ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน
เยียวยาจิตวิญญาณที่หลับใหล
พวกเราดั้นด้นมาถึงจังหวัดลำพูนเพื่อขอเข้าศึกษาดูงานศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน ที่จัดการศึกษาวอลดอร์ฟ (การศึกษาเพื่อการเยียวยา แนวมนุษยปรัชญา) สำหรับเด็กพิเศษและครอบครัวในพื้นที่ ซึ่งเริ่มดำเนินงานมากว่า 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับศึกษาพิเศษในบ้านเรา โดยเฉพาะเป็นการดำเนินงานโดยหน่วยงานภาครัฐ
เราพบกระบวนการเรียนรู้ที่หลอมรวมผู้คน ก่อร่างความเข้าใจ และเคลื่อนขยายสู่ชุมชน พวกเขาเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่เบ่งบานได้ด้วยความรักและจังหวะชีวิตที่สมดุลสอดคล้องกับธรรมชาติ ทุกตารางนิ้วแวดล้อมด้วยความงามที่เรียบง่าย สะอาดประณีต ศูนย์การศึกษาพิเศษแห่งนี้กลายเป็นที่เยียวยาให้จิตวิญญาณที่หลับใหลกลับตื่นขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์
เข้าใจ มนุษย์
ดร.จิตประภา ศรีอ่อน ที่ปรึกษาด้านวิชาการ ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน
การทำงานกับคนพิเศษหรือคนพิการ ใครมีแนวคิดอย่างไรก็จะทำไปแบบนั้น สำหรับคนที่มีแนวคิดว่าเขาเป็นคนพิการ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Handicapped ก็อาจจะเชื่อว่า เขาทำอะไรไม่ได้เรามีหน้าที่ต้องช่วยเหลือ
แต่สำหรับคนที่เชื่อว่า บุคคลพิเศษ หรือ People with disability คือคนที่มีปัญหาหรือข้อจำกัดบางอย่าง ลองดูตัวเราเองซิก็มีข้อจำกัดใช่ไหม คนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ คนที่หลงเรื่องทิศทาง ถ้าเราถือว่าคนทุกคนไม่ได้เต็มร้อยต่างมีความเป็นพิเศษในตัวเอง ถ้ามีมุมมองแบบนี้เราก็จะหาวิธีอยู่ร่วมกันโดยที่เขายังคงเป็นเขา เราไม่ได้เปลี่ยนให้เขาต้องสมบูรณ์แบบ หรือทำเหมือนเขาไร้ความสามารถ ซึ่งแนวคิดนี้มีมาร่วมสามสิบปีแล้ว
เมื่อเขาเป็นของเขาแบบนั้นทำอย่างไรจึงจะดึงศักยภาพของเขาขึ้นมา อย่างคนที่มีความท้าทายเรื่องปัญญาถ้าให้ฝึกเขียนอยู่นั่นแล้วแต่เขาเขียนไม่ได้ เหมือนอย่างตัวอาจารย์จะให้ไปเป็นนางงามจักรวาล จะผ่าตัดกี่รอบเราก็เป็นไม่ได้ไง แล้วเราไปเสียเวลาตรงนั้นทำไม ทำไมไม่ให้คุณค่าในสิ่งที่เขาเป็น ซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่า ความภาคภูมิใจไม่หายไปกับเรื่องที่ทำไม่ได้ นี่คือสิ่งที่สำคัญ
คนชอบเรียกชื่ออาการ ออ.. ลูกเป็นออ.. ครูถามว่าลูกชื่ออะไร หลานชื่ออะไรคะ การที่เราบอกว่าเป็นออ.. เป็นสมาธิสั้น ฯลฯ เราพูดอย่างไรก็ส่งผลให้มีภาพความเชื่อแบบนั้น
ใช่ เขาเป็นอย่างนั้นแหละ
แต่อย่าคิดว่าเขาคือออทิสติกนะ
เขาคือ “ลูกของเรา”
ทุกคนต้องการความภูมิใจในตัวเอง
วอลดอร์ฟ คือ การศึกษาที่พัฒนามนุษย์ตามวัยเป็นการศึกษาที่เข้าใจมนุษย์ในแต่ละช่วงวัยว่าทำอะไรได้ใน 5 ด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม สติปัญญา และจิตวิญญาณ ทุกอย่างเป็นองค์รวมของความเป็นมนุษย์
เราต้องให้อาหารที่เหมาะสมและรู้ว่าวัยนี้เขาทำอะไรได้ ไม่ต้องไปเร่งกระตุ้นพัฒนา มันจะไปของมันเอง แต่เราต้องให้อย่างรอบด้าน อย่างเด็กที่มีภาวะทางสมอง (CP หรือ Cerebral palsy) ส่วนใหญ่ไปเน้นเรื่องกาย แต่ลืมจิตใจ ลืมสมอง เมื่อมองเด็กแบบองค์รวมและใส่อาหารให้สมดุลทั้ง 5 ด้านตามวัย และตามจังหวะ การที่เขาได้รับประสบการณ์เหมาะสมกับวัยพบคนที่เข้าใจให้โอกาสเรียนรู้ เขาจะพัฒนาศักยภาพสูงสุดได้เอง
การศึกษาเพื่อการเยียวยา (Curative Education) หมายถึง
การจัดการศึกษาแบบสหวิทยาการสำหรับคนพิเศษ ซึ่งคำนึงถึง “องค์รวมของความเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างระหว่างบุคคล” โดยการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของ คนพิเศษ ผู้ดูแล ครู และ นักวิชาชีพ
เยียวยา ใคร
การศึกษาวอลดอร์ฟ ให้เวลากับการอบรมครูเพื่อให้ครูเป็นแบบที่ดีก่อนในการลงมือทำ การเยียวยาจึงเริ่มที่ ครู และพ่อแม่ แล้วจึงเยียวยาเด็ก เป็นการศึกษาที่ดูแลคนทุกคน
ในการจัดกระบวนการ “แม่” คือคนสำคัญ การยอมรับลูกว่าเป็นคนพิเศษซึ่งโจทย์นี้หรือของขวัญที่ได้รับนี้เป็น งานยาก เป็นงานที่ต้องให้คนเก่งทำ และจงเชื่อว่าแม่คนนี้ทำได้ เมื่อยอมรับสิ่งสำคัญนี้แล้ว พ่อแม่ที่นี่เขาจะไม่ช้อปปิ้งหรือแสวงหาการบำบัดอื่นๆ เพราะรู้ว่า
บทบาทของเขาคือ คนที่สำคัญที่สุดของลูก
ที่นี่จึงไม่ใช่ศูนย์ฝึกหรือเป็นที่เอาลูกมาฝาก แต่คือที่มาเรียนรู้ด้วยกัน แต่ละครอบครัวกลับไปทำนาฬิกาชีวิตที่บ้าน มีวินัยในตัวเองกำกับจังหวะชีวิต เราใช้ระบบเดียวกันแต่ระยะเวลาแต่ละครอบครัวอาจไม่เท่ากัน นาฬิกาชีวิตใช้ภาพเพื่อสื่อสารจังหวะชีวิต ทุกอย่างทำไปตามแก่นแกนของการพัฒนามนุษย์ เด็กเห็นก็รู้ว่าตัวเองจะอยู่อย่างไร
ปฏิบัติการสอนในศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน แบ่งห้องเรียนตามช่วงวัย
ห้องเรียนที่ 1 อายุ 0 – 6 ปี
ห้องเรียนที่ 2 อายุ 7 – 12 ปี
ห้องเรียนที่ 3 อายุ 13 ปีขึ้นไป
ครอบครัวหมุนเวียนมาสัปดาห์ละ 1 วัน ตามพื้นที่ และนำกิจกรรมตามนาฬิกาชีวิตไปทำที่บ้าน
วันจันทร์ กลุ่มอำเภอเมือง
วันอังคาร กลุ่มอำเภอบ้านธิ อำเภอแม่ทา อำเภอป่าซาง อำเภอเวียงหนองส่อง
วันพุธ กลุ่มอำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง
วันพฤหัสบดี หน่วยบริการในชุมชน (ศูนย์การเรียนประจำอำเภอ) และ เยี่ยมห้องเรียนที่บ้าน
คุณอัมรินทร์ พันธ์วิไล
ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดลำพูน
องค์กรของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ ด้านเมื่อนำการศึกษาวอลดอร์ฟมาเป็นฐานในการทำงาน ทั้งการเปิดพื้นที่ให้บุคลากรที่มีความหลากหลายทำงานร่วมกัน จัดจังหวะชีวิตที่สอดคล้องทั้งการอยู่ร่วมกันและการทำงาน เกิดจิตอาสาแบ่งปันเวลาช่วยกันดูแลทุกพื้นที่ให้สวยงามน่าอยู่รวมทั้งการจัดห้องเรียน ซึ่งเราพบการเปลี่ยนแปลงของทุกฝ่าย
ครูมีความมั่นใจว่าตัวเองเป็นครู จากเมื่อก่อนที่ไม่มีเลยเพราะทุกคนเชื่อว่าการจะช่วยเหลือเด็กพิเศษได้ต้องเป็นนักวิชาชีพ เช่น กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด ซึ่งครูไม่รู้ว่าจะทำตัวเองให้เหมือนนักวิชาชีพได้อย่างไร แต่ก่อนผู้ปกครองมาศูนย์ฯ ก็อยากมาหาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เขาไม่คิดจะมาหาครู ระบบการผลิตครูของบ้านเราไม่มีสถาบันไหนสอนการดูแลเด็กพิการขั้นรุนแรง ครูไม่เคยมีประสบการณ์ เขาไปฝึกงานในโรงเรียนสอนตามประเภทความพิการ หรือสอนในระบบการเรียนร่วม แต่ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษเราดูแลเด็กที่ไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้ พอการศึกษาวอลดอร์ฟเข้ามา ครูเรามีความมั่นใจ ว่าฉันคือครู จัดกิจกรรมได้ เล่นกับเด็กได้ เขาทำได้ด้วยวิธีการและบทบาทความเป็นครู
ผู้ปกครองเปลี่ยนแปลงทัศนคติ จากเมื่อก่อนจะมาศูนย์ฯ เพื่อรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ และรับทุน มีน้อยมากที่จะพาลูกมารับการศึกษา ตอนนี้เขาอยากพาลูกเข้ามาร่วมเล่นอยู่กับกลุ่ม รู้บทบาทของตัวเอง มีส่วนร่วมทำงานต่างๆ ทำกิจกรรมกับลูกที่บ้านได้ ครอบครัวพึงพอใจมีความสุข
เด็กเปลี่ยนหมดทุกด้าน ทั้งอารมณ์ ปฏิสัมพันธ์กับครู ด้านสังคมมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามธรรมชาตินั้นเด็กเขาพร้อมไปได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือครูผู้ปกครองคนรอบข้างจะเปิดโอกาสให้เขาเดินไปข้างหน้าได้หรือเปล่า เช่น พาเขาไปเห็นสังคมภายนอกไหม ถ้าเราให้โอกาส เขาไปได้แน่นอน เวลาไปเยี่ยมบ้าน เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพซ่อนอยู่ในครอบครัวเขา ที่ดีใจมากคือ เราไม่เห็นบ้านที่กลายเป็นโรงเรียน แต่เราพบบ้านที่มีความเป็นบ้าน สะอาดมีคุณลักษณะที่ดี จัดกิจกรรมทำกับลูกตามจังหวะนาฬิกาชีวิต พาลูกร่วมงานในชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดที่เขาจะมีชีวิตที่เป็นปกติ
ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเข้าใจยาก แต่เมื่อครอบครัวเข้าถึง ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องง่ายๆ
เรียนตามจังหวะ
คุณอนุสรา จันทร์ตาธรรม (ครูยิ้ม)
ห้องเรียนที่ 1 สำหรับเด็กอายุ 0 – 6 ปี
ความแตกต่างจากการจัดการศึกษาพิเศษทั่วไปคือ การศึกษาวอลดอร์ฟ เราเน้นให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้ก่อนเด็กเล็กๆ เขาเรียนรู้ผ่านการเล่น แต่ที่เราเรียนการศึกษาพิเศษมา เจอเด็กเล็กสิ่งแรกที่เราทำคือฝึกเขา เพื่อให้เขานิ่ง นั่งทำ โดยที่เราไม่รู้ว่าเขาพร้อมหรือไม่พร้อม แต่เขาต้องฝึกตามโปรแกรม
การแบ่งเด็กในแต่ละช่วงอายุมีความสำคัญ แต่ก่อนนี้เราตั้งคำถามการรับเด็กมาต่างช่วงอายุกัน ทำไมเราฝึกเขาเหมือนกัน ในห้องเรียนที่หนึ่งนี้ เช้ามาเด็กเล็กต้องเล่นก่อนอย่างน้อย 45 นาที ห้องที่สอง เน้นเรื่องร่างกาย ก็จะทำกิจกรรมข้างนอกห้อง กิจกรรมกลางแจ้ง ทำขนม ส่วนเด็กโตห้องที่สามจะเริ่มเรื่องอาชีพ ใช้เงินให้เป็น ทุกวันก็จะมีตลาดเล็กๆ ในห้อง ที่เด็กจะเอาขนมของตามฤดูกาลมาขายในห้อง ครูคิดว่าเหมาะสมตามพัฒนาการเด็กแต่ละวัย และจากการทำงานที่นี่มา 8 ปี เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก เขาทำทุกอย่างเป็นกระบวนการตามจังหวะ เช้ามาทำอะไร เขารู้ขั้นตอน เมื่อจะเข้าสู่บทเรียนแต่ละวัน เขาจะช่วยครูยกเตรียมของที่ต้องใช้ เด็กบางคนร้องเป็นเดือน แต่พอเขารู้จังหวะของตัวเองและห้องเรียนว่าแต่ละวันทำอะไรบ้าง เขาก็ไม่ร้องแล้ว
ตามหลักของวอลดอร์ฟเด็กห้องหนึ่งเมื่อฟันน้ำนมเขาหลุด เขาพร้อมที่ไปห้องเรียนที่สองแล้ว ครูมาสังเกตดูเด็กก็เห็นจริงว่าเขาพร้อมแล้วทุกๆ ด้าน การเปลี่ยนห้องเรียนจากห้องหนึ่งไปห้องสอง เรามีวิธีการเตรียมเด็กที่จะเปลี่ยนห้องว่า เขาเป็นนกตัวน้อยที่เริ่มตัวโตขึ้นแล้ว เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนห้อง น้องๆ ก็จะบินเหมือนนก พากันบินไปส่งพี่ที่ห้องสอง คุณครูห้องสองก็จะรับ ครูและน้องๆ ก็บินกลับห้องซึ่งพี่ก็รับรู้และไปเรียนห้องที่สอง ไม่กลับมาที่ห้องแรกอีก
พ่อแม่มีความกังวลอยู่แล้วว่าลูกจะเรียนจะอยู่อย่างไรในสังคม การเรียนรู้ผ่านการเล่น ครูพาทำงานบ้าน งานครัว งานสวน เราสอนเด็กดูแลตัวเองได้ ทำกับข้าวง่ายๆ ทำความสะอาดบ้าน เป็นพื้นฐานชีวิตที่วันข้างหน้าให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง
คุณธรรมพร มณีกุล (ครูแจ้ว)
ห้องเรียนที่ 2 สำหรับเด็กอายุ 7 – 12 ปี
ห้องเราเน้นกระบวนการทำครัว มีมุมครัว เพื่อให้เด็กได้สัมผัส ดมกลิ่น เป็นกระบวนการทั้งระบบที่เชื่อมโยงกัน สิ่งที่เห็นเด็กและผู้ปกครองมีความอยาก กระตือรือร้นมาจากข้างใน แม้แต่เด็กบางคนที่ยังนอนอยู่ การสอนแบบเดิมเราแยกเด็กตามประเภท สอนแบบแยกส่วน สั่งให้เด็กทำ แต่การศึกษาวอลดอร์ฟเราจะพาทำ เขาซึมซับจากครูและพ่อแม่ และด้วยวิธีการแบบนี้มันส่งผลถึงการดูแลลูกของเราเองด้วย เขารับรู้ได้ว่าเราอ่อนโยนลง
คุณวิภาวี บุญนาค (ครูกาย)
ห้องเรียนที่ 3 สำหรับเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป
เตรียมความพร้อมเพื่อให้เด็กมีอาชีพ ฝึกปฏิบัติทำเองทั้งการดูสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เก็บกวาด ล้างจานทั้งในห้องเรียน ที่บ้าน การทำอาหาร มีครูผู้ช่วยพาทำ งานสวน ขุดดิน ปลูกผัก กิจกรรมบูรณาการพัฒนาไปพร้อมกันหมด เด็กรู้สึกสนุก ไม่รู้สึกว่าเป็นการเรียน แต่เป็นการเล่นมีความสุข ปลุกจิตวิญญาณให้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมด้วยกัน เราเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เห็นชัดคือ อารมณ์เย็นลง ทุกครั้งที่สัมผัสเด็กเขารับรู้ได้ ถ้าเราอารมณ์นิ่งไปสัมผัสเขาก็จะนิ่งเช่นกัน เพราะเราเชื่อมโยงพลังถึงกัน
แม่ คือครู
คุณวารินทร์ โชคอำนวยกูล (คุณแม่ของน้องวุ้นเส้น)
ตอนวุ้นเส้นเกิดขาดออกซิเจนจนตัวเขียว อายุแปดเดือน คว่ำแต่ไม่คืบคลาน คุณหมอส่งต่อให้ไปเข้าคิวฝึกทำกายภาพ ทำต่อเนื่องอยู่สองปี แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง กลับมาอยู่ที่บ้านก็ยังทำกายภาพบำบัดตามที่เขาสอนไม่ได้คิดว่าจะดีขึ้น จนอายุ 6 ขวบมีคนแนะนำให้มาที่นี่ ตอนนั้นน้องยังนอนเฉยๆ ทำอะไรเองไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย
ที่นี่อบรมสอนหลายอย่างมากแม่ก็สอนลูกไปตามที่ครูบอก สำหรับนาฬิกาชีวิตที่บ้านเช้ามาแม่ต้องไปขายของก็จะเตรียมอาหารไว้ กลับมาถึงจะพาเขาทำกิจกรรมเคลื่อนไหว ปัจจุบันน้องอายุ 13 ปี ทำอาหาร อาบน้ำเองได้ พูดเก่งเลย ชอบร้องเพลง หัดให้เกาะยืน มาโรงเรียนวุ้นเส้นอยู่ห้องสอง เช้ามาเคลื่อนไหว สวัสดีคุณครู ออกกำลังกาย เล่นดนตรี ร้องเพลง น้องทำทุกอย่างได้ เวลาออกมาข้างนอกก็นั่งรถเข็น
การศึกษาแบบนี้ดี ถ้าเราปล่อยลูกไว้ ลูกก็ทำอะไรไม่ได้ ลูกเรา เราต้องรับได้ ช่วยเหลือดูแล แม่รักลูกค่ะ เดี๋ยวนี้เขานั่งกับพื้นช่วยล้างจานได้แล้ว กำลังหัดเกาะยืนคุณพ่อเขาก็ช่วยอีกแรง เราทำเต็มที่
คุณดำรงสิน เชียงวัดเกตุ (คุณแม่ของน้องเมย์)
น้องเมย์ตอนลูกสองขวบยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ยังไม่พูด คอไม่แข็ง สบตาบ้าง คุณแม่ขยันมากพาไปศูนย์ต่างๆเพื่อกระตุ้นพัฒนาการสัปดาห์ละสี่วัน แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้จุดประสงค์ของลูก จน 6 ขวบย้ายมาที่นี่ น้องเมย์เริ่มฟังรู้เรื่อง ร้องเพลง เข้าใจคำพูดของแม่
การศึกษาแบบวอลดอร์ฟ แม่เริ่มเข้าใจตอนลูก 9 ขวบ ครูเขาเรียกแม่มาบ่อยมาก ให้มารับความรู้เอาไปทำกับลูกที่บ้าน พัฒนาการของลูก คือผลจากความพยายามของแม่และครู และตัวเขาเองด้วย ตอนนี้เมย์อายุ12 ปี
เขามีเขา เรามีเรา
เราเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว
แม่กับลูก เป็นเรื่องปกติ
เราพัฒนาลูกดูแลเอาใจใส่ทุกด้านอย่างสมดุล เวลาเราพูด พูดอย่างไรให้ลูกเกิดการพัฒนา เช่น แม่เล่านิทาน มีสัตว์อะไรบ้างนะลูกที่แม่เล่าให้ฟัง พรุ่งนี้เช้ามาเล่าให้แม่ฟังนะว่านอนแล้วน้องฝันเห็นสัตว์อะไรบ้าง เช้ามาแม่ก็จะถาม ลูกเมื่อคืนฝันเห็นสัตว์อะไร ตัวใหญ่ ตัวเล็ก ร้องอย่างไร
คำด่าว่า คำไหนที่ไม่พัฒนาแม่จะไม่เอามาพูดเลย
นาฬิกาชีวิต เริ่มตั้งแต่หกโมงเช้า เราทำกิจกรรมไปตามเวลา แรกๆ เราจะบอกเขาก่อนว่าช่วงเวลานี้ เราทำอะไรกัน ไปจนถึงเวลานอน และทุกวันเวลาสี่โมงเย็นแม่จะพาเขานั่งรถเข็นออกไปในชุมชนแถวบ้านให้เขารับรู้สังคมของเขา เราพาไปทุกวันเป็นกิจวัตร จนเขารู้จักว่าคนนั้นคุณยาย.. คุณตา… กลับมาทานข้าว ก่อนนอนไหว้พระสวดมนต์ เล่านิทาน แล้วก็นอน ทำทุกวันเป็นกิจวัตร จนเขาทำเองได้
ก็ต่างกันมากจากเดิมที่ลูกทำอะไรไม่ได้ ไม่รู้จักอะไรเลย ตอนนี้ลูกรู้และเข้าใจ ร้องไห้คืออะไร เสียใจเหรอ หัวเราะ คือการดีใจ เขาจะรู้เองเลย การทำกิจกรรมด้วยกัน จากที่นอนอย่างเดียว ดื่มน้ำไม่ได้ ดูดไม่เป็น เริ่มทำเองได้ โดยเราดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ
ก่อนหน้านี้คุณหมอให้ยาลดการเกร็ง แต่แม่สังเกตว่าเราบำบัดเองดีกว่าให้ทานยาเพราะอาการเขาไม่รุนแรง ก็ใช้การนวดเพื่อคลายอาการเกร็ง งดยามา 8-9 ปีแล้ว แล้วก็งดขวดนม ถ้าเราไม่พยายามลูกก็จะติดขวดนมไปเรื่อยๆ เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นไปตามการเติบโตของลูก
ดร.จิตประภา ศรีอ่อน ที่ปรึกษาด้านวิชาการ ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน
พ่อแม่คือความสำคัญด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่นและความรัก ผู้ปกครองบอกว่าเขาไม่ได้คาดหวังขนาดนี้ เด็กบางคนต้องนอนมา ตอนนี้เขาเดินได้แล้ว บางคนเขาคิดว่าลูกเขาจะแห้งตายไป เพราะหมอบอกว่าทำอะไรไม่ได้ ที่นี่เราให้เล่านิทาน ร้องเพลงให้เขาฟัง เมื่อเขาตื่นขึ้นเราถามว่าจำได้ไหม แม่เล่านิทานอะไร เขาบอกจำได้ เรื่องหมูสามตัว แทนที่จะอาบน้ำเฉยๆ แม่ก็ร้องเพลงไป นวดไป คือทำด้วยความรักตามกระบวนการของเรา ทำตามนาฬิกาชีวิต ร้องเพลง เล่านิทานเหมือนกับลูกเขาได้ยิน แม่เขามีความสุขไม่พาลูกไปหาใครอีกเลย อย่างวุ้นเส้นเขาไม่รู้สึกตัวนานมาก แม่บอกว่าที่มีวันนี้ นี่มันไกลเกินฝัน ไกลเกินคาด
สิ่งที่ย้ำเสมอคือ อย่าคาดหวังต่ำ อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้
มันขึ้นอยู่กับคุณภาพของเราว่าเรารู้จักเขาไหม เรารักเขามากพอไหม
เราเชื่อเรื่องพลังจิตใจ จิตวิญญาณ ของคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลง
ถ้าแม่ให้ความรักเขา ดูแลเขาอย่างดี ตอนที่เขามากอดหอมเรา ยามที่เรามีทุกข์
นั่นคือ การสื่อสารผ่านจิตวิญญาณ ใช่ไหม ?
ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน บริหารจัดการด้วยปัจจัยเข้าตามปกติทั้งงบประมาณและจำนวนบุคลากร คือเป็นไปตามสัดส่วนของจำนวนผู้พิการในพื้นที่ แต่ด้วยวิธีคิดและกระบวนการที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ หรือการศึกษาวอลดอร์ฟที่นำมาใช้ทั้งระบบ เปิดรับบุคลากรที่มีความหลากหลาย ทำให้คนภายในองค์กรเปลี่ยนแปลงมีความเข้าใจและเปิดกว้างมากขึ้น ในระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลแนะนำส่งต่อเด็กพิเศษที่อายุน้อยให้มาที่นี่ คณะทำงานพร้อมจัดการอบรมให้ความรู้ทั้งแก่ผู้ปกครอง ครู และยังเป็นที่ศึกษาดูงานแก่เครือข่ายการจัดการศึกษาพิเศษที่สนใจเข้าร่วม 35 ศูนย์ทั่วประเทศ หลายแห่งเริ่มนำไปทดลองจัดการเรียนรู้แล้ว
การสร้างพื้นที่ที่เข้าใจจังหวะชีวิต การเติบโตตามวัยของมนุษย์ และสังคมแวดล้อมที่พร้อมช่วยกันโอบอุ้มจิตวิญญาณของคนพิเศษให้ตื่นขึ้นเช่นนี้ เกิดขึ้นได้ในบ้านทุกหลังที่มีความรักและหัวใจที่มุ่งมั่น
ตัวอย่างแนวคิดกิจกรรมการศึกษาเพื่อการเยียวยา
ขอขอบพระคุณ
ดร.จิตประภา ศรีอ่อน คุณอัมรินทร์ พันธ์วิไล คุณอนุสรา จันทร์ตาธรรม คุณธรรมพร มณีกุล คุณวิภาวี บุญนาคคุณวารินทร์ โชคอำนวยกูล คุณดำรงสิน เชียงวัดเกตุ และคณะทำงานศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ