมาสมัครเรียนที่โรงเรียนพณิชยการเชียงราย เข้าเรียนระดับ ปวช. สาขาการบัญชีโดยไม่คาดหวังอะไร แต่ปรากฏว่าเอิธสามารถปรับตัวเข้าเรียนโดยมีสมาธินั่งในชั้นเรียนได้ ทำงานที่ครูมอบหมายได้ แต่ยังมีพฤติกรรมคงค้างอยู่ เช่น เมื่อเครียดจะกระทืบเท้า ซึ่งแม่ก็ต้องอธิบายให้ครูเข้าใจและให้ช่วยปรับพฤติกรรม
เอิธเรียนต่อระดับ ปวส. สาขาการบัญชีที่วิทยลัยอาชีวศึกษาพณิชยการเชียงราย เขาชอบทำกิจกรรมของวิทยาลัยมาก มีกิจกรรมอะไรจะขออาสาเข้าร่วมด้วย เช่น เดินขบวนกีฬาสี ขบวนลอยกระทง และชอบบริจาคโลหิต ซึ่งเขาก็บริจาคโลหิตมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เอิธชอบเป็นพิเศษคือร้องเพลงคาราโอเกะ ทุกครั้งที่มีงานเอิธจะขอร้องเพลง(แม้ว่าจะร้องผิดคีย์ก็ตาม) ความสามารถพิเศษที่พ่อแม่ก็เพิ่งทราบมาไม่นานคือ สามารถทายวันเกิดในรอบสัปดาห์ ได้จากข้อมูลที่บอกวันที่เกิด เดือน ปีที่เกิด ซึ่งเอิธโชว์ความสามารถในวันที่คณะอาจารย์และนิสิตปริญญาโท จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาดูงานสมาคมฯ
คุณวสุ สารภี เอิธได้รับรางวัลคนพิการดีเด่น ประจำปี 2558 ในงานวันคนพิการสากลจังหวัดเชียงราย ประจำปี 2558 โดยสมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติกเชียงรายเป็นผู้เสนอชื่อ
ถึงแม้ปัจจุบันเอิธจะจบระดับ ปวส. อายุ 25 ปี และมีงานทำแล้วก็ตาม แต่จากการที่เขาเป็นออทิสติกที่มีพัฒนาการความพร้อมล่าช้า ดังนั้นก็ยังคงมีพฤติกรรมบางอย่างหลงเหลืออยู่ เขายังต้องฝึกฝนทักษะด้านการสื่อสาร และการใช้ชีวิตในสังคมต่อไปอีก.
อ่านเพิ่มเติม
ครอบครัวสารภี แตกต่าง เติบโต เป็นธรรมดา : ดวงใจ สารภี
ความสุขคือการใช้ชีวิตอิสระ : ชีวิตเรียบง่ายของ ภาสกร สารภี
ขอขอบพระคุณ
ครอบครัวสารภี สมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ