ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์

ประเทศที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนคืออัญมณี

บทความโดย ปิยะนุช ชัชวรัตน์ (ครูอ้อย)

สมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย

 

สมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย ร่วมกับภาคีเครือข่ายจะจัดการเดินทางดูงานการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลพิเศษ เป็นการเปิดโลกและนำตัวอย่างประสบการณ์มาพัฒนางานของพวกเราอย่างสม่ำเสมอ ในปีนี้เราเดินทางไปยังองค์กรที่ทำงานเพื่อเด็กพิเศษ – คนพิการ และทำกิจกรรมวันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก ระหว่างวันที่ 1 – 4 เมย. 61 ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเราได้รับความช่วยเหลือจากคุณครูการศึกษาพิเศษชาวสิงคโปร์หลายท่านที่เคยมาเป็นอาสาสมัครที่ บ้านทอฝัน ทำให้การประสานเพื่อเข้าศึกษาดูงานในโรงเรียน หน่วยงานองค์กรต่างๆ เป็นไปได้อย่างราบรื่น ครูอ้อยจึงถือโอกาสอันดีนี้นำบันทึกการเดินทางของคณะมาแบ่งปันกับผู้อ่านทุกท่านค่ะ

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 25

วันแรก แกนนำ “ออทิสติกเชียงราย” และภาคีเครือข่ายที่ทำกิจกรรมเพื่อเด็กออทิสติกร่วมกันมากว่า 13 ปี อันประกอบด้วย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และ วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย รวมทั้งหมด 7 คน ออกเดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์ ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้เรามี คุณวสุ สารภี (พี่เอิธ) บุคคลออทิสติก พร้อมทั้ง คุณดวงใจ สารภี (คุณแม่) ร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งเป็นการเดินทางโดยเครื่องบินไปต่างประเทศครั้งแรกของพี่เอิธ

คณะเรามีเรื่องตื่นเต้นเล็กๆ เมื่อเครื่องบินเทียบท่า ณ สิงคโปร์ จุดตรวจคนเข้าเมืองเขาต้องสัมภาษณ์ทุกคน เพราะคณะของเราไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์ ครูอ้อยแจกตารางกำหนดการดูงาน และหนังสือตอบรับของแต่ละองค์กรไว้ให้เผื่อว่ามีใครถูกสัมภาษณ์จะได้ตอบถูก และเตรียมให้คนที่คล่องภาษาอังกฤษอยู่ใกล้ๆ พี่เอิธและคุณแม่เผื่อต้องช่วยพี่เอิธตอบหรืออธิบายบางคำถาม แต่สุดท้ายพวกเราก็โดนจับแยกกันหมด ทุกคนผ่านออกมา เหลือพี่เอิธและคุณแม่ยังติดอยู่ด้านใน ครูอ้อยจึงเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ขอให้เราเข้าไปช่วยดูแล ทีแรกเขาก็ไม่ยอมค่ะ แต่พอเราบอกว่า มร.วสุ เป็นคนออทิสติกนะ คุณจำเป็นต้องให้ฉันเข้าไปช่วย เขาจึงอนุญาต พบว่าพี่เอิธไม่เข้าใจประโยคที่เจ้าหน้าที่ถามว่ามีตั๋วกลับหรือไม่ ครูอ้อยจึงอธิบายกับเจ้าหน้าที่ว่า คณะเรามาดูงานออทิสติก และนี่เป็นบุคคลออทิสติก พอเราแสดงตั๋วกลับทั้งหมดของคณะเรา ทุกอย่างก็เรียบร้อยโดยไม่ต้องแสดงบัตรคนพิการแต่อย่างใด

เพื่อนๆ เจ้าภาพชาวสิงคโปร์ที่มารอรับคณะเราพามาส่งยังที่พักซึ่งเป็นอพาร์ทเม้นท์ให้พวกเราอยู่รวมกันอย่างสบาย ก่อนที่จะพาไปทานอาหารค่ำ ทั้งนี้วันแรกพวกเรายังทำตัวสบายๆ อย่างไทยแท้ ไม่ได้ตระเตรียมอะไรมากนัก เพราะคิดว่าร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารที่นี่น่าจะมากมายเหมือนที่บ้านเรา ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อพี่เอิธไม่น้อย…

 

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 26

ที่มา How Many People In Singapore Have Autism?

ประเทศสิงคโปร์มีประชากร 5,000,000กว่าคนเท่านั้น สถิติเฉพาะบุคคลที่มีภาวะออทิซึ่ม 1% เท่ากับ 50,000 คน สำหรับคนสิงคโปร์พวกเขาพูดเสมอว่า “ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศเขาคือ ทรัพยากรมนุษย์”

 

เด็กทุกคนคือ อัญมณี และ ครูมีหน้าที่เจียระไน

อันนี้เป็นประโยคสำคัญที่ครูอ้อยประทับใจมากค่ะ “เด็กคืออัญมณี มีค่าทุกเม็ด เขาอาจมีความแตกต่าง อัญมณีไม่ได้ใสไปเสียทั้งหมด เพราะเขาคือของแท้ ไม่ใช่ของที่ทำเทียมขึ้นมา อัญมณีแท้อาจมีรอยหรือตำหนิบ้าง ครูทุกคนมีหน้าที่เจียระไน” ซึ่งจากการดูงาน ทุกแห่งตลอดทริปนี้ ครูอ้อยก็เห็นการทำงานที่สะท้อนความคิดนี้จริงๆ ลองติดตามกันนะคะ

๐ Woodland Garden School

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 27

โรงเรียนนี้เป็น 1 ใน 4 โรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการภายใต้การบริหารงานของ Movement for Intellectually Disabled of Singapore (MINDS) มีกลุ่มภาวะท้าทายทางสติปัญญา 171 คน ภาวะออทิซึ่ม 60 คน ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ครู รวมทั้งหมด 66 คน

โรงเรียนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ จัดโปรแกรมที่ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วม เช่น
– PAPA Reading กำหนดให้พ่อต้องอ่านหนังสือให้ลูกฟัง แล้วโรงเรียนจะสื่อสารกับที่บ้านว่าอ่านได้หรือไม่อย่างไร
– MAMA Counting กำหนดให้แม่สอนเรื่องจำนวน Concept Value เน้นเรื่องการใช้จ่ายเงิน Money Concept ผ่านการซื้อของ และการทำอาหารเปิดเป็นร้านชื่อร้าน “MAMA Express”
– Grand Parent Brunch ที่เชิญ ปู่ย่า ตายายมาเยี่ยมโรงเรียนเพื่อให้เด็กเรียนรู้การเคารพผู้ใหญ่และสร้างสายใยผูกพัน เด็กๆ ฝึกทำอาหารว่าง และเสิร์ฟให้ คุณปู่คุณย่า เป็นต้น

โรงเรียนเน้นในเรื่อง กิจกรรมทุกอย่างที่เตรียมให้กับเด็กๆ ถูกออกแบบให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเองและขยายไปสู่ชุมชน โดยเริ่มจากงานที่เด็กๆ ทำได้
-โครงงาน Recycling Project , Green Movement การเก็บขยะในชุมชนใกล้ๆ โรงเรียน โครงการปลูกผักไฮโดรโปรนิค โดยทำครบวงจร ตังแต่ปลูก เก็บผัก แพ็ค และนำไปขาย ทำสวนดอกไม้เพื่อให้ผีเสื้อมาดมดอมดอกไม้ ตั้งชื่อว่า “สวนผีเสื้อ”
-แบ่งกลุ่มของเด็กๆ เป็นกลุ่มอัญมณีที่มีคุณค่า เช่น กลุ่มทับทิม (Ruby Group) กลุ่มไพลิน (Sapphire Group) และ กลุ่มมรกต (Emerald Group) เพราะเด็กทุกคนล้วนแต่มีคุณค่าทุกคนล้วนแต่เป็นสีสันของโรงเรียน เขาใช้คำว่า “COLOURS OF LIFE @ WGS” หน้าที่ของครูคือเจียระไนอัญมณีทุกเม็ดให้ส่องประกาย

ผู้บริหาร Mr. Chong และ Ms. Jenifer รองผู้อำนวยการ พาเดินชมโรงเรียนซึ่งเป็นอาคารสูงหลายชั้น มีประตูปิดกั้น ยามเฝ้าหน้าประตู ซึ่งครูอ้อยเห็นว่า ทุกๆ แห่งที่เราไป เขาเน้นเรื่องการรักษาความปลอดภัยสูงมาก ครูและเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่จะมีรหัสหรือการ์ดสำหรับเปิดปิดประตู ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดพื้นที่ของประเทศเขา ถึงโรงเรียนจะอยู่ใกล้สวนสาธารณะ แต่เกือบทุกแห่งเมื่อเปิดประตูมาก็จะพบถนนใหญ่ เขาจึงต้องระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 28

ในห้องเรียนเน้นการใช้ระบบภาพ (PECS) ในการสื่อสารและตารางประจำวันที่เด็กๆ จะต้องทำในแต่ละวัน ห้องฝึกต่างๆ ฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก ตามือประสานสัมพันธ์แล้ว ห้องกระตุ้น ห้องยิม มีห้องฝึก Home Economy หน้าตาเหมือนห้องครัวที่มีอุปกรณ์ทำงานบ้านทั้งหมด เพื่อให้เด็กฝึกทำอาหาร ฝึกล้างจาน ซักผ้า เพราะว่าโรงเรียนเน้นในเรื่อง Functional Education and Home Economy

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 29ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 30ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 31ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 32ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 33

นอกจากนั้นยังมีการฝึกทำงานแผนกแม่บ้านทำความสะอาดห้องที่ตกแต่งเหมือนห้องพักในโรงแรม และพนักงานโรงแรมที่ช่วยหิ้วกระเป๋า Mr. Chong ผอ.โรงเรียนบอกว่า “นอกเหนือจากการฝึกอาชีพแม่บ้านโรงแรมแล้ว โรงเรียนยังมีแผนที่จะส่งนักเรียนไปเรียนการเพ้นท์เล็บ บางคนบอกว่าเด็กทำไม่ได้ แต่ผมคิดว่าเด็กๆ สามารถทำได้”

๐ Yishun Training & Development Center : Yishun (TDC)

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 34

Yishun คือ TDC แห่งที่ 7 ขององค์กร MINDS เป็นศูนย์ดูแลบุคคลออทิสติกอายุ 19 ปีขึ้นไป จนถึงตลอดชีวิต โดยที่รับนักเรียนอยู่ด้วยตลอดทั้งวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 4 โมงเย็น เพิ่งเปิดดำเนินการในเดือนกรกรฏาคม 2560 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมานี้เอง Ms. Jennifer ให้ข้อมูลกับคณะของเราว่าหนีชุนรับเด็กที่หลังจากจบการศึกษาภาคบังคับและไม่สามารถไปโรงเรียนเรียนร่วมได้ จะมีทางเลือก 3 โปรแกรม หลักๆ ได้แก่
1. School-to-Work กับ Hi! Job Program โปรแกรมนี้สำหรับบุคคลออทิสติกที่สามารถออกไปทำงานข้างนอกได้โดยมีการฝึกทำงาน และมี Job coached
2. Employment and Development Centre โปรแกรมนี้สำหรับบุคลลออทิสติกที่สามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ กิจกรรมการฝึกจึงไปในทางการพัฒนาทักษะอาชีพ
3. Training and Development Centre โปรแกรมนี้จะเน้นในเรื่องทักษะชีวิตประจำวัน เพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถดำรงชีวิตอิสระทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้เอง พัฒนาทักษะทางด้านสังคม และทักษะในการเตรียมความพร้อมเพื่อฝึกอาชีพ
Yishun จึงเป็นศูนย์ที่ให้บริการ TDC 7 ด้านแก่คนบุคคลที่มีภาวะออทิซึ่มระดับกลางถึงรุนแรง ดังนี้
1. Social Skill
2. Community Life Skill
3. Activities of Daily Living
4. Home Living Skill
5. Leisure & Recreation
6. Health & Fitness
7. Vocational Skill

Ms. Dorothy ผู้อำนวยการ Ms. Marina รองผู้อำนวยการ และ Ms. Jenifer ให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี พาไปชมห้องเรียน และห้องฝึกต่างๆ เนื่องจากบุคคลออทิสติกกลุ่มนี้เป็นผู้ใหญ่แล้ว และบางคนก็มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในแต่ละห้องก็จะมีห้องสงบ (Peace Room) เป็นห้องเล็กๆ ติดแอร์บุนวมทั้งห้อง มีห้องที่มีระบบ Sensory สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 35ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 36

ทุกห้องจะมีตารางภาพกิจกรรมประจำวันของแต่ละคนชัดเจน เพื่อให้เข้าใจหน้าที่ของตนเอง งานที่ฝึกให้ทำ มีแบบง่ายๆ เช่น งานทำความสะอาดเช็ดหูฟังที่ใช้บนเครื่องบิน และแพ็คเก็บ ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ส่งงานมา ก็มีบางคนที่ทำไม่ได้ค่ะ แต่เขาจะไม่ปล่อยให้อยู่บ้านเฉยๆ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องความรุนแรง อย่างน้อยการมาที่สถาบันทำให้เขาไม่อยู่เฉยๆ แต่มีเพื่อน มีกิจกรรมง่ายๆ ร้อยลูกปัด ถักโครเช ปักเฟรม ให้ทำ

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 37ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 38

ที่นี่ทำให้ครูอ้อยคิดถึงพี่ก้ำ ลูกชายของครูอ้อย มีน้องคนหนึ่งตัวโตทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าหุ่นเหมือนพี่ก้ำเลย แนวทางของ Yishun น่าจะนำไปปรับใช้กับ พี่ก้ำและบ้านทอฝันให้เป็น learning Center มีกิจกรรม/งาน ให้เด็กโตได้ฝึกทำได้เช่นกัน

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 39

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือเราได้รับของที่ระลึกจากฝีมือบุคคลพิเศษหลายชิ้น เขาออกแบบหีบห่อสวยงามดูมีมูลค่า แต่ละชิ้นมีเรื่องราวเจ้าของงานที่น่าสนใจ บางชิ้นก็ทำจากงานศิลปะด้วยวิธีการเดียวกับที่เด็กของเราทำ เพียงแต่ที่นี่เขาจะเลือกวัสดุที่คำนึงถึงการเอาไปใช้งานต่อได้ เช่น แผ่นไม้ก๊อก วาดแล้วไปทำเป็นที่รองแก้ว ในขณะที่เราวาดลงกระดาษถ้าพ่อแม่ไม่เก็บก็ทิ้งไปเปล่าๆ เราน่าจะปรับและออกแบบได้ ถ้าผลงานมีคนสนใจอยากซื้อหรือกลายเป็นของที่ระลึกแบบนี้ก็จะสร้างความภูมิใจให้คนทำด้วย

๐ Rainbow Center

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 40

ครั้งแรกที่ติดต่อไป Rainbow Center ไม่อนุญาตให้เราเข้าเยี่ยม แต่พอได้อ่านเรื่องราวของเราและเห็นว่าเป็นองค์กรของพ่อแม่ก็เลยอนุญาตให้มาเยี่ยมชมได้ Ms. Jaizah เป็น Senior Manager เล่าให้พวกเราฟังว่า Rainbow Centre เปิดให้บริการมาได้ 30 ปีแล้ว ร้อยละ 60 ของนักเรียนที่นี่มีภาวะออทิซึ่ม และร้อยละ 40 เป็นนักเรียนที่มี Multiple Disability , Learning Disability และ Cerebral Palsy

Rainbow Centre ให้ความสำคัญกับการทำงานกับ partner เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติก ได้มีส่วนร่วมกับสังคมอย่างมีความหมาย โปรแกรมของ Rainbow มี 5 โปรแกรม
1. Early Intervention สำหรับอายุต่ำกว่า 6 ปี และสอนให้ผู้ปกครองฝึกน้องที่บ้าน
2. Special Education School
3. Out of School Program (OOSH)
4. Family Life Service ที่ให้ความสำคัญกับพี่น้อง (sibling)
5. Training and Consultancy

อิชาห์พาเราไปดูห้องเรียนซึ่งดูทันสมัยมาก มีห้องต่างๆ มี Art Studio น่าเสียดายที่เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพมากนักก็เลยได้ภาพผลงานศิลปะของเด็กๆ และภาพกับอิชาห์ และสถานที่เท่านั้น อิชาห์ให้หนังสือที่เขียนโดยผู้ก่อตั้งมาสองเล่ม เล่มหนึ่งเป็นการ์ตูนที่บอกเล่าเรื่องราวของออทิสติกที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 41 ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 42

มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับ ระบบการศึกษาและการสร้างครูการศึกษาพิเศษของประเทศสิงคโปร์ ครูอ้อยเห็นมีคุณครูหน้าตาเด็กๆ นั่งทำสื่อกันอยู่ ทีแรกเข้าใจว่าเป็นนักศึกษาฝึกงานเพราะดูเด็กเหลือเกิน แต่ปรากฏว่าเป็นครูที่จบปริญญาตรีแล้วหมาดๆ และต้องการเป็นครูการศึกษาพิเศษ

ระบบการสร้างครูการศึกษาพิเศษของเขาไม่ใช่ใครก็สมัครเรียนเป็นครูการศึกษาพิเศษได้ แต่เขากำหนดว่าผู้ที่สนใจต้องจบปริญญาตรี (สาขาใดก็ได้) และมีประสบการณ์ทำงานในองค์กร หน่วยงาน ที่ดูแลผู้พิการก่อน เมื่อทำงานครบหนึ่งปี ผู้บริหารขององค์กรนั้นจะเป็นผู้ประเมินว่าใครมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ผู้ที่ผ่านการรับรองแล้วจึงจะมีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อที่สถาบันการศึกษาพิเศษของรัฐ ซึ่งมีแห่งเดียว ครูการศึกษาพิเศษทุกคนต้องเรียนจบจากที่นี่ พวกเขามีวิธีการการจัดการเรียนการสอนระบบเดียวกันทั้งหมด

นั่นคือสิ่งที่แตกต่างจากเรา เขาคัดกรองคนก่อนว่ามีใจชอบทำงานนี้ และมีหลักสูตรที่รัฐควบคุมมาตรฐานโดยตรงเหมือนกันหมด ผู้ที่จบออกมาแล้วได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ มีเงินเดือนสูงกว่าครูทั่วไป ประจำในโรงเรียนเรียนร่วมที่มีอยู่ทุกเขตพื้นที่

๐ Jurong West Primary School

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 43

โรงเรียน Jurong West Primary School เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาเรียนร่วม ระดับประถมศึกษา มีนักเรียน 1,500 คน โรงเรียนที่สิงคโปร์ เริ่มเรียนแต่เช้าคือเริ่มเข้าแถวเคารพธงชาติตั้งแต่ 07.30น. แล้วเรียนไปถึง 10.00น. ก็พักรับประทานอาหาร 30 นาที กลับเข้าห้องเรียน 14.00น. ก็เลิกเรียนแล้วค่ะ

เด็กพิเศษที่เรียนเรียนร่วมจะเข้าเรียนในห้องเรียนปกติ ห้องหนึ่งมีนักเรียน 30 คน มีนักเรียนเรียนร่วม 1 คน แต่ไม่ได้มีทุกห้องนะคะ เพราะระบบการศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ให้สิทธิ์เด็กในพื้นที่รัศมี 2 ก.ม. เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลในเขตนั้นๆ เพราะฉะนั้นทุกโรงเรียนก็รองรับเด็กพิเศษในพื้นที่นั้นๆ เช่นกัน

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 44

นักเรียนออทิสติกเรียนร่วมที่นี่มีอาการน้อยมากแทบจะดูไม่ออกเลย รองครูใหญ่และคณะครูการศึกษาพิเศษประจำโรงเรียน โดย Ms. Miao Jing ซึ่งเคยมาที่บ้านทอฝันเป็นหัวหน้าโปรแกรมและครูฝึกหัด พาพวกเราไปเยี่ยมชมห้องเรียนที่มีนักเรียนเรียนร่วม ห้องแรกเป็นชั้นประถม น้องเรียนพลศึกษาร่วมกับคนอื่น แต่น้องไม่ชอบการเคลื่อนไหว เพื่อนๆ ก็ช่วยกันกระตุ้นให้น้องพยายาม และโรงเรียนมอบหมายเด็กผู้หญิงอีกคนมาช่วยเป็น Buddy เราได้พูดคุยทักทายกัน น้องตอบคำถามได้เป็นอย่างดี ไม่กลัวคนแปลกหน้า ถึงแม้จะไม่ค่อยยอมสบตาพวกเราเท่าไหร่

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 45 ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 46ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 47

ช่วงรับประทานอาหารกลางวันครูอ้อยไปสังเกตเด็กผู้ชายคนหนึ่งรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อน ซึ่งเด็กๆ ต้องซื้ออาหารเอง เขาก็ทำได้ หลังจากนั้นก็ไปเล่นที่สนามเด็กเล่นกลมกลืนกันไปหมด จนหมดเวลาพัก

ครู Miao Jing พาเราไปดูห้องเรียนเด็กพิเศษที่ครูจะแยกนักเรียนมาสอนเดี่ยว โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนหลักสูตรและสื่อการเรียนเหมือนกันหมดทุกโรงเรียนอย่างเด็กที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเรื่องการอ่านเขียน (แอล.ดี หรือ ดีสเล็กเซีย) กระทรวงศึกษาฯ ของเขาให้ความสำคัญมาก ครูไม่ต้องออกแบบหรือพัฒนาสื่อเองเลย เขามีหลักสูตรและคู่มือช่วยเรื่องการอ่าน บอกวิธีเป็นลำดับขั้นตอน สำหรับครูการศึกษาพิเศษที่โรงเรียนนี้มี 5 คน ซึ่งครูไม่ต้องเข้าไปประกบเด็กในชั้นเรียน เพียงตามสังเกตการณ์ว่าเรียนร่วมได้ไหม

เขามีระบบการคัดกรองและแบบทดสอบ เด็กที่เข้าเรียนร่วมได้คือเด็กที่สามารถเรียนได้จริง สำหรับเด็กที่ไม่ผ่านก็มีโรงเรียนเฉพาะทางให้เลือกในพื้นที่ของตน เขาให้ความสำคัญกับการศึกษามาก ถ้าเราไม่ส่งลูกไปโรงเรียน เจ้าหน้าที่รัฐจะไปหาถึงบ้าน อายุครบต้องเข้าโรงเรียนเขามีระบบติดตามทั้งหมดค่ะ

ทุกๆ ที่ให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดี เพราะเห็นว่าเราเป็นองค์กรที่ก่อตั้งจากการรวมตัวของพ่อแม่ เขาทุกคนให้กำลังใจและยินดีให้คำแนะนำช่วยเหลือเพื่อให้องค์กรของเราเติบโตในภายภาคหน้า

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์ 48

…ย้อนกลับมาที่พี่เอิธ วันแรกเขาไม่พูดกับคนแปลกหน้าเลย แต่วันต่อมาก็เข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่าง ตอบโต้ด้วยภาษาอังกฤษง่ายๆ พี่เอิธจำเป็นต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อมและกิจวัตรที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งช่วงแรกก็มีความหงุดหงิดบ้างเพราะ หิว ! ใช่ค่ะ พี่เอิธทานอาหารตามเวลา แต่การเดินทางทำให้เวลาอาหารคลาดเคลื่อนไป และที่สิงคโปร์ เขาไม่อนุญาตให้เราเอาขนมหรือของว่างมาทานรองท้องบนรถ หรือเดินทานตามใจชอบเหมือนเมืองไทยนะคะ เมื่อถึงจุดสั่งอาหารคนเยอะมาก หิวแค่ไหนก็ต้องต่อคิวรอ

วันต่อมา ครูอ้อยเตรียมอาหารใส่ตู้เย็นไว้ เพื่อที่มื้อเช้าทุกคนได้ทานให้อิ่มเรียบร้อยจากที่พักก่อนออกเดินทาง การเข้าคิวซื้ออาหารพี่เอิธก็ปรับตัวได้ มาถามก่อนว่าอันนี้เรียกอะไร เขาก็เข้าคิว สั่งทำได้ทุกอย่าง ครูอ้อยดีใจที่พี่เอิธได้มีประสบการณ์ใหม่ และเรียนรู้การปรับตัวในครั้งนี้

ประเทศสิงคโปร์มีระบบการศึกษาที่ก้าวหน้าและใส่ใจกับทรัพยากรมนุษย์ดังที่ได้กล่าวไว้จริงๆ ครูอ้อยหวังว่าประสบการณ์ที่แบ่งปันมานี้ อาจจะช่วยให้ผู้อ่านทั้งผู้ที่อยู่ในองค์กรของรัฐ หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนและครอบครัว เห็นทางเลือกในการช่วยเหลือและพัฒนาเด็กของเราค่ะ

 

ขอขอบพระคุณ

ภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ค “ออทิสติกเชียงราย” สมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ

นรรณ (แม่อ้อ) วงศ์พัวพันธุ์

บรรณาธิการ

แม่ที่ชอบเล่าเรื่อง และเชื่อว่าทุกคนมีแสงสว่างของตัวเอง

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก