ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓)

องค์ความรู้ที่มีชีวิตและหัวใจ

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 25

ทุกครั้งที่เรามีโอกาสได้พูดคุยเรื่องการดูแลช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนร่วมใน โรงเรียนรุ่งอรุณ : โรงเรียนที่เปิดโอกาสให้เข้าเรียนร่วมตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา ทั้งคุณครู ผู้ปกครอง ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การสร้างความสมดุลและความแข็งแรงให้ “ฐานกาย” ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยพัฒนาเด็กพิเศษในระยะยาว

อ่านเพิ่มเติม ถอดรหัสรุ่งอรุณ ตอน (๑) พื้นที่ของกัลยาณมิตร และ ตอน (๒) คุณค่าแท้ของการเรียนรู้

ดังนั้น นอกจากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำให้จัดช่วงเวลาฝึกฝนเด็กอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งระบบการประมวลประสาทรับสัมผัส  (Sensory Integration) กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) การทำกิจกรรมที่สมองซีกซ้ายขวาได้ทำงานสอดประสานกัน เช่น Brain Gym

วันนี้เราอยากชวนคุณทำความรู้จัก ‘องค์ความรู้ที่มีชีวิต’ ของผู้ที่สะสมประสบการณ์ตรงจากการใช้ฐานกายพัฒนาผู้เรียนทุกคนรวมทั้งเด็กพิเศษ อย่างรอบด้านทั้ง จิตใจ อารมณ์ สังคม และการเรียนรู้ ผ่านงานสอนที่ ‘ใส่หัวใจออกแบบ’ ของครูพละ โรงเรียนรุ่งอรุณ


คุณครูปาญิกา ปลั่งกลาง (ครูเป๊ก)
: ประสบการณ์ ครูพละระดับอนุบาล ครูสอนว่ายน้ำระดับมัธยม และ เคยเป็นครูประจำชั้นห้องเรียนชั้นคละระดับมัธยม

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 26

รู้กาย เกิดสติ

การดูแลพึ่งพาตัวเองได้ของเด็กไม่ว่าจะหยิบจับ ติดกระดุม การแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ล้วนจำเป็นต้องใช้ร่างกายสรีระของเราสำคัญนะคะ นั่งหลังไม่ตรงก็มีผลต่อการคิด หลังงอหายใจไม่เต็มปอดก็ทำให้สมองตื้อดูเหมือนขี้เกียจ ชอบลงไปนอน จากเดิมเป็นครูพละก็คิดว่าเราสอนเด็กเล่นกีฬาเพื่อให้เด็กแข็งแรง สนุก ทำอะไรๆ ได้ แต่ในเด็กพิเศษพอเราให้แล้ว เขาไม่ได้ ก็ต้องกลับมาดู ตั้งคำถาม ทำไมหลายคนชอบนอน กระดูกสันหลังบางคนไม่ตรง จะทำอย่างไรให้แข็งแรงขึ้น

เด็กเล็กเขาสนุกสนานตามวัย ชอบปีนป่าย ห้อยโหน แต่เราให้เล่นแบบสร้างเงื่อนไข ส่งเสริมให้การเคลื่อนไหวร่างกายสัมพันธ์กับวิธีคิด ลองโหนเชือกจากด้านหลัง เล่มเกมแบบซุปเปอร์แมน กระโดดไปกระโดดมา พอเล่นสนุกแบบนี้ เขานั่งได้นานขึ้น หาวน้อยลง

กลิ้ง ม้วนตัว ตีลังกา หกสูงบนเชือกแบบสไปเดอร์แมน ยิ่งยากยิ่งสนุก กลายเป็นความเพียร เขามีความสุขกับความพยายาม พอฝึกไปเรื่อยๆ ให้ทำเรื่องอื่นๆ เขาก็ทำได้

เวลาเด็กทำอะไรแล้วกลัวไปต่อไม่ได้ เพราะเขายังไม่รับรู้ร่างกายตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองยืนอย่างไร หรือเกาะอะไรอยู่ เราก็ฝึกเริ่มต้นให้รู้ตัว มืออยู่ตรงไหน.. กลัวก็กำ.. เราดูได้ว่าเด็กพร้อมไหม ตรงที่เขารู้จักให้สัญญาณตัวเอง กำก่อนปล่อย และถ้ายังทำไม่ได้ เขาก็รู้ตัวเองอีก เราแค่บอกว่า ขึ้นได้แค่ไหนแค่นั้น ไม่ไหวก็ลงนะ แล้วเราชื่นชมเขาถึง คุณค่าในการรู้จักตัวเอง เพราะเราทำบนความสุข ไม่ได้ทำจากความสำเร็จ

มนุษย์มีข้างในเหมือนกัน อาจต่างกันที่กระบวนการคิด เซลสมอง แต่เราเติมได้ด้วยการรับรู้ร่างกาย คือสติสัมปชัญญะมาจากร่างกายที่เคลื่อนไหว

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 27ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 28ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 29ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 30

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 31ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 32ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 33ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 34

ที่เราพบบ่อยคือ เด็กที่ฐานกายไม่แข็งแรงหรือมีข้อติดขัดเรื่องระบบประสาทรู้สึกบูรณาการ (Sensory Integration) เขาอยากจะเคลื่อนที่ไป แต่ไปไม่ได้ ร่างกายมันแข็งเกร็ง เราช่วยแตะขาให้ทำซ้ำ ‘หนูจะเคลื่อนขาก็ต้องรู้สึกที่ขา’ เด็กที่ใช้ความคิดและเหตุผลมาก เวลาแนะให้ทำกิจกรรมเราไม่ใช้คำสั่งมาก แต่เปิดโอกาสให้เขาทำและดูท่าที อย่าด่วนตัดสินว่าเขากลัวแน่ เพราะการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย เด็กเขาจับเชือกกำลังพยายามจะกลับตัว แต่เราเขาไปแทรกแซงช่วยเขา เขาพูดว่า ‘ครูครับไม่ต้องบอกผม มันดูวุ่นวาย’ คือเขากำลังพยายามจัดการตัวเองอยู่ เรายังมาพูดเพิ่มภาระความกังวลให้เขา นี่คือเราต้องรู้รอ และรู้ฟัง

เด็กอนุบาลสอนเราหลายอย่าง บางคนสังเกตมาก ถ้าไม่แน่ใจจะไม่ทำ ครูเห็นบุคลิกการเรียนรู้ของเขาแล้วใช้โจทย์หรือเงื่อนไขช่วยดึงศักยภาพ หรือคลี่คลายข้อติดขัดให้เขา บทบาทของเราคือโค้ช ไม่ใช่ผู้นำ ที่บอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเราไม่สามารถผลักหรือดึงเขาให้ไปตามเป้าหมายที่เราต้องการได้

ครูต้องมีสายตา ขณะที่เขาทำมันมีประกายอะไรออกมา บางคนกลัวมากแต่ไม่เคยถอย เพราะเขาเห็นเพื่อนทำได้เขาต้องทำได้ หรือถ้าใครถอยเราจะไม่ดัน แต่ให้ทางเลือกที่ยังอยู่ในกระบวนการแทน บางคนมาขอดูเชือกอยากเอาไปฝึกที่บ้าน เด็กเขารับรู้สภาวะปัญหาของตัวเอง และเขาหาช่องทางพัฒนาตัวเองได้

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 35

ธรรมชาติของเด็กๆ ชอบน้ำอยู่แล้ว ครูจะวางเงื่อนไขหรือโจทย์อะไรก็จะง่าย เป้าหมายของการว่ายน้ำ คือ การช่วยเหลือดูแลตัวเองในน้ำได้ ฝึกลอยตัวได้ดี ได้นานตามเวลาที่กำหนด ถ้าตกน้ำแล้วพุ้ยๆ ขึ้นมาขอบสระ เอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ สำหรับเด็กโตฝึกให้อยู่กับตัวเองเป็น ฝึกว่ายแบบนับแขนยกเป็นชุด ชุดละสิบรอบ ทำซ้ำๆ บ่อยๆ เมื่อเข้าใจร่างกาย รับรู้จุดตั้งของร่างกาย ระบบหายใจ ท่าต่างๆ จะมาเอง คุณค่าที่ลึกไปกว่าการว่ายน้ำได้คือ การรู้จักตัวเองขณะเคลื่อนไหวในน้ำ เขาจะไม่จมน้ำตาย ถ้าเหนื่อย ผ่อนแรงอย่างไร ถ้าไม่ไหวแล้ว เมื่อยจะจัดแขนตัวเองอย่างไร คือการรับรู้สภาวะการเคลื่อนที่ของตัวเองขณะอยู่ในน้ำ


คุณครูคมสัน เสมวิมล (ครูเอก)  
: ประสบการณ์ ครูพละ ครูกีฬาไทย ครูรักบี้ฟุตบอล

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 36

กายพร้อม สมองตื่น

ผมใช้กีฬาไทยพื้นบ้านสำหรับเด็กประถม อย่างป.1 ป.2 ให้เล่นเดินไม้โทกเทก กระโดดเชือกหมู่ – เดี่ยว กระต่ายขาเดียว เราเอามาเล่นผสมผสาน มีฝึกมวย เตะกระสอบ สร้างกล้ามเนื้อและผิวสัมผัส ฝึกตีดาบ สร้างสัมพันธ์ซ้าย ขวา ทุกๆ ปี ผมจะฝึกดาบให้เด็กชั้นป.3 เพราะในวิชาสังคมเขาเรียนเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสิน จะมีการโชว์รำดาบ เด็กในชั้นมี 100 คน และปีนี้จากที่สอนดาบเดี่ยว ผมเพิ่มเป็นดาบสองมือ เด็กชอบมาก แต่ครูก็สอนยากมาก โชคดีที่มีโอกาสจัดกลุ่มย่อย ฝึกทีละ 25คน เด็กพิเศษทุกคนทำได้หมด อาจจะไม่คล่องมาก แต่ทำได้ ยิ่งตัวเรารู้จักปรับอารมณ์ตัวเองไม่เครียด ไม่บ่น เด็กก็ยิ่งสนุก

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 37

ผมมีประสบการณ์ที่ดีตอนที่ทดลองเอาดาบมาฝึกให้ เหมียวและเอื้อย ตอนที่อยู่ระดับมัธยม เราเห็นเขาตั้งแต่ช่วงประถมทั้งสองคนมีภาวะด้านการเรียนรู้ ลักษณะกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงทำให้เขาไม่ค่อยอยากเรียนอะไร ผมค่อยๆ สอนทั้งมวยและดาบสองมือ โดยเริ่มจากกิจกรรมพื้นบ้านเพื่อให้กล้ามเนื้อมีแรงก่อน พาเดินลานทรายรอบบึง เล่นครกกระเดื่องไปท่องสูตรคูณ ท่อง ก.ไก่ ไป เราโต้ตอบกันมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีผ่านการเล่น ตอนให้ฝึกกระโดดชือก ช่วงแรกยังทำไม่ได้ก็วางเชือกให้กระโดดข้าม พอร่างกายเขาเริ่มมีแรง ใจเขามาเอง ทีนี้เตรียมชุดอุปกรณ์มาเลย มีนวม ใส่ชุดแบบจัดเต็ม เขาเริ่มมีความรักในกีฬานี้ด้วยตัวเอง

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 38

จากนั้นจะฝึกหลบหลีกอะไรได้หมด ถึงจุดนี้เราไม่ต้องยุ่งมาก เขาพร้อมจะเรียนแล้ว เขาทำทุกอย่างได้เหมือนเพื่อน เรามีพิธีไหว้ครูใหญ่ ผมตั้งใจฝึกซ้อมให้ทั้งคู่ไปตีดาบโชว์ในงาน การตีดาบสองมือได้ไม่ง่าย เขาต้องได้เรื่องสัมพันธ์ซ้ายขวา มือซ้ายที่ไม่ถนัดต้องยกรับได้ เวลารุกเข้าไปต้องเหวี่ยงแขนตีเป็นชุด เขาต้องรู้ว่าต้องตีท่าอะไรบ้าง เราตีกันสามคนคือ ผม เหมียว เอื้อย ทุกคนต้องรู้คิว แล้วเขาทำได้ มือ ขา สมาธิ สติ อยู่กับตัว สมองเรียนรู้จดจำมีความคล่องแคล่วว่องไว ดีใจที่สิ่งที่ฝึกมานี้ช่วยเขาได้ เอื้อยนี่ใจมาก่อนเลย ครูให้ทำอะไรก็ทำจากเป็นคนไม่กล้า เคลื่อนไหวช้า สุดท้ายเขาทำได้ สำหรับเหมียว (แคทลียา อัศวานันท์) ผมเห็นเขาในรายการทีวีต่างๆ เขารุ่งไปแล้วก็ภูมิใจกับเขามาก

ผมเชื่อว่าสมองเราพัฒนาได้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย สิ่งที่เราทำช่วยได้ ขอให้ดูว่าเด็กคนนี้ติดขัดอะไร จุดไหน แล้วใส่กิจกรรมของเราเข้าไปช่วย

กาย ปะทะ กติกา

ผมนำกีฬารักบี้ฟุตบอลมาใช้กับเด็กประถมปลาย ซึ่งช่วยเด็กที่มีภาวะยากลำบากในการควบคุมอารมณ์และแรงของตัวเองได้มาก จากเดิมที่เขามักเล่นกับเพื่อนแรงๆ และ ถ้าเริ่มเล่นอะไรแล้วอารมณ์จะเตลิดเอาลงยาก แต่หากเราให้เขาวอร์มร่างกายก่อน จนถึงจุดที่ได้เหงื่อ เขาจะอารมณ์ดีไปตลอดชั่วโมง และพบว่าภาวะอารมณ์แบบนี้ลงตัวกับกีฬารักบี้ฟุตบอลมากคือ การใช้แรงที่มีเป้าประสงค์ รักบี้เป็นกีฬาที่ต้องใช้การปะทะ แต่จุดที่เขาต้องฝึกคือ การปะทะตามกติกา ต้องมีความสุภาพในการเล่น ซึ่งช่วงแรกเขาชอบเล่นเดี่ยววิ่งคนเดียววางไทร์ได้ เพื่อนไม่ได้เล่นเลย พอเราบอกว่าต้องส่งต่อให้เพื่อน และเพื่อนทำลูกเสียก็ไม่พอใจ ตรงนี้ถือเป็นการฝึกและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันไปในตัว ครูก็ฝึกเพื่อนๆ เพิ่มขึ้น เขาเองก็ต้องฝึกที่จะอดทนและเล่นเป็นทีมให้เป็นเช่นกัน

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 39


คุณครูอมร รักษาทรัพย์ (ครูต้น)
: ประสบการณ์ ครูพละ ครูกีฬาไทย เคยเป็นครูประจำชั้นห้องเรียนชั้นคละระดับมัธยม 

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 40

ฝึกกาย ฝึกชีวิต

จากประสบการณ์เราพบผู้เรียนมีความหลากหลาย เด็กบางกลุ่มหมอบอกว่าเป็นสมาธิสั้น เรียนรู้ช้า แต่เขาได้ยามาก็ไม่ทานนะ เขาบอกเราว่า ‘ผมรู้หมดแหละว่าหมอจะถามอะไร ก็ตอบไปตามนั้น’ ภายนอกเขาไม่ต่างจากเพื่อนเลย มีเพื่อนเล่น มีสังคม แต่เรียนแบบเพื่อนไม่รู้เรื่อง เขาอาจมีช่องทางการเรียนรู้คนละแบบกับคนทั่วไป การเอาไม้บรรทัดเดียวหรือแบบทดสอบมาวัด เขาเลยแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งผมไม่มีคำตอบนะ เราแค่รับฟังเขาเวลาที่เขาไปหาหมอกลับมา กลุ่มนี้หลายคนไปได้ดีกับกีฬา

ครูการศึกษาพิเศษแนะนำเรื่อง SI. (ระบบการประมวลประสาทรับสัมผัส Sensory Integration) ก็คือ การใช้ร่างกาย ผิวสัมผัสต่างๆ ทำงาน ข้าม โหน จับ ดึง ยึด ทำอะไรๆ เพื่อให้ร่างกายมีความสมดุล อันนี้มันก็แนวทางเดียวกับพละที่เราสอนเด็กเล่นกีฬาในเชิงทักษะคือ ให้เขาคล่องแคล่วใช้ร่างกายเป็น ซึ่งในโรงเรียนเราจัดสภาพแวดล้อมได้ง่ายด้วยอุปกรณ์ต่างๆ แต่มันก็เป็นการฝึกแค่ช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวัน

ในห้องเรียนชั้นคละระดับมัธยมผมสังเกตจากการพาเด็กทำกับข้าว เห็นชัดเลยว่าเด็กพิเศษเราตอกไข่ไม่เป็น ซื้อไข่มาทั้งแผงตอกได้แค่สองฟอง หั่นผักกะระยะสมดุลพอได้บางคน บางคนหั่นหมูไม่ได้ มือเขาไม่มีแรงซึ่งพวกนี้มันส่งผลเวลาเรียน จะเขียน จะวาด ลำบาก ดังนั้นผมก็เอาวิถีการงานปกติในบ้านนี่แหละมาใช้ฝึก SI

เราทำกับข้าว กวาด ถู ซักผ้า ในชั้นเรียน ดูเหมือนง่าย อย่างล้างจานนี่มันลื่นนะ ถ้าจับจานไม่ถูก หน้าที่เราต้องช่วยย่อย ซอยงานให้เขา กวาดบ้านอย่างไร นี่ต้องเริ่มตั้งแต่วิธีจับไม้กวาดให้ถูก โกยเศษผง กว่าเขาจะค่อยๆ ทำได้ ทุกอย่างกินเวลาเป็นเทอม เป้าหมายที่เราทำกับเด็กพิเศษคือให้เขาช่วยเหลือตัวเองและพึ่งพาคนรอบข้างน้อยที่สุด

ส่วนการทำงานร่วมกับครูฝ่ายอื่นๆ ก็ช่วยกันสังเกตว่าเขาทำอะไรได้ดีที่สุดที่จะไปต่อได้ บางคนชอบกีฬา ศิลปะ ก็หาทางลงลึกไปตามทรัพยากรที่โรงเรียนเรามี ถ้าเขาเรียนไม่ได้จริงๆ การส่งต่อก็มีทางเลือกที่เราต้องคุยกับผู้ปกครอง เช่น วิทยาลัยในวังชาย วิทยาลัยในวังหญิง ที่เขาจะได้ฝึกทักษะเฉพาะทาง


คุณครูเรวัติ อภินันท์พร (ครูโม่)
: ประสบการณ์ หัวหน้าครูพละ ครูสอนว่ายน้ำ 

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 41

ท้ากาย ยกใจ

ทีมครูพละเราพาเด็กพิเศษในห้องเรียนชั้นคละมัธยมเดินขึ้นภูกระดึงมาแล้ว เราให้โอกาสเด็กทุกคน เพราะเราย้อนถามตัวเองเสมอว่า ถ้าเป็นลูกเราแล้วเขาไม่ได้โอกาสเหมือนคนอื่น เราจะรู้สึกอย่างไร ใจเขาใจเรา ทั้งๆ ที่รู้ว่าเมื่อเดินขึ้นไปจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เราให้โอกาสเขาดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด ขาเดินขึ้นแม่ค้าเขาว่า ‘ครูรุ่งอรุณใจร้าย ไม่แบ่งปันรายได้ให้คนพื้นที่’ เพราะเราให้เด็กแบกเป้เองไม่ให้จ้างลูกหาบ เด็กก็บ่นเกลียดครู ขาลงเราออกตั้งแต่เช้าหกโมงครึ่ง เด็กคนอื่นๆ มาถึงข้างล่างบ่ายสี่โมงครึ่ง แต่กลุ่มเด็กพิเศษที่ลงมากับผมถึงราวหกโมงครึ่ง เพื่อนต้องนั่งรอสองชั่วโมง เพราะเด็กคนหนึ่งตอนเดินขึ้นเขาไม่มีปัญหา แต่ขาลงลำบากมากเพราะมีปัญหาการรับรู้มิติทางสายตา เขาก้าวลงไม่ถนัด แต่ก็ไม่ยอมให้ใครช่วยจับตัว ไม่ขี่หลัง ไม่ให้อุ้ม

แต่รู้ไหมครับระหว่างทางมีคุณแม่เด็กพิเศษนอกโรงเรียนคนหนึ่งเข้ามาคุยกับน้องคนนี้ตลอด ถามว่าอยู่โรงเรียนทำอะไรบ้าง หนูทำอะไรได้บ้าง เพราะเขาไม่เคยพาลูกของเขาออกนอกบ้านเลย เด็กเราก็ช่างพูดช่างคุย คุยจนคุณแม่คนนี้มีความอยากกลับไปฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ให้อยู่ในสังคมได้เหมือนน้อง ขาลงนี่แม่ค้าก็มาชื่นชมเด็กๆ (หัวเราะ..)

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 42

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 43

สำหรับการเรียนเรือใบเด็กพิเศษทุกคนก็มีโอกาสเรียนเช่นกัน เด็กเป็นครูให้เรามาก ว่าความท้าทายต้องพอดีกับความสามารถของเด็ก ยิ่งเก่งมาก ต้องหาการบ้านแบบฝึกที่เหมาะ เด็กที่ชอบปะทะเขาเรียนรู้ไว พอทำได้ก็แล่นพุ่งใส่เรือลำอื่น ครูต้องวางแผนใหม่ ท้าทายด้วยกติกาใหม่ คนชนะคือลำที่ไปถึงจุดหมายก่อนโดยที่บังคับทิศทางให้ไม่โดนเรือลำอื่นเลย คนนี้ก็ได้ที่สอง สำหรับเด็กที่สัมพันธ์ซ้ายขวาไม่ดี ยังจัดการตัวเองได้ยาก ก็ต้องวนง่ายๆ อยู่หน้าหาด แต่เราก็รอเขาทำได้ก็ชื่นชม ครูต้องปรับแกะกันเป็นรายบุคคล กีฬาเรือใบทำให้เด็กบางคนที่ไม่เคยมีโอกาสเป็นผู้นำในชั้นเรียนเลย มีโอกาสช่วยเพื่อน เขาภูมิใจ รู้สึกว่าตัวเองทำได้ ได้รับการยอมรับ รู้สึกตัวเองมีพื้นที่ ทั้งหมดนี้ทีมครูเราช่วยกันมองและออกแบบกันเป็นขบวนการ

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 44ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 45ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 46ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 47

หัวใจครู

การได้พาเด็กออกภาคสนามเป็นประโยชน์มาก มันคือความสัมพันธ์กับผู้คน การตื่นตัว สังเกต รับรู้ ใช้ชีวิตจริงในสังคม เราเห็นสีหน้าแววตาที่จริงจังของเขา ต้องถามตัวเองว่าเราจะช่วยเขาอย่างไร ให้กำลังใจเขาแบบไหน ทุกอย่างที่สะสมมาจะถูกนำมาใช้  ใจต้องนิ่ง กายต้องเคลื่อนไหว หัวใจ สมองของเขาต้องการของจริง การที่เขาดูแลตัวเองได้ ด้วยตัวเขาเองจริงๆ มันคือศักดิ์ศรีคุณค่าที่เกิดขึ้น เมื่อเราหรือพ่อแม่ตั้งเป้าหมายไปที่เด็ก ไม่ใช่เป้าหมายที่ปักเอาไว้ตามที่ใจเราต้องการ
คุณครูปาญิกา ปลั่งกลาง (ครูเป๊ก)

พวกเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา การย่อยงานเกิดจากความต้องการให้ชั้นเรียนมันราบรื่น ผมมองเด็กพิเศษว่า คนๆ นี้คือ คนหนึ่งในชั้นเรียน ถ้าเขาไม่มีความสุข ชั้นเรียนเราก็ไม่ราบรื่น ผมไม่ได้เริ่มจากความเมตตา แต่มองหาจุดที่จะทำให้เกิดความราบรื่น เดินไปให้ถึงเป้าได้ใกล้เคียงกันที่สุด แต่พอทำไปๆ สิ่งที่สะสมจากการทำงานกลับทำให้เรามีเมตตา และเมื่อมีความเมตตา วิธีการจัดสรรมันมาเอง เด็กพิเศษทุกคนเมื่อจบป.6 สามารถลอยตัวเอาตัวรอดในน้ำได้ งานที่ท้าทายที่สุดคือ เด็กที่ขาลีบ กลัวน้ำ เราให้กำลังใจลงน้ำกับเขา ไม่เน้นทักษะ แต่ยกระดับใจให้ก้าวข้ามความกลัวได้ก่อน ตอนนี้ในระยะไม่เกินสองเมตร เขาลอยตัวมาหาเราได้แล้ว คุณค่าทางใจที่เกิดไม่ได้แค่ตัวเขา แต่ไปถึงครอบครัวเขาด้วย
คุณครูเรวัติ อภินันท์พร (ครูโม่)

ตัวผมเองเป็นคนอารมณ์ร้อน หงุดหงิด ถ้าควบคุมตัวเองไม่ได้ก็ระเบิดลง มาถึงจุดที่เราอยากเปลี่ยนแปลง จริงๆ จังๆ โรงเรียนเราให้โอกาสไปศึกษาปฏิบัติธรรมตลอด ผมอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองจากข้างใน ทำอย่างไรเราจึงมีความสุขและเผื่อแผ่ไปถึงเด็กให้ได้ ผมสังเกตว่าถ้าเราดูแลเขาด้วยความสุภาพ มีเมตตา เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน เขาจะเข้าหาครูมากขึ้น ความลนลาน หรือกลัว นั่นคือภาวะอารมณ์ครูส่งผลต่อเด็ก การให้เด็กป.3 ทั้ง 100 คน ไหว้ครูขึ้นพรหม ตีดาบโชว์ในการแสดงพระเจ้าตากได้ เกิดจากการที่เราให้โอกาสเด็ก บางคนไม่ได้เก่งกว่าเพื่อน แต่ตั้งใจมาก และครูก็ไม่ไปคาดคั้นคาดหวัง แต่ผลกลับออกมาดี การที่เราย้อนกลับมาดูตัวเองว่าเราขาดตกบกพร่องอะไร หามาเติม ทำให้เรามีความสุขกับการเป็นครู
คุณครูคมสัน เสมวิมล (ครูเอก) 

ผมว่าหัวใจสำคัญของการดูแลเด็กพิเศษ คือ หนึ่งเวลาเจอปัญหาผมมักตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำอะไรต่อ ถ้าเราไม่ตั้งคำถาม ก็มักจะทำงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป คำถามที่เราตั้งมันอาจไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาเฉพาะหน้าก็ได้ แต่จะเป็นแนวทางให้เราว่าจะทำอะไรต่อไป ผมใช้กับเด็กเช่นกัน เช่น ตั้งคำถามกับเด็กที่โดนเพื่อนทุบ ว่าถ้าเพื่อนมาทำแบบนี้ เรามีวิธีอื่นไหมนอกจากนั่งเฉยๆ เด็กก็คิด ตอบ ‘ก็เดินหนีครับ’ มีวิธีอื่นอีกไหม ‘บอกครูครับ’ การตั้งคำถามก็เป็นวิธีช่วยชี้ให้เขาเห็นจุดที่ควรแก้ แต่เขาต้องเป็นคนคิดวิธีแก้ไขเอง

สองครูต้องมีเมตตา เมตตาไม่ใช่ปล่อยปละละเลย เมตตาแล้วต้องมีสายตาด้วย มีจังหวะจะโคนที่จะหยุดหรือพอ เช่น เด็กอารมณ์หลุดไปแล้ว หน้าที่เรามีแค่ กอดเขาไว้ ถ้าเขาโวยวาย แล้วเราโวยวายด้วย มันไม่ช่วยอะไร

สามเรามีความเชื่อว่าเขาพัฒนาได้ แต่จะในช่องทางไหนแค่นั้นเอง และ เราไม่ตั้งความคาดหวังว่าเขาจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะมันควบคุมไม่ได้
: คุณครูอมร รักษาทรัพย์ (ครูต้น)

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓) 48


ขอขอบพระคุณ

มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ  คุณครูอมร รักษาทรัพย์  คุณครูปาญิกา ปลั่งกลาง  คุณครูคมสัน เสมวิมล  คุณครูเรวัติ อภินันท์พร
(หมายเหตุ ภาพประกอบจากการเรียนการสอนทุกภาพมีทั้งนักเรียนและนักเรียนพิเศษเรียนร่วม จัดหาโดย คุณครูปาญิกา ปลั่งกลาง)

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

แอดมิน - ลูกบัว

ด.ญ. อริสา ภิรมย์รัตน์ ตำแหน่ง: เวบแอดมิน หน้าที่: สร้างหน้าบทความ โอนย้ายข้อมูล และตกแต่งรูปภาพบทความต่างๆ

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก