ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด

ครูอาสาและงานมัดย้อมของหญิงตาบอด

เมื่อทราบว่ามีกลุ่มครูอาสาสอนคนตาบอดให้ถ่ายภาพ คุณเกิดคำถามอะไรบ้าง ?

ทำไมคนตาบอดต้องเรียนถ่ายภาพ ?

เขามองไม่เห็นจะเรียนได้ไง ?

เขาถ่ายภาพได้จริงหรือ ?

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 19

โครงการสอนนักเรียนผู้พิการทางสายตาถ่ายภาพเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของอ.ธวัช มะลิลา ที่ปรารถนาจะเห็นการสอนให้กับผู้พิการทางสายตาถ่ายภาพได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นการแบ่งปันความสุขที่จะสร้างความภาคภูมิใจการเห็นคุณค่าของตนเองและเป็นการเปิดโอกาสที่จะให้ผู้พิการทางสายตาใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับสังคม

“ในสังคมที่มีโอกาสอยู่มากมายที่ทุกคนจะได้ไขว่คว้าได้รับประโยชน์และแสวงหานั้น อย่าได้ปล่อยให้ผู้ด้อยโอกาสต้องกลายเป็นผู้ไร้โอกาส เพราะผู้ด้อยโอกาสใช่ว่าต้องไร้โอกาส”

ที่มา กลุ่มสอนตาบอดให้ถ่ายภาพ

หัวใจถ่ายภาพ

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 20

ครูอาสา “หัวใจถ่ายภาพ” ทุกคนต้องผ่าน กระบวนการในโลกมืด เสมือนเป็นวิชาขั้นพื้นฐาน พวกเขาต้องทดลองปิดตาใช้ชีวิตเหมือนคนตาบอด ลองวาดรูป ลองเดิน ทำอะไรๆ ที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เมื่ออยู่ในโลกมืด พวกเขารับรู้ความกลัว ความรู้สึกไม่มั่นคง เข้าใจความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในโลกมืดผ่านประสบการณ์ตรง

ครูอาสา : การสอนถ่ายรูปครูอาสาจะสลับสอนกันเองก่อน เมื่อเราผ่านกระบวนการในโลกมืดแล้วครูอาสาจะเข้าใจว่าคนตาบอดทำทุกอย่างได้เหมือนเรา เพียงแต่มีเงื่อนไขบางอย่าง ดังนั้นเราจะพูดอธิบาย ลงรายละเอียดมากขึ้น การสอนถ่ายภาพถือเป็นแบบฝึกขั้นพื้นฐานที่จำเป็นไม่ว่าเราจะไปสอนอะไรก็ตาม

ที่ผ่านมาเด็กเป็นคนเลือกเข้าร่วมกิจกรรมเองส่วนใหญ่เขามาเพราะอยากลองดู อยากพิสูจน์ว่าเขาทำได้ไหมมีตั้งแต่ 7 – 8 ขวบ ที่มือแข็งแรงแล้ว วันแรกเราไม่ได้เน้นว่าต้องทำให้ได้ แต่ให้เขารู้สึกวางใจ ผ่อนคลาย สนุกไปด้วยกันทั้งตัวคนสอนและเด็ก เราสอนได้แค่ไหนก็แค่นั้น สิ่งที่ครูอาสาไม่เคยเน้นเลยคือผลลัพธ์

จากประสบการณ์เด็กเล็กเขามีจินตนาการไม่กลัว ถ้าเด็กโตหน่อยเขาจะห่วงว่างานออกมาดีไหม ถ้าเราบอกว่ายังไม่ได้อีกนิดนึงนะ เขาจะไม่มั่นใจ หรือบอกว่าได้แล้ว เขาก็จะไปถามคนอื่นอีกกลัวเราหลอก (หัวเราะ) อย่างที่ลพบุรีเราพาออกไปถ่ายข้างนอกที่พระพุทธบาท เขาไปถามคนอื่นๆ พอได้รับเสียงบอกว่ามันดี ความมั่นใจมาเหมือนติดปีกให้เลย

ประสบการณ์ที่ประทับใจ… เด็กบางคนเขารู้จักพญานาคแต่ไม่เคยจับ ที่บ้านไม่เคยพาเขาออกไปข้างนอก พอไปที่วัดเขาลูบตั้งแต่หัวไปจนถึงหาง เด็กบางคนพอถ่ายภาพได้บอกว่าจะถ่ายรูปดอกบัวเพราะแม่ชอบดอกบัวแม่ชอบไหว้พระ นี่คือสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นความอ่อนโยนในใจ พอเขาทำได้ สิ่งแรกที่เขาคิดถึงคือ คนที่บ้าน

การถ่ายภาพยังช่วยเรื่องการสื่อสาร เรื่องความสัมพันธ์ เช่น เขาอาจจะอธิบายให้พ่อแม่ฟังไม่ได้ว่าใครหน้าตาอย่างไร แต่รูปนี่เชื่อมโยงให้ได้ “นี่รูปเพื่อนหนูนะ ทีนี้แม่มาหาครั้งหน้าจะได้รู้ว่านี่คือเพื่อนสนิทหนู”

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 21

หลังจากที่ ครูอาสา หัวใจถ่ายภาพ ได้ทำงานกับนักเรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศจนเด็กๆ มีผลงานจัดแสดงใน นิทรรศการ ๙ ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส ผลงานภาพถ่ายของนักเรียนในโลกมืด ไปแล้ว กระบวนการทำงานของครูอาสาเติบโตขึ้นอีกขั้น ด้วยการทำงานกับกลุ่มหญิงตาบอดในศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพ

แสงแรกคือ ความไว้ใจ

หลังจากกลุ่มครูอาสาหัวใจถ่ายภาพได้ศึกษาและเรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ในการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่าน จึงได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ที่อยู่ในโลกมืด โดยได้หญิงตาบอดของศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพรานสมัครเข้าเรียนการทำผ้ามัดย้อม แม้นพวกเธอจะหวั่นๆ อยู่ในใจว่าจะเป็นอีกโครงการหนึ่งหรือกิจกรรมหนึ่งที่มาในระยะสั้นๆ แล้วจากไปหรือไม่

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 22

ครูอาสา :   เด็กตาบอดส่วนใหญ่มีความกลัวและกังวลว่าเขาจะทำผิด ทำไม่ได้ กระบวนการสอนที่เราผ่านการอบรมมาก่อนช่วยได้มากทั้ง จิตวิทยาเด็ก การคุยกับเด็กที่ไม่สร้างความกดดัน ที่เขาเกร็งเพราะเชื่อว่า คนตาบอดทำอะไรที่สวยงามไม่ได้หรอก แล้วเราจะให้เขาทำในสิ่งที่ทุกคนต้องมาตัดสินเรื่องความสวยงาม เราถามว่า เอาอะไรมาวัดเรื่องความสวยงาม และการเรียนของเราไม่ได้มุ่งสร้างงานที่สวยงาม เด็กผ่อนคลายขึ้นมาก

มีเด็กที่ยากเหมือนกัน เช่น เด็กไม่เคยพูดเลยตั้งแต่มาอยู่ที่ศูนย์ฯ เราไม่มั่นใจว่าเด็กเข้าใจหรือเปล่า เราใช้การสื่อสารผ่านการสัมผัส โทนเสียงที่พูด ซึ่งเป็นการทำงานกับความรู้สึกภายใน (senses) ที่เขารับรู้ได้ชัดเจน สามเดือนแรกของการสอนนี่ถือเป็นการบ้านของอาสาทุกคนที่ต้องรู้จักเชื่อมโยงกับเด็กรายบุคคล

จากเด็กไม่กล้าคิด หนึ่งปีที่ผ่านมาเขากล้ามากขึ้น แต่ก็ยังมีความกลัว สิ่งที่เปลี่ยนไปมากคือ จากเดิมที่เขาปิดตัวเอง ไม่กล้าแม้กระทั่งยกมือบอกว่าหนูทำไม่ได้ ตอนนี้เขากล้าที่จะบอกสิ่งที่ต้องการ บอกสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดออกมา เราได้รู้ว่าเด็กต้องการอะไร และเราจะพัฒนาเขาไปถึงขั้นไหนได้

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 23

ปิดตาเพื่อ เห็นทาง

ครูอาสา : กระบวนการที่ใช้ก่อนที่จะสอนเขามัดย้อม เราเริ่มต้นด้วยการสอนถ่ายภาพเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ ความคุ้นเคยกัน และทักษะถ่ายภาพจะมีประโยชน์ต่อเขาในระยะยาว  เมื่อถึงการมัดย้อม เราจะสอนให้เขารู้จักลวดลายได้อย่างไร ตอนครูอาสาไปเรียนมัดย้อมก็เรียนตามขั้นตอนทั่วไป แต่เราต้องมาปรับกระบวนการ ลองขึ้นโมเดลก่อนเอามาสอนเขา

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 24

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 25

เราเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้แบบคนตาบอด คือ ปิดตาทำงาน ทั้งวัน ทำสื่อการสอนเพื่อให้เขาเข้าใจลวดลายผ่านการสัมผัส การออกแบบลายเราเริ่มจาก รูปทรงเรขาคณิต ให้เขาคลำก่อน แต่จะทำอย่างไรให้เขารู้ว่ามัดแบบนี้จะทำให้เกิดลายแบบนี้ ตอนแรกก็ติดขัดเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรดี จนมาตกผลึกที่ใช้ปืนกาวยิงให้เกิดเส้นนูนขึ้นมา ร่วมกับเทคนิคการพับและการตัดกระดาษ เพื่อให้เด็กได้สัมผัสเส้นลวดลาย และรูปแบบซ้ำๆ ของลาย เพื่อให้เกิดจินตภาพแม้นว่าเกือบทั้งหมดจะไม่มีประสบการณ์ในการเห็นมาก่อนก็ตาม

เติมหัวเชื้อ ความมั่นใจ

ครูอาสา : จากนั้นจึงเริ่มที่งานย้อมคราม เราพบว่าเด็กไม่ได้ถูกเตรียมทักษะการใช้ชีวิตมากนัก เขากลัวความร้อน มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยสูง การย้อมเย็น จึงเป็นทางออกของการเริ่มต้นที่ดี การออกแบบเริ่มต้นจาก ผ้าเช็ดหน้า คือชิ้นงานง่ายๆ จับถนัดมือ และเป็นสิ่งที่เด็กรู้จัก ถ้าของชิ้นใหญ่หรือกว้างมากเด็กจับแล้วจะงง บางคนเขาได้รับการช่วยเหลือมาเยอะพอเราฝึกให้เขาทำด้วยตัวเอง บางอย่างเขาทำไม่เป็นเลย เช่น มัดหนังยาง ซึ่งเรามองว่าเป็นของใกล้ตัวมาก แต่เด็กบางคนกล้ามเนื้อมือเหมือนจับไม่ได้ มัดไม่เป็น ครูต้องสอนตั้งแต่เริ่มจับ บิด หมุน

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 26

จากผ้าเช็ดหน้าขยายขึ้นเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าซิ่น ความยากคือการกะขนาด บางคนอาจจะประมวลผลช้าบ้าง การแบ่งขนาดผ้าสองเมตรจะแบ่งอย่างไร กระจายลายให้เป็นสัดส่วนเขาก็จะเริ่มแบ่งเป็นเป็นสี่-ห้าส่วน จินตนาการ กะวางลายตรงไหน หัวซิ่น ท้ายซิ่น

เมื่อเด็กพร้อมเปิดใจ เชื่อใจว่าครูจะหาแนวทางที่ดีให้ เขารู้สึกปลอดภัยพร้อมเรียนรู้ ครูจึงเริ่มสอนก่อเตา แม้เด็กจะกลัวความร้อนมาก ซึ่งเขายอมรับว่าสั่นแต่เขาทำ เราให้เริ่มจากจับไฟแช็ค เด็กตาบอดไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสสิ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เขาไม่รู้ว่าไฟแช็ค หน้าตาแบบไหน รู้ว่ามันร้อนและทุกคนไม่ให้เขาจับ เขาเลยไม่จับ

แต่เราให้เขาจับ บอกว่าตรงนี้เป็นปุ่มกดนะ ตรงนี้เป็นรูที่ไฟจะออกมา คือบอกในจุดที่ให้เขาระวัง แล้วก็ปล่อยให้เขาคลำ พอคลำจนรู้สึกคุ้นเคย เริ่มกล้าก็จะให้เขาลองกดแช๊ะ แช๊ะ จุดที่นิ้วกดกับรูที่ไฟออกมันใกล้กัน เขาจะรับรู้ความร้อนได้เอง จากนั้นจะเอาเทียนมาติดกับไฟแช็ค ใช้ปลายไส้เทียนเป็นตัวลากจากไฟแช็คจากด้านล่างไปด้านบน ให้เขารู้ว่านี่มันจะสุดปลายแล้วนะ พอเขาจุดเทียนได้แล้วก็จะเริ่มง่าย อุปกรณ์ทุกอย่างให้เขามีโอกาสได้สัมผัส อย่างเตาก็ให้จับว่าเตามีขนาดแค่ไหน กว้าง สูงแค่ไหน  ปากเตาอยู่ตรงไหน เราจะเริ่มก่อไฟตรงนี้อย่างไร เราพยายามสอนให้เขาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 27

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 28

เด็กพิการสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้หรือคุณค่าของตัวเขาหลายๆ อย่าง จากความหวังดีที่คิดว่าคงไม่เหมาะสมหรืออาจเกิดอันตราย จากการอยู่ร่วมกันและให้โอกาส เด็กตาบอดหลายคนซอยตะไคร้ได้เก่งกว่าคนตาดี เมื่อเขาก้าวผ่านความกลัวและทำได้ เขาจะมีทักษะการทำงานที่มั่นใจ ช่วยเพื่อนได้ แชร์ความรู้กัน พูดง่ายๆ ในกระบวนการเรียนรู้มัดย้อมผ้า เราได้มากกว่าผ้ามัดย้อม

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 29

ได้เวลา จุดประกาย

ครูอาสา : ที่นี่เป็นศูนย์ฝึกอาชีพเราพยายามดึงสิ่งที่เขามีอยู่ กับองค์ความรู้ปัจจุบัน เช่น สีมัดย้อมจากธรรมชาติ เด็กเขาขาดเรื่องการพัฒนาตัวสินค้าเพราะเขาไม่เคยออกไปไหน ไม่มีโอกาสพบปะคนข้างนอก ดังนั้นเรื่องของการออกแบบ การใช้สี งานฝีมือ มันไปถึงไหนแล้ว เราเชิญผู้รู้ นักออกแบบมาช่วย ทำให้เรื่องสีธรรมชาติและต้นทุนที่เขามีอยู่มาผสมผสานกัน

ปรากฏการณ์ที่ทำให้เขาอยากเรียนรู้มากขึ้น คือการนำผลงานของเขาออกสู่สาธารณะในงานนิทรรศการ การเดินแบบแฟชั่นที่มีคนใส่งานมัดย้อมของเขา แม้ไม่เห็นด้วยตาแต่พวกเขารับรู้สัมผัสได้ถึงพลังบวกมากมายจากคนรอบข้าง เด็กบางคนที่ไม่เคยมัดหนังยางได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยจะได้ แต่สามารถทำงานนี้ได้เอง มันเป็นการเริ่มต้นที่ดี

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 30

กระบวนการสอนที่ผูกติดกับประสบการณ์จริง เช่น การนำผลงานไปออกร้านขายที่ตลาดลิตเติ้ลทรี เป็นจุดที่เขาได้รับเสียงสะท้อนจริงจากลูกค้า ที่สอดรับและสั่นสะเทือนการเรียนรู้ของเด็กๆ ตาบอดเหล่านี้ มันเหมือนกับสิ่งที่เราย้ำสอนเขาว่า เรื่องสีมีผลนะ ลวดลายที่ครูคอยย้ำว่าต้องมัดแน่นๆ มันมีผลอย่างไร เขาได้เรียนรู้เมื่อต้องตอบคำถามลูกค้าที่อยากได้งานดีๆ สีชัดๆ ลายแจ่มๆ เขารู้แล้วว่ากลับไปครั้งนี้ ฉันต้องพัฒนาอะไร เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพราะนี่คืองานฝีมือ งานที่มีคุณค่าที่ต้องเริ่มจากความใส่ใจของผู้ทำงาน

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 31

คุณผกาวรรณ ชาวคูเวียง (นุ่น)

“ตอนไปออกงานกลัวขายไม่ได้ งานเราเกรดต่ำ ลายไม่สวย ที่ขายได้คือคนสงสาร ทำบุญ เราไม่อยากได้คำว่าสงสาร อยากได้คำว่า น่าซื้อ งานสวยอยากซื้อจริงๆ กลับมาบอกน้องๆ ว่าเราต้องมัดให้แน่น ลายต้องเก๋ ให้คนเขาอยากซื้อ อาชีพนี้เรากลับไปทำที่บ้านได้ ขอแค่ช่วยดูสีว่ามันดีไหม อื่นๆ เราทำได้อยู่แล้ว คิดไว้ว่างานโครเชต์มาผสมกับกระเป๋าผ้ามัดย้อมจะเก๋ น่าจะขายได้ราคา”

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 32

เราต่างมี แสงสว่าง

ครูอาสา : เด็กเขาไม่ค่อยได้รับเหตุผลหรือคำอธิบายเท่าไหร่นักว่าทำอะไร ไปทำไม เขารู้แค่ว่าเขาต้องทำ แต่ถ้าเราบอกเหตุผลเขาก็รับฟัง เรื่องของการให้เกียรติอันนี้สำคัญมาก เขาอยากให้เราปฏิบัติต่อเขาเหมือนคนทั่วไป ตอนจะไปขายของของลิตเติ้ลทรี มีกฎว่าทุกคนที่จะเข้าไปขายของต้องเขียนเรื่องราวของตัวเองเข้าไป เราก็ให้เขาทำ เด็กที่ออกไปเขารู้สึกดีที่เขาสมัครเข้าไปเหมือนคนอื่นๆ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ครูมาขอให้หนูได้ไปออก เด็กมีความเชื่อมั่น เราให้เขาทำเหมือนคนอื่นๆ อาจจะช้าหน่อยแต่ก็ให้ทำ

เด็กบางคนที่อยู่ที่ศูนย์แต่ไม่ค่อยมีพัฒนาการที่จะมีอาชีพดูแลตนเองได้ มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ยาก แต่วันนี้เราได้เห็นแล้วว่าเด็กเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จากเด็กที่ไม่เคยมีเสียงเลย แต่เราทำให้เด็กพูดกับเราได้ เด็กรู้งานมากขึ้นว่าต้องทำอะไร เราไม่ต้องคอยบอกขั้นตอนแล้ว มาวันนี้พิสูจน์แล้วว่า เด็กทุกคนพัฒนาได้

เราเชื่อว่าผ้ามัดย้อมน่าจะเป็นหนทางจะช่วยเขาเรื่องอาชีพต่อไป หลายคนเล่นเฟซบุ๊ค หลายคนเซลฟี่ตัวเองได้ เรื่องการถ่ายภาพมันมาต่อยอดกับงานที่เขาทำ ช่วงปิดเทอมเราให้ชุดอุปกรณ์เขากลับไปทำที่บ้าน แนะนำให้เขาใช้กล้องมือถือส่งภาพกลับมาทางไลน์กรุ๊ป ติดปัญหาอย่างไร งานออกมาเป็นอย่างไร เรายังเชื่อมโยงกัน

ทุกวันนี้การเริ่มเรียนรู้เรื่องใหม่ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะเขาตอบตัวเองได้

ว่าบางอย่างที่ไม่เคยทำ แต่วันนี้เราทำได้ แล้วอย่างอื่นล่ะ ก็แค่ยังไม่เคยลองทำ

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 33ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 34

คุณธิดาพร ไกรศรี (หนึ่ง)

“ตอนนั้นก็คิดว่า … เอ้ย จริงเหรอ เราจะทำได้เหรอ เราตาบอดนะ น่าจะยากสำหรับเรา พอได้มาเรียนจริงๆ ก็ชอบ ดีใจที่เราได้รับโอกาสนี้ ตอนนี้หนูอยากเรียนทำขนม กำลังรอที่เรียนเปิดรับสมัคร”

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 35

จากใจครูอาสา

“เรารับฟังมากขึ้น หัดรอใจเย็นมากขึ้น ได้ฝึกค่อยๆ พูด เพราะเด็กเขาจะรับรู้อารมณ์ของเราจากน้ำเสียง กับคนอื่นเราก็เอาไปปรับใช้ได้”

“ฟังเสียงตัวเองมากขึ้น และกล้าพูดออกไป ฟังเป็น ปรับการสื่อสาร ปรับตัวได้ดีขึ้น”

“ให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม ให้แล้วมีความสุข มีปัญหาเข้ามา เราเชื่อว่า เราทำอะไรได้”

“ไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ ที่ทำกับคนนี้ได้ผล กับอีกคนอาจต้องเป็นวิธีอื่น บรรทัดฐานของเราเอาไปใช้กับทุกคนไม่ได้”

“ให้โอกาสคนมากขึ้น ไม่ไปปรามาสใครว่าเขาทำไม่ได้หรอก เพราะเมื่อแต่ละคนมีที่ยืน ศักยภาพในตัวเองจะฉายแววออกมา

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด 36

ติดตามสนับสนุนผลงานได้ที่ หัวใจมัดย้อม  fb: @Tiedyebytheblind

ขอขอบพระคุณ

Pict For All (การถ่ายภาพเพื่อการแบ่งปัน) คุณนพดล ปัญญาวุฒิไกร (ครูฉุน) คณะครูอาสาหัวใจถ่ายภาพ : คุณวราภรณ์ ตุลานนท์ (ตุ๊ก) คุณชนิสรา ขัตติยะ (มด) คุณบุญจิต วรวัฒนกุล (แอน) คุณศิริเพ็ญ สุวรรณดารา (ฮะ) คุณสุภาพร สังคะสุข (อ้วน) คุณอารียา หมัดมุด (ครูยา) คุณอรประจิตร ณ พัทลุง(แอน) คุณชาคริยา วงค์แก้ว (กุ้ง) และศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน จ.นครปฐม

ภาพบางส่วนจาก Pict For All , หัวใจถ่ายภาพ,ตลาดลิตเติ้ลทรี

ถ่ายภาพโดย : นัทที บุญสงค์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

แอดมิน - ลูกบัว

ด.ญ. อริสา ภิรมย์รัตน์ ตำแหน่ง: เวบแอดมิน หน้าที่: สร้างหน้าบทความ โอนย้ายข้อมูล และตกแต่งรูปภาพบทความต่างๆ

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก