5 TED Talks ที่จะเปลี่ยนมุมมองของคุณที่มีต่อ “ความพิเศษ”

Different but Spectacular !

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การหาแรงบันดาลใจและกำลังใจจากการฟังการกล่าวสุนทรพจน์ และการพูดสาธารณะต่างๆ ได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างไปทั่วโลกยุคดิจิตอล และกลุ่มผู้จัดงานพูดที่เป็นที่รู้จักในชื่อ TED นั้นถือได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มทำให้ “Talk Culture” เป็นที่นิยมกลุ่มแรกๆ ของโลก ใครหลายคนต่างก็เคยดูวิดีโอ TED Talks เพื่อรับประสบการณ์และแรงบันดาลใจจากนักพูดหลากหลายสาขาวิชามาไม่มากก็น้อย และบางคนอาจจะมี TED Talk โปรดประจำใจของตัวเองอีกด้วย

เป็นเรื่องน่ายินดีเพราะเวทีที่เปิดกว้างอย่างงาน TED และงาน TEDx ที่แยกย่อยออกมาจากงานหลักไปทั่วโลก เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความต้องการพิเศษที่มีความหลากหลาย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดของพวกเขาแก่ผู้อื่น ผมได้รับมอบหมายให้สำรวจเรื่องเล่าของบุคคลเหล่านี้ว่า มีปัจจัยใดบ้างที่ช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่สร้างแรงบันดาลใจจากการพูด 15 นาที เหมือนกัน แม้ว่าความพิเศษของพวกเขาจะต่างกันไปอย่างสิ้นเชิงเลยก็ตาม

TED speakers ทั้ง 5 คนนี้ มีครอบครัวและคนรอบข้างเป็นตัวแปรสำคัญในชีวิต ที่มองอุปสรรคของพวกเขาในมุมใหม่ และผมเชื่อว่ามีมุมมองบางอย่างที่อาจเปลี่ยนความคิดเดิมๆ ของคุณที่มีต่อ “ความพิเศษของพวกเขา” ได้เช่นกัน และนี่คือ TED Talk ทั้ง 5 ที่ผมขอเลือกสำหรับบทความนี้

 

“เธอมี PTSD,MDD และเรียนจบปริญญาเอก”
เฮเลน อับดาลี ซูซาน ฟากาน
(Helen Abdali Soosan Fagan, TEDx Lincoln)

เฮเลน อับดาลี ซูซาน ฟากาน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ชาวอิหร่าน ผู้อพยพจากประเทศบ้านเกิดมาที่อังกฤษและอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และทำงานภาคทรัพยากรมนุษย์อย่างหักโหม วันหนึ่งร่างกายของเธอไม่สบายหนักมากจนต้องเข้าห้องฉุกเฉิน หลังจากนั้นเฮเลนเริ่มพูด ได้ยิน และรู้สึกว่ามีหลายสิ่งที่ผิดปกติมากจนทุกอย่างรอบตัวเธอเริ่มไม่มีเหตุผล เฮเลนถูกวินิจฉัยว่ามีอาการ ความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder/ PTSD) และ ภาวะซึมเศร้า (Major depressive disorder/ MDD) เธอเพิ่งรู้ว่าผู้อพยพอย่างเธอมีโอกาสเกิดอาการนี้พอๆ กับทหารผ่านศึกด้วยซ้ำ (อาการนี้มักถูกเหมารวมว่าเกิดขึ้นกับทหารผ่านศึกเป็นหลัก) เมื่อเฮเลนได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เธอจึงรู้ว่าการที่เธอต้องใช้ชีวิตนอกประเทศบ้านเกิดตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นทำให้การรู้คิดในหัวของเธอไม่ลงรอยกัน เธอไม่มีเวลารำลึกถึงประสบการณ์และความเจ็บปวดในช่วงชีวิตที่ผ่านมาจนทำให้เธอไม่เคยตอบคำถามกับตัวเองว่า ตัวเธอเองเป็นใครกันแน่ เฮเลนจึงต้องใช้เวลาสงบร่างกายและจิตใจ ปล่อยวางภาระต่างๆ เพื่อรำลึกถึงความรัก ความสัมพันธ์ที่เธอมีต่อคนรอบข้าง และมองการดิ้นรนของชีวิตในมุมมองใหม่

ใน TED Talk ของเธอ เฮเลนได้เน้นไว้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เธอพาตัวเองผ่านพ้นอาการเครียดและซึมเศร้าไปได้ นับว่าโชคดีมากที่ครอบครัวชาวอเมริกันที่ดูแลเธอ สนับสนุนเธอเป็นอย่างดีทั้งๆ ที่ในยุคนั้นคนอเมริกันไม่นิยมการดูแลชาวอิหร่านเลยแม้แต่น้อย และการที่สามีของเธอล้มเลิกอาชีพทหารเรือของเขาเพื่อแต่งงานกับเธอตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ก็กลายเป็นกำลังใจสำคัญของเธอ นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่าผู้คนในเนบราสก้าดูแลเธอเป็นอย่างดีในช่วงที่เธอล้มป่วย

การแวดล้อมด้วยความสัมพันธ์และความรักที่ดีต่อกัน ช่วยให้เฮเลนมีทางออกจากอาการเครียดสะสมที่มาจากเหตุการณ์สะเทือนใจในชีวิตของเธอได้ จนเธอได้มองความลำบากในชีวิตเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงคนๆ หนึ่งมากกว่าเป็นอุปสรรคขวางทาง และเห็นว่ามันเป็นส่วนสำคัญของการใช้ชีวิตที่ดีกว่าเดิม

 

“เสียงในหัวของฉัน”
เอเลนอร์ ลองเดน
(Eleanor Longden, TED Longbeach, CA 2013)

ทุกคนที่รู้จัก เอเลนอร์ ลองเดน ไม่เคยคิดว่าเธอมีอะไรผิดปกติ ในช่วงมหาวิทยาลัยเธอมีความมั่นใจในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม จนทำให้ทุกคน (แม้แต่ตัวเธอเอง) เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เธอทำไม่ได้ แต่แล้ววันหนึ่งจู่ๆ เธอก็เริ่มได้ยินเสียงในหัวพูดอธิบายการกระทำของเธอในมุมมองบุคคลที่สาม (เช่น “เธอกำลังเปิดประตู”) ทุกอย่างยังคงปกติสำหรับเอเลนอร์ เพราะเสียงเหล่านั้นยังไม่ทำอะไรเธอมากนัก ต่อเมื่อเธอเปิดเผยเรื่องเสียงให้เพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกแก่เพื่อนและตราหน้าว่าเธอไม่เป็นปกติทันที ทำให้เสียงในหัวเริ่มก้าวร้าวและรุนแรงมากขึ้น การดูแลรักษาทางการแพทย์ในช่วงแรกกลับทำให้อาการของเธอแย่ลง เอเลนอร์ต้องทำตามทุกอย่างที่เสียงในหัวเธอสั่ง ทั้งการกลั่นแกล้งเพื่อน หรือกระทั่งทำร้ายตัวเอง โชคดีที่แม่และจิตแพทย์ของเอเลนอร์ช่วยให้เธอเรียกความหวังกลับมา และทำความเข้าใจต้นตอของเสียงต่างๆ จนเธอเห็นว่า เสียงเหล่านั้น เป็นเหมือนตัวแทนความรู้สึกที่เธอเก็บซ่อนไว้ เอเลนอร์จึงเริ่มฝึกถอดความหมายเชิงเปรียบเปรยของสิ่งที่เสียงในหัวเธอพูด จนเธอสามารถอยู่ร่วมกับมันได้ และเป็นหนึ่งในตัวแทนของผู้คนที่ได้ยินเสียงในหัวทั่วโลก

TED Talk ของ เอเลนอร์ ลองเดน ทำให้เราเห็นอาการจิตเภท (Schizophrenia) ในมุมมองเชิงบวกมากขึ้น สังคมอาจจะตีตราว่าอาการเหล่านี้เป็นโรค หรือความคลุ้มคลั่งที่ต้องได้รับการรักษาให้หายขาด แต่ในกรณีของเอเลนอร์นั้น เธอกลับเลือกที่จะอยู่กับความคลุ้มคลั่งนี้อย่างมีสติ จนตอนนี้เสียงในหัวเธอกลับช่วยเธอมากกว่าทำร้ายเธอด้วยซ้ำ (เธอบอกว่าเสียงคอยบอกคำตอบข้อสอบมหาวิทยาลัยให้เธอด้วย)

อย่างไรก็ตามการยืนหยัดของเอเลนอร์อาจไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลยหากขาดการสนับสนุนที่ดีจากคนใกล้ชิด ที่ไม่มองผู้มีความพิเศษเป็นคนที่มีอะไรขัดกับสิ่งที่สังคมเรียกว่า “ปกติ” แต่มองเป็นตัวปัจเจกของเขาเองที่มีบางอย่างที่เป็นกลางเกิดขึ้นกับตัวเขา

 

“เป็นเจ้าของใบหน้าของคุณเอง”
โรเบิร์ต โฮจ
(Robert Hoge, TEDx Southbank)

ตั้งแต่ลืมตาดูโลกขึ้นมา โรเบิร์ต โฮจ ไม่ได้มีอาการพิเศษซ่อนอยู่ภายใน แต่กลับมีความแตกต่างที่เปิดเผยอย่างเด่นชัดจากภายนอก ขาของเขาใช้การไม่ได้ และใบหน้าของเขามีเนื้องอกก้อนเท่ากำปั้นเกิดขึ้นมาแทนจมูก ทำให้เขาต้องได้รับการผ่าตัดปรับปรุงโครงหน้าอยู่เรื่อยๆ จนเมื่อเขาอายุ 4 ขวบ เขามีจมูกใหม่ที่ได้มาจากนิ้วเท้าที่งอกมาจากขาพิการของเขา แน่นอนว่าโรเบิร์ต ตกเป็นเป้าล่อการกลั่นแกล้งจากนักเรียนด้วยกัน และคนรอบตัวล้วนแต่มองเขาด้วยสายตาที่ผิดปกติ ชื่อเล่นล้อเลียนที่เด็กๆ ตั้งให้เขา ทำให้เขาถูกริดรอนความเป็นเจ้าของใบหน้าของเขาเอง จนชีวิตของเขาไม่มีความสุขเลย 10 ปีผ่านไป หมอผ่าตัดได้เสนอแผนการผ่าตัดใหม่ให้กับโรเบิร์ตและครอบครัว แต่การจัดตำแหน่งตาใหม่มีโอกาส 1 ใน 4 ที่จะทำให้ตาของเขาบอด ท่ามกลางความกดดันจากการที่พ่อแม่ปล่อยให้เขาตัดสินใจเอง โรเบิร์ตปฏิเสธการผ่าตัด นั่นทำให้เขากลับมาเป็นเจ้าของใบหน้าตัวเองอีกครั้ง และไม่ให้ใครหรือสังคมยึดความเป็นเจ้าของใบหน้าของเขาเพื่อเอาไปดูถูก หรือแสดงความละอาย หลังจากนั้นมาเขารู้สึกว่าเขามีความสุขกับใบหน้าของตนเองง่ายกว่าคนอื่นที่มีใบหน้าปกติเสียด้วยซ้ำ

แรงผลักดันที่สำคัญที่สุดของโรเบิร์ตนั้นไม่ได้มาจากพ่อแม่ (มีหลายครั้งที่แม่ของโรเบิร์ตเองแสดงความรู้สึกไม่ยอมรับในใบหน้าของลูกเธออย่างชัดเจนด้วยซ้ำ) แต่กลับเป็นกำลังใจสำคัญจากพี่ชาย ที่บอกกับเขาว่า “จะหน้าตาดีไปทำไมถ้ามองหน้าตัวเองไม่เห็น?” ประโยคนี้เปลี่ยนชีวิตของโรเบิร์ต ทำให้เขากลายเป็นเจ้าของใบหน้าของตนเองมาจนถึงทุกวันนี้ และยึดมั่นในสิทธิของตนเองในเรื่องนี้เหนือสิ่งอื่นใด

โรเบิร์ตยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับความงามว่า มาตรฐานความงามไม่ใช่ภูเขาเอฟเวอเรสต์ เพียงลูกเดียวที่ทุกคนแย่งกันปีนขึ้นไปจนถึงยอด แต่มันเป็นเหมือนหุบเขาที่มีภูเขามากมายเกินกว่าที่จัดเป็นมาตรฐานหรือจุดยึดมั่นเดียวของความเชื่อใดๆ และเราควรจะหาภูเขาลูกที่เหมาะกับเรา ไม่ใช่ภูเขาลูกที่สังคมบอกให้เราปีน

 

“ดนตรีที่น่าหลงใหลในภาษามือ”
คริสทีน ซัน คิม
(Christine Sun Kim, TED Carmel, CA 2015)

นี่คือหนึ่งใน TED Talk ที่ถูกสื่อสารผ่านภาษามือทั้งหมด เพราะ คริสทีน ซัน คิม เป็นจิตรกรที่หูหนวกมาตั้งแต่เกิด เธอถูกสั่งสอนมาตั้งแต่เล็กว่า “เสียง” ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ แต่ยิ่งนานวันเข้า คริสทีนก็ยิ่งสังเกตมากขึ้นว่า นั่นเป็นความคิดที่ผิด การขาดการได้ยินอาจทำให้เธอระแวงต่อการก่อเสียงที่มากหรือน้อยเกินไปมากกว่าคนที่ได้ยินปกติด้วยซ้ำ และเมื่อเธอเติบโตขึ้นไปเป็นศิลปิน เธอก็พบว่าโลกนี้ให้ค่ากับเสียงเหมือนกับเงิน ราวกับว่ามันเป็นอำนาจทางสังคมอย่างหนึ่ง และการเป็นคนหูหนวกทำให้เธอขาดอำนาจนั้น คริสทีนจึงตัดสินใจใช้งานศิลปะของเธอเพิ่มค่าให้กับการสื่อสารด้วยภาษามือ ที่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายแทนเสียง ทำให้เธอได้มีโอกาสสำรวจธรรมชาติของภาษามือจนพบว่าการสื่อสารแบบนี้มีความเหมือนกันกับ “ดนตรี” อย่างประหลาด ทั้งภาษามือและโน้ตเพลงไม่อาจแสดงออกโดยตรงผ่านการเขียนได้อย่างเดียว เพราะทั้งคู่เป็นการสื่อสารที่พึ่งสภาพแวดล้อมทางกายภาพมากกว่าคำพูด เธอยังตระหนักว่าภาษามือเป็นการสื่อสารที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะนิ้วมือของเธอต้องแสดงท่าทางสื่อสารพร้อมกันอย่างต่อเนื่องเหมือนกับการเล่นคอร์ดเปียโน กลับกันกับการใช้คำพูดที่ให้ความหมายด้วยเสียงทีละเสียงเหมือนเมโลดี้โน้ตเพลงเดี่ยวๆ

คริสทีนได้อุทิศชีวิตให้กับการแสดงเพื่อเห็นถึงเสน่ห์ที่ถูกมองข้ามของภาษามือผ่านทั้งงานศิลปะและ TED Talk ของเธอครั้งนี้ ด้วยความเป็นศิลปินในตัวของเธอเอง คริสทีนจึงมีแรงผลักดันในตัวมากพอที่จะมองภาษามือในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น จนกล้าที่จะท้าทายความคิดเดิมๆ ที่คนหูหนวกต้องเชื่อตามค่านิยมสังคมโดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามอะไรก่อน

คริสทีนทำให้ผู้ชมมองเห็นว่าการเป็นคนหูหนวกเป็นมากกว่า “ความบกพร่อง” การขาดการได้ยินกลายเป็นประสบการณ์การใช้ชีวิต และการรับรู้ที่แตกต่างไป ซึ่งการที่จะสร้างสังคมที่เปิดรับความแตกต่างนั้นอย่างเต็มที่ เราต้องทำความเข้าใจประสบการณ์นั้นในมุมมองใหม่เสียก่อน เช่น การไม่มองข้ามความสัมพันธ์ระหว่าง “เสียง” และ “การเคลื่อนไหว” ที่คนหูหนวกพึ่งพานั่นเอง

 

“เรากดดันอัจฉริยภาพ
จนกลายเป็นความพิการได้อย่างไร”
สก๊อต ซอนนอน
(Scott Sonnon, TEDx Bellingham)

การต้องทนอยู่กับพ่อที่ทำร้ายร่างกายแม่ ทำให้ สก๊อต ซอนนอน ประสบปัญหากับการเรียนในโรงเรียนทั่วไป เขาเริ่มเขียนตัวหนังสือเป็นลำดับปกติเหมือนเพื่อนร่วมชั้นไม่ได้ เพราะข้อมูลภาษาเขียนที่เขารับได้นั้น ถูกสมองของเขาตีความเยอะเกินไปจนแทบเอ่อล้น โรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือ (Dyslexia) ทำให้สก๊อตถูกครูผู้สอนตราหน้าว่าเป็นตัวก่อกวนการเรียนของนักเรียนคนอื่น และแม้แม่ของเขาจะสรรหาวิธีการเรียนรู้ทางเลือกนับไม่ถ้วนมาช่วยเหลือเขา แต่สก๊อตก็หนีการติดอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชไม่พ้น เมื่อสก๊อตประพฤติตัวดีจนออกมาได้ เขาก็ตกเป็นเป้าการทำร้ายร่างกายจากเด็กหัวโจกทันที

แต่การปะทะทางกายภาพนี้กลับปลุกอัจฉริยภาพในตัวสก๊อตให้ตื่นขึ้น เขาพบความสามารถในการรับรู้ข้อมูลการเคลื่อนไหวได้มากเสียจนเวลารอบตัวเขาดูช้าลง จนเขาสามารถหลบหลีก ตอบโต้ หรือวางแผนการตอบสนองได้อย่างแม่นยำ สก๊อตจึงตัดสินใจใช้ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นการเรียนทางเลือกเฉพาะตัวของเขา และเรียนรู้ผ่านการเป็นกระสอบทรายในการสอนกระบวนท่าต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมา จนเขาอ่านกระบวนท่านั้นๆ ออก ซึ่งกำลังใจที่สำคัญอย่างมากในชีวิตของเขาคือ แม่ เขาพลิกจุดด้อยให้กลายเป็นพลังวิเศษได้เพราะว่าแม่ไม่เคยทอดทิ้งและมีความมั่นใจเสมอว่าลูกของเธอต้องเรียนรู้ได้จนประสบความสำเร็จ ด้วยแรงผลักดันที่สำคัญมากระดับนี้ สก๊อตจึงมีแรงใจและมั่นใจว่าความสามารถเฉพาะตัวของตนเองเปลี่ยนอุปสรรคที่ร้ายแรงที่สุดในชีวิตเขา ให้กลายเป็นความสามารถเฉพาะตัวได้

สก๊อตยืนหยัดเหนือการตราหน้าว่าเขา “โง่” หรือ “เพี้ยน” จนกลายเป็น ศิลปินต่อสู้ป้องกันตัวระดับโลก และนักกีฬา 5 เหรียญทองโอลิมปิค เขาจะไม่ยอมให้การศึกษา “ปกติ” แบ่งระดับความฉลาดและความสามารถในแบบเดิมๆ อีกต่อไป และยืนยันว่า “การด้อยความสามารถ” ไม่มีในโลก แต่หากเราคิดว่ามันมีอยู่จริง เราอาจจะเผลอทำลายความสามารถใหม่ๆ ไปโดยไม่รู้ตัว

TED Talks ทั้ง 5 เรื่องนี้ ล้วนเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ตัวตนที่มีความพิเศษติดตัวทุกประเภท สามารถพลิกวิกฤตชีวิตเป็นโอกาสที่ไม่มีใครคาดคิดได้ หากมีการสนับสนุนที่ดีจากคนใกล้ชิด โดยเฉพาะจากครอบครัวและคนรอบข้าง เพราะถ้าคนพิเศษคนหนึ่งไม่ถูกทอดทิ้ง เขาคนนั้นจะสามารถฝ่าอุปสรรคชีวิตไปได้ด้วยความสามารถพิเศษของเขาเอง เขาจะมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเขาเป็น และเห็นความพิเศษนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา จนถึงขั้นพูดถึงมันโดยแฝงมุกตลกไว้โดยไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น (ผู้พูด TED Talk ทั้ง 5 คน หาจังหวะหยอดมุกให้ผู้ชมหัวเราะได้เรื่อยๆ แม้กระทั่ง สก๊อต ซอนนอน ที่ต้องกลั้นน้ำตาตัวเองตลอดเวลาการพูดก็ตาม)

หากเราต้องการให้ความพิเศษเหล่านี้ได้ปรากฏในสังคมของเราบ้าง เราจำเป็นต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่สนับสนุนให้คนพิเศษทุกคนมีจุดยืนเฉพาะตัวที่เท่าเทียมกับคนทุกคน และหาทางระงับการทำลายโอกาสพิเศษเหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

Source:  TED : https://www.ted.com , TED Talks , TEDx Talks

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ

 

ธรรมชาติ จันทพลาบูรณ์

นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และคอลัมน์นิสต์ประจำ Midnight Beam ที่ว่าด้วยเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมและชีวิตของบุคคลพิเศษจากทั่วโลก

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก