ตัวอย่างแนวคิดกิจกรรมตามหลักสูตรวอลดอร์ฟ
การศึกษาวอลดอร์ฟเป็นเรื่องของ ความธรรมดา ความปกติ จังหวะชีวิตที่สมดุล ไม่มากไม่น้อยเกินไป เหมือนพระอาทิตย์ที่ขึ้นและตกทุกวัน เปลี่ยนแปลงจังหวะบ้างตามฤดูกาล
ห้องเรียน จัดให้เรียบง่ายดูดี ครอบครัวก็นำไปจัดทำได้ ห้องเรียนที่ 1 สำหรับเด็กอายุ 0-6 ปี มนุษย์เรียนรู้โลกรอบตัวผ่านประสาทสัมผัส ตา หู สัมผัสแรกของเด็กเล็กคืออ้อมกอดของแม่ มั่นคงปลอดภัย มีความวางไว้ใจ โลกกว้างใหญ่ไพศาล ในห้องจึงมีซุ้มบ้าน ถ้าเราสังเกตเด็กเล็กชอบมุดใต้โต๊ะ การเล่นของเขาคือสร้างบ้านหลังเล็กๆ ทุกวัน
ชีวิตที่มีจังหวะสมดุล เด็กเล็กชอบเพลงกล่อมเด็กแบบย่ายายร้อง เราทำอะไรก็ร้องเพลงไปด้วย เด็กรับรู้ ความดี ความงาม ความจริง จากแม่และครู ดี จากที่เราตั้งใจทำอะไรดีๆ ให้เขา งาม คือมีจังหวะจะโคนนุ่มนวล ครูก็อ่อนโยนไปด้วยเปลี่ยนแปลงจากข้างใน
การตื่นขึ้น จะเกิดเมื่อเขาพร้อม ผ่านการทำกิจกรรมตามนาฬิกาชีวิต การศึกษาวอลดอร์ฟรู้ว่า อาหารจิต อาหารกาย อาหารสมอง อาหารจิตวิญญาณคืออะไร …
ตัวอย่างกิจกรรมในศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดลำพูน
การใช้นิทานที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เสมือนปุ๋ยธรรมชาติที่ช่วยให้เด็กเติบโต เด็กได้เล่นจนอิ่มพอดี ถึงเวลาเลิกเล่นก็ไม่งอแง งานศิลปะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของชีวิตของมนุษย์ เริ่มต้นจากการจัดสภาพแวดล้อมที่ดีให้บ้าน กิจกรรมทำอาหาร เช่น การอบขนมปังมีกลิ่นหอม เห็นกระบวนการทำ และยังมีนิทานที่สอนเรื่องการแบ่งปัน เริ่มต้นสวยงามจบอย่างมีความสุข เด็กอิ่มทั้งกายและใจ ดนตรีบำบัด มนุษย์เรามีจังหวะ เด็กเรียนรู้ผ่านดนตรี ห้องเรียนที่ 1 ใช้พิณ ซึ่งมีเสียงเบาเด็กต้องตั้งใจฟัง ถ้าเป็นกลอง ครูตีเขาก็จะตี ถ้าครูลูบกลองเขาก็ลูบ เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบการกระทำของครู เด็กบางคนไปหยิบกลองเพื่อจะมาเป็นครูให้เพื่อนได้ด้วย ฯลฯ
นิทาน
“ได้เวลาของโลกนิทาน ได้เวลาของโลกนิทาน
สะพานสายรุ้งทอดยาว จากดวงดาวสู่ตัวเจ้า
จากดวงดาวสู่ตัวเจ้า”
“มานั่งฟัง มาล้อมวง”
“อาหาร” เป็นสิ่งจำเป็นในการหล่อเลี้ยงร่างกายเด็กฉันใด
“นิทาน” ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเด็กฉันนั้น
นิทานที่เหมาะกับวัยของเด็กนั้นจะทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องของนามธรรมผ่านการเล่าเรื่อง เช่น เด็กปฐมวัย เป็นเทพนิยายหรือนิทานกริม และเด็กอายุ 8 ขวบ ควรเป็นนิทานอีสป หรือ นิทานเกี่ยวกับโพธิสัตว์ เป็นต้น
ในวัยเด็ก เด็กชื่นชอบการฟังนิทานเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อย้อนไปอ่านนิทานเหล่านั้นเมื่อโตขึ้น ก็รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งที่พบว่า นิทานแสนสนุกที่เคยฟังอย่างไม่รู้เบื่อสมัยยังเป็นเด็กนั้น กลับมีความจริงแห่งชีวิตที่ลึกซึ้งแฝงเร้นเอาไว้อย่างมากมายในทุกๆ เรื่อง
ศิลปะจากดอกไม้ : การจัดดอกไม้
ในชั้นอนุบาล เด็กได้ร้อยพวงมาลัย ครูพาเด็กเก็บดอกไม้ที่ร่วงหล่นลงมา โดยเริ่มจากทักทายดอกไม้ ขอเก็บดอกไม้ใส่ตะกร้า พร้อมทั้งขอบคุณและพาดอกไม้กลับไปที่ห้องเรียน เด็กค่อยๆ นำดอกไม้มาเรียงร้อยทีละดอกๆ จนเป็นพวงมาลัยที่สวยงาม และนำไปถวายพระด้วยจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข
ในชั้นเด็กโต เด็กได้สำรวจธรรมชาติ การสังเกตต้นไม้ดอกไม้ เปลือก กิ่ง ใบ สีสัน ขนาด รูปร่าง ความร้อน ความเย็น สิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน แต่ละฤดูกาล นำไปสู่การค้นพบความจริงของธรรมชาติ เด็กได้วาดต้นไม้ ดอกไม้ เรียนรู้คำศัพท์ เรื่องราวและเก็บดอกไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ที่หล่นมา นำมาสร้างสรรค์เป็นรูปต่างๆ อย่างสวยงาม
งานปั้น
“โลกปั้นเรา เพื่อให้เราปั้นโลก”
ศิลปะงานปั้นทำให้เราอ่อนโยนต่อโลก และสังเกตโลกอย่างเข้าใจ งานปั้นในเด็กเป็นการนำโลกแห่งจินตนาการถ่ายทอดมาเป็นชิ้นงานผ่านขี้ผึ้ง หรือดินเหนียวที่ได้มาจากธรรมชาติ
เมื่อสัมผัสโลกอย่างเข้าใจ เราจะโอบอุ้มธรรมชาติและดูแลโลกใบนี้ และส่งให้คนรุ่นต่อๆ ไปอย่างรู้คุณค่า
งานปั้น เชื่อมโยง กาย ใจ เข้ากับธรรมชาติในรูปแบบมิติสัมพันธ์ ผ่านประสาทสัมผัสหลายด้านที่สอดประสานกันอย่างลงตัว นำไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณภายในต่อไป
วาดภาพระบายสี
“สะพานสายรุ้งเรืองรอง
ทาบทอท้องฟ้าอำไพ
แต้มสีเหลือง แดง น้ำเงิน สดใส
สายรุ้งในใจงดงาม”
สีมีความสัมพันธ์กับความรู้สึก เด็กอายุ 1 – 6 ปี (ปฐมวัย) สามารถรู้สึกถึงคุณสมบัติของสีแท้ๆ โดยไม่ต้องโยงสีกับวัตถุ การใช้สีเป็นการจงใจให้เกิดจินตนาการและพัฒนาการด้านการมองให้เข้าไปถึงความรู้สึก ครูจะส่งเสริมให้เด็กระบายสีและมีความสุขกับสี โดยไม่จำเป็นต้องวาดเลียนแบบของจริง
การจัดสิ่งแวดล้อม สิ่งที่อยู่รายรอบตัวเด็กมีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อพัฒนาการทุกด้าน สิ่งแวดล้อมที่ดีปลอดภัยจะช่วยให้เด็กๆ วางใจที่นำพาตนเองออกไปโลดแล่นสัมผัสธรรมชาติเพื่อเติมพลังชีวิต และนำกลับมาใช้ในการเรียนรู้โลก การจัดการสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับฤดูกาลและเป็นธรรมชาติ เปรียบเสมือนการเตรียมห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ที่อุดมไปด้วยขุมพลังแห่งชีวิต และเชื้อเชิญให้เด็กๆ ออกมากระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนาน สร้างพลังความแข็งแกร่งให้กับกายและใจควบคู่กันไป อีกทั้งยังทำให้โลกแห่งจินตนาการของเด็กๆ ค่อยๆ เผย ออกมา
ดนตรีบำบัด ดนตรีช่วยให้ทุกอย่างสมดุล การเข้าใจและการรับรู้ผ่านดนตรี ความรู้สึกที่ประกอบด้วยทุกสิ่งที่เกี่ยวกับอารมณ์ การผ่อนคลาย ดนตรี คือการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจังหวะสอดคล้องกับการเต้นของหัวใจ สิ่งที่สะท้อนถึงดวงจิตด้านในของเด็ก เช่น การตีกลองกับเด็ก เราสามารถรับรู้ว่าเด็กเป็นอย่างไร จิตใจข้างในเป็นอย่างไร
จิตตลีลา กิจกรรมการเคลื่อไหวเพื่อการศึกษา คือ การนำพาเด็กให้เคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบต่างๆ อย่างมีจังหวะและสมดุล เพื่อให้เด็กฝึกฝนความรู้สึกตัว รู้จักระยะห่างของพื้นที่รอบตัวระหว่างตัวเองและคนอื่น หรือสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับคนอื่น
การเคลื่อนไหวในรูปแบบของจิตตลีลาหรือยูริทมี่ คือ ศิลปะการเคลื่อนไหวที่แสดงออกถึงความมุ่งมั่นจากภายในที่จะนำพาร่างกาย เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการอย่างรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะ
การทำยูริทมี่ ช่วยให้คนเราเรียนรู้วิธีนำการเคลื่อนไหวมาใช้กับดนตรี หรือเสียงพูด ได้ในลักษณะที่จะมีผลในทางจัดระเบียบและสร้างความกลมกลืนขึ้นทั่วทั้งตัวตนทั้งจิตและกาย
ในโรงเรียนวอลดอร์ฟนักเรียนทุกคนจะเรียนยูริทมี่ อันเป็นวิชาที่มีหลักสูตรของตนเอง ซึ่งสอดคล้องและช่วยเสริมสร้างวิชาอื่นๆ ทั้งปวง โดยเริ่มเรียนตั้งแต่อนุบาลต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาในโรงเรียน
สังคมบำบัด ผ่านงานฝีมือ งานบ้าน งานสวน สู่อาชีพและการมีงานทำ
งานสวน การสัมผัสธรรมชาติ คือ การถ่ายเท พลังชีวิตระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ งานที่ทำให้เด็กๆ ได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดคือ งานสวน งานที่ได้ย่ำเท้าบนดินที่ชุ่มชื้นไปด้วยน้ำ ได้สัมผัสแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าได้เฝ้ามองการเจริญเติบโตของพืช ผัก ที่ลงมือปลูกด้วยตนเอง เด็กๆ ได้เรียนรู้วงล้อแห่งชีวิตผ่านการลงมือทำ และมีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอน เด็กๆ จะรู้จักโลก รักและดูแลด้วยความหวงแหนตลอดไป
“การทำสวน ช่วยให้เด็กได้สัมผัสกับพื้นโลก
เรียนรู้คุณค่า และความยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน”
งานครัว เป็นเรื่องใกล้ตัว การได้มีประสบการณ์ทำงานครัว เป็นบทเรียนแห่งชีวิตบทใหญ่ ทุกๆ กิจกรรมในงานครัวทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้มากมาย มิใช่แค่การทำอาหารเพื่อรับประทาน มิใช่แค่งานล้างทำความสะอาด แต่เป็นงานแห่งชีวิตที่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นไอของความสุขอุดมไปด้วยสีสัน รสชาติ และแปรเปลี่ยนเป็นพลังสร้างสรรค์โอบอุ้มโลก
งานฝีมือ เมื่อเด็กใช้มือสร้างหรือประดิษฐ์ของเล่น เขาจะได้ฝึกสมาธิ ความวิริยะ อุตสาหะ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความรู้สึกชื่นชมในสิ่งที่ตนสร้างขึ้น เด็กจะตระหนักถึงความยากลำบาก ในการคิดและการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้เห็นคุณค่าของคนทุกคนและสรรพวิ่งรอบตัวเขา
ทัศนศึกษา การได้มีประสบการณ์กับสิ่งใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นสร้างความตื่นตาตืนใจกับเด็กๆ ประสบการณ์เดิมจะถูกนำมาใช้อีกครั้งเมื่อต้องเผชิญกับโลกใหม่ที่ต้องเรียนรู้ การเปิดโอกาสให้กับเด็กๆ ได้ออกไปสำรวจโลกใบใหม่ที่ไกลออกไป จะช่วยให้เป้าหมายแห่งการดำรงอยู่ของชีวิตมีความสำคัญมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของการมีชีวิต
อ่านต้นเรื่อง : เมื่อฉันตื่นขึ้นที่ลำพูน
ขอขอบพระคุณ
ดร.จิตประภา ศรีอ่อน คุณอัมรินทร์ พันธ์วิไล คุณอนุสรา จันทร์ตาธรรม คุณธรรมพร มณีกุล คุณวิภาวี บุญนาคคุณวารินทร์ โชคอำนวยกูล คุณดำรงสิน เชียงวัดเกตุ และคณะทำงานศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ