มูลนิธิ ณ กิตติคุณ

โอเอซิส ‘กลางใจ’ ครอบครัวคนพิเศษ

เมื่อ 14 ปีก่อน …
คุณสนทนี นทพล (ครูปุ๊) เปิดโอกาสให้เด็กพิเศษได้เข้าเรียนร่วมในชั้นเรียนดนตรีเด็กเล็กของจินตการดนตรี (ซ.ชิดลม) และเปิดสอนดนตรีให้เด็กพิเศษทั้งแบบรายบุคคลและกลุ่มเล็กๆ ในบริเวณโรงเรียนอนุบาลกิตติคุณ (ในสมัยนั้น) โดยไม่ได้จบการศึกษาทางด้านดนตรีบำบัด และยังจัดให้มีครูสอนศิลปะให้เด็กพิเศษตัวเล็กๆ ได้ฝึกฝนวาดลงสีงานลงบนวัสดุต่างๆ ที่นำไปใช้งานได้จริง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ การ์ด อวยพร ปฏิทิน มีงานนิทรรศการผลงานศิลปะและแสดงดนตรีของเด็กๆ เสมอ
คุณครูและเด็กพิเศษหลายครอบครัวมีความผูกพันต่อเนื่องยาวนาน ความที่คุณครูอารมณ์ดี เข้าถึงง่าย เป็นกันเองกับครอบครัว เข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นคนพิเศษ ที่สำคัญคือ เด็กพิเศษแต่ละคนชอบ และอยากมาหาครูปุ๊กันทั้งนั้น พวกเขารู้สึกเหมือนมีเพื่อน

จนกระทั่งวันหนึ่ง …
เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เหมือนเสียงเรียกจากเบื้องบนให้คุณครูต้องเริ่มภารกิจที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
คุณแม่ท่านหนึ่งโทรมาหา “ไม่อยากอยู่ต่อไปแล้ว ถ้าจะไปก็จะเอาลูกไปด้วย”
คุณแม่อีกท่าน ถามว่า “นี่ถ้าลูกโตแล้ว จะอยู่ที่ไหน มีใครจะรองรับลูกพิเศษที่โตแล้ว พี่น้องได้ไปมหาวิทยาลัย แล้วลูกเราล่ะ ครูต้องทำอะไรสักอย่างนะ”

สิ่งที่คุณครูลงมือทำต่อจากนั้น คือ ริเริ่มก่อตั้ง มูลนิธิ ณ กิตติคุณ เพื่อเป็นพื้นที่ให้ครอบครัวและบุคคลผู้มีความต้องการพิเศษวัยผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาหรือในสังคมโดยลำพัง ได้มีที่ฝึกฝน ทำงานพัฒนาตนเองพร้อมกับกลุ่มเพื่อนที่เข้าใจกัน ผ่านกิจกรรมดนตรี งานศิลปะ เบเกอรี่ เป็นสังคมเล็กๆ ที่ปลอดภัย เป็นที่พักเหนื่อยให้ครอบครัวและผู้ดูแล

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ ในปี 2552 จากรายการหัวใจใกล้กัน : สุนทรียของเด็กพิเศษ

พ.ศ. 2561 มูลนิธิ ณ กิตติคุณ ไม่ได้ขยายงานใหญ่โต แต่ยังคงเป็น ‘โอเอซิสใจกลางเมืองหลวงสำหรับครอบครัวและบุคคลพิเศษ’ และเป็นผู้นำผลงานศิลปะฝีมือของบุคคลพิเศษออกจำหน่ายสร้างรายได้และความภาคภูมิใจแก่เจ้าของงาน ผ่านร้านห้องศิลปะ ณ กิตติคุณ ซึ่งผู้รักงานศิลป์ย่านหอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานครต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี

จากประสบการณ์ทำงานกับเด็กพิเศษ ผู้ใหญ่พิเศษ และครอบครัวต่อเนื่องมามากว่า 14 ปี สิ่งที่ครูเห็นเสมอคือ สมองมีการเรียนรู้ มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ แม้ว่าบางอย่างอาจใช้เวลานานหลายปี แต่พวกเขา มีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นจริง ๆ

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 2คุณสนทนี นทพล (ครูปุ๊)

“จากที่เคยสอนดนตรีมา
เราชอบสอนเด็กพิเศษมากกว่า
เพราะเราชอบวิ่งไปวิ่งมา (หัวเราะ) …

และเราชอบตั้งคำถามว่า
ถ้าเขาทำอันนี้ไม่ได้
แล้วจะทำอย่างไร? เขาถึงทำได้”

 

ถอดบทเรียน 14 ปี

คุณสนทนี (ครูปุ๊) : เดี๋ยวนี้งานต่างๆ ที่เคยทำอย่างนิทรรศการ คอนเสิร์ต เราไม่ได้ทำแล้วค่ะ คนเรามีน้อยและงานต้องใช้แรงในการเตรียมการเยอะมาก พบว่าความสำคัญของการทำงานกับบุคคลพิเศษ คือ แต่ละวันอยู่ได้อย่างมีความสุขไหม และ มีการเรียนรู้ใหม่ๆ อะไรบ้าง เราเห็นอะไรดีในตัวเขาเพิ่มเติมที่จะต่อยอดได้ นิดเดียวก็ยังดี บางคนคิดว่าอายุเท่านี้ ทำได้แค่นี้พอแล้ว แต่รู้ไหมว่าความเข้าใจหลังอายุ 25 จะดีขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะ บางอย่างมันอยู่ข้างในแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ปลดออกมาใช้

บางคนนั่งมาตลอดชีวิต ไม่ได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเลย กว่าจะให้เขาคลายมือและแขนที่หุบให้ออกมาได้บ้างนี่ ใช้เวลา 3 ปี แต่ในที่สุดเขาทำได้ เราต้องช่วยเขา ที่นี่เราให้เดินทุกวัน ออกกำลังทุกวัน อย่างพวกเครื่องเล่นนี่ เดี๋ยวนี้เขาทำได้หมด จากเดิมที่ไม่กล้าเลย การออกกำลังเป็นสิ่งที่คนพิเศษขาดไม่ได้ เพราะมันช่วยทำให้เขาเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ได้ดีขึ้น นี่เรื่องจริง สำคัญมาก ที่บ้านก็ควรให้การออกกำลัง เป็นเรื่องใหญ่

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 3มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 4

คนพิเศษที่อยู่ในมูลนิธิฯ มีทั้งเพิ่มเข้ามาและหายไปบ้าง คนที่มาเพิ่มก็ไม่ได้ให้มาทุกวัน แต่เราจะดูว่า มาวันไหนสภาพเหมาะกับเขา อย่างวันนี้มากันเยอะ ปกติ 30 คนจะสลับกันมา ที่นี่มันไม่ใหญ่มาก มีพื้นที่พอดีๆ ให้พวกเขาได้วิ่ง และเราดูแลทั่วถึง
กิจกรรมทุกๆ วันจะมี ดนตรี ศิลปะ ออกกำลังกาย เป็นหลัก วันพฤหัสฯ เพิ่มทำเบเกอรี่ขึ้นมา และเฉพาะ พฤหัสฯ และ ศุกร์ ช่วงบ่ายจะเป็นชั่วโมงให้เขาฝึกฝน ทำซ้ำสิ่งที่เรียนมาอีกหลายๆ ครั้ง

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 5มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 6มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 7มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 8

ห้องศิลปะ

เราเริ่มจากมีครูสอนสีน้ำ สิ่งที่เราแนะนำครูคือ งานต้องสวย สดใส ต้องพาใจให้อยากทำอีก โจทย์ขอแค่นี้ และเราไม่ขอให้สอนแบบบำบัด คุณคงหาครูสอนศิลปะบำบัดได้ยากมาก เราเองต้องค้นหาว่าวิธีใดเหมาะกับกลุ่มของเรามากที่สุด

ปัจจุบันที่นี่มีครูศิลปะ 4 คนหมุนเวียนมาสอน แต่ละคนมีสไตล์แตกต่างกัน
คนหนึ่งถนัดภาพคลาสสิคให้สอนทำงานเลียนแบบจิตรกรสมัยก่อน เราให้เขาได้เห็นงานสวยๆ แปลงภาพเหล่านั้นออกมาด้วยการทำซ้ำๆ ทำซ้ำจนบางคนที่อาจไม่เคยวาดชิ้นงานได้ในช่วงแรก สุดท้ายเขา ทำได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อทำภาพซ้ำได้เท่ากับเขาเริ่มทำงานได้แล้วมูลนิธิ ณ กิตติคุณ 9มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 10

ครูอีกคนใช้สีเก่งมาก สีสนุก และอยู่ในสมัยนิยมเสมอ อีกคนทำภาพที่มีการเคลื่อนไหวได้ดี ล่าสุดมีครูสอนวาดเส้น ครูจะเน้นให้เขาเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น โดยมีครูเป็นผู้แนะ บางคนอาจยังคิดเองไม่ออก แต่ก็มีบางคนคิดออกเราก็มีพื้นที่ให้เขาคิดและทำเองได้ บางคนที่มักวาดซ้ำๆ เช่น วาดเฉพาะ นก หรือ ปู เราก็ให้ดูภาพ อื่นๆ ให้จำภาพ และวาดออกมาเอง ในห้องเรียนนี้เราเห็นว่าเขามีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก แต่นั่นเพราะเขาถูกเตรียมมานานแล้ว นี่เป็นการย้อนกลับไปหาพื้นฐานของการวาด เรื่องการทำงานกลับไปกลับมา ข้ามขั้นตอนไปบ้าง กลับมาที่เดิมบ้าง เป็นเรื่องปกติของเรา การทำงานมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นเสมอ และถึงต้องใช้เวลา เราก็ยินดีรอและมุ่งทำต่อไป

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 11มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 12

ในส่วนของงานศิลปะหน้าที่ของครูปุ๊ คือดูพวกเขารายบุคคลและพูดคุยกับครูว่าใครควรให้งานอย่างไร หรือควรเพิ่มเติมปรับแนวทางการสอนอย่างไร เราเป็นคนเลือกชิ้นงานออกไปผลิตและจำหน่ายซึ่งช่วงแรกใช้วิธีการพิมพ์งานทำซ้ำออกมา แต่ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเราใช้งานต้นฉบับเลยเพราะเรามีเยอะมาก คือ เขามาอยู่ตรงนี้ 6 ชั่วโมง เขามีงานตลอด คนที่มาที่นี่ครั้งแรกจะไม่ชอบหรอก เพราะเราจัดงานให้ทำตลอด ต่างจากที่เขาอยู่บ้านเฉยๆ แต่พอมาทำทุกวันเขาจะรู้ว่า มาที่นี่คือมาทำงาน แต่เป็นการทำงานที่สบายใจ ไม่ได้หักโหม ทำ ๆ พัก ๆ

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 13

การออกกำลังกาย

หลานสาวของครูปุ๊ที่เป็นนักกีฬาเข้ามาช่วย เขาเติบโตมากับบุคคลพิเศษ มีบุคลิกที่ไม่ยอมแพ้ แม้คนพิเศษจะงอแง หรือไม่ยอม เขาก็จะช่วยจนทุกคนสามารถทะลุผ่านเป้าหมายไปได้ เราไม่ได้เรียนในลักษณะของกีฬาที่มีกติกา แต่เป็นการออกกำลังเพื่อช่วยกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่ต้องการการแก้ไขจริงๆ มีการปรึกษากับนักกายภาพที่ยินดีช่วยแนะนำให้

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 14มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 15

ห้องดนตรี

ครูปุ๊ได้หลานสาว หลานชายที่จบดนตรีจากม.มหิดล มาช่วยสอนดนตรี ในส่วนที่เน้นทักษะ ในเรื่องการเล่นเป็นวง เรื่องของจังหวะ การฟัง ให้ทำแล้วทำอีก ฝึกฝนให้ได้จริงๆ

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 16มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 17

ในส่วนที่เราสอนเองจะใช้เพลงร้องเพื่อช่วยการเรียนรู้ใหม่ๆ การออกเสียง การเปล่งคำ ความหมาย ท่าทางต่างๆ ทำอย่างไรให้มีลีลาดี ลื่นไหล สวยงาม เพราะคนพิเศษนั้นมักจะแข็งเกร็ง และมีข้อจำกัดในการทำท่าทาง ก็ต้องฝึกซ้ำๆ ดังนั้นพวกเขาเป็นคนกำหนดว่า เราควรทำเพลงออกมาอย่างไรเพื่อช่วยแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 18

บางคนก่อนที่เราจะสอนเปียโน เขาควบคุมมือแทบไม่ได้ ผ่านไป 7 – 8 ปี เขาก็เล่นเพลงและจำเพลงได้ดีมาก เดี๋ยวนี้เราเล่นให้ฟัง 2-3 ครั้ง เขาจะเล่นตามได้ นิ้วทำเมโลดี้ได้เลย บางคนเดี๋ยวนี้อ่านโน้ตเป็นแล้ว ความอยากทำจะแสดงออกมาเองเมื่อเขาพร้อม บางคนใช้เวลา 7 ปี กว่าจะตีแทมเบอรีนได้

7 ปี 8 ปี 9 อยู่ที่เราแล้ว ว่าจะรอไหม จะท้อไปก่อนหรือเปล่า

จากการเล่นดนตรี เราดูว่าสมองทำงานไหม
ไม่ใช่ว่าเล่นดนตรีได้ไหม

จากที่นิ่งเฉย จนเริ่มมากระดิกนิ้วทั้งสิบนี่สำคัญมาก
เมื่อเราเห็นการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าสมองเขาเรียนนะ

 

ห้องเบเกอรี่

สิ่งที่ครูปุ๊ทำได้คือ ดนตรี และ ศิลปะ ทำแค่นี้ อย่างอื่นทำไม่เป็น นานมาแล้วเพื่อนฝรั่งขอเข้ามาสอนทำ เบเกอรี่ ตอนแรกเราเห็นว่าพวกเขายังเรียนไม่ได้ เราก็รอผ่านไป 7 ปี พอพวกเขาพร้อมแล้วจึงค่อยเริ่ม พร้อมหมายถึง นิ่งและฟังเป็น สามารถทำตามคำแนะนำได้ ห้องเบเกอรี่กลายเป็นห้องที่เรียนสนุกมากเพราะเมื่อจบจะมีของกิน …ต้องขอบคุณ คุณมาร์ซี่ มิโนมิยา เพื่อนแสนดีของเราชาวแคนาดา คุณยายที่หัวใจไม่ยอมแพ้ อายุกว่า 72 ปี แต่ยังมาเป็นโค้ชดูแล สอนเราอบขนม และสอนให้ครูของเราสอนต่อได้

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 19มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 20

ร้านของเรา
(โต๊ะเล็กๆ ในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร)

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 21

การมีร้านเป็นที่ปล่อยผลงานของพวกเขาเป็นเรื่องจำเป็น เราโชคดีที่ได้ ป้าติ๋ว มาช่วยดูแลร้าน ซึ่งเขามีสายตาเห็นงานแล้วรู้เลยว่าชิ้นไหนสวยคนน่าจะชอบ ป้าติ๋วเป็นคนที่เชียร์เก่งภูมิใจและรักสินค้าที่ทำจากมือบุคคลพิเศษและจริงใจมาก งานที่เลือกไปส่วนใหญ่ก็ขายได้ดี เราทำบันทึกว่าชิ้นไหนใครเป็นคนเขียนเพราะรายได้ต้องจัดสรรให้เจ้าของงานด้วย

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 22มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 23มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 24

ตัวครูปุ๊เองไม่ได้ทำงานนี้ตลอดเวลานะคะ จะสอนแค่วันละชั่วโมง เราจำเป็นต้องจัดสรรให้ชีวิตเรามีงานส่วนอื่นๆ มาหล่อเลี้ยงพลังสร้างสรรค์ ทำให้ชีวิตเราสนุก ก็มีทั้งงานเขียนหนังสือ เขียนคำประกอบการ์ตูนเป็นเรื่องราว อย่างหนังสือหรรษาลันลา นี้เป็นการรวมเพลงที่เราเขียน เพื่อใช้ในการสอนคนพิเศษและเด็กเล็ก ด้วยเป้าหมายต่างๆ กัน เช่น มีคำบางคำที่เขาพูดไม่ชัด เราอยากให้เขาพูดคำนี้ได้ ในเพลงเราจะให้ออกเสียงทำคำนั้นบ่อยๆ ถ้าคนมาฟังเพลง อาจสงสัยว่าทำไมคำซ้ำจังเลย แต่มันจำเป็นสำหรับพวกเขา หนังสือทำไว้สำหรับพ่อแม่หรือครูนำไปสอนเองได้ เราส่งให้โรงเรียน สถาบันต่างๆ ที่จะได้ใช้ ประโยชน์ และตอนนี้กำลังเขียนเล่มใหม่

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 25

สองมือ และ หัวใจ

โลกที่มีอินเตอร์เน็ต ทำให้เราเข้าไปหาความรู้เองได้ ตามอาการของบุคคลพิเศษที่อยู่กับเรา เราก็ไปตามเรียนมา และเรียนรู้จากผู้ปกครอง เวลาผู้ปกครองมาคุยเราต้องตั้งใจฟัง เพราะเขามีความเข้าใจมากกว่า เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับเขาทุกเรื่องก็ไม่เป็นไรเพราะเขาเป็นคนอยู่กับลูก แต่เราจะได้บางอย่างจากเขาเอามาปรับใช้กับลูกเขาและคนอื่นๆ การคุยเราคุยเป็นรายบุคคล เพราะแต่ละคนมีปัญหาต่างกัน บางบ้านมีการเปลี่ยนแปลง บางบ้านไม่เปลี่ยน ตัวเรามีเวลาแค่ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ใช่ 24 ชั่วโมงแบบคุณพ่อแม่ทุกคน

การทำงานกับเด็กพิเศษไม่ต้องการเทคโนโลยีมาก
เขาต้องการมือ กับ ใจ มากกว่า

ที่ผ่านมา เชื่อว่าพระเจ้าทรงเรียกให้มาทำ เพราะจริงๆ มันเป็นงานที่ทำสำเร็จไม่ได้ด้วยตัวเอง มันไม่ได้เข้ากับบุคลิกคนที่ใจร้อนอย่างเราที่เป็นคนที่คิดเร็วทำเร็ว งานนี้ต้องการคนที่ใจเย็นมาก มีความเข้าถึงใจคนอื่น เราเองเป็นคนแรกที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เราจึงจะช่วยเปลี่ยนคนอื่นได้

ยิ่งทำนานๆ ไป ก็เห็นว่า บุคคลพิเศษกับเราไม่ได้ต่างกันเลย เราเองไม่ได้เรียนรู้ได้ทุกๆ เรื่องนี่นา เขามีความสุขกว่าเราอีก ที่ทำงานมานี่ขอบอกว่าได้รับพระพร เขาไม่มีเรื่องอะไรทำให้เราเป็นทุกข์ใจ แบบที่เด็กวัยรุ่น บุคคลทั่วไปมี เราเดาพฤติกรรมของเขาได้ง่าย

ดีใจที่ชีวิตของเรามีพวกเขาเป็นเพื่อน
และเขาก็มีเพื่อนที่อยู่ใกล้กัน เล่น กิน เรียนด้วยกัน
แม้ไม่ต้องเอ่ยสักคำก็รู้ใจ

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 26


 

หนังสือ หรรษา ลันลา และผลงานของบุคคลพิเศษ มีจำหน่ายที่

ห้องศิลปะ ณ กิตติคุณ ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ปทุมวัน

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ 27

 

ขอขอบพระคุณ
มูลนิธิ ณ กิตติคุณ / รายการหัวใจใกล้กัน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

นรรณ (แม่อ้อ) วงศ์พัวพันธุ์

บรรณาธิการ

แม่ที่ชอบเล่าเรื่อง และเชื่อว่าทุกคนมีแสงสว่างของตัวเอง

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก