โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ

ชุมชนบำบัดในบริบทไทย

ฉันคิดว่าโครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษเกิดจากเจตจำนงของแม่คนหนึ่งที่ได้รับของขวัญล้ำค่าที่มีพลังมาก เมื่อเธอโอบกอดรับพลังนั้น จึงได้จุดตัวเองเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตครอบครัวคนพิเศษของเธอ และแสงนี้ยังสว่างมากพอสำหรับครอบครัวคนพิเศษอื่นๆ ที่มองหาการนำทาง เธอยังเปิดประตูชักชวนผู้คนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งการเยียวยาและเกื้อกูลกัน

แม้วันนี้ของขวัญสำคัญนั้นได้เดินทางจากไปสู่ดินแดนที่งดงามแล้วก็ตาม

บันทึกบทสนทนา คุณขนิษฐา ชาติวัฒนานนท์ (แม่เปา) ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ (แม่เปา คือชื่อที่ คุณแมว หรือคุณขนิษฐา ชาติวัฒนานนท์ ใช้เรียกแทนตัวเองที่เป็นคุณแม่ของลูกเปานั่นเอง

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 14โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 15

การเดินทางที่ยาวนาน

“แม่เปาสนใจ Curative Education (การศึกษาเพื่อการเยียวยา) เพราะต้องการดูแลลูก ซึ่งช่วงวัยเด็กเล็กถึง 10 ขวบเคยใช้การดูแลแนว พฤติกรรมนิยม Applied behavior analysis (ABA) แต่ลูกไม่พัฒนาขึ้น และแม่ก็รู้สึกคัดค้านสิ่งที่ตัวเองทำทุกอย่างเลย แต่ตอนนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จนกระทั่งมีโอกาสพาลูกไปเข้าแค้มป์ดนตรีบำบัดที่โรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะ 10 วันอย่างต่อเนื่อง เราตื่นเต้นมากเพราะลูกตอบสนองต่อเสียงที่นักดนตรีบำบัดทำเป็นครั้งแรก”

การแสวงหา “การศึกษาเพื่อการเยียวยา” ในหลักสูตรต่างๆ ที่คุณขนิษฐานำตัวเองเข้าไปเรียนรู้ทำให้เธอได้รู้จักกับ ดร.อรุโณทัย ไชยช่วย (ครูเอ๋) ซึ่งตอนนั้นยังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ และเดินทางกลับมาเป็นล่ามให้กับอาจารย์ของเธอซึ่งเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง แค้มป์ฮิล (Camp Hill)

“พอได้ฟังเรื่องแค้มป์ฮิล ตอนนั้นบอกตัวเองว่า นี่คือโลกในฝันของเราเลย ลูกเราจะอยู่ได้ที่นี่ … ครูเอ๋เรียนและมีประสบการณ์ทำงานจึงเป็นคนไทยที่เข้าใจและแปลได้ดีมาก ช่วงนั้นแม่เปาก็ตามไปเรียนหัวข้ออื่นๆ กับอาจารย์และครูเอ๋ทุกที่ จนได้รู้จักกัน เอ่ยปากขอให้ครูเอ๋เป็นที่ปรึกษาเรื่องลูกเปา ซึ่งตอนนั้นครูเอ๋ต้องกลับไปเรียนต่อที่เยอรมันและไม่มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษามาก่อน แต่ก็ยินดีที่จะให้คำปรึกษาทางไกลโดยไม่รับเงิน เพราะวันนั้นลูกเปาเดินไปจับมือครูเอ๋”

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 16

“ลองนึกถึงการติดต่อเมื่อสิบกว่าปีก่อน ยุคก่อนอินเตอร์เน็ต เราติดต่อกันด้วยจดหมายและโทรศัพท์ทางไกล ซึ่งแพงมาก แม่ก็ใช้การเขียนจดหมายปรึกษากันเรื่อยๆ ครูเอ๋ส่งเอกสาร ส่งหนังสือมาให้อ่าน สมัยนั้นแม่ต้องเปิดดิกชันนารีทุกคำ อ่านจนรู้เรื่องและลองเอามาทำกับเปาดู พอมันได้ผลก็ยิ่งศึกษาใหญ่เลย ทีนี้ไม่ว่ามีคอร์สอะไรที่เกี่ยวข้องกับ Curative Education ก็ลงเรียนหมด สตางค์ไม่มีก็ยืมเพื่อน เวลาเข้าเรียน เพื่อนก็ช่วยดูแลลูกให้ เขาบอกว่ากลับมาสอนลูกฉันด้วยก็แล้วกัน (เพื่อนคือคุณยุ้ย แม่ของคุณซานโต๊ส)”

โรงเรียนไตรทักษะจัดการศึกษาวอลดอร์ฟดังนั้นในช่วงแรกเริ่มจึงเชิญวิทยากรจากต่างประเทศเข้ามาให้ความรู้ทั้งผู้ปกครองและครูอย่างต่อเนื่อง แม่เปาเป็นครูอาสาของมูลนิธิสถาบันแสงสว่างก็ขอเข้าเรียนด้วย พร้อมทั้งยังคงปรึกษาครูเอ๋อยู่สม่ำเสมอ

“ครูเอ๋แนะนำให้ทำ ยูริทมี่บำบัด กับลูกเปา เราก็ได้นักยูริทมี่บำบัดชาวเยอรมันที่พำนักในประเทศไทย ซึ่งระหว่างที่พาลูกไป แม่ก็มีโอกาสพูดคุยสอบถามข้อสงสัยต่างๆ ทั้งที่เราอ่านมาลองทำกับลูก หรือที่ครูเอ๋แนะนำมา ท่านก็ช่วยนิเทศก์ให้ เราทำอยู่อย่างนี้หลายปี เรียนไปและเอามาทำงานกับลูก สงสัยอะไรก็ถามครูเอ๋ (จนเริ่มเข้าสู่ยุคมีอินเตอร์เน็ต) นอกจากเอามาใช้กับลูกตัวเองได้ผลแล้ว ก็ลองกับลูกเพื่อน และเด็กๆ ที่เราไปเป็นครูอาสา ก็พบว่ามันได้ผลทุกคนเลย…”

“พอลูกเริ่มโตขึ้นเราจะดูแลต่ออย่างไรดี ได้รับคำแนะนำว่า ชุมชนบำบัด (Social Therapy) ไง แม่ก็รื้อฟื้นหาข้อมูลเรื่องแค้มป์ฮิลอีกครั้ง นอกจากศึกษาจากเอกสาร ตอนนั้นแม่เปาทำเวิร์กชอปทอผ้ากับผู้ปกครองกลุ่มเล็กๆ ก็มีนักการศึกษาแนวทางมนุษยปรัชญาต่างประเทศมาดูงานที่เราบ่อยๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากแค้มป์ฮิลด้วย เราจึงมีโอกาสพูดคุยปรึกษาเขาเพื่อได้ข้อมูลแนวทางการจัดการ พอเห็นงบประมาณที่เกิดจากการสนับสนุนจากภาครัฐของเขา เราก็ประมวลได้ว่าเมืองไทยโอกาสเกิดแค้มป์ฮิลนี้ยากมาก ดังนั้นถ้าเราจะทำชุมชนบำบัดจริงๆ เราต้องลงมือทำเองในแบบของเรา”

การเดินทางมาถึงจุดสะดุดเมื่อกรุงเทพฯ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ (ปีพ.ศ.2554) เวิร์กชอปทอผ้าของแม่เปาที่อยู่ย่านบางบัวทองเสียหายหนักมาก ปัญหาทางการเงินติดตามมา จนแม่เปาคิดที่จะยุบทิ้งทุกอย่าง แต่ครูเอ๋แนะนำให้เก็บกี่ทอผ้า อุปกรณ์ต่างๆ เอาไว้ก่อน และสัญญาว่าจะกลับมาช่วยเมื่อได้เวลากลับเมืองไทย

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 17

อรุโณทัยคือแสงยามเช้า

ปีพ.ศ. 2556 โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษก่อตั้งขึ้น โดยมีคุณขนิษฐา (แม่เปา) คุณรามล ลิมปิสุข (แม่ยุ้ย แม่ของคุณซานโต๊ส) และ ดร.อรุโณทัย (ครูเอ๋) โครงการฯ ขอใช้ชื่อจริงของครูเอ๋ เพื่อเป็นการบูชาครูอีกทั้งยังงามทั้งรูปคำและความหมาย จากนั้นใช้เวลาระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2559 หาสมาชิกร่วมก่อตั้งครบ 9 ครอบครัว

“เราค่อยๆ เริ่มรับสมัครสมาชิกครอบครัวมีเข้ามา และก็มีออกไป การคัดเลือกครอบครัวเราใช้งานทอผ้า งานปั้น งานไม้ เป็นงานที่เชิญชวนพ่อแม่ที่สนใจอยากให้ลูกทำเป็นตัวดึงให้เข้ามา ซึ่งการคัดกรองเราไม่ได้เลือกจากการคุยสัมภาษณ์เท่านั้น แต่เราจะเห็นชัดเจนตอนใช้เวลาทำงานร่วมกัน

เราทำความเข้าใจกับทุกครอบครัวก่อนว่า เมื่อเข้ามาร่วมโครงการฯ แล้วจะทำอะไรบ้าง หนึ่งเราไม่ได้รับดูแลลูก สองการทำงานคือ บทบาทของพ่อหรือแม่ต้องมาทำงานด้วยกัน ซึ่งมาถึงตรงนี้ ในปีแรก 100% ไม่มีครอบครัวไหนเอาเลย (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ที่เราพบ เขามาเพราะอยากได้คนช่วยดูแลรับเลี้ยงลูก

สำหรับครอบครัวสมาชิกที่เข้ามาและทำงานร่วมกันได้เป็นส่วนน้อยนี้ เขามีมุมมองอยากสนับสนุนให้ลูกเป็นมนุษย์ที่ใช้ศักยภาพของตัวเองให้มีคุณค่า และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ครอบครัวมีแนวทางการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องและมีคุณค่าด้วยเช่นกัน”

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 18

ชุมชนบำบัด (ในบริบทไทย)

“ถึงเราไม่มีแค้มป์ฮิล แต่แนวคิดนี้หัวใจสำคัญคือ “การอยู่ด้วยกันอย่างเจริญและเป็นประโยชน์ต่อโลก” ดังนั้น ภารกิจหลักของโครงการฯ เราคือ “ทำให้การใช้ชีวิตของลูกพิเศษมีคุณค่าต่อตนเอง คนรอบข้าง และโลก ครอบครัวดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข” นี่คือเป้าหมายซึ่งทำตามหลักการศึกษาบำบัด ชุมชนบำบัด ในแนวทางมนุษยปรัชญาซึ่งเรามีครูเอ๋เป็นผู้ดูแลทางวิชาการ ภารกิจงานเแบ่งออกเป็น งานบุคคลพิเศษวัยเรียน ผ่านการอบรมผู้ปกครอง และ ครู งานบุคคลพิเศษวัยผู้ใหญ่ เป็นงานฝึกอบรม (training) เพื่อพัฒนาบุคคลพิเศษ (อายุ 16 ปีขึ้นไป) และพ่อแม่

ในรายละเอียดปฏิบัติเราไม่ยกเอารูปแบบของต่างประเทศมาเป็นก้อน แต่ออกแบบปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยและข้อจำกัดที่เรามี ฉะนั้นเราไม่มองว่าจะทำแค้มป์ฮิลที่นี่ แต่ทำอย่างไรเพื่อให้เขาอยู่กับครอบครัวได้อย่างปกติสุข ซึ่งมีสองเรื่องที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมเรา คือ ครอบครัวไทยลูกอยู่บ้านจนโต ยิ่งเป็นลูกพิเศษเขาไม่ออกไปไหนแน่ อีกข้อหนึ่งคือ คนไทยเป็นคนใจบุญสุนทานชอบช่วยเหลือ ดังนั้นการประกาศรับอาสาสมัครเข้ามาทำงานร่วมกับบุคคลพิเศษจึงเป็นช่องทางที่นำสังคมภายนอกเข้ามาหา

การทำงานโครงการอรุโณทัยฯ จึงทำงานจัดกระบวนการกับ ครอบครัว สมาชิก (บุคคลพิเศษ) งานที่เกิดขึ้นเป็นไปตามสมาชิกรายบุคคลที่เข้ามาตามแผนพัฒนารายบุคคลบวกแผนพัฒนาครอบครัว เราจะคุยกับครอบครัวสมาชิกว่า ลูกมีเป้าหมายในชีวิตเป็นอย่างไร และทำแผนพัฒนาแต่ละปีเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น มีครูเอ๋เป็นผู้ตรวจแผน แม่เปาเป็นผู้จัดกระบวนการ การที่เราจะพัฒนาลูกเป็นไปตามเป้าหมาย เงื่อนไขใหญ่ที่สุดคือพ่อแม่ต้องเปลี่ยนแปลงด้วยก็เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 19โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 20

สำหรับอาสาสมัคร หรือคณะนำทาง เมื่อเราทำแผนจัดกระบวนรายบุคคล แน่นอนว่าการพัฒนาทักษะทางสังคมเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับลูกทุกคน ดังนั้นการเปิดรับอาสาสมัครเข้ามาทำงานในโครงการฯ คือ การเอาสังคมเข้ามาหาลูกเรา บทบาทของอาสาสมัครสร้างสัมพันธภาพแบบเพื่อนร่วมงาน ต่างคนต่างทำงานกันไป ผ่านงานทอผ้า งานปั้น งานไม้

แม่เปาดูแลอาสาสมัครเหมือนดูแลลูกอาจมีสัมพันธภาพที่เราจัดให้ เช่น สมาชิกของเราต้องสอนงานทอผ้าหรืองานไม้ที่เขารู้ให้อาสาสมัคร บทบาทของสมาชิกคือแชร์ในสิ่งที่เขารู้ อาสาสมัครแชร์ ใจ สัมพันธ์ ไมตรี อัธยาศัย แชร์ตัวอย่างบุคลิกภาพที่ดีของเพื่อน นี่เป็น Social Therapy ที่เราจัดให้

กระบวนการเตรียมอาสานี่เรารับตั้งแต่ปีแรก ก่อนมีสมาชิกคนแรกมาฝึกงาน เราต้องฝึกอาสาสมัครให้เข้าใจก่อน เพราะนี่มันเป็นสิ่งใหม่ พื้นฐานจิตใจอาสาที่เข้ามาทุกคนนี่อยากทำบุญ สร้างกุศล แต่เราไม่ได้ให้เข้ามาทำกุศล คุณไม่ต้องช่วยเหลือเขาหรือสงสาร แต่เอาสิ่งที่คุณมีดีๆ มาแชร์กัน

คุณภาพของอาสาสมัครที่ต้องการคือ ใจสงบ แต่กว่าจะทำให้ใจสงบกันได้ก็ต้องทำงานด้วยกันหลายครั้ง เพราะอาสาสมัครส่วนใหญ่มาด้วยจิตใจอันวุ่นวาย (หัวเราะ) มาด้วยการสื่อสารเกาะตัวมา เราขอสามชั่วโมงไม่ใช้โทรศัพท์นี่เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องต้องมาทำความเข้าใจกัน

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 21

เราจัดอาสาสมัครให้มาสัปดาห์ละครั้งเหมือนกับลูกเรา พยายามให้เจอคนเดิม เพราะกว่าลูกเราจะมองเห็นอาสาสมัครก็ใช้เวลาหลายครั้ง กว่าอาสาจะใจสงบได้คุณภาพก็ใช้เวลาหลายครั้ง การสร้างสัมพันธภาพก็อีกหลายครั้ง เราจึงขอให้อาสามาทำงานติดต่อกันอย่างน้อย 15 ครั้ง ต่ำกว่านั้นไม่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย สิ่งที่เราตอบแทนอาสาสมัครคือ การได้มาดูแลภาวะภายในของตัวเอง ดูแลร่างกายผ่านงานหัตถกรรมไม่ว่าจะลูกพิเศษหรืออาสาก็เหมือนกันในกระบวนการทอ เราให้การเยียวยาเขาได้ คนที่ว้าวุ่นหรือไฮเปอร์แอคทีพ ให้งานที่ตรงข้ามเพื่อเบรคเขาลง หรือช่วงที่อารมณ์เขาแย่ เราก็รู้ว่าต้องให้เขาทำงานกับสีอะไร 15 ครั้งนี้ ถ้าผ่านได้ ส่วนใหญ่ก็อยู่ต่อได้ทุกคน แต่ถ้า 4 – 5 ครั้งแล้ว ยังไม่รู้สึกสุขใจที่มาทำงานที่นี่ เขาก็จะออกไปเอง เช่นเดียวกันกับสมาชิกถ้าพ่อแม่ไม่สะดวกใจไม่สบายใจ ก็จะไปเราไม่ได้ผูกมัดด้วยสัญญาอะไร

และเรานับถือความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่ก้าวก่าย ในส่วนที่จะพัฒนาเขาก็เป็นอิสรภาพของเขา ถ้าเห็นด้วยก็เปลี่ยนแปลงพัฒนา ถ้าไม่เห็นด้วยเขาก็ไม่เปลี่ยนแปลง คุณภาพที่เราให้คือ “เขาเปลี่ยนของเขาเอง” ยิ่งสมาชิกหรือลูกเรานี่ เขาจะเปลี่ยนหรือไม่ จะทำหรือไม่ทำอะไร เราวางแผนให้ก็จริง แต่ให้เกียรติเขาในการเลือก เขาต้องคิดเองทำเอง โครงการฯ นี้ เลยมีเจ้าหน้าที่คนเดียวคือ แม่เปา ผู้ออกแบบและจัดกระบวนการ คนที่ลงมือทำงานส่วนใหญ่ คือ พ่อแม่

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 22

จากปี 2557 มาถึงทุกวันนี้ แนวทางก็เป็นไปตามตั้งใจ ภาพที่เกิดขึ้นมีชีวิตชีวามาก แต่ละคนมีรายละเอียด แต่ละบ้านเหมือนหนังคนละแนว สำหรับผู้วางกระบวนการก็สนุกมาก สมาชิกแต่ละคนมีการเติบโตมากน้อยต่างกัน สิ่งที่เราเห็นคือเขาเติบโตทั้งภายในเขาเอง การตระหนักรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของคนรอบข้างเพิ่มขึ้น ที่เราแน่ใจอย่างหนึ่งว่าสมาชิกของเราเติบโตทุกคน คือการที่เห็นครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตที่ดีด้วย ตื่นมาไม่โกลาหล ก่อนหน้านี้ทุกคืนก่อนหลับตาลงนี่คือเตรียมใจเจอหายนะในวันรุ่งขึ้น ถ้าเขาอยู่ที่นี่แล้วคิดอย่างนี้น้อยลง แสดงว่าชีวิตเป็นปกติสุขมากขึ้น”

เชื่อมโยงตัวตนกับโลก

“เราทำงานพัฒนาบุคคลพิเศษโดยใช้ Curative Education และ Social Therapy งานทอ ไม่ใช่แค่งานทอ มันมีกระบวนการหลายอย่าง ก่อนทอก็มีที่มาของเส้นด้าย ฝ้ายมาจากต้นฝ้าย ดอกฝ้ายสีสวย ฟอร์มสวย มาจากไหน ? ฝ้ายปลูกบนดิน เวลาพูดว่าทอผ้ามันเล็กไป ความหมายมันใหญ่กว่านั้น งานนำเขาให้เห็นความเชื่อมโยงของตัวเขา ผู้คนรอบข้าง และโลกนี้ ดินฟ้าอากาศ มีกระบวนการเยียวยาเกิดขึ้น เช่น การที่ผ้าทอไปมีประโยชน์ทำเป็นเสื้อให้แม่ ยิ่งนำความตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเองมากขึ้น อีกคนพ่อแม่ไม่ได้สนใจ แต่ยายชอบมากจะทำงานอย่างไรจากยาย ให้ไปถึงแม่ได้ เป็นต้น งานอย่างนี้เป็นกระบวนการที่เราต้องออกแบบเฉพาะคน มันจึงไม่ใช่แค่การมาทอผ้า

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 23โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 24

การคัดเลือกอาสาหรือเราเรียกว่าคณะผู้นำทาง ก็ดูว่าเหมาะกับตรงไหนคือสามารถนำทางพัฒนาตามแผนของสมาชิกคนนั้นได้หรือเปล่า งานอาสามีทั้ง ทอผ้า แกะสลักไม้ ปั้นดิน เราจัดลงวันที่เขามีประโยชน์เอื้อกันและกัน จะไม่จัดตารางไว้ก่อน บุคคลพิเศษในวัยผู้ใหญ่เขาเลือกบุคลิกลักษณะที่เขาอยากเป็น คล้ายเลือกตัวละครที่ชอบซึ่งมีบุคลิกภาพบางอย่าง ความเก่ง ความเท่ มีเสน่ห์ ฯลฯ บุคลิกเหล่านั้นต้องอาศัยการฝึกฝน อดทน อาสาสมัครก็มีส่วนในการเป็นต้นแบบ หรือตัวกระตุ้นให้เขาเห็นความสำคัญฝึกฝนให้มีบุคลิกลักษณะที่ต้องการ

งานของสมาชิกที่พัฒนากันนี้เป็นแผนตลอดชีวิต ฉะนั้นมีอะไรมากมายที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา การเติบโตของโครงการฯ ขึ้นอยู่กับพวกเขาไม่ใช่เรา เขาต้องการอะไรในการใช้ชีวิต โครงการฯ คือผู้ช่วยวางแผนออกแบบสนับสนุนเพื่อการไปถึงเป้าหมาย โดยเราไม่ตั้งธงไว้ก่อน ดังนั้นครอบครัวทำงานไปกับเราตามแผนที่คุยกัน ถ้ามีเหตุการณ์หรือผลไม่ตรงตามความคาดหมายก็มาปรับแผนกัน ทุกคนจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการทำงานของครอบครัว เราเป็นไกด์นำทางที่มีหลักวิชาการชัดเจน”

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 25

แสงสว่างยังอยู่กับเรา

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษฯ ทำหน้าที่เป็นขุมพลังส่องแสงนำทางให้หลายครอบครัวเติบโตไปด้วยกัน โดยไม่มีใครล่วงรู้ ลูกเปาหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญที่ทำให้แม่เปามุ่งมั่นเรียนรู้และก่อตั้งโครงการฯ นี้ จากไปอย่างกระทันหันในวัย 25 ปี เมื่อต้นปี 2560

 

“แม้ว่าเขาจะจากไปแล้ว แม่ก็ยังทำงานต่อไป เขาอยู่ก็เป็นตำราให้เราเรียน

เมื่อจากไปก็ทำให้เพื่อนๆ สมาชิกได้รู้ว่าความตายคืออะไร

นี่เป็นเรื่องจริงที่วันหนึ่งเขาต้องเผชิญทุกคน”

 

“เป้าหมายของชีวิตที่เราเคยตั้งด้วยกันกับลูกเรา พอเขาไม่อยู่แล้วกลายเป็นเรื่องท้าทาย เราจะทำอะไรดี งานที่เราตื่นมาทุกเช้าและอยากทำ คำตอบคือโครงการอรุโณทัยฯ นี่แหละ ที่เรายังรู้สึกว่าตื่นมาทุกเช้า เราตื่นเต้นที่จะทำ โจทย์ที่ท้าทายยังอยู่ เราจะมีแค้มป์ฮิลได้อย่างไรในประเทศไทย ในรูปแบบที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขานี่ จะมีได้ไหม คือพื้นที่ให้ลูกๆ เราได้มีศักดิ์ศรีเยี่ยงมนุษย์ ท่ามกลางข้อจำกัดทุกอย่างที่เรามองเห็น ส่วนชีวิตทางสังคมเราได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ เวลาที่เรามีไอเดียขึ้นมาจะแชร์กับใคร มีคนเอาด้วย เราคิดว่าแค่นี้เพียงพอแล้ว ก็เลยทำต่อ

เป้าหมายปีนี้เราเพิ่งเริ่มรับสมาชิกที่ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง เพราะอยากขยายงานทั้งด้านภารกิจและเงินทุนที่เราใช้ระบบแชร์ ริเริ่ม Mentoring Program เป็นโปรแกรมพี่เลี้ยงให้ครอบครัวที่ผู้ดูแลหลักเสียชีวิตไป พี่น้องหรือญาติ ที่ต้องดูแลบุคคลพิเศษต่อจะดูแลอย่างไร และปลายปีจะมีเวิร์คช้อป family guardian สำหรับบุคคลพิเศษ 5 ครอบครัว ลองดูซิว่ามีครอบครัวที่สนใจเรื่องการนำทางไหม”

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 26

ฉันเชื่อว่า แสงอาทิตย์ยามเช้าของโครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษนี้จะส่องสว่างต่อไป ไม่ใช่เพียงเพื่อครอบครัวที่มารวมตัวกันเท่านั้น แต่จะโอบอุ่นเป็นความหวังแก่สังคมของเรา ให้เชื่อมั่นในพลังความรัก ความมุ่งมั่น ร่วมกันสร้างครอบครัวและสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

 

ขอขอบพระคุณ

ภาพประกอบบางส่วนจาก โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

นรรณ (แม่อ้อ) วงศ์พัวพันธุ์

บรรณาธิการ

แม่ที่ชอบเล่าเรื่อง และเชื่อว่าทุกคนมีแสงสว่างของตัวเอง

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก