ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒)

คุณค่าแท้ของการเรียนรู้

โรงเรียนรุ่งอรุณเปิดพื้นที่ให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนร่วมในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษามาตลอดเวลายี่สิบปีตั้งแต่เปิดดำเนินการ  นอกเหนือจากศิษย์เก่ารุ่งอรุณที่เราได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน Beam Talks แล้ว สิ่งที่น่าศึกษาเพิ่มเติม คือ วิธีคิด มุมมอง ประสบการณ์และการเรียนรู้ของคุณครูและผู้ปกครองที่เติบโตมาพร้อมกับโรงเรียน น่าจะเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับศิษย์เก่าโรงเรียนรุ่งอรุณ :  คุณแคทลียา อัศวานันท์ คุณวีรยา อภิพัฒนา คุณธีรัช อภิพัฒนา คุณไกรลาศ สกุลดิษฐ์ )

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 19

นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนร่วมในโรงเรียนรุ่งอรุณส่วนใหญ่เข้าเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ซึ่งได้รับการเตรียมความพร้อมและส่งต่อมาในระดับประถมและมัธยม แต่ในปีการศึกษา 2557 มีครอบครัวของเด็กที่มีความต้องการพิเศษหลายครอบครัวสมัครให้ลูกเข้าเรียนร่วมในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1

พื้นที่ของกัลยาณมิตรเช่นรุ่งอรุณไม่เคยปิดประตู แต่การเข้ามาเรียนรู้จำเป็นต้องมีข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกัน คุณครูสุริศรา บัวนิล (ครูอ้อม) ได้รับมอบหมายจาก รศ.ประภาภัทร นิยม ให้พิจารณาหาทางจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่มีความหลากหลายกลุ่มนี้ คุณครูอ้อมเป็นครูศิลปะที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาพิเศษใดๆ มีเพียงประสบการณ์สอนงานศิลปะ ประเภทหัตถศิลป์ ให้กับนักเรียนทุกคนรวมทั้งเด็กพิเศษที่เรียนร่วมมาอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นการเรียนรู้ใหม่ที่น่าสนใจ

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 20

คุณครูสุริศรา : ครูอ้อมเริ่มต้นด้วยความไม่อยากทำ รู้สึกว่าตัวเองไม่ถนัด ไม่พร้อม เรามีงานสอนศิลปะเยอะอยู่แล้ว อาจารย์ประภาภัทรบอกว่าแต่เขามาถึงมือเราแล้วต้องมีคนดูแล จากการลองให้เด็กทำกิจกรรมศิลปะเพื่อสังเกตการณ์ ดูภาวะอารมณ์ ร่างกาย การสื่อสารปฏิสัมพันธ์ เราเห็นว่าเขาพออยู่ได้ก็เลยจัดประชุมกลุ่มผู้ปกครองเพื่อให้ข้อมูลเขาในการตัดสินใจ ว่าครูอ้อมไม่มีประสบการณ์นะ แต่ถ้าจะให้ดูแล เรามีศิลปะเป็นเครื่องมือ และใช้กิจกรรมต่างๆ เป็นแบบฝึกทักษะชีวิตทำงานกับลูกเขา และเราไม่สามารถสอนวิชาการได้นะ ถ้าอยากได้วิชาการก็อาจเรียนในวันหยุดแทน แนะให้ลองคิดสลับทางแบบนี้ ก็มีบางครอบครัวที่ตกลงใจให้ลูกเข้ามามีทั้ง ออทิสติก แอล.ดี. ด้านภาษา สมาธิสั้น และบกพร่องทางพัฒนาการรอบด้าน

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 21

สัมพันธภาพดี=กายพร้อม+ใจพร้อม

คุณครูสุริศรา : เราเลือกห้องเรียนใกล้เรือนศิลปะเพราะที่นี่มีเครื่องมือที่เราถนัดและมีเพื่อนครูศิลปะที่น่าจะช่วยเหลือกันได้  3 ปีในระดับมัธยมต้นมี คุณครูสุพจนีย์ สกุลณา (ครูใหญ่) ใช้ศิลปะทำงานสื่อสาร เรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ความสวยงาม การซึมซับธรรมชาติ ส่วนครูอ้อมใช้งานหัตถศิลป์ งานฝีมือ แต่การสอนเรื่องอื่นๆ อย่างบวกลบคูณหาร นี่เราไม่มีลำดับขั้นตอนเลยนะ

แล้วทำไมเรามีความสุขในการสอนมากขึ้น ?

ทั้งๆ ที่มีเรื่องต่างๆ ที่เราไม่เคยเจอ ภาวะซึมเศร้า ข้อติดขัดในการสื่อสาร อารมณ์ความรู้สึก การแปลความหมาย ต่างๆ ของเขาในการอยู่ร่วมกันมันซับซ้อนมาก ลำบากทีเดียว แต่ว่าเราทำแล้วกลับมีความสุขขึ้นเรื่อยๆ

ครูอ้อมเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของเด็กที่อยู่กับเราได้มากขึ้น เครื่องมือหนึ่งที่สำคัญ ครูอ้อมใช้ การฝึกสติ ซึ่งเราสนใจฝึกฝนอยู่แล้วก่อนได้พบเด็ก ห้องเรียนนี้กลายเป็นเวทีขนาดใหญ่ให้ได้ฝึกฝนจริง เราจะเห็นอยู่ตลอดเวลาว่า อันนี้เราไม่ทัน อันนี้หลุดไปแล้ว

นอกจากเห็นตัวเองครูอ้อมยังเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กเช่นกัน เขาก็มีความสุขมากขึ้น มันต้องมีอะไรสินะ ในการอยู่ร่วมกันแล้วเราต่างรู้สึกดีมากขึ้น …

ถึงเราไม่ใช่ครูพละแต่ก็รู้แค่ว่าการให้มานั่งวาดรูปทั้งวันนี่ไม่ไหว เราต้องพาเขาออกกำลังกายไปวิ่ง ไปปีนด้วยกัน ครูอ้อมเป็นคนกลัวความสูง การปีนต้นไม้ ทำให้เราเจอภาวะบางอย่างที่เหมือนเขา เราก็มีเรื่องให้คุยกัน ไปวิ่งออกกำลังกาย ไปว่ายน้ำ การเรียนรู้นี่เหมือนเราโตไปพร้อมกับเขาเลย เราทำทุกอย่างเหมือนเขา ถ้าเราอยากให้เขาข้ามไป เราต้องข้ามเองก่อน

พอย้อนถอดกระบวนการเรียนรู้ พบว่า ฐานกายสำคัญ ศิลปะดีต่อความรู้สึก ทักษะชีวิตทำให้เขามีวินัย งานหัตถศิลป์ท้าทายให้เขาเผชิญงานที่ยากกว่าเดิมทั้งทักษะฝีมือและอารมณ์

นี่มันมีทางนี่นา ตัวเราไม่ได้มีความรู้อะไรมาก่อน

แต่เราอยู่แบบ “ใช้ชีวิตไปด้วยกัน” มันมีทางออก

นักเรียนที่มีภาวะแอล.ดี.ทางภาษา เริ่มถามว่าคำนี้สะกดอย่างไร จากเดิมที่ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง เขาเริ่มออกจากความกังวลใจเรื่องภาษา เขามีทักษะทางศิลปะ หัตถศิลป์ ทำได้ดีมาก เราก็ต้องพาเขาไปต่อจุดอื่น พอม.3 ให้ไปเจอโจทย์ที่ท้าทายขึ้นส่งเข้าไปเรียนร่วมในห้องเรียนวิชาภาษาไทย สังคม เขาไปก็ไม่ชอบหรอกแต่ก็อดทน เราต้องช่วยฝืนขัดเขา ปัจจุบันนี้เขาเรียนร่วมเต็มเวลาและไปได้ด้วยดี

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 22

บูรณาการสู่ชีวิต

เมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมปลายโรงเรียนจัดห้องเรียนชั้นคละสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเดิมที่ขึ้นระดับชั้นมาแต่ไม่สามารถเรียนร่วมเต็มเวลาในห้องเรียนมัธยมได้ และเด็กกลุ่มมัธยมต้นห้องครูอ้อม รวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีคุณครูศิริพร โชประดับ (ครูเอ๋) เป็นครูผู้ช่วยทำงานคู่กัน จังหวะเดียวกันนั้นโรงเรียนมีการปรับโครงสร้างการจัดชั่วโมงเรียนใหม่ จากเดิมแบ่งเวลาเรียนแบบรายคาบวิชา ให้เป็นสำนักวิชาต่างๆ ที่ผู้เรียนเลือกได้ตามความสนใจและจัดจำนวนชั่วโมงเรียนต่อเนื่องได้มากขึ้น

คุณครูสุริศรา : ครูอ้อมกำลังทำวิทยานิพนธ์ที่สถาบันอาศรมศิลป์ เรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กรณีศึกษาโรงเรียนรุ่งอรณ ถอดประสบการณ์ตัวเองว่า สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ คือ ภาวะอารมณ์ ถ้าเราทำให้เขาและเรามีความสุขร่วมกันได้ การพัฒนาส่วนอื่นจะง่ายขึ้นมาก เมื่อเรามีพื้นที่ของความสุขในการเรียนรู้ร่วมกันแล้ว สิ่งที่นำมาใช้จากนั้นคือ การเรียนรู้แบบบูรณาการ คือความสุขไม่ได้มาจากจิตใจอย่างเดียว แต่มาจากร่างกายที่เติบโต การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเห็นชัดเจนควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และโชคดีมากที่ได้ทำงานกับครูเอ๋ ที่ถนัดเรื่องฐานกายและทักษะการงานอาชีพ แผนบูรณาการเราจึงผสมผสานระหว่างฐานกายแข็งแรง การงาน และอารมณ์ดี คือสิ่งที่อยากให้พ่อแม่ผู้ดูแลเด็กพิเศษเห็นประเด็นนี้ว่า เรามีวิธีที่ลงมือทำได้เลยไม่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญ เพราะครูอ้อมก็ไม่ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญ

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น การทำงานปีแรกๆ เราให้เด็กวาดรูปในวิชาวาดรูป เด็กเล่นกีฬาในวิชาพละตามตารางเรียน เราเรียนคณิตศาสตร์บนกระดาษถึงแม้ใช้รูปภาพมาเป็นสื่อก็ตาม เพราะเราทำอย่างอื่นไม่เป็น นี่ก็คือฝืนกันทั้งสองฝ่าย

เราลองคิดเปลี่ยนใหม่ เรียนคณิตศาสตร์ พละ แบบอื่นๆ ได้ไหม ครูเอ๋เขาอยากลองเรียนผ่านการทำงานวิชาชีพ เราย่อยกระบวนการทำนา ลองทำอยู่หนึ่งปีแต่ไม่สำเร็จ หมายถึงไม่ได้ผลผลิต ข้าวเป็นงานใหญ่ไป ก็เปลี่ยนใหม่เป็นโครงงานปลูกผักปลูกรัก การเพาะต้นอ่อนผักต่างๆ เช่น ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง ซึ่งจังหวะพอดีกับที่โรงเรียนการจัดสรรเวลาเรียนใหม่ทั้งระบบให้เรียนเป็นสำนัก เราจึงเอาการงานเป็นตัวตั้งย่อยออกมาวางแผนเป็นรายสัปดาห์ การแยกย่อยงาน เช่น อยากให้เขาแยกเมล็ดเป็น แต่จะทำอย่างไรให้แยกแล้วได้สนุกด้วย ลองคิดเป็นเกม และคิดเรียงไปตามสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง เรียนนับจากการชั่งกิโล เด็กที่ยังนับไม่ได้แต่เขาได้สังเกต ฝึกชั่งได้รู้เครื่องใช้ในชีวิตจริงเพิ่ม

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 23

ในแผนการสอนจะปลูกอะไร มีขั้นตอนอย่างไร เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง เราคือคนที่พาเขาทำหมด อะไรที่เกินกว่าที่จะทำเองได้ก็ไปขอให้คุณครูท่านอื่นช่วย เช่น ขอให้ครูวิทยาศาสตร์ช่วยสอน ผ่าเมล็ดใช้แว่นขยายดูแล้ววาดรูป แต่ทั้งหมดเราต้องรู้ว่าจะทำกิจกรรมนี้ไปทำไม เพื่ออะไร

เราออกแบบกระบวนการให้ครบถ้วนและทำอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้เมล็ดเสร็จต้องไปหาดิน ออกแบบภาชนะใส่ เราเพาะต้นอ่อนในอะไรได้บ้าง กระถางไม่สวย ทำยังไงให้สวย เมื่อเขาทำทั้งหมดจะรู้ว่าแต่ละงานมันเชื่อมโยงกันอย่างไร จบที่ตรงไหน แล้วครูมาถอดรหัสทีหลังว่า คณิตศาสตร์เราเรียนเรื่องนี้ ภาษาไทยเรียนเรื่องนี้ อันไหนเราไม่มีความรู้ก็ต้องไปอ่านหาข้อมูลเพิ่ม

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 24

ฐานกายฝึกให้เดินสำรวจหากระถาง ถ้าจะปลูกในโอ่งเราจะกลิ้งมาอย่างไร ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนโจทย์เดียวกัน ทำให้เด็กเห็นความเชื่อมโยงทั้งหมด ผ่านการทำงานจริง และเราต่อยอดไปเหมือนการใช้ชีวิต ปลูกได้แล้วเอามาทำอาหารกินกัน ปลูกได้เยอะมีเหลือ หาวิธีเก็บนานๆ ต้องแปรรูป เอาไปขาย จะขายใคร ขายอย่างไร โจทย์ก็ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ

เราเห็นว่าเด็กเปลี่ยนแปลงมากคุณภาพภายในเขาเติบโต เขารู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมรับผิดชอบ รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร มีหน้าที่อะไร มีความภูมิใจเพราะเขาต้องไปเจอคนอื่นด้วย ทำอาหารไปขาย ออกแบบโปสเตอร์ คิดเงิน จดรายการอาหาร ตั้งโต๊ะ มีการจัดการที่มีส่วนร่วม เราบวกเงินจริง แบ่งเงินกันจริง แบ่งอย่างไรดี ถามความเห็นเขา ตกลงแบ่งตามหน้าที่ต่างกัน ได้เงินไม่เท่ากัน บางคนกลายเป็นผู้ช่วยเราเขาดูแลคนอื่นได้

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 25ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 26ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 27ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 28ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 29ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 30ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 31ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 32ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 33ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 34

กระบวนการแบบนี้เราไม่ต้องรอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ลงมือทำและใช้เวลาหาความรู้ซึ่งต้องเป็นความจำเป็นของชีวิตที่เราต้องการเรียนรู้จริงๆ ไม่ใช่ความรู้ที่อยู่ไกลจนเราเอื้อมไปไม่ถึง

เราพบว่าการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องยากเลย ทั้งที่แต่ก่อนเรารู้สึกว่ามันยากมาก สิ่งที่ยากคือพัฒนาการของเขาที่แตกต่างกันเป็นความยากรายบุคคล ไม่ใช่ความยากของการอยู่ร่วมกัน ที่ครูอ้อมสนใจพัฒนาเรื่องอารมณ์ก่อน เพราะพอเขามาเจอที่ที่ผ่อนคลายเหมือนมีครอบครัวที่อบอุ่นและเข้าใจ การเรียนรู้มันไม่ได้ยาก

ส่งต่อครอบครัว

คุณครูสุริศรา : สิ่งที่สื่อสารได้ชัดที่สุด คือ การกระทำของเด็กที่พ่อแม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของลูก ซึ่งเรามอบหมายงานให้เด็กไปทำงานต่อเนื่องที่บ้านด้วย เป็นการฝึกความรับผิดชอบ ฝึกทักษะ ปลูกผักที่บ้านเขาต้องวางแผนปลูกเผื่อแบ่งเพื่อนบ้านด้วย หรือวันนี้กลับไปจะทำอาหารอะไรให้พ่อแม่ทานให้ถ่ายคลิ๊ปส่งมาให้ครูดู ฯลฯ ทั้งหมดอยู่ในแผนการสอนที่เราออกแบบ ดังนั้นพ่อแม่ก็จะเห็นว่าลูกเรียนอะไรจากโจทย์ที่เราให้ไป

คำถามที่ว่า จบจากที่นี่จะเรียนต่อที่ไหน แน่นอนครอบครัวมีความหวัง แต่มันเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กนะคะ ครูอ้อมคุยกับครอบครัวว่า ถ้าอยากทำการงานอื่นที่ไม่ใช่การเรียนต่อก็มาคุยกัน ไม่ว่าจะทอผ้า หัตถศิลป์อื่นๆ เรายินดีสนับสนุนและให้เวลากับคนที่สนใจ อย่างเช่น ครอบครัวของซัน (Sun Fun Weaving)  ซันเขามาเริ่มทอผ้าจริงจังตอน ม.6 คุณแม่มาขอคุยด้วย ครูอ้อมก็ให้คุณแม่ได้ลองทอผ้าเอง มาเป็นผู้ช่วยสังเกตการณ์ ลูกเราอยู่อย่างไร ลูกคนอื่นอยู่อย่างไร ถ้าต้องอยู่กับงานนี้จริงๆ จะอยู่ได้ไหม คุยกันผ่านการทออยู่สองเทอม จนคุณแม่ทอผ้าแล้วเริ่มเข้าใจว่าลูกทำงานแล้วเจอภาวะอะไร  พอซันเรียนจบคุณแม่ก็ลาออกจากงานประจำมาทำงานคู่กัน ครูอ้อมมีหน้าที่หากี่ทอ หาอุปกรณ์ต่างๆ ให้ นี่คือคุณแม่ได้ทำความเข้าใจลูกในบริบทจริงที่สุด

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 35

แต่การที่ลูกทำงานอยู่บ้านตลอดเวลา ทั้งคุณแม่และลูกอาจไม่มีพื้นที่ส่วนตัว เราชวนกันจัดเวลาวันศุกร์ช่วงเช้าเป็นกิจกรรมชื่อว่า ศุกร์หรรษา ให้เป็นพื้นที่ของทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันได้มีเวลาผ่อนคลาย ทำงานศิลปะตามความสนใจ มีผู้ปกครองบางคนเห็นว่าดีก็มาช่วยเล่นดนตรีให้

ส่งต่อให้สังคม

คุณครูสุริศรา : เด็กของเรามีทักษะในการทำงานฝีมือได้ในแบบของเขา งานเอามาใช้ได้จริง ผลงานที่ผ่านกระบวนการแบบนี้ควรได้รับการสื่อสาร เพื่อให้คนเข้าใจมิติการเรียนรู้ เห็นคุณค่า และให้การสนับสนุนอย่างเป็นธรรม มีพื้นที่ให้คนเข้ามาสนับสนุนการทำงานของพวกเขาได้เติบโต เรามีเด็กทำงานทอดีๆ ออกมาเยอะแยะ ครูเองทำไม่ทันว่าจะเอาไปทำอะไรต่อได้อีก อยากชวนคนที่เห็นคุณค่าเข้ามาทำด้วยกัน หมุนเวียนกันเข้ามาร่วมมือร่วมใจ ทุกวันนี้พ่อแม่ต้องสู้อย่างลำพังเพื่อให้ลูกมีพื้นที่ที่ดี

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) 36

ครูอ้อมพยายามต้องส่งต่อความรู้นี้ด้วยการถอดบทเรียน เราไม่ได้มีแผนงานสองปี ห้าปี แต่มันคือ

การทำงานกับเด็กตรงหน้า

การทำงานมนุษย์กับมนุษย์

การคลุกคลีใช้ชีวิตร่วมกัน

เราเชื่อในสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราและสิ่งที่เราทำได้ การทำงานนี้อาศัยจิตพิสัย คือ จิตใจที่อยากเรียนรู้ เพราะความรู้มันตายแล้ว หากเรามีความตั้งใจจริงที่อยากทำเรื่องนื้ ไม่ว่าเจออะไร เราก็จะพยายามอยู่กับมัน

สิ่งที่อาจารย์ประภาภัทรให้แนวทางการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนไม่ได้มองแยกส่วนเรื่องการจัดการศึกษาพิเศษ แต่คือภาพรวมของการศึกษาที่เราจะสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กรายบุคคลจริงๆ ได้อย่างไร ซึ่งต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้โอกาส ทำให้ครูอ้อมได้ผ่านประสบการณ์และภูมิใจกับงานที่ทำทุกวันนี้


ขอขอบพระคุณ

มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ คุณครูสุริศรา บัวนิล คุณครูดวงเพ็ญ ชูนาม

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

แอดมิน - ลูกบัว

ด.ญ. อริสา ภิรมย์รัตน์ ตำแหน่ง: เวบแอดมิน หน้าที่: สร้างหน้าบทความ โอนย้ายข้อมูล และตกแต่งรูปภาพบทความต่างๆ

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก