การรวมตัวของครอบครัวผู้ใหญ่พิเศษและมิตรสหาย ครั้งแรกของประเทศไทย
“เพราะการหล่อเลี้ยงบุคคลพิเศษให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพนั้น ไม่ได้เสร็จหรือจบแค่เรื่องการศึกษา มันเป็นเรื่องของชีวิต เป็นการส่งต่อ เป็นการทำงานระยะยาว ไม่ใช่แค่ ครู หมอ พ่อแม่ เท่านั้นแต่เป็นเรื่องของเราทุกคนในสังคม”
คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า)
ผู้ก่อตั้งชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษ
โครงการมิตรสหายผู้ใหญ่พิเศษ โดยการสนับสนุนของชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษ
มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายพ่อแม่ เสริมสร้างความเข้มแข็ง และสนับสนุนให้ครอบครัวและผู้ดูแลของบุคคลพิเศษที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเข้ามามีส่วนร่วม พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สะท้อนความเป็นจริงจากมุมมองของครอบครัว สำรวจประเด็นปัญหารวมถึงแนวทางและข้อเสนอเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตในสังคมของผู้ใหญ่พิเศษในประเทศไทย ซึ่งเกิดการรวมตัวขึ้นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 25 มีนาคม 2561 ณ ห้องนนทรี 2 โรงแรมเคยูโฮม ม. เกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ
คนพิเศษในสังคมไทย
คนพิการที่ลงทะเบียนในปี พ.ศ. 2560 มีจำนวน 1,800,000คน คิดเป็น 3% (โดยประมาณ) ของจำนวนประชากรทั้งหมด เด็กพิการ 2.5% ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 93% จบในระดับประถมศึกษา มีเพียง 5% จบระดับมัธยมศึกษา และ 0.05% จบระดับอุดมศึกษา
เมื่อเด็กหลุดจากระบบการศึกษาออกมาอยู่บ้านกับครอบครัวระหว่างช่วงวัย 12-18 ปี หากพวกเขาไม่ได้รับการฝึกฝนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทั้งการดูแลตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการบ่มเพาะพัฒนาศักยภาพซึ่งมีแตกต่างกันไป โอกาสที่เขาจะเข้าสู่วัยทำงานมีอาชีพทั้งในองค์กรหรือในบ้านและชุมชนจะเป็นไปได้ยาก [ข้อมูลของคนพิการในวัยแรงงาน (อายุ 15 – 60 ปี) ปีพ.ศ.2560 มีจำนวน 769,327 คน มีงานทำ 41% ไม่มีงานทำ 46% และ ทำงานไม่ได้ 13% ]
จากสถานการณ์นี้เราพบว่า ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับผู้ใหญ่พิเศษ หน่วยงานภาครัฐเองมีงานล้นมือ ในขณะที่อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้ใหญ่พิเศษวัยแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 390,000คน ซึ่งอาจต้องอยู่ในความดูแลของครอบครัว ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย … ? จะกลายเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะเขาเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตหากได้รับโอกาส มีพื้นที่เรียนรู้ตามศักยภาพเพื่อเคลื่อนสู่วัยผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ได้
เสียงของครอบครัว
การพบกันของชมรมมิตรสหายผู้ใหญ่พิเศษครั้งแรกนี้มีบุคคลพิเศษและครอบครัว 12 ครอบครัวและมิตรสหายจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่สนใจ พวกเขาเชื่อมโยงนัดหมายผ่านทางโซเชียลมีเดีย และแม้จะมีความหลากหลายของช่วงวัยทั้งครอบครัวของเยาวชนพิเศษอายุ 13-18 ปี ไปจนถึงผู้ใหญ่พิเศษ วัย 19-30 ปี พวกเขาต่างมีความสนใจร่วมกัน คือการสร้างพื้นที่ โอกาสทางสังคม และการพัฒนาคนพิเศษให้เติบโตเต็มศักยภาพ
ครอบครัวของคุณเจเจ (อายุ 17 ปี) : ปัญหาที่เจอคือ ไม่ใช่แค่คนพิการแต่ทุกคนต่างต้องการที่ยืนในสังคม และการให้เงินเบี้ยคนพิการทุกเดือนๆ มันสร้างที่ยืนในสังคมให้พวกเขาไม่ได้ แน่นอนเรารอให้คนอื่นสร้างให้คงลำบากคงต้องสร้างเอง แต่อยากเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเกื้อหนุนเราได้ไหม ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น จัดพื้นที่สวนอาหารหรือตลาดเพื่อรวมร้านค้า ผลผลิตและบริการของคนพิเศษ ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพให้หลายกลุ่ม บางคนทำอาหารได้ คนที่ทำเกษตรก็ส่งผลผลิตมาขายมาใช้ในร้านอาหาร บางคนถนัดทำเสื้อผ้า ข้าวของต่างๆ นอกจากมีสถานที่แล้วควรมีองค์กรบริหารแบบมืออาชีพให้ขายได้ น่านั่ง ถ้าเราเริ่มและบริหารจัดการได้ดีก็ทำเป็นต้นแบบขยายออกไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ครอบครัวของคุณขมิ้น (อายุ 30 ปี) : ครอบครัวคนพิเศษก็เหมือนครอบครัวอื่นๆ คือต้องทำงานหาเงิน เรามีภาระเยอะและลูกทุกคนจะพิเศษหรือไม่เราก็ต้องให้เท่าๆ กัน กว่าเราจะมีเวลาดูแลได้เต็มที่คือหลังเกษียณ ก็มีพ่อแม่เท่านั้นที่จะดูแลสอนใกล้ชิดซึ่งใช้เวลา ถ้าเราทำเป็นระบบ เขาจะทำได้ทุกอย่างที่เราสอน แต่ช้าหน่อย
ส่วนของกฏหมายที่สนับสนุนเรื่องอาชีพของคนพิการถ้าใครต้องการคำแนะนำ ติดต่อสมาคมผู้ปกครองผู้พิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย เรามีชมรมฯ ในแต่ละจังหวัด ช่วยเรื่องส่งเสริมงานอาชีพ ติดต่อกระทรวงต่างๆ แนะนำการทำเอกสารยื่นเรื่องขอเงินสนับสนุนตามมาตราต่างๆ เป็นต้น
ครอบครัวของคุณเบส (อายุ 27 ปี) : เรามุ่งมั่นให้เขาอยู่รอดด้วยตัวเอง ไม่ได้สนใจภายนอกเท่าไหร่ เตรียมความพร้อมให้เขา ถ้าแม่ไม่อยู่ก็ให้เขาอยู่ในสังคมได้ เราก็ฝึกให้เขาทำทุกอย่างเหมือนคนทั่วไป เรียนมาได้แบบลุ่มๆ ดอนๆ จบปวส. สุดท้ายแม่ฝึกอาชีพตัดเสื้อให้เขาเอง พอเขาชอบ มีรายได้ ก็อยากทำงาน แบ่งเงินไว้ใช้ ไว้เก็บ ที่บ้านเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ มันช่วยให้เขาดูแลตัวเองได้มากขึ้น อยากทานอะไรอร่อยๆ ก็ใช้ตัวช่วยต่างๆ ในมือถือสั่งเป็น ปัจจุบันเบสขายเสื้อคอกระเช้า อ่านหนังสือทุกวันหาความรู้ มีลูกค้ามาซื้อ เขามีความสุข
ครอบครัวของคุณแจ๊ค (อายุ 21 ปี) : เราไม่ตั้งความหวังสูง ตอนนี้สอนให้เขาทำกิจวัตรดูแลตัวเองได้ ตอนนี้ยังไม่กล้าพาขึ้นเครื่องบิน อยากให้มีชุมชนที่เกื้อกูลกัน ถ้าเรามีธุระไม่อยู่ เพื่อนบ้านพอช่วยดูได้
กลุ่มครอบครัวในชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข : เรารวมกลุ่ม 9 ครอบครัว ทำเกษตรและฟาร์มในมวกเหล็ก ก็ขึ้นอยู่กับครอบครัวนั้นๆ ว่าอยากทำอะไร ไก่ ไข่ นมวัว ทุกอย่างเป็นออร์แกนิค และยังเป็นที่เรียนรู้ของหลายๆ คน เรามีพื้นที่มากพอเปิดให้ครอบครัวที่สนใจมาทดลองว่าการงานแบบนี้ใช่หรือไม่ใช่สำหรับเขา
กลุ่มเยาวชนที่นี่ เราใช้งานเป็นตัวสอน วินัย ระเบียบ ความรับผิดชอบ การอยู่ร่วมกันมีกติกา สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่พิเศษก็ต้องมีอาชีพ เราคุยกับเขาว่าต้องการอะไร งานอะไรที่เขาชอบ อะไรที่ทำได้ดี อะไรที่ยังต้องฝึก ก็คุยกัน เหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่ง
เราต่างต้องเติบโต
ในช่วงที่สองการสนทนาระหว่างกลุ่มผู้ปกครอง ผู้ดูแล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ดูแลคนพิเศษในช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ความสนใจเรื่องเพศ และทักษะด้านการเงิน ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหว บางคนอาจคิดว่าคนพิเศษไม่สามารถเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ จึงละเลยไม่สอนหรือพูดถึง ทั้งนี้หากเรามีความเข้าใจและใช้โอกาสนี้สร้างกรอบคิดที่สำคัญ คนพิเศษจะเติบโตทางความคิด การวางแผน และตัดสินใจ ตระหนักรู้ขอบเขตอำนาจของตัวเองและผู้อื่นได้
ประสบการณ์ของแต่ละครอบครัวที่มาแลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้จึงไม่สามารถหาอ่านได้จากตำราใดๆ และเราค้นพบว่า คนพิเศษมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ เข้าใจทั้งสองเรื่องนี้ได้ “ในแบบของเขาเอง” ขอเพียงคนรอบข้างเชื่อมั่นและเปิดโอกาสให้เขา
เสียงของคนพิเศษ
กลุ่มเยาวชนและผู้ใหญ่พิเศษมีวงสนทนาแลกเปลี่ยนกันโดยมี คุณกรกฎ ธีรสวัสดิ์ ช่วยนำกระบวนการแลกเปลี่ยน ความคิด ความหวัง และบทบาทของพวกเขาในการอยู่ร่วมกับสังคมที่อยากให้เป็น
สิ่งที่คนพิเศษอยากเห็นในสังคมคือ ทุกคนเป็นเพื่อนกัน ยิ้มแย้ม ไม่ว่าร้ายกันและกัน เราอยากเจอกันบ่อยๆ และอยากให้มีคนรับฟังพวกเรามากขึ้น
สิ่งที่พวกเราในฐานะคนคนหนึ่งในสังคมสามารถทำได้คือ เราอยากเป็นเพื่อนกับทุกคน อยากถ่ายทอดความรู้ สอนน้องๆ เป็นครูหรือเป็นตัวอย่าง ช่วยเหลือคนอื่น.
มิตรสหายผู้ใหญ่พิเศษที่มาพบกันในครั้งนี้แม้จะมีความหลากหลาย แต่จุดร่วมที่เข้มแข็งของพวกเขาคือ “พลังของครอบครัวที่ผ่านภารกิจสำคัญอันยากลำบากมาอย่างเข้มข้น” จึงเป็นที่น่าจับตาดูว่าพวกเขาพร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจ เกื้อกูล สร้างโอกาสและพื้นที่ในสังคมให้กับคนพิเศษอย่างไร
ครอบครัวที่สนใจเข้าร่วมชมรมมิตรสหายผู้ใหญ่พิเศษ
ติดต่อ ชุมชนเพื่อพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษ
และ ติดตามข่าวสารได้ที Line@ Extrability Club
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ