การละครช่วยบุคคลที่มีภาวะออทิซึ่มได้อย่างไร

ละครเพลงเวที การบำบัดที่ลงตัวของเดวิด เพโทรวิค

ในสายตาของผู้คนทั่วไป กิจกรรมอย่าง “ละครเพลง” นั้นมีความหมายแตกต่างกันไป โรงละครอาจเป็นพื้นที่แสดงความสามารถ เป็นแหล่งความบันเทิง หรือเป็นจุดศูนย์รวมของศิลปะหลากหลายแขนง แต่สำหรับ เดวิด เพโทรวิค (David Petrovic) นั้น ละครเพลงเป็นเหมือนการบำบัดทางเลือกสำหรับชีวิตในออทิซึ่มสเปคตรัมของเขา และเขากลายเป็นบุคคลพิเศษผู้ประสบความสำเร็จในการค้นหาความสุขในชีวิตตนเอง จนสามารถกลายเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญของคนพิเศษในสหรัฐอเมริกาที่แบ่งปันแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นจนเป็นอาชีพได้ โดยมีศิลปะแขนงนี้เป็นตัวแปรเบื้องหลังที่สำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของเขา

Breaking Free | David Petrovic | TEDxPittsburgh

แม้ตอนนี้เดวิดจะเป็นทั้งครูและนักกล่าวสุนทรพจน์มืออาชีพระดับประเทศ แต่ในวัยสามขวบเขาแทบไม่พูดหรือมีปฏิสัมพันธ์กับใครเลย แต่โชคดีที่มีสิ่งหนึ่งดึงดูดความสนใจของเขาได้ชะงักนัก นั่นคือ “ฟองสบู่” ที่ถูกเป่าออกมาจากชุดน้ำยาฟองสบู่ทั่วไป จิตแพทย์เด็กผู้ดูแลเดวิดได้เห็นจุดสนใจนี้ และคิดวิธีการส่งเสริมการพูดด้วยการเป่าฟองสบู่ทุกครั้งที่เดวิดวัยเด็กส่งเสียง การทำแบบนี้เป็นกิจวัตรในช่วงเริ่มเรียนรู้ทำให้เดวิดพูดได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวเมื่อเขาเติบโตขึ้น

เมื่อเดวิดเริ่มค้นพบและสร้างความคุ้นเคยกับเสียงของตนเอง เขาพบความสนุกสนานใหม่ๆ จากการเลียนแบบเสียงและประโยคคำพูดจากตัวการ์ตูน ตัวละครในโทรทัศน์ และบทละครเวทีที่เขาได้ดู เขามีความกระตือรือร้นในการดัดแปลงน้ำเสียงของเขาซ้ำไปซ้ำมาอย่างมาก แต่บางครั้งเขาก็กระตือรือร้นเกินไป ในรั้วโรงเรียนประถม เดวิดยังคงเลียนแบบเสียงตัวละครต่างๆ ที่เขาได้ยินมาอย่างไม่หยุดหย่อน จนเขาเริ่มรบกวนการเรียนของเพื่อนร่วมชั้น และตกเป็นเป้าต่อความคิดแง่ลบของคนรอบข้าง

โชคดีที่คุณครูประถมหนึ่งของเดวิดเห็นวิกฤตนี้เป็นโอกาส และได้ช่วยนำทางเขาให้นำน้ำเสียงหลายบุคลิกนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแสดงละครแทน และเมื่อเดวิดมีโอกาสได้เริ่มทำงานร่วมกับผู้กำกับที่เข้าใจในตัวเขา ชีวิตของเขาจึงเริ่มพัฒนามากขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะการละครได้ฝึกสอนทักษะชีวิตให้กับเขามากมาย และยังช่วยให้เขาปรับตัวทำความรู้จักกับออทิซึ่มสเปคตรัมของเขาเองอีกด้วย

การละครช่วยบุคคลที่มีภาวะออทิซึ่มได้อย่างไร 4ตั้งแต่การละครเข้ามาในชีวิตของเดวิด เขาเริ่มเห็นมันเป็นมากกว่างานอดิเรกทั่วไป แน่นอนว่าเขาใช้การละครเป็นที่ผ่อนคลายความเครียด สร้างความสุขและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ แต่มากไปกว่านั้น เมื่อเขาสวมบทบาทที่เขาได้รับมอบหมาย มันทำให้เขาได้ทำความเข้าใจอารมณ์ต่างๆ ความรู้สึกสงสาร การมีอารมณ์ร่วมกับผู้อื่น หรือเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น จากเดิมที่เขาไม่เคยเต้นตามจังหวะเพลงเป็นมาก่อนในชีวิต แต่การละครได้สอนให้เขาเคลื่อนไหวร่างกายไปตามจังหวะดนตรี มันช่วยเพิ่มกำลังใจในการใช้ชีวิต สุขภาพร่างกายที่ดี และความตื่นตัวของเขาเองด้วย การมีงานอดิเรกนอกรั้วโรงเรียนยังช่วยให้เขาจัดการตัวเองกับการเรียนได้ดีขึ้น เป็นแรงผลักดันให้เขาทำหน้าที่อื่นๆ นอกโรงละครให้เสร็จ เพื่อที่เขาจะได้ไปทำในสิ่งที่รักในโรงละครต่อได้

บทเรียนที่สำคัญที่สุดที่เดวิดได้รับจากการละครนั้นเป็นบทเรียนเชิงจิตวิญญาณ เขาค้นพบว่า “ชีวิตนั้นเกิดขึ้นในโรงละคร” เพราะเมื่อนักแสดงทุกคนได้ทำงานร่วมกัน และรับรู้ซึ่งกันและกัน พวกเขาทำให้ผู้ชมตั้งข้อสังเกตและทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้คนและสิ่งต่างๆ ในชีวิตจริงมากขึ้นผ่านตัวแทนของผู้คนและสิ่งเหล่านั้นในการแสดงละครได้ เขาค้นพบว่าละครทุกเรื่องมีบทเรียนให้เราได้เรียนรู้เสมอ ถ้าเราเลือกที่จะค้นหามัน การเรียนรู้ผ่านการละครนี้เองที่ช่วยให้เดวิดมีโลกทัศน์ที่เต็มไปด้วยสีสัน จนมองโลกได้ลึกซึ้งมากกว่าเดิมในรูปแบบใหม่ที่เขาไม่เคยมองมาก่อน

ทั้งนี้ เดวิดเองเชื่อว่าการมีส่วนร่วมในงานละครทุกรูปแบบสามารถช่วยบำบัดคนพิเศษได้ และการบำบัดนี้ไม่ได้จำกัดแค่การแสดงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่จัดฉาก กำกับเสียง กำกับแสง แต่งหน้า หรือออกแบบเสื้อผ้า ล้วนส่งผลดีต่อคนพิเศษได้ทั้งสิ้น หน้าที่ที่หลายคนอาจมองว่าไม่สำคัญเท่าการเป็นนักแสดงนำ หรือผู้กำกับ เช่น คนขนฉากเข้าออก หรือตัวประกอบที่ไม่มีบทพูด ต่างก็มีประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองของคนพิเศษในรูปแบบต่างๆ การช่วยขนฉากนั้นต้องอาศัยการรู้เวลาตามคิวการขนของระหว่างฉากที่ได้รับ ช่วยฝึกสติ สมาธิ และการจัดการตัวเองได้ดี ส่วนบทตัวละครประกอบที่แม้จะไม่มีบทพูด แต่นักแสดงย่อมต้องสวมบทบาทและแสดงผ่านอากัปกิริยาท่าทางเช่นเดียวกับนักแสดงหลัก และยังต้องเข้าใจถึงตัวตนของพวกเขาในบทละครที่เล่นด้วยเช่นกัน

หนึ่งในบทเรียนแรกๆ ที่เดวิด เพโทรวิค ได้รับจากการแสดงละครนั้นมาจากบทบาทของเจ้าชายอสูร เซบาสเตียน (Sebastian) ในละคร โฉมงามกับเจ้าชายอสูร (Beauty and the Beast) ที่เขาแสดงตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เดวิดเริ่มรู้จักตนเองมากขึ้นผ่านบทบาทนี้ ซึ่งทำให้เขามองตัวเองเป็นคนที่มีความแตกต่างแปลกแยกจากผู้อื่น แต่เมื่อเขาเข้าใจตัวเองจนผู้อื่นสามารถเข้าใจเขาได้ เขาจะสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้โดยไม่จำเป็นต้อง “มีเรือนร่างเป็นอสุรกาย” หรือมีพฤติกรรมผิดแผกจากประสาทการรับรู้ที่แตกต่างจากปกติอีกต่อไป

เมื่อประสบการณ์ชีวิตของเขาได้หลอมรวมเข้ากับบทเรียนที่เขาได้รับจากการแสดงละคร เดวิดจึงเติบโตขึ้นมาเป็นตัวแทนคนพิเศษคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในสิ่งเรียบง่าย ยอมรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น ยึดในจุดเด่นของตนเองมากกว่าอุปสรรค ไม่เรียกหาความสมบูรณ์แบบ มองทุกวันใหม่ให้เป็นโอกาส และยอมรับในความแตกต่างของตนเอง เพื่อที่จะสร้างความแตกต่างให้กับโลกรอบตัวเขาต่อไป

การละครช่วยบุคคลที่มีภาวะออทิซึ่มได้อย่างไร 5

หนังสือเรื่องราวของ เดวิด เพโทรวิค  Expect A Miracle: A Mother/Son Asperger Journey of Determination and Triumph

ที่มาของข้อมูลและภาพประกอบ (1) Growing up on the autism spectrum, musical theatre was my therapy  (2) Asperger Miracle Info page  (3) David Petrovic’s TED Talk @ TEDx Pittsburgh

การละครช่วยบุคคลที่มีภาวะออทิซึ่มได้อย่างไร 6

การละครบำบัดช่วยบุคคลที่มีภาวะออทิซึ่มได้อย่างไร

การละครบำบัดเป็นวิธีการช่วยพัฒนาทักษะการตอบสนองต่อผู้อื่นให้กับผู้คนที่มีความพิเศษหลายรูปแบบ ผ่านการใช้การฝึกทักษะการละคร เช่น การแสดงโดยไม่ได้เตรียมมาก่อน การแสดงในฉาก การแสดงด้วยท่าทาง และอีกมากมาย เพื่อเสริมสร้างทักษะการสื่อสารกับสังคม สำหรับคนพิเศษที่มีออทิซึ่มแบบพูดได้บางคน กิจกรรมนี้ให้ได้ทั้งความสนุกและประโยชน์

เสริมสร้างจากจุดแข็ง
คนพิเศษผู้มีออทิซึ่มบางคนที่มีภาษาแต่ขาดทักษะในการพูดและมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม บางคนยังคงใช้การพูดตามหรือเลียนแบบ ผู้ปกครองบางท่านอาจสังเกตเห็นลูกท่องบทพูดจากรายการโทรทัศน์ด้วยน้ำเสียงและลีลาแบบเดียวกับเสียงดั้งเดิมทั้งหมดเป็นประจำ
การละครบำบัดเปิดโอกาสให้ผู้มีออทิซึ่มที่พูดได้มีโอกาสใช้จุดแข็งด้านการเลียนแบบของตนเองในการเรียนรู้ ฝึกฝนและทำให้ “บทพูด” ของพวกเขาสมบูรณ์แบบในบรรยากาศที่สนุกและได้รับการเกื้อหนุน และยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกการเข้าสังคมแบบไม่ได้เตรียมมาก่อน ได้ใช้ทักษะที่เรียนรู้มาจากที่อื่นๆ เช่น การอ่าน การใช้ภาษากาย และพัฒนาทักษะการพูด และอาจนำไปสู่โอกาสอาชีพนักแสดงในการแสดงจริง เสริมสร้างความมั่นใจ และได้รับเสียงปรบมือเป็นรางวัล

การละครบำบัดช่วยได้อย่างไร
ซินดี้ ชไนเดอร์(Cindy Schneider) เป็นผู้บุกเบิกการละครบำบัดสำหรับผู้มีออทิซึ่ม และเป็นผู้เขียนหนังสือ Acting Antics: A Theatrical Approach to Teaching Social Understanding to Kids and Teens with Asperger Syndrome.
การสอนการละครและการเคลื่อนไหวของเธอเปิดสอนให้กับผู้เข้าร่วมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และรับผู้เข้าร่วมที่มีความพิเศษหลากหลายรูปแบบ เช่น ออทิซึ่มสเปคตรัม การขาดทักษะการสื่อสารสังคม สมาธิสั้น ฯลฯ สิ่งที่พวกเขาได้รับคือ
1. ความมั่นใจในตัวเอง ไม่ใช่เพิ่มเพื่อการแสดงเท่านั้น แต่สำหรับการทำปฏิสัมพันธ์ด้วย
2. มีความนับถือตัวเองมากขึ้น ภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง
3. รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีขึ้น
4. แยกแยะและระบุอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น
5. ได้ทำกิจกรรมผ่อนคลายแบบใหม่ในกลุ่มที่เขาประสบความสำเร็จได้6. รับรู้ระดับเสียงของตนเอง และการริเริ่มปรับการออกเสียงใหม่
7. ทักษะใหม่ๆ สำหรับการทำงานในฐานะส่วนหนึ่งของกลุ่ม
8. ทักษะใหม่ๆ สำหรับทำตามคำชี้แนะ
9. เพิ่มความสามารถในการทำปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน
10. เพิ่มความมั่นใจในตนเองผ่านความสำเร็จ
แม้ว่านักการละครบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดผู้มีออทิซึ่มนั้นหายาก เพราะเป็นสาขาวิชาที่ใหม่ และมีกลุ่มที่ทำงานบำบัดอย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น แต่ข่าวดีคือผู้เชี่ยวชาญในสาขาการละครก็สามารถทำงานด้วยการใช้ เกม กิจกรรม และการฝึกสำหรับนักเรียนการละครทั่วไปมาประยุกต์ใช้กับเด็กที่มีภาวะออทิซึ่มได้ไม่ยาก

การใช้การละครในชุมชน
การบำบัดด้วยศิลปะส่วนมากมักไม่เกี่ยวข้องกับวิธีการสร้างศิลปะมากนัก เด็กคนหนึ่งอาจจะได้รับหลายอย่างจากดนตรีบำบัด แต่เขาไม่จำเป็นต้องเรียนวิธีการอ่านโน้ตดนตรีหรือเล่นเครื่องดนตรีเลย แต่สำหรับการละครบำบัดนั้นผู้มีออทิซึ่มจะเข้าร่วมกิจกรรมการละครเหมือนกับการเรียนการสอนวิชาละครทั่วไป นั่นแปลว่าเด็กหรือวัยรุ่นที่มีออทิซึ่มที่รักการละครสามารถนำทักษะที่ได้รับมาปรับใช้กับ การแสดงที่ไม่ได้เตรียมมาก่อน การเคลื่อนไหว ภาษากาย และการจำ สำหรับละครโรงเรียนหรือละครชุมชนได้อย่างง่ายดาย
ที่มา: How Drama Therapy Can Help People with Autism


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

ธรรมชาติ จันทพลาบูรณ์

นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และคอลัมน์นิสต์ประจำ Midnight Beam ที่ว่าด้วยเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมและชีวิตของบุคคลพิเศษจากทั่วโลก

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก