THAI ART BRUT ARTIST

ศิลปะดิบของ พศิน สิงห์เสน่ห์

อะไรคือ ART BRUT อาร์ตบรุตมาจากภาษาฝรั่งเศสโดยศิลปิน “Jean Dubuffet” (ฌอง ดูบูฟเฟต์) ในปี ค.ศ.1945 แปลว่า ของเดิมหรือดิบหรือของที่ยังไม่ได้ขัดเกลา ในทางศิลปะจึงหมายถึง ศิลปินที่มิได้ผ่านทางสถาบันศิลปะโดยตรง สร้างผลงานขึ้นจากจิตใต้สำนึกของตนแสดงออกโดยไม่สนใจขนบวิธีหรืออิงสมัยนิยม ทั้งนี้มีผลงานมากมายที่มาจากกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ผู้ที่มีความล่าช้าด้านเชาว์ปัญญา ผู้ที่มีความต้องการพิเศษด้านจิตใจ หรือ ผู้ที่วาดภาพโดย สปิริต(Spirit) อันหมายถึงจิตวิญญาณหรือแก่นแท้ในตัวตน

THAI ART BRUT ARTIST 27

เส้นทางอาร์ตบรุตในประเทศไทย

ปี 2015 ผลงานศิลปะนับร้อยชิ้นของ คุณพศิน สิงห์เสน่ห์ (Pasin Singhasaneh) มีโอกาสได้สื่อสารสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกผ่านนิทรรศการศิลปะ Self+Art Exhibition Therapy จัดแสดงขึ้น ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับครอบครัว และ Self+Art Borderless Art Museum (พิพิธภัณฑ์ศิลปะไร้พรมแดนเซลฟ์อาร์ต) ซึ่งกำลังก่อตัวอยู่ในเวลานั้น

THAI ART BRUT ARTIST 28

และในปีเดียว Social Welfare Organization GLOW (องค์กรสวัสดิการทางสังคมโกรว์) และ Borderless Art Museum NO-MA (พิพิธภัณฑ์ศิลปะไร้พรมแดนโนมะ) เดินทางเข้ามาทำการศึกษาค้นคว้าวิจัย ART BRUT (อาร์ตบรุต) ที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก

THAI ART BRUT ARTIST 29

ปี 2016 ที่จังหวัดชิกะประเทศญี่ปุ่นมีการแนะนำ คุณพศิน สิงห์เสน่ห์ ในฐานะ ศิลปิน ART BRUT ประเทศไทยคนแรก พร้อมผลงานศิลปะในนิทรรศการ ART BRUT FORUM’2016 จึงเป็นปีแรกที่ประเทศไทยได้รับเชิญ และหลายประเทศเริ่มรู้จัก ART BRUT ประเทศไทย

THAI ART BRUT ARTIST 30THAI ART BRUT ARTIST 31

ปี 2017 ที่ประเทศไทย ART BRUT เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในนิทรรศการศิลปะ ART BRUT IN THAILAND AND JAPAN เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ART BRUT JAPAN กับ ART BRUT THAILAND จัดแสดงผลงานศิลปะสู่สาธารณะของศิลปิน ART BRUT จากประเทศญี่ปุ่น 6 ท่าน จากประเทศไทย 2 ท่าน คือ คุณพศิน สิงห์เสน่ห์ และ คุณพิชญา (มะณอย) เลิศทรัพย์เจริญ (Pichaya (manoy) Lertsapcharoen) จัดขึ้นที่ Chulalongkorn University Museum จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

THAI ART BRUT ARTIST 32 THAI ART BRUT ARTIST 33THAI ART BRUT ARTIST 34

ปี 2018 ประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้มีการพัฒนา ART BRUT อย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศญี่ปุ่นภายใต้การส่งเสริมสวัสดิการด้านสังคมของรัฐบาลจากที่ผ่านมาและเพิ่มมากขึ้น

รู้จักศิลปินอาร์ตบรุตคนแรกของประเทศไทย
คุณพศิน สิงห์เสน่ห์ (อัย)

THAI ART BRUT ARTIST 35

ครอบครัวสิงห์เสน่ห์พบว่า คุณพศิน สิงห์เสน่ห์ (อัย) มีภาวะออทิซึ่ม เมื่อได้รับคำแนะนำจากคุณครูโรงเรียนอนุบาลที่เพิ่งเข้าเรียนว่า ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจการได้ยินของคุณพศิน ด้วยลักษณะบ่งชี้ คือ เขาแยกตัวจากกลุ่มเพื่อน ไม่ฟังคำสั่ง แม้จะมีการสื่อสารเป็นคำๆ แต่มีพฤติกรรมอื่นๆ เช่น เขย่งเท้า ชอบดูพัดลม ของหมุนๆ ฯลฯ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นออทิสติก คุณพศินจึงได้รับการดูแลกระตุ้นพัฒนาการต่างๆ จากโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และมีโอกาสเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครอบครัวคือ คุณพ่อพิธาน และ คุณแม่กนกเลขา สิงห์เสน่ห์ ตัดสินให้คุณพศินออกจากระบบการศึกษาหลัก โดยครอบครัวจัดกิจวัตรประจำวัน กิจกรรมต่างๆ ให้เองตามที่เห็นเหมาะสมต่อพฤติกรรม ช่วงวัย เพื่อค้นหาความสนใจ พัฒนาความสามารถ ในขณะเดียวกันก็นำไปสู่เส้นทางที่ครอบครัวมีความสุขจากการใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน ปัจจุบันคุณพศินอายุ 26 ปี มีผลงานศิลปะที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น ศิลปินอาร์ตบรุตคนแรกของประเทศไทย

คุณพิธาน : ตอนที่ยังอยู่ในโรงเรียนเขาก็มีโอกาสทั้งเรียนร่วม และเรียนเฉพาะกลุ่มเด็กพิเศษ ช่วงที่ยังเล็กๆ อัยมีภาษาส่วนตัว วิ่งวน สมาธิสั้น ทำกิจกรรมได้ไม่นาน เขาไม่มีพฤติกรรมรุนแรง ไม่ทำร้ายเพื่อน แต่ก็เรียนรู้ได้ยาก ถึงม.3 โรงเรียนยังยินดีส่งต่อระดับมัธยมปลาย แต่ความจริงที่เราเห็นคือ อัยเขาเรียนวิชาการไม่ได้ การตีโจทย์เลขระดับประถมเขายังทำไม่ได้เลย ถ้าดันให้เขาไปต่อ เราคิดว่าน่าจะก่อความเครียดให้กับทุกฝ่าย

คนมักบอกว่าเด็กพิเศษมีอะไรบางอย่างให้หาให้เจอ หน้าที่เราก็คือ ช่วยจัดหาช่องทางให้เขาทดลองดูว่าไปได้ไหมทั้ง ดนตรี ไวโอลิน ขลุ่ย กลอง เปียโน ส่วนเรื่องกีฬาหรือการออกกำลังกายที่บ้านเราเน้นเป็นพิเศษมาตั้งแต่เล็กๆ เพราะคุณหมอก็เตือนไว้ว่าออทิสติกมีแนวโน้มจะหมกหมุ่นเมื่อฮอร์โมนเพศทำงานช่วงวัยรุ่น ก็เลยให้เขาฝึกตีเทนนิส ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ตั้งแต่เล็กจนทุกวันนี้กิจวัตรเขาคือออกกำลังตามตารางเช้า เย็นทุกวัน

คุณกนกเลขา : ส่วนเรื่องศิลปะ เราเปิดโอกาสให้เขาลองทุกอย่างทั้งงานไม้ งานปั้น และก่อนอัยจะออกจากสาธิตเกษตรฯ เขาเคยทำงาน ศิลปะบำบัดกับ อ.จุมพล ชินะประพัฒน์ (ครูแป๊ะ) อยู่แล้ว เราเลยขอให้อาจารย์มาช่วยสอนต่อที่บ้าน

THAI ART BRUT ARTIST 36

จากครู สู่เพื่อน
จากการใช้ศิลปะเพื่อบำบัด สู่ การเปิดพื้นที่ให้ตัวตนได้เติบโต

คุณจุมพล : ผมรู้จักพศินตั้งแต่เขาอายุ 12 ปี ตอนนั้นเราเจอกันสัปดาห์ละครั้ง สองครั้ง ลักษณะของการทำงานเป็นศิลปะบำบัดโดยตรง หมายถึงเราทำงานกับข้อด้อยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตหรือการทำงานของเขา ยกตัวอย่างเช่น ภาพชุดนี้

THAI ART BRUT ARTIST 37THAI ART BRUT ARTIST 38THAI ART BRUT ARTIST 39

เริ่มจากผมวาดภาพพฤติกรรมต่างๆ ของเขาที่เห็น แล้วก็ชวนคุย เขาตอบได้หมดว่าเป็นภาพกำลังทำอะไร จากนั้นให้เขาวาดเอง และชวนคุยต่อว่า ‘พศินกำลังทำอะไร’ เขาก็ตอบ และพูดต่อเองว่า ‘ทำไม่ได้’ (คาดเดาได้ไม่ยากว่าเขาคงถูกเตือนหรือห้ามอยู่เป็นประจำ) ช่วงที่เขาตอบว่าทำไม่ได้ ผมก็ส่งมาร์คเกอร์ให้เขากากะบาทลงบนรูปภาพ (ออทิสติกทำงานกับสัญลักษณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก)

หลังจากนั้นเราก็ติดภาพเหล่านี้ไว้ใกล้ๆ พื้นที่ทำงานศิลปะ ระหว่างทำงานผมคอยสังเกตเวลาที่เขาขยับท่าทางจะแสดงพฤติกรรมอะไร เราก็ชี้ภาพที่เขาเขียนไว้ แต่ไม่ได้ห้าม / แสดงอารมณ์ พฤติกรรมใดๆ ที่ดูเป็นการตำหนิ หรือควบคุม ใช้เวลาเป็นปีครับ พฤติกรรมค่อยๆ หายไปทีละอย่าง พฤติกรรมไหนหายเราก็จะนำรูปภาพนั้นออก แล้วก็ดูว่าจะกลับมาใหม่ไหม ปัจจุบันหายเกือบหมดแล้วเหลือบางอย่าง เช่น ยังชอบดูน้ำวนในโถส้วม ชอบเข้าห้องน้ำ แต่อยู่ในลักษณะที่เขาสื่อสาร บริหารจัดการ หรือควบคุมตัวเองได้

THAI ART BRUT ARTIST 40THAI ART BRUT ARTIST 41

ทำศิลปะบำบัดมา 6 -7 ปี ข้อด้อยต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น บางเรื่องหายไปเลย ผมตั้งใจว่าจะหยุด ตอนนั้นพศินอายุ 18 – 19ปี แต่ผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นจากกระบวนการบำบัดของเขาหลายๆ ชิ้นทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าเขาเป็นลูกเรา ทิศทางของเขาในวันข้างหน้าจะเป็นไปอย่างไร ด้วยความรู้สึกนี้ทำให้ผมตัดสินใจทำงานกับพศินต่อ

แต่ครั้งนี้ผมออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ที่ให้ความสำคัญกับตัวตนของพศิน ให้ความสำคัญกับผลงานศิลปะที่เขาสร้างขึ้น กระบวนการค่อยๆ สร้างสัมพันธภาพใหม่ คือ เพื่อน ไม่ใช่ผู้ให้-รับ การบำบัดอีกต่อไป

อาร์ตบรุตเคาะประตูบ้าน

คุณกนกเลขา : บอกตรงๆ เราไม่รู้หรอกว่างานของเขาดีหรือไม่ดีอย่างไร พ่อแม่ก็เห็นว่าเขาวาดแต่ รูปบ้าน ทุกวัน อ.จุมพลอธิบายว่าแต่ละภาพมีความแตกต่างนะ อันนี้สีทึม สีสวย หลังคาใหญ่เล็ก หน้าต่าง … คือแต่ละชิ้นที่วาดมีความหมาย ก็ชวนว่า น่าจัดนิทรรศการแสดงงานนะ เพราะผลงานเขาใช้ได้

THAI ART BRUT ARTIST 42

คุณพิธาน : พ่อมองว่ามันคืออีกหนึ่งวิธีในการจัดหาโอกาส ความเป็นไปได้ให้เขา อันไหนไปได้ดีจะได้ไปต่อ พอ อ.จุมพล บอกว่างานของเขาน่าสนใจ ถ้าไม่ลองเราก็ไม่รู้ ซึ่งพอจัดนิทรรศการผลการตอบรับค่อนข้างดีนะครับ เราเจอศิลปินหลายท่านในงานบอกว่างานของพศินใช้ได้ พองานได้เผยแพร่ผ่านสื่อ ทางญี่ปุ่นก็ติดต่อเข้ามาทาง อ.จุมพล เขามาหาศิลปินอาร์ตบรุตในไทย อาจารย์ก็แนะนำพศิน ทางญี่ปุ่นก็ขอเข้ามาดู สรุปว่าเราก็ส่งจนถึงที่สุดล่ะครับ ว่าความเป็นไปได้มันจะไปถึงจุดไหน

THAI ART BRUT ARTIST 43

คุณจุมพล : ผลงานของพศินเค้ามีเสน่ห์มากมีแรงดึงดูดบางอย่างโดยเฉพาะการทำงานกับสี และฝีแปรง ยิ่งตอนผสมสีนี่สนุกและน่าทึ่งมาก มันเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้ของเขาเอง พศินไม่เคยเรียนทฤษฏีสี ตอนทำงานศิลปะกันเรามีให้เพียงห้าสีเท่านั้น แต่เขาผสมสีได้ทุกสีที่ต้องการให้ปรากฏในผลงาน งานของพศินไม่เน้นรายละเอียดในเนื้อหา อาจเรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ในรูปภาพของเขา คือ เรื่องสี

THAI ART BRUT ARTIST 44

พศินชอบวาดรูปเป็นสัญลักษณ์โดยเฉพาะ บ้าน มีคำถามมากมายเกิดขึ้นว่าทำไมไม่วาดอย่างอื่น และช่วงแรกเป็นบ้านหลังเดียว รูปทรงเดียว ผมก็ตอบไม่ได้ แต่อยากชวนมองว่ามันก็ไม่ได้เสียหายตรงไหน และงานมีเรื่องราวสีสันสมบูรณ์ ถ้าเราไม่คาดหวังและต้องการแต่ศิลปะตามขนบทั่วไป

มองอีกมุม บ้าน อาจเป็นตัวแทนในหลายเรื่องราวของชีวิต จิตใจ เป็นความรู้สึกปลอดภัย เป็นสิ่งมีค่ามากที่สุดก็เป็นได้ เป็นทั้งเพื่อน เป็นความเหงา ความรักความอบอุ่น ความปลอดภัย ความสุข ความทุกข์ ความโดดเดี่ยว อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งมันมากกว่า เป็นที่อยู่ที่กินที่นอน

คุณกนกเลขา : เราพาพศินไปร่วมงาน ART BRUT FORUM’2016 ที่ญี่ปุ่น ที่นั่นเขาไม่เน้นการดูผลงาน แต่เน้นกระบวนการขั้นตอนที่มาของงาน จุดเด่นที่เขาพูดถึงพศินคือ องค์ประกอบของภาพใช้สีได้ดี ผสมสีแม่นยำ เพราะอัยผสมใหม่ทุกทุกครั้งและออกมาเหมือนเดิม

คุณพิธาน : การไปแสดงงานในที่ต่างๆ ผมว่าพศินเขารู้แค่ว่าได้ไปทำงาน ไปวาด ไปกิน คิดว่าเขาไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นประโยชน์กับใคร เขาเป็นศิลปินที่มีความสุข เพราะว่าสร้างสรรค์งานที่ตัวเองอยากสร้าง ใครชม ไม่ชม เขาไม่รับรู้ ไม่ได้แสวงหาตรงนั้น ในแง่มุมนี้เขาอยู่เหนือศิลปินทั่วไปที่ทำงานออกมาอย่างน้อยคนชมซักคนก็ชื่นใจใช่ไหม แต่คนนี้ทำ เสร็จคือจบ ไม่แคร์แล้ว จะเก็บจะทิ้งยังไม่แคร์เลย

THAI ART BRUT ARTIST 45THAI ART BRUT ARTIST 46

คุณจุมพล : คุณค่าของการนำพศินไปสู่ศิลปินอาร์บรุต เขาอาจไม่รับรู้อะไร สิ่งที่เขาได้คือ มีโอกาสทำงานศิลปะที่แสดงความรู้สึกจากจิตใจอย่างอิสระ ได้คิดสร้างสรรค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสี ผมว่ามันเป็นการทำงานที่บริสุทธิ์มาก พศินไม่สนใจทฤษฏีศิลปะใด ไม่อิงสมัยนิยม อยากทำแบบไหนก็แบบนั้น เรียนรู้และสร้างพัฒนาการด้วยตัวเอง เรียกว่าเป็นแก่นแท้ในตัวตนของเขาเลยก็ว่าได้

เราทำแบบนี้มานาน 7 – 8 ปี แล้วอาร์บรุตก็มาหาเขา ครอบครัวไม่ได้ไปเสาะแสวงหา และวิธีการทำงานขององค์กรที่แสวงหาศิลปินนี้ เขามีการทำวิจัยต่อเนื่องเป็นสิบปี กระบวนการเก็บข้อมูลการทำงาน,ผลงาน เขามาดูการทำงานจริง คุยกับครอบครัว นี่นับเป็นศักยภาพของตัวพศินเองโดยแท้ (อาร์ตบรุตเรียกว่าของเดิมหรือของที่ไม่ได้มีการปรุงแต่ง หรือดิบ) คุณค่าที่ผมเห็น คือ ความงดงามของชีวิตที่จริงใจ ใสสะอาดบริสุทธิ์ อาร์ตบรุตอาจเป็นส่วนเสริม ส่งต่อให้ผู้คนได้เรียนรู้ และเข้าใจกับความหมายของความงดงามแห่งชีวิตบนโลกใบนี้ได้บ้าง

เปิดพื้นที่..เป็นไปได้อีกมากมาย

คุณพศิน และ คุณพิธานมีโอกาสแสดงงานร่วมกันในงาน Thailand International Kite Festival 2018 ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยคุณพศินเพ้นท์ว่าวร่วมกับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่รักงานศิลปะ นำว่าวมาต่อกันเป็น ‘ว่าวสาย’ แสดงงานในพื้นที่ Wind Garden ซึ่งเป็นงานอดิเรกตามความสนใจของคุณพิธาน

THAI ART BRUT ARTIST 47THAI ART BRUT ARTIST 48

คุณพิธาน : อ.จุมพลแนะนำว่าพศินน่าจะทำงานศิลปะมารวมกับงานของพ่อ ผมชอบและมีโอกาสทำงาน Wind Garden แสดงในงานว่าวหลายแห่ง ก็ให้เขาทำธงมาประดับในงาน เพ้นท์ว่าว ดีนะครับ คือเราไม่ต้องรอให้มีงานนิทรรศการก่อนค่อยเอางานเขาไปแสดง ถือเป็นการเปิดช่องทางให้ทั้งคนพิเศษและศิลปินหรือคนที่ชอบทำงานศิลปะ มีพื้นที่ทำงานร่วมกัน

คุณกนกเลขา : ถือเป็นงานแรกที่ให้เขามานั่งทำงานในพื้นที่อย่างนี้ อุปสรรคคืออากาศที่ร้อนมาก ครั้งต่อไปอาจให้ทำงานสะสมไว้ส่วนหนึ่ง ไปวาดเพิ่มในงานเพื่อรวมงานขึ้นแสดง แต่โดยรวมเขาทำได้ดีค่ะ เพราะในพื้นที่อำนวยความสะดวก มีร้านอาหาร ห้องน้ำ ฯลฯ

THAI ART BRUT ARTIST 49THAI ART BRUT ARTIST 50THAI ART BRUT ARTIST 51

การที่คุณพศินมีโอกาสได้ทำงานศิลปะที่เผยศักยภาพบางอย่างในตัวออกมา สร้างสรรค์งานแก่สังคมโดยรวม และสังคมของคนพิเศษเอง หากเขาจะเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ให้ใครบ้าง เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

บุคคลที่มีความต้องการพิเศษแต่ละคนเสมือนต้นไม้แต่ละชนิด ที่ต้องการ การดูแลอย่างเข้าใจ เมื่อเขาพร้อมก็จะผลิดอกไม้ที่งดงาม ‘ ในแบบเฉพาะของเขา ‘

ดั่งเช่นต้นไม้ของ คุณพศิน สิงห์เสน่ห์ ที่ได้ผลิดอกเบ่งบานแล้ว

THAI ART BRUT ARTIST 52

ขอขอบพระคุณ

ครอบครัวสิงห์เสน่ห์ ภาพประกอบบางส่วนจาก Self+Art Borderless Art Museum

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์ (บ้านสิงห์เสน่ห์) นัทที บุญสงค์ (Thailand International Kite Festival 2018)

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

นรรณ (แม่อ้อ) วงศ์พัวพันธุ์

บรรณาธิการ

แม่ที่ชอบเล่าเรื่อง และเชื่อว่าทุกคนมีแสงสว่างของตัวเอง

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก