บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังสมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย
กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาและลงแรงเติมปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษเป็นภารกิจตลอดชีวิตของครอบครัว เราพบว่าสำหรับครอบครัวนักสู้ พวกเขาจะไม่หยุดเพราะข้อจำกัดหรืออุปสรรคต่างๆ รวมถึงความคิดที่ว่า “ลูกโตแล้ว คงพัฒนาได้เท่านี้”
สร้างรากฐานที่สำคัญให้ลูก
เมื่อทราบว่าคุณรพีพงษ์ ชัชวรัตน์ (ก้ำ) ลูกชายคนที่ 2 เป็นออทิสติก ขณะนั้นคุณปิยะนุช ชัชวรัตน์ (ครูอ้อย) ทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์ (ปัจจุบัน-มูลนิธิวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์) คิดจะลาออกแต่ทางสถาบันฯ ขอให้ช่วยทำต่อไปโดยทำงานตรวจเอกสารอยู่ที่บ้านได้ ขณะเดียวกันเมื่อ โรงเรียนเชียงรายมอนเตอสซอรี่ (โรงเรียนปิติศึกษา) ซึ่งครูอ้อยเป็นผู้ปกครองรุ่นแรกที่ร่วมก่อตั้งทราบข่าวนี้ จึงชวนให้ครูอ้อยพาคุณก้ำมาเข้าเรียนร่วมที่โรงเรียน และขอให้ครูอ้อยเข้ามาช่วยเป็นผู้บริหารโรงเรียน ทำให้เธอมีโอกาสศึกษาการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็กในระบบมอนเตสซอรี่ซึ่งมีรากฐานมาจากการพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงพยาบาลโดย มาเรีย มอนเตสซอรี่
มาเรีย มอนเตสซอรี่ สังเกตุเห็นว่าเด็กที่อยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชเรียนรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เช่น เห็นขนมตกอยู่ใช้มือหยิบขึ้นมาดมก่อน แล้วนำขนมใส่ปาก ถ้าเป็นคนทั่วไปเห็นคงรีบห้ามเด็กเพราะสกปรก แต่มาเรีย มอนเตสซอรี่ เห็นว่าเด็กในโรงพยาบาลที่ถูกมองว่าเรียนรู้ไม่ได้ เขาเข้าใจโลกรอบตัวผ่านระบบรับสัมผัสจึงได้สร้างสื่อต่างๆ และระบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก ที่เรารู้จักกันในชื่อ ระบบมอนเตสซอรี่
คุณก้ำ เข้าเรียนร่วมที่โรงเรียนเชียงราย มอนเตสซอรี่ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถม 6 ที่นี่ไม่แบ่งแยกเด็ก เพราะคุณครูมีความเข้าใจเรื่องพัฒนาการว่าเด็กแต่ละคนมีความพร้อม ความสนใจ ที่แตกต่างกัน
ในระบบมอนเตสซอรี่ ระดับอนุบาลมีรูปแบบการจัดห้องเรียนและบทเรียนที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กรวมถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษกล่าวคือ จัดให้มีสื่อการเรียนรู้หลากหลายที่มีขนาดเหมาะสมและเป็นสื่อที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนทำงานด้วยการจำลองกิจวัตรประจำวันต่างๆ รอบตัว ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้นิ้ว มือ กล้ามเนื้อมัดเล็ก และประสาทสัมผัสต่างๆ ออกแบบบทเรียนให้เด็กลงมือทำงานทีละอย่างเป็นระบบ มีขอบเขตในการทำงานที่ชัดเจน เช่น วางบนพรม หรือบนโต๊ะ ไม่วางของเกะกะตามพื้น หรือหยิบของมาพร้อมกันหลายอย่าง ทำให้มีสมาธิในการทำงาน เมื่อทำเสร็จเด็กต้องจัดเก็บสื่อทุกครั้ง เด็กได้รับการปูพื้นฐานเรื่องภาษาและคณิตศาสตร์ผ่านสื่อที่สร้างความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งฝึกให้ตรวจหาผลลัพธ์ถูกผิดด้วยตัวเองเป็นพื้นฐานส่งเสริมความมั่นใจ
คุณครูมีบทบาทเป็นผู้แนะนำเด็กให้วางแผนทำงานตามความสนใจ นำเสนอทางเลือกหากใครยังไม่พร้อมก็มาทำงานกับคุณครูได้ ในระดับอนุบาลมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กมีอิสระทางด้านร่างกาย ดูแลช่วยเหลือตัวเอง จึงเป็นห้องเรียนที่ไม่ห้ามการเคลื่อนไหวและใช้เสียงได้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เพื่อให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ การใช้ภาษา การฟัง และ เรียนรู้การเคารพผู้อื่นไปพร้อมกัน
คุณปิยะนุช : เขาให้นโยบายมาว่าให้เราทำโรงเรียนแบบที่อยากให้ลูกเราได้อะไรก็ทำแบบนั้น โรงเรียนพ่อแม่ทำก็จะเป็นอย่างนี้ มีความเป็นบ้านมากที่สุด (มอนเตสซอรี่ใช้คำว่า Children’s house มีความอบอุ่นเหมือนบ้าน) การเรียนแบบนี้ไม่กดดันกับลูกทั้งสองคน ใน 1 ห้องเรียน มีนักเรียน 25คน เป็นห้องเรียนคละวัย ระดับอนุบาลก็เป็นอนุบาลหนึ่งถึงสามอยู่ด้วยกัน ระดับประถมก็แบ่งเป็นประถมต้น กับประถมปลาย ไม่มีการสอบ ไม่มีความกดดันอะไรเลย
การเรียนรู้เริ่มจากทักษะชีวิตประจำวันจากการใช้ของทุกอย่าง ซักผ้าเช็ดโต๊ะ ล้างจาน ติดกระดุมเสื้อ เปิดปิดล็อคประเภทต่างๆ การตัก การเท กิจกรรมงานทุกอย่างที่ใช้มือ เราให้เด็กเตรียมของว่างง่ายๆ เอง เช่น ทาขนมปัง ตัดกล้วย ตักไข่ที่นิ่มๆ หน่อย หลักการในการวางสื่อให้เด็กทำ คือ วางจากง่ายไปหายาก เริ่มจากของแข็งก่อนของเหลว การตัก ก่อนการเท ฝึกใช้เอ็นข้อต่อ กล้ามเนื้อมัดเล็ก และบนโต๊ะจะมีของหนึ่งชิ้นเท่านั้น เราให้ความรู้พ่อแม่ว่านี่คือห้องครัว เราเองสร้างการเรียนรู้ที่บ้านได้ขอแค่จัดของให้เขาหยิบใช้งานได้ ใช้ของจริงนั่นแหละ เพื่อให้รู้ว่ามันตกแตกได้นะจะได้ระวัง เด็กอายุน้อยเราก็เลือกขนาดที่เล็กจับสะดวกเหมาะมือ ถ้าเราเข้าใจหลักการ ตัวสื่อจะผลิตจากอะไรก็ได้ตามแนวคิดแบบนี้ และจากการทำงานแบบนี้ทุกๆ วัน เด็กอนุบาลจึงเตรียมอาหารในห้องระดับประถมได้เพราะถูกฝึกมาแล้ว
หลักการจัดการชั้นเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ
คุณปิยะนุช : ที่นี่การแยกเด็กเราถือเป็นการทำโทษ และเป็นวิธีที่ทำให้เด็กเสียใจมาก ที่เขาต้องถูกแยกคนเดียว โรงเรียนเราจะไม่โดดเดี่ยวเด็ก บางทีถ้าพ่อแม่ไปพบผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่ไม่เข้าใจบริบทโรงเรียนเราก็มักจะแนะนำว่า ครูต้องจัดที่นั่งเฉพาะให้เด็กแยกออกมา ครูตอบทันทีว่า อันนี้คือการลงโทษเด็กเราจะไม่ทำ แต่จะมีวิธีการชักจูงให้เด็กไปทำงานอย่างอื่นแทน ตามเรื่องที่ตัวเองสนใจเช่น ชอบงานปั้นก็ไปปั้นเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนก็ได้ การที่เด็กอ่านหนังสือไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่เข้าใจ เด็กสามารถเข้าใจได้เมื่อเราอ่านให้เขาฟัง และเขาตอบคำถามได้ เราไม่มีการสอบ แต่มีวิธีการประเมินความเข้าใจของเขาแบบนี้
ช่วงเวลาการเรียนรู้ตามพัฒนาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมื่อครูเข้าใจจะไม่มีการบังคับหรือบอกว่าต้องทำได้เหมือนๆ กันและให้โอกาสเด็กไปโดยปริยาย การสอนแบบนี้จึงตอบสนองต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพราะเด็กจะสนใจต้องการเรียนรู้เป็นบางเรื่อง ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันและความสนใจก็จะเปลี่ยนไปตามวัย
เด็กทุกคนจะเลือกงานเองเขาถูกฝึกมาตั้งแต่อนุบาล แต่บางคนที่เลือกไม่ได้ครูจะเสนอทางเลือกเพื่อให้เขาทำงาน เขาจะเรียนรู้ว่าเขามีสิทธิเลือกในห้องเรียน แต่เลือกไม่ทำอะไรเลยไม่ได้ และการเลือกของเขาต้องไม่รบกวนผู้อื่น ไปแทรกแซงงานที่คนอื่นกำลังทำอยู่ไม่ได้แต่ถ้าอยากทำต้องไปคุยว่าขอทำด้วยได้ไหม นี่เป็นหลักการของห้องเรียน
เด็กจึงเรียนรู้ที่จะเอื้อแก่คนอื่นเป็นการอยู่ร่วมกันทั้งกับคนที่เก่งกว่า คนที่อ่อนกว่า อายุมาก น้อย ห้องเรียนเสมือนแบบจำลองสังคม รู้ว่าคนเราไม่เหมือนกันและเราไม่เปรียบเทียบกัน ทุกกิจกรรมคือการเรียนรู้เพื่อชีวิต ในระดับอนุบาลมุ่งเน้นความเป็นอิสระทางด้านกายภาพ เด็กๆ สามารถช่วยเหลือตนเอง พึ่งพาตนเองได้ตามวัย โตขึ้นในระดับประถมมีอิสระทางด้านความคิดจะทำงานอะไรต้องวางแผนอย่างไร งานอย่างการเตรียมของว่าง มีทั้ง คณิตศาสตร์ การแบ่งปัน สังคมจริยธรรมจะถูกสอดแทรกปลูกฝังไปทุกวัน การคิดร่วมกัน ฟังเสียงส่วนใหญ่ เป็นไปโดยธรรมชาติ
อ่านออกเขียนได้ แต่…
คุณปิยะนุช : ในวัยอนุบาล เน้นสื่อที่จับต้องได้ พอมาระดับประถมเขาต้องอ่านได้ในระดับที่เข้าใจ ทำตามคำสั่งได้ ก้ำยังไม่ถึงตรงนั้นเขาต้องการคนช่วยอ่านและตีความให้เพราะเป็นโจทย์ภาษาอังกฤษ พอขึ้นระดับประถมที่บ้านจึงส่งครูมาประกบ ถอดคำสั่งจากข้อความเยอะๆ เอามาอธิบายให้ง่ายลง ครูมีหน้าที่หาวิธีที่ทำอย่างไรให้เด็กทำได้ ก้ำจึงเรียนร่วมจนถึงประถม 6 อ่านเขียนภาษาอังกฤษและภาษาไทยได้สื่อสารพูดได้เป็นคำๆ ตอนที่จบประถม 6 เราตัดสินใจไม่ส่งก้ำไปเรียนร่วมในระดับมัธยมเกิดจากการที่คุณพ่อ (คุณพงษ์รัตน์ ชัชวรัตน์) ตั้งคำถามกับเราว่า ก้ำจะเรียนต่อเพื่ออะไร ต้องการวุฒิมาทำอะไร ถ้าเราตอบได้ว่าวางแผนไปเรียนเพื่อได้วุฒิแล้วจะเข้าไปทำงานที่ต่างๆ หรือทำงานอะไร จึงค่อยส่งไปเรียน
วัยที่ต้องผ่าน
คุณปิยะนุช : เราจึงเริ่มเปิด บ้านทอฝัน จากเดิมเปิดเฉพาะวันหยุดก็มาเปิดเต็มเวลาจันทร์ ถึง ศุกร์ ช่วงที่ก้ำอายุ 11-12 ปี ก็ยังร่วมกิจกรรมอยู่ซึ่งเน้นกิจวัตรอย่างทำอาหาร และอื่นๆ คล้ายตอนที่อยู่โรงเรียน เริ่มปลูกผัก เก็บผักมาทำอาหารเพื่มทักษะการทำอาหารเพื่อดำรงชีวิตจริงให้กับเขาซึ่งก็ทำด้วยกันกับเด็กหลายคน
พอเขาเริ่มเข้าวัยรุ่น อายุ 15ปี พฤติกรรมเปลี่ยน และที่บ้านเราไม่ได้ให้เขาทานยาใดๆ ทั้งสิ้น เขาก็มีเรื่องอารมณ์ ความรุนแรง ซึ่งมีอาการเยอะกว่าปกติ เพราะเขาก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงรู้สึกหงุดหงิด ก้ำ ตัวใหญ่ ทุบทีกำแพงยิบซั่มโบ๋เลยนะ และมีทำร้ายพ่อแม่ด้วย เราก็สอนบอกว่า “ก้ำทำไม่ได้ แม่เจ็บ เห็นไหมแดงๆ แม่เจ็บ” ก็ยังคงไม่ได้ทานยาอะไร เพราะเราอยากให้ลูกมีความสดใส บ้านเราไม่ได้ต่อต้านการทานยา เข้าใจว่าบางบ้านเขาอาจไม่พร้อม แต่บ้านเรามีพื้นที่ให้เขาเคลื่อนไหว พ่อแม่ก็สลับกันพาเดินออกกำลัง และเราพร้อมที่จะรับมือทุกสถานการณ์
คุณก้ำ วันนี้
คุณปิยะนุช : ตั้งแต่เล็กๆแล้ว ที่โรงเรียนก้ำชอบขั้นตอนเตรียมอาหารมากและปัจจุบันเขาทำอาหารได้จากกระบวนการเหล่านี้ ถ้าวันไหนก้ำจะทำอาหาร เขาก็จะต้องเตรียมของที่ต้องใช้ ซึ่งบางช่วงอยากทำเมนูใหม่ๆ เขาก็ค้นหาสูตรในอินเตอร์เน็ตได้ ทำตามขั้นตอนต่างๆ และเสร็จออกมารับประทานได้ ทักษะการทำอาหารถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เขาไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา
สิ่งที่เราทำต่อเนื่องมาตลอดคือการกระตุ้นการทำงานสมองของเขาด้วยการพูดคุย อ่านหนังสือให้ฟัง เป็นนิสัยไปแล้วที่ไปไหนต้องอ่านป้ายชี้ชวนกันอ่านตลอด เราเข้าใจการสื่อสารของเขา 80% คำไหนไม่เข้าใจก็ขอให้พูดซ้ำ ช้าๆ ถ้าบอกไม่ได้ก็เขียนเอา อย่างชื่อเพลง ชื่ออาหาร นอกจากนั้นก้ำเริ่มเล่นคอมพิวเตอร์เป็นช่วงอายุ 14-15ปี ชอบใช้กูเกิ้ลแมพแบบภาพเสมือนจริง เขาชอบไปวัดเพื่อถ่ายรูป พิมพ์รูปวัดเอามาแปะ และชอบดูลายตาลปัตร ดูลายไทยในวัด เราซื้อกล้องให้เขา ถ่าย พิมพ์ออกมา เป็นความสุขของเขาช่วงนี้
แม่ก็สอนให้ตัดปะเก็บในสมุดแต่เขาชอบทำเป็นชิ้นๆ เขามีวิธีการจัดเรียงของเขาแบบนี้ หายนี่ต้องหานะ ไปกินข้าวต้องยกไปเป็นตั้งๆ หล่นไปอันนึงก็ต้องกลับไปเอา ก่อนหน้านี้เก็บซองใส่ขนมปัง ตอนนี้มาชอบเก็บภาพวัด ซึ่งทุกๆ การทำกิจกรรมเหล่านี้เราก็ยังชวนกันพูดคุยไปด้วย
ทุกวันนี้เวลาที่เราจัดทัศนศึกษาต่างๆ ก้ำก็มีโอกาสได้ร่วมด้วย เราตั้งใจพัฒนาเขาไปไม่หยุด เราเชื่อว่าโตแล้วก็ยังต้องทำ อย่าคิดว่าโตแล้วพัฒนาไม่ได้
มองอนาคต
คุณปิยะนุช : การฝึกแบบที่เราไปฝึกกันทุกวันนี้ดีไหม ดีนะ แต่มันเป็นการฝึกเพื่อเข้าโรงเรียน บางคนได้ บางคนไม่ได้ ที่ไม่ได้จำนวนมันเยอะกว่า
อาชีพที่ยั่งยืนสำหรับพวกเราน่าจะเป็นการเกษตรที่ได้ผลผลิตกินได้ ไม่ต้องไปสัมพันธ์กับผู้อื่นมากนัก ถ้าเราทำทั้งกระบวนการ มันคือการเรียนรู้ มีรายได้ สร้างอาชีพ และฝึกเด็กไปด้วย เราทดลองมาหลายอย่าง ปลูกผัก ปลูกเห็ด พื้นฐานดั้งเดิมคนเชียงรายอย่างเราๆ น่ะทำเกษตรดีที่สุด ตอนนี้ก็ทำโครงการปลูกผัก ซึ่งตั้งใจจะทดลองทุกรูปแบบ อันไหนได้ผลดีก็จะขยายไปทำที่สวนลำไยของครอบครัว พอเราอายุมากขึ้นก็น่าจะไปอยู่ที่นั่นพื้นที่ 8ไร่ น่าจะเพียงพอที่จะทำอะไรด้วยกัน เราอยากทำให้เป็นชุมชนที่พ่อแม่มีส่วนร่วม เป็นชุมชนที่มีชีวิตให้กลุ่มของเราได้ใช้ประโยชน์ ก็ถือว่าเป็นการมอบทรัพย์สินคือ ชุมชนที่ดีให้กับก้ำ ซึ่งเป็นแผนระยะยาวไม่เร่งรีบให้เป็นไปตามจังหวะชีวิตของแต่ละคน
ปัจจุบัน คุณปิยะนุช ชัชวรัตน์ ยังคงทำงาน เป็นผู้บริหารโรงเรียนปิติศึกษา เป็นกรรมการและเหรัญญิกของมูลนิธิวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์ เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการศึกษามอนเตสซอรี่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และคุณพงษ์รัตน์ ชัชวรัตน์เป็นเจ้าของสำนักงานกฏหมายตุลภาค ทั้งสองยังคงจัดสรรเวลาจากการทำงานคนละครึ่งเวลาสลับกันดูแลคุณก้ำ และดำเนินงาน บ้านทอฝัน และ สมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย ไปพร้อมกัน
ขอขอบพระคุณ
ครอบครัวชัชวรัตน์ สมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย โรงเรียนปิติศึกษา
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ