บนเส้นทางที่ต้องหัดเดิน จนถึงการสร้าง “เสื้อคอกระเช้าเบส” ของครอบครัวพนาโยธากุล
เวลาคุณตั้งชื่อลูก คุณมีความหมายในใจที่ต้องการ ‘ส่งต่อ’ ให้เขาไหมคะ ?
คุณสมบูรณ์ พนาโยธากุล ไม่ได้เกิดในครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ เธอต้องดูแลตัวเองตั้งแต่เล็กและอาศัยอยู่กับคุณอาเนื่องจากคุณพ่อคุณแม่แยกทางกัน ระหว่างเรียนเธอใช้เวลาเลี้ยงน้องและฝึกฝนวิชาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า ในเวลาต่อมาเมื่อเธอมีครอบครัวของตัวเอง ใครคนหนึ่งได้ส่งของขวัญชิ้นสำคัญมากที่สุดมาให้เธอ และเธอทำหน้าที่แม่ผู้ดูแลได้อย่าง ‘สมบูรณ์’
เธอตั้งชื่อลูกชายคนนี้ว่า “เบส” แปลว่า ยอดเยี่ยม ดีที่สุด
บนเส้นทางที่ต้อง “หัดเดิน” ไปด้วยกัน
(คุณสมบูรณ์ พนาโยธากุล ได้รับรางวัลพ่อแม่ดีเด่น ประจำปีพ.ศ. 2558 จากมูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
คุณสมบูรณ์ : แม่แต่งงานได้ซักปีกว่าก็ท้องตอนนั้นก็ยังเปิดบ้านรับตัดเสื้อผ้าอยู่ อายุ 31-32 ตอนฝากท้องหมอก็ว่าอายุยังไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เราก็ดูแลรักษาตัวเองแข็งแรงดี เบสคลอดออกมาก็น้ำหนักดี 3,600กรัม แต่คลอดออกมาหนึ่งวันแล้ว เขายังไม่ร้องเลย แม่ก็สงสัยดูหน้าลูกก็พอรู้บ้างว่าแปลกๆ
คุณหมอจะให้แม่กลับบ้านเพราะแข็งแรงแล้ว แต่ลูกเป็นอะไรยังไม่รู้เลย แม่ยังไม่อยากกลับ คุณหมอบอกว่าหมอเป็นหมอสูติฯ (สูตินารีแพทย์) มีหน้าที่ดูแลแม่คลอดให้ปลอดภัย เมื่อแม่แข็งแรงแล้วก็กลับบ้านได้ ส่วนเรื่องลูกต้องรอหาหมอเด็ก(กุมารแพทย์) ซึ่งลูกตัวเหลืองก็ต้องอยู่โรงพยาบาลต่ออีกสองสามวัน พอได้พบหมอเด็กก็นัดต่อให้พบผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งระหว่างที่รอนี้ พยาบาลที่ดูแลก็บอกแม่ว่า เด็กคงเรียนหนังสือไม่ได้ คุณแม่ต้องดูนะ หาคลินิกใกล้บ้านที่สุด เพราะลูกจะมีอาการชักบ่อย ตอนนั้นแม่ร้องไห้จิตใจจมลึกลงไปอีก
ส่วนคุณหมอผู้เชี่ยวชาญก็คุยแบบวิชาการ แม่ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แล้วแพทย์นี่เขาต้องเจาะเลือดทราบผลที่แน่นอนก่อนจึงจะบอกว่าเป็นอะไร ซึ่งกว่าจะเจาะเลือดได้เด็กต้องอายุครบหนึ่งเดือนก่อน ระหว่างที่รอก็ให้แม่พาลูกมาที่หน่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ร.พ.ศิริราช ซึ่งที่นี่ทำให้ใจเราพลิกฟื้น ฮึดขึ้นมาได้
คุณพยาบาลก็มากระตุ้นทดสอบ ตอนนั้นแม่ก็บอกว่ายังไม่รู้ผลเลือดนะ ไม่รู้ว่าเป็นอะไรหรือเปล่า (คือใจมันยังไม่อยากยอมรับ) คุณพยาบาลก็บอกว่า ดีแล้ว ชัดไม่ชัดก็มากระตุ้นเถอะ ถึงไม่เป็นอะไรก็จะดีกับลูกเอง
แล้วถึงเป็น ลูกก็จะทำงานได้ ทำอะไรได้ทั้งนั้น
เพียงแต่เรา ต้องสอน
คำเดียวนี่ สำคัญมากค่ะ แม่จำคำนี้
คุณพยาบาลเน้นว่าสามขวบปีแรกของเด็กนี่เส้นใยสมองจะแตกขยายมาก ซึ่งเบสเขาโชคดีที่ไม่มีโรคอื่นพ่วงมา การดูแลสุขภาพกายก็ไม่ยากเท่าไหร่ มันยากตรงที่เราต้องกระตุ้นตามพัฒนาการเขาตามที่คุณพยาบาลสั่งการบ้านมา ต้องทำตลอด วันละสามครั้ง เดือนแรกกระตุ้นเรื่อง การมอง การได้ยิน การชันคอ ก็คือพัฒนาการตามวัยของเด็กช่วงอายุหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
เหนื่อยในช่วงนั้นนะคะ บางครั้งเขาร้องมาก หรือทำไม่ได้อย่างที่เราหวังหรืออยากให้เป็นไป เรามีเวลาที่จะอยู่กับคุณพยาบาลแค่คนละ 10-15นาทีในแต่ละครั้ง เพราะเด็กเยอะมาก ถ้าช่วงที่อยู่บ้านเราไม่ฝึก พอมาที่ ร.พ. ตัวเขาก็จะแข็ง เกร็งตัว ดื้อดันตัว ร้องไห้ คุณพยาบาลจะรู้เลยว่าเราไม่ทำการบ้าน ก็โดนดุ บางทีก็น้ำตาไหล ไม่ใช่ว่าคุณเขาดุนะ แต่ไหลจากตัวเราว่า เราไม่น่าพลาดในอาทิตย์นี้เลยมาแล้วไม่ได้ความคืบหน้า
อย่างการหัดเดินนี่เราต้องจับให้เขางอเข่าทุกก้าว เพราะเขางอเองไม่ได้ แม่พาเบสมากระตุ้นฯ แบบนี้ที่ร.พ.ศิริราช ตั้งแต่อายุหนึ่งเดือนจนถึงสี่ขวบ จะมีส่วนที่ล่าช้าคือ การพูด แต่เขาก็พร้อมมากเลยตอนเข้าอนุบาลซึ่งเราไปที่โรงเรียนสาธิตละอออุทิศไปทดสอบก็ผ่านเพราะเขาทดสอบเหมือนที่เราฝึกมา ครูการศึกษาพิเศษที่นี่ช่วยให้ได้เบสมีพัฒนาการและบุคลิกภาพที่ดี
เปลี่ยนจากภาระให้เป็นผู้ดูแล
คุณสมบูรณ์ตัดสินใจมีลูกอีกคนคือคุณฝ้าย (พรพรรณ พนาโยธากุล) โดยรอให้คุณเบสแข็งแรงและเข้าโรงเรียนเรียบร้อยเสียก่อน ก็คงเหมือนครอบครัวที่มีภารกิจที่ต้องดูแลกันเป็นพิเศษหลายๆครอบครัวที่ต้องการให้ลูกมีผู้ดูแลยามที่พ่อแม่ไม่อยู่แล้ว แต่วิธีการและมุมมองของคุณสมบูรณ์ที่ช่วยสานความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องคู่นี้อาจแตกต่างออกไป
คุณสมบูรณ์ : แม่อยากมีน้องให้เบสห่างกันสี่ปีแต่เขาก็โตทันกัน การดูแลลูกสองคนตอนเล็กๆ เครียดนะคะ แต่เราก็อดทน เวลาสอนการบ้านแม่จะสอนเบสก่อน น้องเขาก็เอาการบ้านของเขามาวางตั้งดังปึ้ง! “สอนหนูบ้าง แม่สอนแต่พี่เบส” เวลาน้องวาดรูป หรือเขียนหนังสือ ได้คะแนนมา ต้องเอามาถามว่า “แม่ว่าของใครสวยกว่ากัน” คือจะมาบอกว่าเหมือนกันไม่ได้นะ ต้องตัดสินว่าให้ใครสวยที่สุด เป็นอย่างนี้มาเรื่อย รอจนลูกสาวโตขึ้นหน่อยแม่ก็คุยให้เข้าใจว่า พี่เบสมีภาวะดาวน์ซินโดรมนะ แม่จำเป็นต้องสอนพี่เบสให้มากที่สุดเพื่อให้ลูกไม่ต้องดูแลพี่เบสมาก ถ้าแม่ไม่สอนต่อไปจะกลายเป็นภาระของลูก
ทุกอย่างนี่ แม่เน้นให้เบสเป็นคนดูแลช่วยน้อง มากกว่าที่จะให้น้องช่วยพี่ คือจะใช้เบสมากกว่าน้อง เพราะแม่มาคิดว่า ถ้าช่วงที่แม่ยังอยู่แล้วแม่ไม่ใช้เบสเลย อีกหน่อยพอแม่ไม่อยู่น้องมาใช้นี่เบสจะเสียใจ แม่พยายามทำทุกอย่างให้เบสรักน้อง เหมือนเรารักลูก มันไม่มีเงื่อนไขลูกทำอะไรมา เราก็ไม่เจ็บใช่ไหม ให้เบสรักน้องถ้าน้องทำอะไรขัดใจ พี่เบสก็ไม่เป็นไร เพราะมีความรัก พยายามทำให้ได้อย่างนี้ค่ะ
ห้องน้อง เสื้อผ้าน้อง พี่เบสดูแล ซักตาก พับจัดเก็บให้หมด เงินที่หาได้เบสอยากเก็บไว้ให้น้อง เขาตั้งใจอยากส่งให้น้องไปเรียนต่างประเทศ เพราะได้ยินครอบครัวคุยกัน น้องบอกว่าเรียนในประเทศดีกว่าไม่ต้องใช้เงินเยอะ พ่อบอกไปเถอะเดี๋ยวพ่อส่งได้ เบสได้ยินก็อยากช่วยส่งน้องเรียน
ปัจจุบันน้องสาวอายุ 24 ปี กำลังศึกษาระดับปริญญาโททางด้านกฎหมาย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนี้เขาเข้าใจมาก เขาดูแลกันและกัน และขอบคุณที่แม่ทำไว้อย่างนี้
แม่ ครูผู้ส่งต่อวิชาชีพ
คุณสมบูรณ์เป็นผู้ดูแลสนับสนุนให้คุณเบสได้เข้าเรียนในระดับชั้นต่างๆ ทั้งในระบบการศึกษาปกติ ห้องเรียนพิเศษ หรือ ศูนย์ฝึกทักษะอาชีพต่างๆ แต่ละวิชาในทุกระดับชั้นคุณสมบูรณ์จะเรียนรู้เนื้อหาต่างๆ นั้น ด้วยการซื้อตำรา แบบฝึกหัดมาอ่านเองก่อน และนำไปสอนคุณเบสฝึกให้ทำซ้ำๆ จนเข้าใจและทำได้
คุณสมบูรณ์ : คุณพ่อเขาบอกว่าเน้นให้เบสอ่านหนังสือออกก็พอ ไปเรียนอะไรที่ไหนกลับบ้านแม่ก็สอนซ้ำเอง แม่สอนนี่ ก็ไม่ได้มีความรู้อะไรอาศัยซื้อแบบฝึกหัดมาก็ให้ทำ โชคดีที่เบสเป็นคนชอบเรียน ทั้งๆ ที่เรียนแต่ละแห่งนี่ไม่ได้มีความพร้อมที่จะสอนลูกเรา จนสุดท้ายไปเริ่มเรียนแบบกศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) เพื่อเอาวุฒิไว้ก่อน ซึ่งก็ดีนะคะเขามีช่วงให้ไปฝึกอาชีพในที่ต่างๆ แต่ก็ยังไม่เข้าทางหรือลงตัวนัก เพราะเบสเขาต้องฝึกซ้ำ ถ้างานไหนแม่ไม่ถนัดไม่เข้าใจ อย่างงานจัดสวนถาด ฯลฯ พอแม่ดูไม่ออกว่ามันสวยไม่สวยก็สอนซ้ำให้ลำบาก เลยคิดว่าน่าจะลองสอนให้เขาเย็บผ้าที่แม่ทำเป็นอยู่แล้วดีกว่า
เลยมานั่งคิดว่าต้องเป็นของที่ตัดเย็บง่ายหน่อย ที่มองๆ ไว้มี ถุงผ้า กางเกงเด็กที่ใส่ผ้าอ้อม แล้วก็ เสื้อคอกระเช้า แต่ถุงผ้ามันต้องเปลี่ยนลวดลายไปเรื่อยๆ จะมาทำซ้ำๆ ไม่ได้ก็ตัดไป เหลือกางเกงเด็ก กับเสื้อคอกระเช้า แม่เคยทำเสื้อคอกระเช้ามาก่อนก็เลยเริ่มลองสอนเบสเย็บ สมัยนั้นใช้จักรเล็กดำๆ นะ ส่วนจักรไฟฟ้านี่เขาซื้อใหม่จากเงินรายได้ของเขาเอง (ยิ้ม)
หัดเย็บจักรตอนแรกเบสก็กลัว แม่ก็บอกว่า ไม่ต้องกลัวนะถ้ามันจะโดน โดนแม่ก่อน ก็สอนให้เหยียบจักรปรื้ดๆ ฝึกไปเรื่อยๆ ชักเริ่มสนุก ฝึกเย็บก็ให้เริ่มเย็บจากชายเสื้อง่ายๆ เขามีป้ากับน้าขายเสื้อผ้าอยู่ที่ทุ่งสง ก็ส่งให้ขาย แล้วก็ขายที่ศิริราชปีละครั้ง สองครั้ง มีงานโอท็อป ฯลฯ ก็ทำมาหกเจ็ดปีแล้วค่ะ
ตอนที่เริ่มสอนเบสนี่แม่ไม่ได้หวังว่าทำแล้วจะขายได้เลยนะ ตอนนั้นเขาอายุ 21 แม่คิดว่า ซัก 25 เขาน่าจะทำเป็นอาชีพได้ ปรากฏว่าพอเริ่มฝึกก็เกิดอาชีพเลย ได้งาน ได้ของเลย แต่เราต้องช่วยด้วย การขึ้นชิ้นงานปัจจุบันนี้เขาทำจนเสร็จได้ 80-90% แต่แม่ก็ต้องคอยมองอยู่ เผลอไม่ได้ เขาจะลืม ช่วงไหนจะทำกี่ตัวเขามีแผนนะ แต่ต้องลุ้น (หัวเราะ) ลูกของเราต้องทำแบบซ้ำๆ คอยเตือนซ้ำๆ
เส้นทางชีวิตที่ก้าวต่อไป
ระหว่างที่เย็บผ้าอยู่บ้าน เบสบอกอยากเรียนหนังสือ ก็ไปสมัครวิทยาลัยสารพัดช่างเรียนการขายการตลาด เบสจ่ายค่าเรียนเองส่วนหนึ่ง เรียนสองปีตอนนี้ได้วุฒิ ปวส. แล้ว เรื่องเรียนแม่ก็ยังไปช่วยอยู่ นั่งเรียนหน้าห้องเลย บางทีแม่นั่งร้องไห้เลยเพราะงานเยอะมาก ทำเหมือนเดิมคือ แม่อ่านหนังสือเอาเนื้อหามาสอนเขา เขาไปเรียนกับคนทำงานทั่วไปที่มาเอาวุฒิเหมือนกัน อีกหน่อยถ้าเขาว่างก็ไปต่อให้จบปริญญาตรีได้
เบสชอบการได้ทำงานร่วมกับคนอื่น ซึ่งงานเย็บผ้านี่ส่วนใหญ่ทำงานอยู่บ้านไม่ได้สังคมเท่าไหร่ ปีที่แล้วก็เลยสมัครไปผู้ช่วยครูที่โรงเรียนเก่าของเขา (โรงเรียนกาญจนาภิเษกสมโภช ในพระราชูปถัมภ์ฯ ปทุมธานี) ให้ลองทำงานกับคนอื่นบ้าง เริ่มจากงานห้องสมุด แล้วก็มาดูแลห้องน้องอนุบาลสาม ดูแลน้องเข้าแถว เตรียมน้ำสำหรับมื้ออาหารกลางวัน พาน้องไปห้องน้ำ อ่านหนังสือภาพให้น้องฟัง ทำต่อเนื่องมาทั้งปี โดยที่ยังทำงานเย็บผ้าอยู่ด้วย
เขารักน้อง มีความสุขมากที่น้องเรียกว่า
‘ครูเบส’
ในปีนี้เบสต้องเลือกระหว่างงานเลี้ยงน้องกับตัดเสื้อเพราะเสื้อทำไม่ทันขายตามงานต่างๆ ซึ่งเขาชอบออกงานขายของ นอกจากเรื่องเงินที่ได้ สิ่งสำคัญคือความภูมิใจ ว่าของที่ทำเองมีคนชื่นชอบสนใจ
แม่ทำแพทเทิร์นให้เสื้อคอกระเช้า ใครๆ ก็บอกว่าใส่สบาย ทดลองวางแบบจนทำให้ได้ต้นทุนที่ประหยัด ผ้ายี่สิบเมตรทำได้ยี่สิบห้าตัว งานพวกนี้เขารู้ และเขาไปปั๊มงานเพิ่มได้ ส่วนเรื่องการขายแม่จะสอนขายกี่ตัว ได้เงินเท่าไหร่ อันนี้เขาเห็น ส่วนต้นทุนกำไรนี่เบสทำบัญชีไม่เป็น แม่เลยทำเป็นชุดการลงทุนไว้ แต่ไม่แน่ใจว่าเขาเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ซึ่งน้องสาวก็บอกว่าไม่เป็นไร ให้สอนเขาต่อ เดี๋ยวเขาดูแลให้เอง
แม่กำหนดให้เขามีวินัยในการใช้มือถือใช้โซเชียลมีเดีย เบสยังไม่ทันคนหรอกค่ะก็คงต้องเติมค่อยๆ สอนไป บางคนคิดว่าลูกทำนู่นทำนี่ได้แล้ว คงเก่ง หลายเรื่องก็ยังไม่ได้ซึ่งบางเรื่องก็ขึ้นอยู่กับแม่เองที่ยังไม่กล้าปล่อย ข้างนอกมีความเสี่ยงเยอะ พ่อเขาทำงานอยู่ในศาลด้วยเห็นเรื่องแย่ๆ มาเยอะก็กังวล
การเดินทางยี่สิบกว่าปี เราไปเรื่อยๆ ทีละขั้น คิดว่าที่แม่มาถึงวันนี้ได้คงเพราะความใจเย็น อดทน รักเขาก็อยากให้อยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเอง ทำงานดูแลตัวเองได้ ไม่มีแม่แล้ว เป็นภาระกับน้องให้น้อยที่สุด แต่แลกเปลี่ยนช่วยเหลือกันได้
ที่ภูมิใจ คือ
แม่เลี้ยงเบส ไม่ได้เสียเงินมากๆ ก็เลี้ยงได้
เพราะแม่ไม่ใช่คนมีเงิน
แม่โชคดีที่คลอดเบสที่ร.พ.ศิริราช ได้รับคำแนะนำจากหน่วยกระตุ้นพัฒนาการฯ เรียนแต่ละที่ก็ไม่ได้เสียเงินมากๆ เรียนพิเศษแม่ก็ให้เรียนแค่ครั้งสองครั้งพอรู้แนวแม่ก็มาสอนเอง เพราะรู้ว่าลูกเรานี่รับน้อยเรียนไปก็ไม่ได้เท่าคนอื่นเขา ซื้อแบบฝึกหัดมาสอนเองตลอด หลายๆ คนเสียเงินไปเยอะแยะ แต่เราไม่พร้อมจะเสียน่ะ เมื่อมองย้อนไป ที่ผ่านมาแม่ไม่คาดหวังว่าจะมีความสบายใจ แบบตอนนี้นะคะ
คุณพีรัช พนาโยธากุล
(รางวัลคนพิการต้นแบบ พ.ศ.2558 จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
เสื้อคอกระเช้า ‘เบส’
คุณเบส : ชอบตอนเย็บผ้าคอกระเช้า ทำเพลินได้เรื่อยๆ ตอนแรกยากเหมือนกัน เย็บไม่เป็น มีแม่สอนมาเป็นปี ผมภูมิใจกับงานขายเสื้อตามงานต่างๆ ขายหมดทุกงาน แม่เป็นผู้นำสอนเบสมา เบสจบงานขายของจาก ปวส.มา เบสขายของได้เก็บเงินฝากธนาคาร แบ่งเงินให้คุณยายได้ด้วย (คุณเบสส่งเงินให้คุณยายเดือนละ 2,000บาท) ลูกค้าเลือกเสื้อ เลือกผ้า มีความสุข ทอนตังค์ เบสความจำแม่น M 150 L 170 ภูมิใจที่ลูกค้าชมเสื้อ มีกำลังใจให้เบส ผมมีไอเดียเพิ่ม เลือกลูกไม้มาเติมเสื้อสีฟ้าลูกไม้สีครีม เติมเข้าไป ผมชอบศิลปะ
งานที่ยากที่สุดคือ ตอนเย็บคอมีทั้งคอเล็กกับคอใหญ่ ต้องต่อคอหลังคอหน้าต่อกับไหล่ เวลาเย็บเสียก็แก้ ไม่ยาก ขายเอง จัดร้านเอง บางทีแม่ช่วยบ้าง บางทีเบสก็ไปคนเดียว รู้แล้วว่าต้องทำยังไง เตรียมเงินทอน มีเงินเกินบ้าง ไปขายที่เมืองทอง (งานโอทอป) ลูกค้าก็ให้เงินเกิน บอกว่าเสื้อสวย เบสดีใจ
เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์เลี้ยงน้อง
ครูที่สอนเบสตั้งแต่เด็ก มาสอนให้ทำงาน ภูมิใจที่เป็น ครูเบส น้องๆ ก็ชอบที่เบสมาสอน สอนน้องผู้ชายไปห้องน้ำ ล้างมือ ทาหน้า กินข้าว สอนหนังสืออ่านหนังสือภาพ สนุกมาก วันศุกร์น้องใส่พละ อังคาร พุธ พฤหัส น้องเรียนพิเศษ มีงานบ้าน มีความสุข น้องกลับบ่ายสามโมง เบสดูให้ผู้ปกครองรับให้หมดก่อน เบสกลับสี่โมง มิคกี้ เป็นน้องที่น่ารัก เป็นความสุขของเบส เรียก ครูเบส
พี่ฝันเรียกเบสไปห้อง ผ.อ. ถามว่าเป็นไงบ้าง ประทับใจ แต่เสียใจมากที่ไม่ได้สอนต่อ
ใจเบสชอบเลี้ยงน้องมากที่สุด
แต่เบสเย็บผ้าเก่งกว่า
การงานและความฝัน
ทำงานให้มีความสุขเวลาในแต่ละวัน งานอดิเรกวาดรูป เบสชอบศิลปะ วาดเก็บไว้ เบสอยากทำสวน ชอบปลูกผัก ชอบผลไม้ ชอบทำงาน เหมือนเย็บเสื้อคอกระเช้า เบสชอบเรียนหนังสือ อยากเรียนเรื่อยๆ ปลูกต้นไม้เหมือนเสื้อคอกระเช้า
ชีวิตส่วนตัว
เบสชอบมองผู้หญิงบ้าง ชอบผู้หญิงเรียบร้อยพูดจาดี เป็นเพื่อนสนิทกับผู้หญิงหลายคน
ความหมายของเพื่อน
เสือ เป็นคนน่ารัก เรียนมาด้วยกันตั้งแต่ราชวินิตประถมบางแค เบสแกล้งเสือบ่อย สนุกสนาน เพื่อนที่เป็นเพื่อนรัก คำว่าเพื่อน คือจิตใจ ภูมิใจ เพื่อนทำให้เรามีความสุข
น้องสาวคือการดูแลกัน
ฝ้าย น้องน่ารัก เบสรักน้องสาว อุ้มน้อง ช่วยแม่เลี้ยงตั้งแต่ตัวเล็กๆ ทำเพื่อน้องมีความสุข ดูแลพับผ้า ดูแลน้อง เบสตั้งใจว่า ดูแลให้น้องภูมิใจกับเบส คำว่าพี่ คือ พี่ให้น้อง เอาเงินให้น้องไปต่างประทศ เป็นกำลังใจให้น้อง ทำให้ดีที่สุด
สิ่งที่ประทับใจคุณพ่อคุณแม่
เบสขอบคุณพ่อแม่เลี้ยงเบสมา ให้ความรู้
เบสตั้งใจทำงานทุกวัน
เบสทำทุกอย่างเพื่อพ่อแม่มีความสุข
ที่มี เบส
คุณเห็นด้วยกับคุณสมบูรณ์ไหมคะ ที่เธอตั้งชื่อลูกชายคนนี้ว่า “เบส”
เบส แปลว่า ยอดเยี่ยม ดีที่สุด
ขอขอบคุณ คุณสมบูรณ์ คุณพีรัช และ ครอบครัวพนาโยธากุล
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ