วงปีของไม้ที่โตช้า แต่แข็งแรง

*ในปีหนึ่งๆ ไม้จะโตมากน้อยเพียงใด สังเกตได้จากวงปี คือ ถ้าโตเร็ววงจะซ้อนกันห่างๆ แต่ถ้าโตช้าวงจะซ้อนกันชิดมาก ไม้ที่มีการเจริญเติบโตสม่ำเสมอนั้นจะมีความแข็งแรงดีกว่าไม้ที่โตเร็วกว่าธรรมดา เพราะไม้ที่โตเร็วกว่านั้นเนื้อจะอ่อน ไม่แข็งแรง แต่ถ้าไม้โตช้า เนื้อไม้มักแข็งแรงมาก

ที่มา : งานไม้ (Wood Work) ม.ราชภัฏสกลนคร

Byte Wood คือ งาน Wood Workshop งานไม้ทำมือที่มีตั้งแต่ เครื่องใช้ ของตกแต่งบ้าน จนถึงเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก จากช่างไม้บุคคลพิเศษ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของ คุณอิทธิ ทักษิณวัฒนานนท์ (ไบท์) ช่างไม้ และ คุณอรพรรณ ทักษิณวัฒนานนท์ (แม่ไก่) ผู้ช่วยช่างไม้และนักออกแบบ

Byte Wood 2

ทำความรู้จักช่างไม้ คุณอิทธิ ทักษิณวัฒนานนท์ (ไบท์)

อาชีพ ช่างไม้ : ผมพอทำมาหากินได้ได้ฮะ ทำตามแบบก็เข้าใจอยู่ ไม่ยากมาก …ถ้าไม่มีแบบ ออกแบบเองก็พอได้บ้าง เคยลองทำหลายครั้ง แต่ออกมาเกือบเละ

Byte Wood 3

งานอดิเรก : ผมคิดแต่งเรื่องต่างๆ อยากสร้างตัวละคร อยากให้คนรู้จักตัวการ์ตูนของผม เป็นเล่ม เป็นแฟนอาร์ต ชอบเขียนเรื่อง ไม่ถนัดวาดรูปเท่าไหร่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการหาโครงเรื่องใหม่

Byte Wood 4Byte Wood 5

ชอบทำอาหาร มีเมนูอร่อยคิดเอง ตอนเริ่มทำอาหารก็ลองทอดไข่ให้แม่ เมนูเด็ดใบแนมหูเสือผัดกับหมูปั้นเป็นก้อนกลมๆ กับเมนูใบยี่หร่าผัดกับเอ็นไก่ บ้านเราปลูกยี่หร่าเอง

 

Byte Wood 6

ท่องโลกอินเตอร์เน็ต ผมชอบไปหารูป ดาวน์โหลดรูปมาเก็บบ้าง ชอบรูปอาร์ต อ่านมังงะ หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต อ่านข่าวสารต่างๆ ชอบช่องคอมมิคเวิร์ด เวลาอ่านข่าวบางทีผมไม่อยากเชื่อว่า ในโลกนี้เรื่องแค่นิดเดียวก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ในโซเชียล มันต้องมีการควบคุม คนทำอะไรนิดนึงก็วิจารณ์ก็เป็นข่าวแล้ว ผมพยายามไม่ให้เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงตัวเองไม่ให้เกิดขึ้น

Byte Wood 7

เพื่อน : ผมไม่ค่อยคุย เป็นพวกเก็บเนื้อเก็บตัว คือไม่ได้เดือดร้อนพยายามหา ตอนไปห้างฯ ผมทำตัวเฉยๆ ไม่อยากให้คนมาจ้อง วันหยุดผมก็ไปทานข้าว ดูหนังกับครอบครัวบ้าง

Byte Wood 8

ก่อนเป็นช่างไม้

ในวัยเด็กช่างไบท์มีภาวะออทิซึ่มระดับไม่รุนแรง (แพทย์ใช้คำว่า Mild Autism) มีภาษาพูด ครอบครัวให้เข้าเรียนร่วมในโรงเรียนแนวทางการศึกษาวอลดอร์ฟ จนกระทั่งถึงระดับมัธยมศึกษาโรงเรียนให้คำแนะนำกับครอบครัวว่าควรให้ช่างไบท์ใช้เวลาฝึกทักษะชีวิตสำคัญๆ จะเป็นประโยชน์มากกว่าเรียนต่อในระบบ

Byte Wood 9

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่คุณอรพรรณ (แม่ไก่) ตั้งคำถาม ค้นหาทางเส้นทางใหม่ และสุดท้ายเปลี่ยนแปลงตัวเองจนกระทั่งมี Byte Wood ในวันนี้

คุณอรพรรณ : ตอนที่ช่างไบท์ออกจากโรงเรียนช่วงแรกแม่ยังทำงานอยู่ ที่ผ่านมาเราก็ทำงานมาตลอดชีวิต มีหน้าที่การงานที่พอใจ การออกจากงานประจำมาประกบลูกนี่ มันนึกไม่ออก ไม่เข้าใจ ฉันทำไม่ได้หรอก และไม่เห็นประโยชน์เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ ซึ่งมันก็จริงกว่าจะทำได้อย่างวันนี้ก็ผ่านมาเป็นสิบปี มันต้องอาศัยอะไรหลายอย่าง มองย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็กมันเป็นแต้มต่อที่สำคัญมาก ถ้าพ่อแม่เข้าใจด้วยหัวใจจริงถึงประเด็นนี้ นี่เป็นช่วงทองของลูกเลย ถึงแม้ว่าช่างไบท์โชคดีที่มีภาษาสื่อสารได้ แต่อาการเบสิคแบบออทิสติกก็มีครบถ้วน เช่น การวิ่งไป วิ่งมา ไม่มองหน้าคน ทักษะการเชื่อมโยงประสบการณ์ต่างๆ ขาดๆ เกินๆ ซึ่งกว่าเราจะผ่านมาก็เหนื่อยยากและทุลักทุเลไม่น้อยเลย

ช่วงที่ออกมาจากโรงเรียนแรกๆ ก็พาเขาเรียนหลายอย่างดูว่าจะไปทางไหนได้ งานปั้น งานเซรามิก งานไม้ ซึ่งเขามีพื้นฐานเคยเรียนมาตั้งแต่อยู่โรงเรียนบ้างแล้ว อยู่บ้านเราก็สอนคณิตศาสตร์ (ที่เป็นส่วนที่เขาบกพร่องที่สุด) และวิชาการ อื่น ๆ แต่สอนกันแบบเครียดๆ นะ สุดท้ายพี่เลี้ยงที่เขาดูแลช่างไบท์ใกล้ชิดต้องกลับบ้านประจวบกับออฟฟิศงานออกแบบของเราที่ลงทุนกับเพื่อนปิดตัวลง เราจึงมีเวลา แต่ก็ยังมองไม่เห็นหนทางชัดเจน

ค้นหา จนพบแสง

คุณอรพรรณ : คิดว่ามันเป็นเรื่องชะตาลิขิต (destiny) ที่ทำให้เราออกเดินทางจนได้มาร่วมเป็นสมาชิกโครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเราเริ่มหยุดเดิน คือไปต่อไม่ถูกแล้ว แต่ก็ตั้งคำถามและคิดว่าเราต้องทำอะไรบางอย่าง เริ่มจากเสาะหาครูการละครบำบัดเพราะจำได้ว่าตอนอยู่โรงเรียนช่างไบท์ชอบเล่นละคร ซึ่งต้องให้แพทย์เขียนใบส่งตัว ปรากฏว่าจิตแพทย์ที่เราพบเป็นเพื่อนผู้ปกครองโรงเรียนเดียวกัน ก็แนะนำคนนั้น คนนี้ แนะต่อๆ กันมาจนได้พบ น้าแมว (แม่เปา โครงการอรุโณทัยฯ) ทุกวันนี้ช่างไบท์ก็ยังไม่ได้คิวพบนักละครบำบัดเลย แต่กลายมาเป็นช่างไม้ซะแล้ว

สามปีที่ผ่านมาการที่แม่และช่างไบท์มาที่โครงการอรุโณทัยฯ เกือบทุกสัปดาห์ มันคือการเดินทางเป็นร้อยๆ ครั้ง เพื่อมาเรียนรู้ ซึมซับ สิ่งที่น้าแมวทำให้เราดู ซึ่งคิดว่าสำคัญมาก

เราค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมีสายตาที่มองเห็น

และยอมรับลูก อย่างที่เขาเป็น

ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น จากที่นี่

เส้นทางช่างไม้

คุณอรพรรณ : ช่างไบท์เขาไม่สนใจงานปั้นดิน หรือทอผ้า ของน้าแมวเลย แต่ช่วงนั้นเขาฮิตแต่งเรื่องแต่งนวนิยาย เขาชอบภาษาที่สละสลวย และมีคลังคำเยอะจากการที่เราอ่านวรรณกรรมให้เขาฟัง หัดให้เขาอ่านออกเสียงเอง เราช่วยฟัง ช่วยแก้คำ จนเขาอ่านเขียนเองได้ ไปไหนก็หนีบแฟ้มนิยายไปด้วย วันที่มาพบน้าแมวเขาไม่ทำงานอื่น แต่ขอให้น้าแมวอ่านและแนะนำก็เลยตกลงกันว่า น้าแมวจะอ่านให้ในฐานะบรรณาธิการเรื่อง โดยช่างไบท์ทำงานไม้แลกเปลี่ยนกับค่าจ้างอ่านต้นฉบับ เป็นตู้ไม้ใส่กรวยไหมจำนวน 1 ตู้ ต่อค่าบรรณาธิการ 10 ตอน ซึ่งเรื่องแรกจบไปที่ 104 ตอน

Byte Wood 10 Byte Wood 11

ดังนั้นทุกวันพฤหัสฯ แม่และช่างไบท์จะมาที่โครงการฯ เปิดเวิร์กชอปงานไม้เพื่อทำตู้ไม้ให้น้าแมว ต่อมาน้าแมวให้ช่างไบท์สอนจิตอาสาที่เข้ามาทำงานกับบุคคลพิเศษในโครงการฯ ทำงานไม้ เริ่มด้วยทำกล่องใส่จดหมาย ซึ่งอาสาเขาไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานไม้เลย เริ่มตั้งแต่ ตัดไม้เอง ขัดไส ตอกตะปู ซึ่งช่างไบท์สอนได้เพราะเราทำต้นแบบขึ้นมาเองที่บ้านก่อน ก็ถือเป็นการเกิดงานชิ้นแรกๆ ของ Byte Wood

จุดเปลี่ยน คือแม่

คุณอรพรรณ : การเปลี่ยนแปลงเริ่มจาก เรายอมรับเขาอย่างแท้จริง พูดอย่างนี้เหมือนประโยคง่ายๆ ที่เราก็รู้กันอยู่แล้ว เป็นลูกเราจะไม่ยอมรับได้อย่างไร แต่ไม่ใช่เลย

ก่อนนี้เรายังคิดอยู่เสมอว่า
วันหนึ่งเขาจะเปลี่ยนไป อาจจะหายดี เขาจะเรียนจบอะไรซักอย่าง จะกลายเป็นชายหนุ่มที่มีอนาคตมั่นคง เราคงต้องรอ ชายหนุ่มคนนั้นเดินกลับมา จากที่ไหนซักที่หนึ่งเท่านั้น

แต่วันที่ประจักษ์แก่ใจ ว่าจะไม่มีชายหนุ่มคนนั้น มีเพียงคนๆ นี้
มันคือช่วงเวลาง่ายๆ นะ คือทะเลาะกัน โกรธกันอยู่ เรายังไม่เลิกลา แต่เขาโผล่หน้ามา “แม่กินข้าวกัน” นี่เขาจบไปแล้ว ไม่ได้เก็บอารมณ์อะไรมาเลย วินาทีนั้น เราประจักษ์เลย

เขาเป็นของเขาอย่างนี้มานานแล้ว

เป็นตลอดมา และจะเป็นอย่างนี้

ตลอดไป นี่คือเขาไง

จังหวะแบบนี้เราต้องนิ่งมากพอที่จะเห็น ซึ่งไม่มีทางเลย ถ้าเรายังมีงานอื่นพะรุงพะรัง เป็นจุดที่เราเลิกผลักเขาไปเป็นคนอื่น ซึ่งไม่ใช่ปล่อยปละละเลยนะคะ แต่ยอมรับสิ่งที่เขาเป็น และช่วยให้เขาดีขึ้น

Byte Wood 12

ช้าๆ สะสมวงปี

คุณอรพรรณ : ความกังวลของพ่อแม่คือเริ่มแก่แล้ว ช่วงแรกเราพยายามให้ Byte Wood เป็นกิจการของเขาคนเดียว เขาต้องทำเอง เรียนรู้เอง ให้ซื้อไม้ เลือกคัดไม้เอง ตอนนั้นยังไม่เก่งเท่าตอนนี้ด้วยนะ งานไม้ไม่ใช่แค่ใช้เครื่องมือเป็นก็เป็นช่างไม้ได้ งานมันประกอบกันหลายอย่างมีการจัดการเยอะมาก ซึ่งเป็นกระบวนการเบ็ดเสร็จ ช่างไม้ทั่วไปเขาเรียบเรียงและยืดหยุ่นได้ แต่ช่างของเราเขายืดหยุ่นไม่ได้ ไม่มีไม้ คือไม่มีไม้ ทำงานต่อไม่ได้

แต่เพราะคำพูดน้าแมวที่ว่า “เรามีเวลาอีกเยอะช้าหน่อยก็ได้ไม่ต้องรีบ” ทำให้เราเลิกเร่งรัด เลิกกระวนกระวาย

Byte Wood 13

บางอย่างเราก็เลยถอย บางครั้งเตรียมของให้หมด บางครั้งก็ให้เขาเตรียมเอง เราตื่นมาทำงานซ้ำๆ ทุกวัน ซึ่งมันไม่ได้ดีขึ้นทุกวัน บางวันก็เตรียมของมาครบ บางวันก็ขาด ทำงานไม่ได้เลย ก่อนหน้านี้เราไม่เข้าใจก็โมโห ลุกเป็นไฟ แต่พอเราเห็นว่าเขาพัฒนา เขาต้องเรียนรู้ในการทำซ้ำๆ ทำให้เรามีกำลังใจ คลายความเครียด นี่คือตัวอย่างการทำงานที่ครอบครัวต้องทำงานเอง น้าแมวหรือโครงการฯ ทำหน้าที่นำทางเท่านั้น

Byte Wood 14

ตอนนี้เรามีแค่บทบาทเดียว คือแม่ของช่างไม้ ช่วยช่างไม้ทำงาน ออกแบบโครงสร้างที่ง่ายต่อเขา เราเปลี่ยน ลูกก็เปลี่ยนตาม แรกๆ พ่อของลูกไม่ค่อยเห็นด้วยที่เราลงไปประกบการทำงานของลูกมาก แต่เราเองก็กำลังเรียนรู้บทบาทที่พอเหมาะเหมือนกัน ทุกวันคือการเรียนรู้หมด พอทำแล้วปรับออกมาเหมาะสม พ่อเขาก็เข้าใจมากขึ้น

สิ่งที่เราเปลี่ยนไป คือยอมรับว่าตัวเองแก่แล้วก็จริง แต่ยังไม่รีบตาย วันนี้ พรุ่งนี้ และ ต่อจากนี้ไป ชีวิตเราไม่มีงานอื่นนอกจากงานนี้ และเราฝึกรู้จักรอ การดูแลงาน บางมิติต้องปล่อยเขา บางมิติต้องเข้าไปกำกับ บางจังหวะต้องทับซ้อน มันเป็นศิลปะการใช้จังหวะ

เจ้าไม้เนื้อแข็ง

คุณอรพรรณ : เราจบมาทางด้านออกแบบตกแต่งภายใน ได้เรียนงานไม้นิดๆ หน่อยๆ ซึ่งไม่ชอบเลย พอมาเป็นผู้ช่วยช่างไม้ก็ต้องเขียนแบบ แรกๆ หนึ่งแผ่นมีรายละเอียดทุกอย่างในนั้น ต่อมาค่อยย่อยทีละขั้น ให้มันดูง่าย ตามคำแนะนำของน้าแมว ที่เห็นว่าช่างไบท์เขาดูและเข้าใจได้ทีละภาพ เราจึงเปลี่ยนวิธีเขียนเป็น 1 ภาพ ต่อ 1 แผ่น แม่เองซะอีกที่งานขึ้นเป็นตู้แล้ว ยังมองลูกไม่ออกเลย

Byte Wood 15Byte Wood 16

เราค่อยๆ ค้นพบวิธีทำงานที่เหมาะกับเขามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ยืดหยุ่นเวลาทำงาน จากตามเวลาเป๊ะเหมือนออฟฟิศ ก็ปรับ เพราะเขามีความสุขกับการเตรียมทำอาหารกลางวัน ซึ่งพ่อจะกลับบ้านมาทานด้วยกัน มีช่วงหย่อนใจ นอนพัก พอตื่นมาบ่ายแก่ๆ นี่คือช่วงไพร์มไทม์ของเขาที่ทำงานได้ยาวๆ

Byte Wood 17Byte Wood 18

การทำงานเขานึกเองทั้งหมดไม่ได้ เราก็ตั้งคำถามไปเรื่อยๆ เช่น จะทำงานนี้ ต้องใช้อะไรบ้าง ต้องซื้อไม้อะไรบ้าง ไม้เรามีพอไหม ให้ไปเดินดูในชอปก่อน ซึ่งแต่ก่อนตอบไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้ตอบได้ว่ามีของอะไรอยู่บ้าง มาถามเราว่าเอามาปรับใช้ขึ้นงานนี้ได้ไหม ระยะนี้พัฒนามาเป็น คำถามให้คิดวางแผนขั้นตอนการทำ

เครื่องมือที่ใช้ไฟฟ้า ตอนนี้เขาควบคุมเองได้หลายชิ้น เพราะตัวแม่ลองใช้เองแล้วรู้ว่าปลอดภัย การใช้เครื่องมือไม่ว่าจะเป็น Hand tool หรือเครื่องมือไฟฟ้า ในการทำงานทำให้เขาตื่น รับรู้ ผ่านการทำงาน ตัดไม้มาอันนี้ฉากไม่ฉาก ขนานไม่ขนาน เขาวัดได้ เลือกลายไม้ได้ เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นในวันที่เราเลิกจู้จี้ เขาจัดการปัญหาเล็กๆ ได้ ในวันที่เราปล่อยให้เขาทำ ซึ่งเป็นผลจากการที่เราทำซ้ำบ่อยๆ ด้วยกัน

Byte Wood 19

สิ่งที่เราเห็นคือ เขาทำงานละเอียดขึ้น และสิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ “วันนี้เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง” ลองผิดลองถูกยอมที่จะเสียไม้ไปเยอะ เขาตื่นเต้นกับงานที่ทำได้ดูดีขึ้น ดูเป็นเฟอร์นิเจอร์จริงๆ มากขึ้น แต่ถึงมีงานมารอคิว ต้องเร่งให้เสร็จ เขาก็ยังเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือกิจวัตรไม่ได้ สิ่งที่พัฒนาขึ้นมาหน่อยก็คือ พอลูกค้าตามงาน เดี๋ยวนี้รู้จักพูดต่อรองการส่งงานเป็น

Byte Wood 20Byte Wood 21 Byte Wood 22

ทุกวันนี้เราสนุกสนานในการออกแบบ แก้ปัญหา ทำโครงสร้างอย่างไรให้เขาทำงานได้ การทำเวิร์กชอป Byte Wood ทำให้ลูกอยู่ได้ทั้งในแง่อาชีพ และ ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์

นี่คือวิถีที่เราอ่านจากที่น้าแมวทำให้ดู อยากให้ลูกยืนได้อย่างมีศักดิ์ศรี แม่ต้องหยุดสิ่งที่เคยเป็น เคยทำ และเคยยึดมั่น มาลงมือทำงานพัฒนาตัวตนด้วยกันกับลูก ซึ่งต้องทำแบบมีทิศทางคือ มีกัลยาณมิตรมีรูปแบบทำให้ดู

ลูกคือผู้ที่มาบอกเราและครอบครัวว่า ชีวิตมันมีอีกมิติหนึ่งเป็นอย่างนี้นะ ถ้าไม่มีเขาเราไม่มีทางได้พบมิตินี้ ภารกิจในชาติภพนี้ของเขาคือ พาครอบครัวเดินทางออกมาจากวังวนอลเวงที่เคยเป็น มาตรงจุดนี้ ณ วันนี้

Byte wood คือ การทำงานของเขาและครอบครัว คู่กันไปจนกว่าจะหาไม่

Byte Wood 23

Byte Wood ยินดีรับงานสั่งทำพิเศษตามความต้องการของลูกค้าซึ่งงานทำมือแต่ละชิ้นนี้ต้องใช้เวลารอคอยมากกว่าการซื้อของจากร้านหรือโรงงานทั่วไป เช่นเดียวกับเส้นทางการค้นหาความหมาย คุณค่าของชีวิต และภารกิจของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้และลงมือทำบนความเชื่อมั่นว่า “นี่คืองานที่คุ้มค่าต่อการทุ่มเทและรอคอย

ขอขอบพระคุณ

Byte Wood (fb : @Bytewoodwork) และ โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

นรรณ (แม่อ้อ) วงศ์พัวพันธุ์

บรรณาธิการ

แม่ที่ชอบเล่าเรื่อง และเชื่อว่าทุกคนมีแสงสว่างของตัวเอง

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก