ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑)

พื้นที่ของกัลยาณมิตร

โรงเรียนรุ่งอรุณเปิดพื้นที่ให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนร่วมในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา มาตลอดเวลายี่สิบปีตั้งแต่เปิดดำเนินการ นอกเหนือจากศิษย์เก่ารุ่งอรุณที่เราได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน Beam Talks แล้ว สิ่งที่น่าศึกษาเพิ่มเติม คือ วิธีคิด มุมมอง ประสบการณ์และการเรียนรู้ของคุณครู และผู้ปกครอง ที่เติบโตมาพร้อมกับโรงเรียน น่าจะเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง 

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับศิษย์เก่าโรงเรียนรุ่งอรุณ :  คุณแคทลียา อัศวานันท์ คุณวีรยา อภิพัฒนา คุณธีรัช อภิพัฒนา คุณไกรลาศ สกุลดิษฐ์ )

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 18

พ่อแม่ คือคนสำคัญ

โรงเรียนรุ่งอรุณเปิดรับสมัครเด็กที่มีความต้องการพิเศษในระดับอนุบาล การประเมินคัดกรองให้ความสำคัญกับการพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อดูความสัมพันธ์ของพ่อแม่ ความเข้าใจท่าทีในการช่วยเหลือและเปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญและแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้มากที่สุด ฯลฯ ทั้งนี้โรงเรียนเลือกครอบครัวที่พร้อมทำงานไปด้วยกัน แล้วจึงดูพัฒนาการของเด็ก หากเด็กยังไม่พร้อมโรงเรียนจะให้คำแนะนำ วิธีการ และเวลาเตรียม เพื่อให้โอกาสกลับมาอีกครั้ง เพราะมีความเชื่อว่าหากพ่อแม่มีความเข้าใจและให้ความร่วมมือเด็กจะพัฒนาไปได้แน่นอน

คุณครูประจำชั้นเป็นหลักในการจัดกิจกรรมและแผนการสอนรายบุคคลเพราะเด็กทุกคนมีความพร้อมด้านต่างๆ แตกต่างกัน ในระดับอนุบาลเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะมาโรงเรียนหลังจากเปิดเทอมแรกไปแล้ว 4 สัปดาห์ เพื่อให้เวลากับเด็กอื่นๆ ในห้องได้ปรับตัวก่อน โดยคุณพ่อหรือคุณแม่ต้องมาอยู่ด้วยในช่วงแรกเพื่อเห็นกิจวัตร ว่าลูกมาโรงเรียนทำอะไรบ้าง ซึ่งเด็กจะทำกิจวัตรเหมือนกันทุกคน คุณครูประจำชั้นจะแบ่งขั้นตอนย่อยๆ เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจกลับไปฝึกลูกให้ทำที่บ้านเหมือนตอนมาโรงเรียน ทั้งการดูแลตัวเอง ล้างจาน ทานข้าว ฝึกบอกเวลาเข้าห้องน้ำ ฯลฯ และคุณครูจะมีการสื่อสารสม่ำเสมอผ่านสมุดสื่อสารหรือการพูดคุย

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 19

ทำงานเป็นทีม

การออกแบบการเรียนการสอนระดับอนุบาลเน้นเรื่องการช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันและการเรียนรู้แบบ Active learning และ Project base ซึ่งเด็กจะปฏิบัติกิจกรรมเรียนรู้หลัก ได้แก่ การเล่น การฟังนิทาน การทำอาหาร และ ศิลปหัตถการ เด็กจึงสามารถเรียนร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวที่มีคุณครูประจำชั้นเสมือนแม่ดูแลลูกๆ ให้มีพัฒนาการไปด้วยกัน คณะครูจะดูเด็กอย่างรอบด้านทั้งประวัติแรกเกิด การดูแลของครอบครัว โดยมีคุณครูประจำชั้นเป็นครูหลัก ส่วนคุณครูการศึกษาพิเศษยังไม่เข้าไปมีบทบาทกับเด็กโดยตรงจะฟังเรื่องเล่าจากคุณครูในแง่พัฒนาการ แล้วแลกเปลี่ยนกันตั้งเป้าหมายว่าในแต่ละเทอมเด็กต้องการพัฒนาเรื่องใด

การส่งต่อข้อมูลในแต่ละระดับชั้นคุณครูจะมีแฟ้มของเด็กแต่ละคนว่ามีพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างไร ผ่านกิจกรรมอะไร มีความก้าวหน้าอย่างไร มีประเด็นอะไรที่คุณครูเคยพูดคุยกับผู้ปกครองไว้ อะไรที่พ่อแม่และโรงเรียนส่งเสริมให้ทำและได้ผล ด้วยวิธีอย่างไร อะไรที่ยังเป็นข้อท้าทายต้องทำต่อ และคาดว่าอาจจะมีผลต่อการเรียนในระดับประถม

ทั้งนี้การทำงานจะไม่ส่งต่อเพียงเฉพาะข้อมูล ก่อนที่เด็กเปลี่ยนช่วงชั้นจากอนุบาล 3 เป็น ประถม 1 คุณครูประถมและคุณครูการศึกษาพิเศษ (กศพ.) จะเข้าไปสังเกตการณ์ห้องเรียนในช่วงเทอมที่ 2-3 ดูกิจกรรม กิจวัตรที่เด็กทำ โดยที่จะไม่แสดงความคิดเห็นหรือแทรกแซง แต่ใช้การจดบันทึกแล้วมานั่งคุยเพื่อมีข้อสงสัยซักถามเพิ่มเติม

การดูแลในระดับอนุบาลมีความใกล้ชิด แต่เมื่อขึ้นระดับประถมคุณครูจะเริ่มมีระยะห่าง ถ้าเด็กทำอะไรได้คุณครูจะถอยออกมา เน้นให้เด็กทำได้ด้วยตัวเองสนับสนุนให้เด็กอยากโต เช่น ใช้คำนำหน้าชื่อว่า พี่ และเริ่มเรียกด้วย ชื่อจริง

ตัวกลางของรอยต่อ

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 20

คุณครูดวงเพ็ญ ชูนาม (ครูหญิง) ครูการศึกษาพิเศษ ฝ่ายประถม

คุณครูดวงเพ็ญ : การเปลี่ยนกิจวัตรจากอนุบาลมาสู่ประถม ครูการศึกษาพิเศษต้องสร้างความคุ้นเคยกับเด็กให้เป็นครูที่เขารู้จัก เป็นตัวกลางพาให้เด็กปรับตัวได้จากข้อมูลที่ส่งต่อมา เราคือตัวช่วยในจังหวะการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความไว้วางใจ นอกจากเข้าไปสังเกตการณ์ให้เขาคุ้นหน้า เจอกันก็ทักทายเรื่อยๆ เทอมแรกในชั้นประถม 1 เราให้เวลาเขาปรับตัวตามกิจวัตรใหม่ให้ได้ก่อน เรื่องเรียนวิชาการจะได้ ไม่ได้ ไม่เป็นไร ครูจะช่วยพาทำไปก่อน

เทอมสองจะเริ่มประเมินว่ากิจวัตรอะไรที่ปรับตัวได้ อะไรที่ยังต้องพาทำก็จะเริ่มฝึกเพิ่ม และมีเรื่องการเรียนรู้อ่านเขียนเข้ามา กลุ่มภาวะดาวน์ซินโดรมเราจะทำแผนการเรียนรายบุคคลชัดว่ามีเป้าหมายแต่ละขั้นแค่ไหน ซึ่งคณะครูคุยกันเพื่อสรุปทิศทางกันก่อนแล้วเชิญผู้ปกครองมาร่วมแลกเปลี่ยน สำหรับกลุ่มออทิสติก สมาธิสั้นส่วนใหญ่เราให้ลองเรียนร่วมไปก่อน แล้วครูมาย่อยจุดประสงค์ทางวิชาการ ถ้าเรียนได้ติดขัดไม่มากครูก็ไปย่อยขั้นตอนโดยที่เนื้อหาไม่ได้แตกต่างกัน ครูประจำชั้นจะทำงานเยอะและปรึกษากันในระดับชั้นของตัวเองก่อน

ประถม 2 – ประถม 6 เนื้อหาการเรียนเยอะขึ้น ชั่วโมงเรียนมากขึ้น เราเริ่มมีโปรแกรมพิเศษแยกในเวลาเรียน เช่น ดนตรี ศิลปะ การเคลื่อนไหว กิจกรรมบำบัด (บางคนเริ่มตั้งแต่อนุบาล) เป็นกิจกรรมฐานกาย การเล่น หรืองานศิลปะเพื่อเด็ก เพราะการเรียนบางกลุ่มวิชามีเนื้อหาที่ยาก และเขาไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์จะแทนด้วยกิจกรรมเหล่านี้ โดยวิชาการที่จำเป็นเราจะสอนตัวต่อตัวและสอนกลุ่มย่อย

ความสัมพันธ์สำคัญที่สุด

คุณครูดวงเพ็ญ : การทำงานของพ่อแม่มีผลต่อเด็กมาก ครูเป็นแค่คนสะกิดประเด็น แต่พ่อแม่ต้องไปทำต่อ และทำมากกว่าที่โรงเรียนให้อีก เราจะเห็นว่ารุ่นแรกๆ ตัวเด็กมีภาวะฯ มากกว่า ปัจจัยต่างๆ ก็ยังไม่ลงตัวแต่เขามีความสุข จนถึงวันนี้พ่อแม่ยังทำงานต่อไม่มีใครทิ้ง

มาช่วงหลังพบว่าเด็กอยู่กับครูตลอด ภาพของพ่อแม่หายไปไหน ไม่อ่านสมุดสื่อสาร ครูคิดว่าไม่ว่าอย่างไรพ่อแม่เป็นกุญแจที่สำคัญ จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้พ่อแม่กลับมาทำงานกับเราและเด็ก

ครูเลยช่วยจัดกลุ่มครอบครัวชวนไปเที่ยวด้วยกัน เด็กทุกคนต้องการเพื่อน ครอบครัวมาทำกิจกรรมด้วยกันช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเพื่อนช่วยเหลือกัน และเวลาทำกิจกรรม ครูก็เริ่มเข้าใจพ่อแม่ เห็นความยากในการใช้วิถีชีวิต เช่น แม่ทำอาหารไม่เป็น ไม่กินผัก ไม่พูดคุย ถ้าเราคาดหวังให้เขาทำอะไรก็ต้องมีวิธีการให้ เช่น ครูทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ปัญหาจึงไม่ใช่ปัญหา แต่คือ ความไม่รู้ เห็นใจเขา ใจเรา เราพบว่าความสัมพันธ์ที่ดีช่วยแก้ได้ทุกปัญหา

ห้องเล่นลูกรัก

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 21

คุณอัจจิมา ดีมั่นคงวณิช (แม่มด) ผู้ปกครองอาสา / ผู้จัดการห้องเล่นลูกรัก (ห้องโอ.ที.)

การก่อตั้งห้องเล่นลูกรักเริ่มจากกลุ่มพ่อแม่ที่เอาใจใส่ลูกเห็นว่าพัฒนาการของเด็กทุกคนต้องผ่านกระบวนการพัฒนาของระบบรับความรู้สึก (Sensory Integration Approach) จึงได้ศึกษาจนเข้าใจองค์ความรู้ ‘การเล่นอย่างมีวัตถุประสงค์’ หรือ กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) มาช่วยกระตุ้นระบบประสาทรับสัมผัสอย่างมีเป้าหมาย จึงขอพื้นที่จากโรงเรียนสร้างห้องเล่นลูกรักและจ้างนักกิจกรรมบำบัดทำงานช่วยพัฒนาเด็กรายบุคคลหลังจากที่ได้รับการประเมินแล้ว รวมทั้งเป็นพื้นที่ให้พ่อแม่มีโอกาสเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือ เติมเต็มพัฒนาการของลูกในด้านต่างๆ ผ่านการทำงานบ้าน กิจกรรมต่างๆ และการเล่นที่มีเป้าหมาย ซึ่งคุณอัจฉิมา คุณแม่ของลูก 3 คน ที่ได้เรียนรู้ ลงมือทำ และเห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในระยะยาวผ่านลูกๆ อย่างเป็นรูปธรรมมาแล้ว จึงอาสามาช่วยดำเนินงานเป็นผู้จัดการห้องเล่นลูกรัก รุ่นที่ 2

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 22ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 23ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 24ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 25ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 26ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 27ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 28ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 29ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 30ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 31

 คุณอัจจิมา : เรามาทำเพราะห้องฯ เจอปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างครู นักกิจกรรมบำบัด และ ผู้ปกครอง ไม่มีกิจกรรมทำร่วมกัน เราเสียดายเพราะลูกเราผ่านการทำกิจกรรมบำบัดมาอย่างต่อเนื่อง บางคนอาจไม่เห็นประโยชน์วันนี้ แต่มันจะไปแสดงผลในอนาคต หน้าที่เราจึงอยากให้องค์ความรู้นี้ถูกส่งต่อยังผู้ปกครองรุ่นต่อไป ซึ่งหัวใจสำคัญคือ พ่อแม่ต้องมาลองเล่นกับลูกเอง และขอให้ใจเย็นๆ เมื่อได้องค์ความรู้แล้วต้องลงมือปฏิบัติจะเข้าใจมากขึ้น พ่อแม่รุ่นก่อนจะมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่บ้านเพื่อทำกิจกรรมกับลูกอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะระบบรับสัมผัสที่จะช่วยเรื่องการจัดการอารมณ์ของลูกได้ดีมาก สำหรับห้องนี้นักกิจกรรมบำบัดจะช่วยเหลือด้วยการประเมินและออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมรายบุคคล เพราะแต่ละคนมีความพร่องในระบบฯ มากน้อยแตกต่างกัน ตอนนี้ห้องฯ มีนักเรียนที่อยู่ในความดูแลเกือบ 60 คน ส่วนเรายังมีเวลาอีกสามปีก่อนลูกคนสุดท้องจะจบ เป้าหมายคือจัดอบรมให้ความรู้ผู้ปกครองให้มากที่สุด การที่เราอาสามาทำเพราะต้องการขอบคุณโรงเรียนที่ให้โอกาสลูกเราทุกคนมาตลอด

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 32

ค้นหา ค้นพบ

คุณครูดวงเพ็ญ : เด็กของเราอาจจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเพื่อนๆ เป็นหนุ่มสาวช้ากว่าซึ่งอาจเป็นข้อดี เรามีเวลาค่อยๆ เตรียม ข้อดีอีกอย่างคือเด็กเขามีตัวตนที่ชัดเจน พอใจในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องทำตามกระแส

ครูเห็นกุญแจสำคัญบางอย่างคือ เมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัย เขาจะเปิดตัวเองออกมา และเครื่องเล่นที่เป็นตัวช่วยได้ดีอย่างหนึ่งคือ  ชิงช้า มีเด็กหลายคนเปิดตัวเองมากขึ้นจากการนั่งแกว่งชิงช้าเล่น การแกว่งน่าจะช่วยให้เด็กถอดรหัสบางอย่างภายในตัวเอง ระบบการทรงตัว น้ำในหู และหลายคนที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม จังหวะของชิงช้าทำให้เขา มีวินัย ผ่อนคลายความเครียด มีความสุข สื่อสาร อารมณ์ดี ซึ่งระดับการแกว่งสำหรับแต่ละคนจะแตกต่างกัน นี่คือตัวอย่างหนึ่งในการทำงานกับเด็กเราจะถอดรหัสแล้วมองให้ลึกขึ้น ค้นหามากขึ้น

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 33

เมื่อเรามีพื้นที่ให้เขาได้ค้นหา เขาจะค้นพบความชอบของเขาเอง วิชาพิเศษเป็นช่องทางทำให้เราได้เห็นเด็กในมุมที่ไม่เหมือนอยู่ในห้องเรียน เป็นวิชาที่เด็กเรียนแล้วเห็นผลเชิงรูปธรรม เช่น ทำอาหารได้กิน วิ่งก็เข้าเส้นชัย ทำงานศิลปะเล่นดนตรีก็เห็นผลเป็นชิ้นงาน แต่ถ้าเป็นวิชาการ คณิตศาสตร์ บวกแล้วเอาไปทำอะไร

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๑) 34

ปีนี้ในระดับป.4 – ป.6 เราเพิ่มเรื่องการงานและทักษะชีวิตเข้ามาจัดการเรียนเป็นกลุ่มเพื่อนพี่น้อง เพื่อเอื้อเขาให้มีสังคม เด็กวัยนี้อยากทำทุกอย่างเองเป็น เลยใช้พื้นที่ห้องเล่นลูกรัก (ห้องโอ.ที.) ทำการงาน ทำอาหารทานด้วยกัน เด็กมีเพื่อนมีพื้นทำงานแบบพี่ช่วยน้อง การรวมกลุ่มแรกๆ เด็กไม่อยากออกมาจากห้องเรียนรวม แต่ครูก็พามา และให้เขาเห็นเองว่า เมื่อเรียนแยกแล้วเขาเข้าใจมากขึ้น มีกิจกรรมท้าทายทำให้ให้ตื่นตัว มีกลุ่มเพื่อนได้เล่น เห็นคนที่ทำได้ ทำไม่ได้ มีโอกาสเป็นผู้นำ ผู้ตาม มากกว่าอยู่ในห้องรวม

ตามคำครู

คุณครูดวงเพ็ญ : แนวคิดของโรงเรียนรุ่งอรุณในเรื่องการเรียนร่วม อาจารย์ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียน จะคอยให้แนวทางและตั้งคำถามกับคุณครูเสมอ ว่าเด็กทุกคนต้องการพื้นที่ในการลงมือทำ

หน้าที่ของครูคือ รู้จักเขา

เห็นศักยภาพ ความท้าทาย และ ให้พื้นที่เขา

บางครั้งถ้าเครียดมากก็พาไปเดินผ่อนคลาย ทุกคนต่างใช้เวลาในการพัฒนา การเปิดพื้นที่ยังหมายถึง การทำงานตามระดับความสามารถ เรื่องพฤติกรรม อารมณ์ให้เราทำงานกับพ่อแม่ ส่วนเรื่องการศึกษาครูทำ และขอความรู้เพิ่มเติมจากสหวิชาชีพ

ดังนั้นเมื่อพบปัญหา ขอให้ตั้งคำถามก่อนว่า นี่เป็นปัญหาของเด็ก หรือปัญหาของครู เด็กไม่ทำตามเป้าหมายที่ครูต้องการ คือปัญหาของครู การที่เขาทำแต่ช้า เขาอ่านแต่ไม่ได้ เขาผิดไหม เมื่อมีความแตกต่างเด็กต้องใช้เวลา ครูต้องมีวิธีอื่นเข้าไปช่วยเขา การที่ไม่ได้ตามเป้าของเราอย่าเพิ่งตัดสินว่าเป็นปัญหา ขนาดครูด้วยกันยังต้องการเวลาเลย ในโรงเรียนของเราเปิดให้มีการเรียนรู้หลากหลายพื้นที่ ถ้าเรียนเลขผ่านวิธีนี้ไม่ได้ จะเรียนผ่านอย่างอื่นได้ไหม

ส่วนเรื่องพฤติกรรม อารมณ์ ถ้าครูจัดการไม่ได้จะส่งต่อผู้เชี่ยวชาญเลยหรือ ทั้งๆ ที่ครูทำงานกับเด็กย่อมมีสายตามากกว่าแน่นอน อยากให้ครูมีเมตตาให้พื้นที่กับเด็กเยอะๆ ก่อนที่จะตัดสิน

ครูต้องมีสายตาเพราะอยู่กับเด็ก

เขาเด่นเรื่องอะไร นำมาพัฒนาเรื่องอะไรได้

ถ้าเราเห็น เราต้องยืนหยัดที่จะทำ

 

บทความแนะนำ : ครูของครู รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ
ความคิดของครูผู้เชื่อในธรรมชาติ การสอนแบบพระพุทธเจ้า และศักยภาพในเด็กทุกคน

ที่มา https://readthecloud.co


ถอดรหัสรุ่งอรุณตอนที่ ๒ ห้องเรียนชั้นคละสำหรับนักเรียนที่มีความหลากหลายในระดับมัธยมศึกษา

ถอดรหัสรุ่งอรุณตอนที่ ๓ องค์ความรู้ที่มีชีวิตและหัวใจของคณะครูพลศึกษาในโรงเรียนรุ่งอรุณ


ขอขอบพระคุณ

มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ คุณครูดวงเพ็ญ ชูนาม ห้องเล่นลูกรัก คุณอัจจิมา ดีมั่นคงวณิช

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

แอดมิน - ลูกบัว

ด.ญ. อริสา ภิรมย์รัตน์ ตำแหน่ง: เวบแอดมิน หน้าที่: สร้างหน้าบทความ โอนย้ายข้อมูล และตกแต่งรูปภาพบทความต่างๆ

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก