บ้านซันทอสนุก
สีสันงานทอของคุณไกรลาศ (ซัน) สกุลดิษฐ์
จุดเด่นผ้าทอของ SUNFUN WEAVING คือ สีสันที่เล่นกันอย่างสนุกสนานสดใส สะท้อนบุคลิกนิสัยเจ้าของงานได้อย่างชัดเจน ชวนคุณติดตามเส้นทางที่มาของการทำงานในสตูดิโอร่วมกันของครอบครัวสกุลดิษฐ์ คุณไกรลาศ สกุลดิษฐ์ (ซัน) และ คุณเกษณี สกุลดิษฐ์ (คุณแม่เกด)
พวกเขาต้องเตรียมพร้อม และ ละทิ้งบางอย่าง ก่อนที่จะพบกับรอยยิ้ม และ ความสุขที่แตกต่าง
คุณไกรลาศ สกุลดิษฐ์ (ซัน)
ผู้สร้างสรรค์งานทอ และเจ้าของสตูดิโอ
บ้านซันทอสนุก
SUNFUN WEAVING
Creative Weaving & Hobby studio
“ซันทำงานแฮปปี้ครับ แม่กับซันทอผ้าทุกวัน ทอผ้าไม่ยากครับ ปกติตื่นเจ็ดโมงเช้าจะอยู่บนห้องดูทีวีเล่นคอมก่อน (ดูอะไรบ้างคะ) ดูยูทูป (YouTube) ไม่ได้ดูหนังครับ ซันดูการ์ตูน โทมัส นอร์ดดี้ เบ็นเทน ลงมาอาบน้ำ ทานข้าวกับจับฉ่าย ไข่เจียว ปลานึ่ง เริ่มงานตอนสิบโมงครับ ช่วยแม่ทำงานไม่อยากให้แม่เหนื่อย งานอดิเรกอื่นๆ ซันชอบเล่นดนตรี เล่นเปียโนซันอ่านโน้ตได้ แล้วก็ตีแบตทุกวัน แม่มีความสุขมากเวลาเล่นแบตด้วยกัน”
คุณเลือกคู่สีอย่างไรคะ สีถึงออกมาสนุกอย่างนี้ คุณนึกหรือเห็นสีในหัวก่อนจะเลือกไหมคะ ?
คุณซันไม่ตอบ แต่ทดลองเลือกและวางให้เราดู
องค์ประกอบสีงานของคุณซัน มักจะมีคู่สีที่ดูเหมือนไม่น่าไปด้วยกันได้ บางทีมีสีสะดุ้ง แต่พอดูแล้วองค์ประกอบทั้งหมดแล้ว นอกจากสีสวยสดใส งานของเขามีเสน่ห์และเอกลักษณ์ชัดเจน
คุณชอบงานชุดไหนมากที่สุดคะ ? : ทำมาชอบทุกอย่าง เลือกไม่ถูกเลย
งานของคุณมีสาวๆ ชื่นชอบมาซื้อบ้างไหม ? : ไม่มีสาวๆ มาซื้อ มีแต่แม่วัยรุ่น (หัวเราะ)
พี่ช่างภาพเอ่ยว่าอยากได้ซักชิ้นขอได้ไหม ? : นี่เป็นเวลาทำงานไม่ใช่เวลาพูดเล่นนะครับ
(หัวเราะกันใหญ่)
คุณเกษณี สกุลดิษฐ์ (คุณแม่เกด)
ผู้จัดการ บ้านซันทอสนุก
SUNFUN WEAVING
Creative Weaving & Hobby studio
“เราเปิดสตูดิโอทำงานร่วมกันมาจะครบ 3 ปีแล้วค่ะ ปีแรกดีมากเพราะพอเปิดสตูดิโอมาได้ไม่นาน ก็มีทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และรายการทีวี มาขอสัมภาษณ์ จากที่แรกๆ ลูกค้ามีแต่เพื่อนฝูงและคนรู้จักก็ทำให้มีคนวงนอกสนใจสั่งผ้าทอเข้ามา รอกันร้อยกว่าคิวเลย ปีที่สองเป็นปีที่ทุกคนไว้ทุกข์เราทำงานโทนขาว ดำ เทา ซึ่งก็ไปได้ดี พอไม่มีสีให้เล่นเยอะคุณแม่ก็เลยสอนแพทเทิร์นง่ายๆ ให้ซันได้ฝึกนับ วัด จากสีที่กำหนด พอมาปีนี้คุณแม่ก็เลยบอกให้ซันเลือกสีที่อยากทอ แล้วจัดเป็นเซ็ทๆ เอาไว้ มีทั้งเซ็ทสีแรงๆ และเซ็ทสีหวานๆ งานก็จะมีสีและลายเส้นสนุกๆ มากขึ้น
เราทำงานคู่กัน ซันขึ้นเส้นยืนได้เองและมีหน้าที่ทอ ส่วนแม่ต้องช่วยร้อยฟืม ร้อยตะกอให้ ต้องร้อยสลับหน้าตัว หลังตัว ให้เรียงตามช่องฟืม งานค่อนข้างละเอียดพลาดไม่ได้ แม่เองก็ยังมีพลาดบ้าง พอซันทอไปจนถึงช่วงปลายด้ายที่ผูกกี่เอาไว้ ซันเขาจะเหยียบไม่ค่อยขึ้น แม่ก็ต้องปิดงานให้ เพราะเราอยากใช้ด้ายให้หมดจริงๆ ไม่ให้เสียเศษ
ส่วนการเลือกสีเขาจัดการเอง นอกจากลูกค้ากำหนดมาว่า อยากได้สีเขียวทั้งหมด น้ำเงินทั้งหมด หรือไม่เอาสีแดงนะ พอรู้โทนสีแม่ก็จะเตรียมพันด้ายเชดสีนั้นไว้ให้เขาเยอะๆ แล้วเขาก็มาเลือกในการต่อสลับเอง และถ้าเป็นงานอื่นๆ ก็จะปล่อยเขาเลือกสีอิสระเลย”
ก่อนซันทอแสง
คุณเกษณี : ตั้งแต่ซันยังเล็กๆ เราโชคดีที่ได้คุณครูพี่เลี้ยงที่ช่วยเตรียมความพร้อมและดูแลเขาต่อเนื่องจนซันได้เข้าเรียนที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ที่บ้านก็ขอให้ ครูเอ๋ (คุณครูศิริพร โชคประดับ) เข้าไปประกบซัน เสมือนผู้ช่วยครูในห้องเรียนจนซันเรียนจบ ปัจจุบันครูเอ๋ได้เป็นครูเต็มเวลาที่โรงเรียนช่วยดูแลเด็กพิเศษที่เรียนร่วมคนอื่นๆ ไปแล้ว ครูเอ๋เขาเป็นครูพละ เขาจึงฝึกให้ซันทั้งเรื่องร่างกาย วินัยการจัดตารางเวลา การดูแลช่วยเหลือตัวเอง พาซันฝึกขึ้นรถเมล์ก็ทำมาแล้ว
คุณครูศิริพร โชคประดับ (ครูเอ๋)
เจอซันตั้งแต่ยังคลานลุกเดินไม่ได้ ต้องฝึกฐานกายกล้ามเนื้อต่างๆ เพื่อให้ลุกพยุงตัวเองให้ได้ ทั้งการกะน้ำหนัก กะแรง เราฝึกทุกอย่าง ว่ายน้ำ ยืน เดิน วิ่ง การเล่นเกมต่างๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงทำงาน ดำเนินชีวิตได้ตามวัย น้องซันเข้าเรียนที่รุ่งอรุณแล้วครูเอ๋ยังกลับมาดูแลช่วงเสาร์อาทิตย์ ฝึกร่างกายต่อเนื่อง เราเล่นแบตมินตันกันซึ่งซันฝึกได้คล่องแคล่วจนน่าจะเป็นนักกีฬาได้เลย เขาเล่นได้ดี แต่ช่วงแรกยากค่ะ เราฝึกจากใช้ กิ่งไม้ ใบไม้ ลูกโป่งก่อน เพื่อให้เขากะแรง กะสายตาได้ พอเราเอาลูกแบตเข้าทีนี้เขารู้แรง รู้จังหวะแล้ว ที่โรงเรียนเราเข้าไปประกบทำงานกับครูประจำชั้น ช่วยแยก ย่อยงาน วิชาต่างๆ พอมาระดับมัธยมเน้นทำงานเป็นกลุ่ม มัธยมปลายเน้นการฝึกทักษะชีวิต การงาน ทำอาหาร งานเกษตร ขายของ พบปะผู้คน
การเตรียมฐานกายให้พร้อมมีความสำคัญส่งผลต่อการเรียนรู้มาก กายที่มั่นคง มีความอดทน จะเรียน หรือ ทำงาน ทักษะร่างกาย กล้ามเนื้อต่างๆ ต้องใช้หมด ถ้าเราไม่ฝึกเลย เขาใช้งานไม่คล่องหรือไม่มีความอึด เด็กจะอยู่กับงานได้น้อย สังเกตก็เห็นว่ายืนแล้วไม่มั่นคง กายไม่พร้อมก็เรียนรู้ลำบาก
พัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิด เราต้องทำให้ทันกับเด็กปกติ ต้องฝึกค่ะช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะมันเชื่อมโยงกับการทำงานของสมอง สติปัญญา ประสาทสัมผัส ไม่ควรขาดขั้นใดหนึ่ง ซึ่งสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษถ้าเราย่อยขั้นตอน มีสายตามองเห็นพลิกแพลงให้เหมาะกับแต่ละคน เขาสามารถทำได้เหมือนเด็กทั่วไป
งานของคุณซัน เทียบเส้นทอระหว่างที่เรียนกับเส้นทองานปัจจุบัน
เมื่อต้องเลือก…
คุณเกษณี : ช่วงที่ซันอยู่มัธยมปลาย ที่จริงครอบครัวเรายังไม่ได้วางแผนอะไร ยังตื้อๆ อยู่ ก็มีปรึกษาคุณพ่อเขา (คุณธีระศักดิ์ สกุลดิษฐ์) ว่าเราจะเอาอย่างไรดี จะให้เรียนต่อไหวไหม ตอนนั้นในโรงเรียนมีรุ่นพี่บางคนเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา คุยกับครูเอ๋เขาก็คิดว่าซันน่าจะไปไหวโดยเฉพาะเรื่องดนตรี ซันอยู่ในวงโยธวาทิต คุณครูก็ชมว่าหูดี ตีกลองจังหวะแม่น สอนอะไรก็จำได้ ไปได้เร็ว เรายังไม่ได้นึกถึงงานทอผ้า แต่ก็จำได้ว่าครูอ้อม (คุณครูสุริศรา บัวนิล ครูประจำชั้นห้องเรียนชั้นคละ ระดับมัธยม รร.รุ่งอรุณ) เคยชมว่าผ้าทอของซันสีสวยนะ พอแขวนโชว์ในงานศิลปะมีคนซื้อประจำ แม่เองเคยเห็นเขาทอผืนแรก ยังคิด เอ๊ะ นี่ซันทอเหรอ ตอนนั้นยังเด็กๆ ทอออกมาสีสวย ซึ่งแม่ไม่เคยสอนอะไร (ปัจจุบันคุณเกษณีเป็นอาจารย์พิเศษสอน วิชาสีและการออกแบบ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
พอขึ้นมัธยมปลายคุณครูก็เห็นว่ามีสองทางคือ ดนตรีกับทอผ้า ซึ่งครูอ้อมก็จัดหลักสูตรทอผ้าให้เต็มทั้งสัปดาห์ ซันจะทอได้งานยาวกว่าเพื่อนคือ 5 เมตร คุณครูบอกว่าซันเขาทอไปได้เรื่อยๆ นอกจากทอผ้าและดนตรี ก็ได้ลองทำอาหารด้วย ซันก็ทำได้ดี
“ซันเขามาเริ่มทอผ้าจริงจังตอน ม.6 คุณแม่มาขอคุยด้วย ครูอ้อมก็ให้คุณแม่ได้ลองทอผ้าเอง มาเป็นผู้ช่วยสังเกตการณ์ ลูกเราอยู่อย่างไร ลูกคนอื่นอยู่อย่างไร ถ้าต้องอยู่กับงานนี้จริงๆ จะอยู่ได้ไหม คุยกันผ่านการทออยู่สองเทอม จนคุณแม่ทอผ้าแล้วเริ่มเข้าใจว่าลูกทำงานแล้วเจอภาวะอะไร พอซันเรียนจบคุณแม่ก็ลาออกจากงานประจำมาทำงานคู่กัน ครูอ้อมมีหน้าที่หากี่ทอ หาอุปกรณ์ต่างๆ ให้ นี่คือคุณแม่ได้ทำความเข้าใจลูกในบริบทจริงที่สุด”
ที่มา : คุณครูสุริศรา บัวนิล ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) คุณค่าแท้ของการเรียนรู้
จุดที่ทำให้คุณเกษณีตัดสินใจทิ้งงานประจำในบริษัทตัวแทนโฆษณาเงินเดือนสูงลิบและกำลังก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด เพื่อมาทำงานเต็มเวลาคู่กับลูกชาย คือ อะไร ….?
…แม่ต้องเลือกก่อน
คุณเกษณี : ตราบใดที่เรายังทำงานอยู่ พอเขาจบม.6 แล้วไม่มีที่เรียนต่อจริงๆ จะทำอย่างไร จะให้ลูกอยู่บ้านไปเรื่อยๆ นั่งดูทีวี เล่นเกมส์ ดูคอมพิวเตอร์ มันก็ไม่ใช่น่ะ หนึ่งปีก่อนเขาเรียนจบ เราต้องเตรียมแล้วว่าจะไปทางไหน ดังนั้นพอซันขึ้น ม.6 เราตัดสินใจออกจากงานประจำในตำแหน่งผู้บริหาร ช่วงนั้นมี Head Hunter (บริษัทจัดหาบุคคลากรระดับผู้บริหาร) โทรติดต่อมาเสนอตำแหน่งกรรมการผู้จัดการถึง 2-3 ครั้ง ก็ต้องตัดใจปฎิเสธไปหมด เค้าก็ยังงงๆ ว่าเราทิ้งอาชีพนักโฆษณามาทอผ้าเนี่ยนะ
ตัวแม่เองเชื่อว่า คนทุกคนจะต้องมีคุณค่า ลูกควรอยู่แบบมีความสุขเหมือนคนทั่วไป ถ้าลูกเราต้องอยู่บ้าน มีแม่บ้านเฝ้า หาอะไรทำให้หมดไปวันๆ อย่างไม่มีประโยชน์ มันไม่น่าใช่
เงินทองที่เราคิดว่าต้องมี ต้องหามาเยอะๆ ให้ลูก
ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว
ก็เลยคุยกับคุณพ่อ เขาก็สนับสนุน คิดว่าถ้าลูกไม่มีที่เรียน เราก็สอนมาเยอะแต่ไม่ใช่ครูโดยอาชีพนะคะ เคยมีประสบการณ์ทำฝึกอบรมให้กับบริษัท ให้ลูกค้าบางองค์กร และเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย อยู่กับลูกก็น่าจะสอนวิชาชีพเขาได้บ้าง ค่อยๆ ลองฝึกกันไป
ตอนนั้นยังไม่รู้จะทำอะไร พ่อแม่บางคนเขาก็ไปซื้อที่ไว้ต่างจังหวัด พอลูกโตก็ออกมาทำเกษตร ถ้าลูกเลือกแบบนั้นก็ได้หมดนะคะ แต่พอความถนัดของเขามาเป็นดนตรีกับทอผ้า แม่คิดว่าดนตรีจะทำเป็นอาชีพยาก เขาเล่นได้แต่ไม่ได้เก่งมาก ถ้าไปเล่นโชว์ในโรงพยาบาลแผนกเด็กน่าจะพอโชว์ได้ แต่คงไม่ใช่อาชีพ
ทอผ้าน่าสนใจเพราะในตลาด ผ้าทอมือเหมือนถูกลืมยังไม่มีใครไฮไลท์ขึ้นมา ถ้าเราทำให้น่าสนใจก็น่าจะมีจุดขาย ถามซันเขาก็ยืนยันว่าชอบสองอย่างนี้ ‘ทำงานนี่คือต้องทำทุกวันเลยนะ ทอผ้าทำทุกวันได้ไหม’ เขาก็ว่าได้ ‘ชอบ’
ครูอ้อมก็บอกว่ามาเลยค่ะ ดีเลยเพราะซันชอบและทำได้ดี แต่คุณแม่ต้องมาฝึกด้วยนะ เพราะเขาทำได้แค่บางขั้นตอน เวลาเขาเจอปัญหา ด้ายขาด ติดปม พันกันอิรุงตุงนัง เราต้องคอยช่วย ให้แม่เข้าไปฝึกทำอาทิตย์ละครั้ง ครั้งละสองชั่วโมง ก่อนหน้านั้นไม่เคยทอผ้าค่ะ แต่ชอบทำงานอาร์ตอะไรกระจุ๊ก กระจิ๊กอยู่แล้ว เลยคิดว่าไม่น่าจะยากมาก เข้าไปดูก็เห็นเขามีความสุขสนุกสนานดีในห้องเรียน แม่เริ่มเรียนทุกอย่างตามขั้นตอน
ก่อนตัดสินใจเปิดสตูดิโอ ช่วงที่ไปเรียนบางครั้งกี่ทอผ้าไม่ว่าง ก็ไม่ได้ทอ ถามครูอ้อมว่ามีผ้าอะไรบ้างไหม ครูก็รื้อมาให้เป็นงานของเด็กพิเศษที่ยังไม่ได้ใช้ เลยขอมาลองแปรรูป จากที่ไม่เคยจับจักร ไม่เคยเย็บ ก็ซื้อจักรมา ทดลองเย็บ ออกมาเป็นกระเป๋า กางเกง เป้ ปลอกหมอนบ้าง ขึ้นมาให้ครูเอาไปขายในงานศิลปะของโรงเรียน ก็ขายได้นะคะ ลองเอาภาพขึ้นเฟซบุ๊คของตัวเอง มีคนบอกว่าสวยสนใจ ใครทำ ใครทอ ตอนนั้นเองที่เริ่มมั่นใจว่า มันน่าจะเป็นอาชีพได้
เมื่อซันเรียนจบแล้วจึงไม่ได้ไปสอบเข้าที่ไหนเลย เพื่อนผู้ปกครองบางคนเห็นซันเล่นดนตรีได้ดี ถามว่าทำไมไม่ส่งไปเรียนต่อ แม่คิดว่าดนตรีมันมีทฤษฎี ไม่ได้เรียนง่ายๆ ไม่ได้กลัวตัวเองลำบากที่ต้องไปประกบนะคะ แต่เราคงช่วยเขาได้ยากเพราะไม่มีพื้นฐาน แต่งานอาร์ตเรายังพอได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นทั้งคู่ไม่มีความสุข
ปริญญาตรีเหรอ ได้ก็ดี แต่ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
เพราะถ้าได้ ความภูมิใจมันมาอยู่ที่เรา
ลูกเขาไม่สนว่า ตัวเขาจะจบ ป.ตรีหรือไม่
ในที่สุดเราก็ตกลงกับคุณพ่อกันว่าเอาที่มีความสุขดีกว่า ไม่ดิ้นรนไม่หาที่เรียนต่อ แต่เปิดสตูดิโอเลย ครูอ้อมน่ารักมาก บอกมีปัญหาอะไรก็มาตาม จะช่วยแก้ให้ เริ่มตั้งแต่ติดตั้งกี่ ไม่ดีก็เข้ามาดูให้ว่าต้องแก้ยังไง เกิดปัญหาก็คุยกันบ้าง ครูอ้อมบอกว่าแม่เกดทำไปเรื่อยๆ นะ เดี๋ยวก็รู้เอง ซึ่งก็จริงด้วยความที่มันจับทุกวัน ผิดๆ ถูกๆ มันก็เรียนรู้ซะจนคิดว่า วันนี้เราแก้ได้ทุกจุด ถ้าเจอปัญหา
คุณเกษณี : ตอนสร้างสตูดิโอต้องลงทุนนี่ คุณพ่อบอกอย่าคิดเยอะ ถ้าไม่ได้เป็นกิจการขึ้นมา เราก็มีที่ทำงานหรือเป็นโรงเรียนของเราสองคน เริ่มตั้งแต่พาเขามาเดินดูที่ดินเปล่าๆ ‘นี่เป็นออฟฟิศของซันนะ’ เขาก็ไม่เข้าใจ ‘ทำไมผมต้องทำงานด้วย แม่ก็มีเงินแล้วนี่ ?’ แม่บอกซัน ‘คนทุกคนจบการศึกษาแล้วต้องทำงาน ซันอยากไปทำที่อื่นไหม หรืออยากจะทอผ้ากับแม่ที่บ้านอยู่ตรงนี้’ เราก็เลยวางแผนทำนามบัตรให้ เพื่อให้ซันรู้ว่านี่คืออาชีพจริงๆ นะ ก่อนเรียนจบเขาเอานามบัตรไปเดินแจก ครูและผู้ปกครองว่าเขาจะมีสตูดิโอชื่อนี้ ชื่อก็เอามาจากตัวเขาที่ สนุก ร่าเริง เป็นบ้านซันทอสนุก
กิจวัตรประจำวันหลังจากเปิดสตูดิโอกันแล้ว เราต้องรู้จักเข้มงวดกับลูกเป็น ที่ผ่านมาครูเอ๋เขาฝึกกำหนดกฎเกณฑ์อะไรมาให้ตลอด ดังนั้นทุกอย่างซันเขาจะเป๊ะๆ เป็นเวลา เมื่อจะเริ่มทำงานกัน ครูเอ๋ก็แนะนำให้ทำเป็นตารางเวลาก่อนช่วงแรกๆ ถ้ามีอะไรก็บอกให้ครูเอ๋ช่วยโทรมาคุย บางวันบ่นขี้เกียจมันต้องมีอยู่แล้ว แต่เราก็พยายามให้อยู่ในกฎระเบียบ มียืดหยุ่นบ้างอย่างสิบโมงเป็นเวลาลงมาทำงาน เขาขอขยับเป็นสิบครึ่ง เราก็ทำงานกันถึงห้าโมงครึ่ง เย็นก็ไปออกกำลังตีแบตกัน ทำกันมาเข้าปีที่สามแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร
คุณเกษณี : พอคิดจะทำก็ให้เขาทอขึ้นมาผืนสองผืน แล้วเอาขึ้นเฟซบุ๊ค SUNFUN WEAVING บอกกันปากต่อปากไป ช่วงแรกลูกค้าคงมีแต่คนรู้จักอุดหนุนค่ะ จนตอนนี้มีคนติดตามเราสองพันกว่าก็เป็นคนอื่นแล้วล่ะไม่ใช่แค่เพื่อน นี่ก็เพิ่งจะลองไปออกงานออกร้านขายมา 2 งาน ซันเขาชอบขาย ลูกค้าก็ชอบให้เขาเลือกสีให้
บางเดือนก็เงียบๆ ไม่มีรายได้เลยก็มี และพอเริ่มเอาผ้ามาแปรทำเป็นสินค้าอื่นๆ งานก็มาติดที่แม่ เพราะทุกชิ้นเป็นงานทำด้วยมือ จะตัดผ้าทีก็ต้องทั้งดูและเล็งว่าจะตัดช่วงไหน ที่จะสวย และบางทีก็ต้องใช้อารมณ์ศิลปินเลยทำช้าหน่อย (หัวเราะ) บางคนยอมรอตั้งสามเดือน บางคนแนะว่าน่าจะเปิดร้านเป็นเรื่องเป็นราว หรือไปฝากขาย ตามห้าง แต่คุณพ่อก็ท้วงว่าถ้าอยากจะทำถึงขนาดนั้น ก็น่าจะกลับไปทำงานประจำไม่ดีกว่าเหรอ เขาอยากให้เราทำสบายๆ และมีความสุขกับสิ่งที่ทำมากกว่า
มีคนติดต่อมาอยากให้ซันทอเป็นชิ้นๆ เขาจะเอาไปแต่งเสื้อ ก็นึกๆ หรือเราควรไปทำงานร่วมกับเพื่อนนักออกแบบไหม แต่ผ้าทอมันมีข้อจำกัดอยู่เหมือนกันซึ่งคนที่จะทำงานด้วยต้องพอเข้าใจ ใจฝันอยากสร้างแบรนด์ SUNFUN WEAVING ให้มันเกิด คิดว่าน่าสนใจและน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ หากเด็กพิเศษมีแบรนด์ของตัวเองได้ ยังไม่แน่ใจว่าจะพาไปถึงไหมนะคะ ตอนนี้คนเห็นก็พอรู้แล้วว่านี่งานของซัน เพราะสีมีเอกลักษณ์ และพยายามออกแบบสินค้าให้แตกต่างจากสินค้าผ้าทอทั่วไป คือ ดูเป็นไฮแฟชั่นหน่อย ทันสมัย ให้คนเห็นว่าผ้าทอก็แปลก สวยได้ อันนั้นคือสิ่งที่มองว่าจะเดินไป แต่ก็ไปแบบก้าวช้าๆ
ตอนนี้แม่เปิดสอนทอประเภทต่างๆ ที่สตูดิโอบ้าง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับเด็กพิเศษก็มีมาเรียนค่ะ เราเริ่มแบบง่ายๆ และขอให้ผู้ปกครองมาเรียนด้วยจะได้ช่วยลูกได้ถ้ากลับไปทำที่บ้าน บางคนยังไม่เรียนมาซื้ออุปกรณ์ไปทำที่บ้าน เราก็แนะนำวิธีทำ รอให้ลูกเขาชอบก่อนค่อยมาเรียน
แสงของครอบครัว
คุณเกษณี : สมัยก่อนเคยฝันไว้มากกว่านี้ อยากให้เขามีชีวิตอิสระ มีครอบครัวเหมือนคนทั่วไป แต่ก็คงเป็นไปได้ยาก ถ้าเราไม่อยู่แล้วก็ฝากน้องชายให้มีบ้านพี่ซันหลังเล็กๆ อยู่ในบริเวณ ต่างคนต่างใช้ชีวิตอิสระ เพราะซันเขาก็ดูแลตัวเองได้
สำหรับน้องชาย (คุณโซน) ช่วง ป.5- ป.6 เขาถามว่าทำไมพี่ซันดูแปลกก็เลยอธิบายทุกอย่างให้ฟัง พี่ซันอาจไม่เท่าคนอื่น แต่พี่เขาทำได้ขนาดนี้เราต้องภูมิใจในตัวพี่นะ เขาคงเห็นอย่างนั้นเพราะอยู่ด้วยกันนี่ ซันตีแบตเก่งกว่าโซน และไม่กลัวความมืด ดึกๆ น้องจะไม่กล้าลงมาเอาอะไร ต้องให้พี่ซันลงมาเอาให้
ช่วงวัยรุ่นมีช่องว่างก็เริ่มห่างออกไป แต่พอมีสตูดิโอโซนเขาเห็นงานของซันเป็นที่ยอมรับในสังคม เขาก็รู้สึกดี คือเขาไม่อายพี่ เพื่อนมาก็พามาแนะนำนี่พี่ชาย คิดว่าเขาก็ภูมิใจในตัวพี่ เสื้อที่เขาใส่พี่ทอแม่ตัดให้ เขาก็ใส่ติดเลย ‘ใส่ไปมหา’ลัย เพื่อนชมทุกคนเลยแม่’ แล้วก็ชวนเพื่อนมาถ่ายแบบ เพราะงานที่ผ่านมามีแต่ผู้ใหญ่รุ่นแม่ หรือรุ่นน้าๆ ใส่ ลองเอาสาวๆ มาใส่บ้างซึ่งก็ออกมาดูดีใช้ได้เลย
งานของ SUNFUN WEAVING ที่คุณโซนและเพื่อนนำเสนอในแนวแฟชั่น
จุดที่น่ารักคือซันเขาห่วงใยใส่ใจครอบครัว พ่อแม่จะไปทำงาน กลับเมื่อไหร่ ไม่สบายอย่าลืมทานยา ดีขึ้นหรือยัง ไม่อายที่จะบอกรัก บอกคิดถึง ซันกับคุณพ่อเขาแหย่เล่นกันทุกวัน
ตอนออกจากงานเคยกังวลว่าจะอยู่อย่างนี้ได้ไหม วันนี้เพิ่งรู้ว่าเรามีความสุขจริงๆ ที่ได้ใช้เวลาทุกวันกับเขา นั่งทำงานด้วยกัน ไปตีแบต มีทั้งเสียงหัวเราะ รู้สึกทึ่งกับบางคำพูดและสิ่งที่เขาทำ
เงินเดือนหายไปเหมือนกับจะทุกข์ แต่ไม่เลย เพราะความสุขเราอยู่ตรงนี้.
ขอขอบคุณ ครอบครัวสกุลดิษฐ์ บ้านซันทอสนุก มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ คุณครูศิริพร โชคประดับ คุณครูสุริศรา บัวนิล
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม