หน้าผากของฉันเปล่งลำแสงได้ นิทานรางวัลดาวเด่นของมูลนิธิเด็ก
คุณศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ (พ่อฤทธิ์) ผู้แต่งนิทาน “หน้าผากของฉันเปล่งลำแสงได้” ชนะรางวัลดาวเด่น งานประกวดนิทานมูลนิธิเด็ก ปีที่ 18 (2558) เป็นนิทานที่ตั้งใจแต่งไว้ให้ลูก เรื่องเกี่ยวกับเด็กที่มีความแตกต่างมีแสงออกจากรูโหว่ที่หน้าผากทำให้เข้ากับสังคมลำบากเกิดความทุกข์
การประกวดนี้ เดิมมีรางวัล 2 ประเภทด้วยกัน คือ รางวัลยอดเยี่ยม (ที่หนึ่ง) และ รางวัลชมเชย แต่คณะกรรมการการประกวดนี้พิจารณาว่าผลงานนิทานเรื่องนี้ควรได้รับ รางวัลดาวเด่น เปรียบเหมือนที่สองของการประกวดให้เป็นรางวัลที่เพิ่มขึ้นมาแยกจากรางวัลยอดเยี่ยมและรางวัลชมเชย
นิทานเรื่อง หน้าผากของฉันเปล่งลำแสงได้ ได้รับการพิมพ์รวมเล่ม ร่วมกับนิทานเรื่องอื่นๆ อีก 7 เรื่อง ที่ผ่านการประกวด (จากทั้งหมด 667 เรื่อง) ในการพิมพ์รวมเล่มนี้ ใช้ชื่อเล่มนิทานว่า “แมวสามสี” ซึ่งเป็นชื่อนิทานที่ได้รางวัลยอดเยี่ยม
ดูรายละเอียด รวมนิทานส่งเสริมจินตนาการยอดเยี่ยม รวมรางวัลนิทานมูลนิธิเด็ก ครั้งที่ ๑๘
คุณศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ (พ่อฤทธิ์) และ ด.ช. ศิรา ทวีเกียรติ (อุลตร้าเซน)*
อุลตร้าเซนมี *ภาวะหายาก อัลฟี่ซินโดรมโครโมโซมคู่ที่ 9 ขาดหายไป ส่งผลให้มีพัฒนาการช้ารอบด้าน
จากใจพ่อ
“นิทานเรื่องนี้ตั้งใจแต่งไว้เล่าให้ลูกฟัง โครงเรื่องเกี่ยวกับเด็กที่มีความแตกต่าง ต้องการการดูแลและใส่ใจเป็นพิเศษ (เหมือนลูก) อยากให้ลูกรู้ว่าความพิการ ความต้องการพิเศษ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูก แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต ลูกจะเติบโตโดยดำเนินชีวิตแตกต่างจากคนอื่น แต่ลูกไม่อาจอ้างความพิการ ความต้องการพิเศษ เป็นเหตุแห่งการกระทำใดๆ โดยลูกไร้ซึ่งความพยายามจะเปลี่ยนแปลงการกระทำนั้นๆ ให้ดีขึ้น และอยากให้ลูกรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง นับถือตนเองเป็น ภูมิใจในตนเอง ภูมิใจในความแตกต่าง ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ และใช้แง่มุมความแตกต่าง ความต้องการพิเศษ ความพิการของตนเองไปในทางที่สร้างสรรค์”
คุณศุภฤทธิ์ : ผมมีพล็อตเรื่องนี้อยู่ในหัวมาพักนึงแล้วครับ แต่เรื่องมันค่อนข้างซับซ้อน ยังไม่เหมาะกับช่วงพัฒนาการของเซน จนกระทั่งเห็นการเปิดรับงานประกวดนิทานมูลนิธิเด็กก็คิดว่าน่าจะลองลงมือเขียนดู ไม่งั้นก็จะมีแต่พล็อตไปเรื่อยไม่ได้เขียนเป็นเรื่องเสียที หลังทราบผลการตัดสินผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับกรรมการบางท่าน กรรมการท่านนั้นชื่นชมว่าเนื้อเรื่องมีความลึกซึ้ง ซึ่งคณะกรรมการและผู้จัดการประกวดไม่ได้ใครทราบมาก่อนว่าผมทำงานเกี่ยวกับเด็กพิการหรือเป็นพ่อของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
ตอนเขียนผมตั้งใจให้เป็นนิทานสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษอยู่แล้ว แต่เนื้อเรื่องไม่ได้บอกตรงๆ และตั้งใจหมายถึงทุกกลุ่ม แต่การเดินเรื่องเราต้องหยิบมาให้ชัดๆ แค่หนึ่ง ซึ่งสำหรับเซนเขามีความท้าทายด้านสติปัญญา ก็เลยวางให้เป็นแสงที่มาจากช่องโหว่ที่หน้าผาก
แกนหลักของเรื่องผมเลือกสื่อถึงความแตกต่างเปรียบได้ดั่งลำแสง และลำแสงไม่ได้มีไว้สาดใส่หน้าเพื่อนหรือทำร้ายใคร เราจำเป็นต้องหรี่แสงด้วยตัวเราเอง และพัฒนาตนเองเพื่อเปล่งลำแสงในทางสร้างสรรค์ ซึ่งทำได้ด้วย การประสานสามส่วนคือ อารมณ์ ความคิด การกระทำ ด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ผมเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านตีความตัวละครเองซึ่งก็มีบางท่านตีความว่าเป็นเด็กปัญญาเลิศที่ใช้แสง (ที่เปรียบเหมือนความเก่ง) ไปรบกวนคนอื่นก็มี
สำหรับผู้อ่านทั่วไปผมต้องการจะเปิดจักรวาลทัศน์ว่ามีเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่มีแสงออกมานี้ มีความแตกต่างหลากหลาย ตัวเอกมีแสงออกมาจากหน้าผาก ท้ายเรื่องเขาไปพบเพื่อนผู้หญิงอีกคนที่มีแสงออกมาจากช่องโหว่ที่แตกต่างออกไป แต่เมื่อลำแสงได้ประสานสามส่วนคือ กาย (การลงมือทำ) ความคิด หัวใจ (อารมณ์ความรู้สึก) แล้ว ทั้งคู่ก็เล่นด้วยกันได้อย่างสนุกสนาน
ผมอยากให้นิทานแพร่หลายในกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ผมเชื่อว่านี่คือปัจจัยหลักที่จะทำให้เด็กของเรามีความภาคภูมิใจในตัวเอง คือ
ไม่ปฏิเสธภาวะที่ตนเองมี
เรามีความแตกต่าง
และ เราก็เกิดมาเพื่อแตกต่าง
แต่ เราไม่ใช้ความแตกต่างเป็นข้ออ้าง
ว่าเราทำอะไรไม่ได้
ช่วยกันสร้างสรรค์
คุณศุภฤทธิ์ : นิทานหรือสื่อต่างๆ ในบ้านเรายังมีช่องว่างอีกมาก เราต้องการสื่อสร้างสรรค์ที่ช่วยทำหน้าที่สร้างความเข้าใจ ทัศนคติ แก่เด็กๆ และสาธารณะ เกี่ยวกับเรื่องบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ที่พอมีอยู่บ้างเป็นเรื่องของเด็กที่มีความแตกต่าง ทำอะไรได้ไม่เหมือนเพื่อน ต้องการการยอมรับจากเพื่อน แต่เรายังมีอีกหลายประเด็นที่จำเป็นต้องสื่อสาร เช่น สิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ (Do & Don’t) สำหรับบุคคลทั่วไปต่อบุคคลที่มีความต้องการพิเศษแค่นี้ก็โจทย์ใหญ่มากๆ และเร่งด่วนด้วย เพื่อสร้างความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) และป้องกันการรังแกกันได้ในอนาคต
อย่างการใช้คำ ปัญญาอ่อน มันเป็นคำที่บั่นทอน จำกัดศักยภาพของผู้คน เหมือนมีคนมาบอกว่า ไอ้เด็กคนนี้มันโง่ เจ้าตัวมีโอกาสที่จะรู้สึกว่า ในเมื่อฉันมันโง่ ฉันไม่เรียนดีกว่าก็เป็นไปได้ใช่ไหม
หรือเมื่อพูดถึงคนที่มีความแตกต่าง ก็มักมากับ ความสงสาร บางคนอาจบอกว่า ไม่ต้องการให้มาสงสาร หรือพูดเรื่องความเท่าเทียม สำหรับผมมองว่าความสงสารเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของคนไทย เราห้ามคนอื่นไม่ให้สงสารไม่ได้ แต่เราจะปฏิบัติต่อกันอย่างไรต่างหาก จะสื่อสารอย่างไรว่า สงสาร แต่อย่าเอาความสงสารมาปิดโอกาสที่เขาจะทำอะไรด้วยตัวเอง ด้วยการไปทำอะไรให้เขาทั้งหมด
ผู้ที่สนใจนิทานเรื่อง “หน้าผากของฉันเปล่งลำแสงได้” สั่งซื้อได้ออนไลน์ได้ที่มูลนิธิเด็ก
สำหรับพ่อแม่ผู้ดูแลที่อยากให้ลูกรับรู้ถึงความรักจากการฟังนิทานที่แต่งให้เขาคนเดียวเท่านั้น ติดตามโครงการแต่งนิทานอิสระ หนึ่งเดียวในจักรวาล“พ่อแม่สุดเจ๋ง เรียนรู้การแต่งนิทานให้ลูก ส่งต่อมรดกแห่งความรัก” ได้ที่ fb: Supparit Thaweekiat
ขอขอบพระคุณ คุณศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ (พ่อฤทธิ์) ด.ช. ศิรา ทวีเกียรติ (อุลตร้าเซน) มูลนิธิเด็ก มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม ไทยพีบีเอส ทีวีชุมชน : Super Dad คุณพ่อมหัศจรรย์
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม