ธาราบำบัดสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ
“ผมเชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถในการใช้ร่างกายที่แตกต่าง แต่ละคนเรียนรู้การเคลื่อนไหวในแบบของตนเอง และเมื่ออยู่ในน้ำเราจะเห็นศักยภาพทางกายภาพของบุคคลนั้นผ่านลักษณะการเคลื่อนไหว อันเป็นพื้นฐานการสื่อสารจากภายในออกสู่ภายนอก และนี่คือจังหวะที่เราจะต่อยอดพัฒนาการให้เขาได้”
ก่อนที่คุณศุกลธนัท เกียรติ์ภราดรจะมาเป็นคุณครูนัทของเด็กและเยาวชนที่มีความต้องพิเศษ ครูนัทจบการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจและทำงานกับครอบครัวมาระยะหนึ่ง จนในปี พ.ศ. 2554 ล้มป่วยด้วยอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทชนิดเฉียบพลัน อาการหนักชนิดที่เดินไม่ได้เป็นเดือน ครูนัทเลือกวิธีรักษาด้วยการทานยาและทำกายภาพบำบัดแทนการผ่าตัด ซึ่งทำอย่างต่อเนื่องอยู่เกือบปีแม้อาการจะทุเลาลงแต่ไม่หายขาด ยังคงมีอาการเจ็บปวดอยู่มาก แต่ครูนัทเลือกที่จะอยู่กับสิ่งที่เป็น…
“ในวันที่ป่วยหนักๆ นี่จิตตกพอสมควร แต่มันก็มีความรู้สึกว่าเราไม่ควรอยู่แบบนี้ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างให้ตัวเองรู้สึกว่ามีคุณค่า แล้วเราจะทำอะไรได้… ตอนนั้นร่างกายโดนอะไรแตะไม่ได้เลยอ่อนแอมากเหมือนต้นไม้พร้อมจะล้มตลอดเวลา
ผมมีทักษะการว่ายน้ำบ้างเพราะวัยเด็กเคยเป็นนักกีฬาของโรงเรียนแม้ช่วงสั้นๆ และคุณหมอก็แนะนำว่าการออกกำลังที่ดีที่สุดคือ การว่ายน้ำ ซึ่งระหว่างที่ป่วยวันแรกที่ลงน้ำผมจำได้ว่าไม่มีแรงขึ้นจากสระ มันทรมาน อึดอัด บอกหรืออธิบายไม่ถูกว่ารู้สึกอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้นมาระยะเวลาหนึ่งกระทั่งร่างกายแข็งแรงขึ้นจากการว่ายน้ำ เริ่มหาองค์ความรู้ในทักษะการว่ายน้ำจากคอร์สฝึกอบรมผู้ฝึกสอนว่ายน้ำของสมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทย”
ระหว่างที่เยียวยาตัวเองในน้ำนั้น คุณครูนัทเห็นเด็กพิเศษหลายคนที่สระว่ายน้ำ เมื่อมีความคิดอยากทำอะไรเพื่อผู้อื่นบ้างจึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับเด็กพิเศษและเริ่มหาข้อมูลเพิ่มเติมหาบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับการว่ายน้ำของเด็กพิเศษ แรงบันดาลใจแรกที่พบคือ ครูพายุ คุณครูที่สอนเด็กพิเศษให้ว่ายน้ำเป็น เอาชีวิตรอดในน้ำได้
ในขณะนั้นมีความรู้สึกบางอย่างว่าน่าจะมีอะไรมากกว่าการสอนว่ายน้ำ จึงเริ่มหาคำตอบในข้อสงสัยนั้น…
คุณครูนัทมีโอกาสได้เรียนรู้บุคคลที่มีความต้องการพิเศษในแนวทางมนุษยปรัชญาจากหลักสูตรเยียวยาผู้ดูแลของชุมชนเพื่อพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษ (ซึ่งปัจจุบันคุณครูนัทเป็นหนึ่งในคณะครูของห้องเรียนปีกกล้าขาแข็ง ของชุมชนฯ) และหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันเริ่มค้นหาว่าในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีกลุ่มใดที่ทำงานกับเด็กพิเศษบ้างเพื่อเข้าอบรมหาความรู้เพิ่มเติม กระทั่งมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับศูนย์พัฒนาบุคคลออทิสติก จ.ชลบุรี อยู่หลายปีในฐานะครูสอนว่ายน้ำให้สมาชิกในศูนย์ฯ
“เด็กพิเศษมีความหลากหลายแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง แต่มีแก่นบางอย่างที่ถ้าเราเข้าใจเขาจะพัฒนาได้ การได้ทำงานกับศูนย์พัฒนาเด็กออทิสติก จ.ชลบุรี และห้องเรียนปีกกล้าขาแข็งในชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ ซึ่งต้องดูแลลูกศิษย์ 48 ชั่วโมง ทุกสุดสัปดาห์ รวมทั้งเป็นผู้ดูแลบุคคลพิเศษในการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้มีประสบการณ์ความหลากหลายของพฤติกรรมและช่วงอายุ ส่วนการเรียนรู้ในแนวทางมนุษยปรัชญาช่วยให้เรามีการเติบโตภายในจากเดิมที่เป็นหินก้อนเหลี่ยมๆ ตอนนี้ดวงจิตของเรากลมขึ้นเข้าใจมากขึ้นว่า มนุษย์เราเท่าเทียมกันซึ่งผมใช้เป็นแก่นในการดำรงชีวิต”
ในวันนี้คุณครูนัทนิยามตัวเองว่า “ผมไม่ใช่ครูว่ายน้ำที่สอนเพื่อให้เด็กพิเศษว่ายน้ำได้ แต่ใช้น้ำเป็นพื้นที่เยียวยา โอบอุ้มพร้อมให้อิสระและส่งเสริมพัฒนาการรายบุคคล ด้วยการใช้ธาราบำบัดและการสอนตามแนวทางมนุษยปรัชญา”
มีเป้าหมาย สังเกต เข้าใจ ให้อิสระ
การดูแลเด็กพิเศษด้วยน้ำ หรือ ธาราบำบัด นอกจากคุณสมบัติของน้ำที่เราเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองจากอินเตอร์เน็ตมีข้อมูลมากมายพ่อแม่หรือผู้ดูแลก็ทำได้ แต่ประเทศเรายังไม่ให้ความสำคัญกับธาราบำบัด ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่เข้ามาคืออยากให้ลูกได้ออกกำลังกาย แต่งานหลักของผมคือการกระตุ้นพัฒนาการ เราจึงต้องคุยกับครอบครัวก่อนเพื่อให้มีภาพและทิศทางเดียวกัน คือผมไม่บอกว่าเด็กจะว่ายน้ำเป็น แต่เขาจะดูแลตัวเองในน้ำได้ และผมดูแลเรื่องพัฒนาการ เมื่อเรากระตุ้นแล้วทุกอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ครอบครัวต้องช่วยทำร่วมกัน
เรามีเป้าหมายชัดเจนว่าจะพัฒนาอะไรในตัวเขาซึ่งจะคุยกับครอบครัวหรือผู้ดูแลทุกครั้งว่าน้องเป็นอย่างไรไปทำกิจกรรมบำบัดกระตุ้นพัฒนาการไหม เรียนไหม มีปัญหาอะไรบ้าง พฤติกรรมอะไรที่คิดว่าไม่โอเค หรือ อะไรที่อยากให้เขาพัฒนาเป็นพิเศษ ที่จริงกิจกรรมทุกชนิดช่วยได้หมดเพียงแต่ในน้ำมันเป็นจังหวะที่ดึงความจดจ่อและสมาธิได้มากขึ้น เพราะน้ำทำให้เขาเคลื่อนไหวได้มากกว่าบนบกรู้สึกอิสระมากกว่า น้ำยังช่วยเรื่องอารมณ์ ลดความร้อนจากอุณหภูมิของร่างกายที่เกิดจากการเคลื่อนไหว สร้างความรู้สึกรู้เนื้อรู้ตัวเพราะน้ำสัมผัสผิวเขาตลอดเวลาช่วยให้ประสาทรับสัมผัสถูกกระตุ้น ในขณะเดียวกันในน้ำมีความอิสระ นี่คือคุณสมบัติของธาราบำบัด
ในแง่มนุษยปรัชญามนุษย์เรียนรู้ที่จะควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเองหาตำแหน่งทิศทางโดยอิสระ ซึ่งต้องใช้ความสัมพันธ์ระหว่างศีรษะและลำตัว มือและแขน ขาและเท้า การว่ายน้ำของบุคคลพิเศษจึงเป็นกระบวนการหนึ่งในการพิจารณาและส่งเสริมพัฒนาการให้เจตจำนง (Will) ทำหน้าที่ของมัน ในการแสวงหาความสมดุลทางกายเรียนรู้การทรงตัวในแนวดิ่งเพื่อพัฒนาสู่ความสมดุลในจิตภายในตน
สังเกต
“เราต้องสังเกตให้เป็นว่าทั้งก่อนลงน้ำและเมื่อลงน้ำเขาเป็นอย่างไร หงุดหงิดไหม อารมณ์พร้อมจะเรียนกับเราไหม เขามองเห็นเราไหมเห็นหมายถึงเขารับรู้ใช่ไหมว่าเราคือครูเป็นผู้ปกครอง หรือยังไม่รู้อะไรเลยอยู่ในน้ำยังอยู่กับตัวเอง อันนี้เป็นหลักหนึ่งในการสังเกตซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เราจะทำให้เขามีพัฒนาการก้าวขึ้นมาจากเดิมได้ไหมเริ่มจากสังเกตเป็น
สังเกตการใช้ ศีรษะและลำตัว แขนและมือ ขาและเท้า
ยกตัวอย่างวันนี้ลูกศิษย์ผมในหนึ่งชั่วโมงไม่พร้อมเรียนเลยส่วนตัวผมคิดว่าผิดปกติ เขาหงุดหงิดมาตั้งแต่เช้าจากที่โรงเรียนไม่สบตาเท่าที่ควรแทบจะไม่ฟังคำสั่ง วันนี้ที่เห็นคือเขาดำน้ำ การสังเกตเราก็ดูว่าเขาใช้แขน ขาอย่างไร มีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร นี่เป็นวันแรกที่เขาหยิบแว่นใส่และขยับแว่นด้วยตัวเองและเขาดำน้ำลงต่ำ อยู่ได้นานมากขึ้น ความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดใหญ่วันนี้ถือว่าดี เดิมการเก็บอุปกรณ์ใต้น้ำนี่ถือเป็นเรื่องยาก”
เข้าใจ
“จากข้อแรกที่ต้องสังเกตเห็นเด็กไม่พร้อมเรียน เรามีหน้าที่ประคับประคองมีจังหวะเมื่อไหร่ก็เข้าไปสอน การพร้อมเรียนแม้แต่เสี้ยววินาทีก็มีความหมาย แต่ถ้าไม่พร้อมไม่มีประโยชน์ที่เราจะให้เขาทำอะไร ยิ่งทำให้เขาอึดอัด หงุดหงิด อารมณ์เสีย
เมื่อเด็กไม่พร้อมเราจะแก้ไขเฉพาะสิ่งที่เขาจดจ่ออยู่ตรงนั้น เดิมทีการมีอุปกรณ์ยางสีฟ้าซึ่งเขาจะดำเก็บทุกครั้ง แต่วันนี้ไม่เก็บเป็นครั้งแรก แต่เขาเด้งตัวขึ้นลงบนผิวน้ำ ข้อสังเกตของเราคือ เขาใช้แขนขาอย่างไร ดำน้ำอย่างไร หายใจอย่างไร แก้ไขปัญหาลู่ที่อยู่ในสระไหมเพราะทุกครั้งเขาจะว่ายข้ามลู่ไป
ผมไม่มีรูปแบบการเรียนการสอนตายตัว แต่ดูหน้างานเป็นหลักและต้องเข้าใจแพทเทิร์ทของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งพฤติกรรมภายนอกก่อนมาลงน้ำเป็นอย่างไร มันมีผลเกี่ยวเนื่องกับการลงน้ำทุกครั้ง เมื่อลงน้ำแต่ละคนมีความรู้สึกและพฤติกรรมที่แตกต่าง เวลาที่เขามีพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม เช่น จู่ๆ ก็หัวเราะ หรือหงุดหงิด ถ้าเราไม่เข้าใจและพยายามไปเปลี่ยน มันไม่ได้ผล จริงๆ แค่รอเวลาจังหวะไหนที่เข้าได้ ควรเข้าให้เขากลับมาอยู่ในสภาวะปัจจุบัน แต่ถ้ายังไม่ได้เราก็รอ เมื่อเขาพร้อมเราค่อยสอน ดังนั้นทุกๆ คลาสของผม”
ผู้เรียนเป็นผู้กำหนด ว่าให้ผมสอนอะไร
ให้อิสระ
“จากนั้นเราไม่พยายามควบคุม เด็กพิเศษทุกกลุ่มมีความแตกต่างของพฤติกรรม แต่การดูแลเริ่มจาก “ตัวเรา” ก่อน เพราะปัญหาเดียวที่เรามีร่วมกันเกี่ยวกับเด็กพิเศษ คือ
เราอยากควบคุมเขา ให้เขา
เป็นในแบบที่เราอยากให้เป็น
ซึ่งมันเป็นไปได้ยากมาก
เด็กส่วนใหญ่เมื่อเราให้เวลารอจังหวะด้วยการเรียนการสอน คือให้เขาเป็นในสิ่งที่เขาเป็น วันนี้ยังไม่อยากลงน้ำเรารอได้ และสุดท้ายทุกคนก็ลงได้หมด เราเปิดอิสระให้เขาไม่บังคับให้ทำ เราจะเข้าหาเมื่อเขาพร้อมการเข้าหาแบบนั้นเขาจะได้เรียนรู้เรื่องร่างกาย ทุกกลุ่มมีปัญหาหลักเรื่องร่างกายซึ่งการเคลื่อนไหวในน้ำทำให้เขาเคลื่อนไหวเบาสบายเท่ากับหรือมากกว่าบนบก อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นแต่ในน้ำช่วยระบายความร้อนออกได้รวดเร็ว ทำให้อารมณ์ความรู้สึกจากคนที่ไม่สบตาเลย ก็สบตามากขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น อารมณ์หงุดหงิดน้อยลง”
(หมายเหตุ การให้อิสระไม่ควบคุมยังคงหมายถึง เราต้องพร้อมตลอดเวลาการอยู่กับเด็กพิเศษมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเสมอบางอย่างเขาควบคุมตัวเองไม่ได้ คนที่ดูแลเขาที่อยู่ในน้ำต้องพร้อมที่จะรับมือ ถ้าฉุกเฉินต้องรู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร)
12 Senses หลักของมนุษยปรัชญา
ในคลาสเรียนผมให้ความสำคัญไปที่กายภาพเป็นหลัก ไม่ว่าจะอยูในวัยเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ก็ตาม เพราะนี่คือบันไดก้าวสู่การพัฒนาทางอารมณ์และความคิดที่เชื่อมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งผมให้ความสำคัญและใช้กรอบคิดเรื่อง Sense 4 ด้านนี้ในการดูแลแต่ละคน คือ
sense แห่งสมดุล (balance)
sense แห่งการเคลื่อนไหว (movement)
sense แห่งชีวิต (life)
sense แห่งสัมผัส (touch)
ไม่ว่าจะกลุ่มภาวะไหนอายุเท่าไหร่เราดูที่ร่างกาย เด็กพิเศษส่วนใหญ่มีปัญหาร่างกายกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ส่งผลต่อพฤติกรรมมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย หลายคนไม่เข้าใจเขามีแรงขับภายในที่ส่งต่อให้คนรอบข้างเยอะ
ในชั่วโมงว่ายน้ำเราปล่อยให้เขามีอิสระทำอะไรก็ได้ “เราปล่อยให้คุณเป็นอย่างที่คุณเป็น” เขาได้รับการสัมผัสจากน้ำตลอดเวลา รับรู้ความมั่นคงของตัวเองผ่านการเคลื่อนไหวที่อิสระในน้ำ และในน้ำยังมีแรงกดช่วยผลักดันให้เขาต้องควบคุมสมดุลของร่างกายในแนวดิ่ง ซึ่งบุคคลพิเศษหลายคนมีปัญหากับแรงโน้มถ่วงของโลก ผมใช้กรอบนี้เป็นตัวช่วยออกแบบการเรียนการสอนในชั่วโมงนั้นๆ ของแต่ละคนซึ่งการเคลื่อนไหว ของขามือและแขนเป็นขั้นบันไดเพื่อนำไปสู่พัฒนาการการสื่อสารหรือภาษาพูด
ประเภทของสระ และ องค์ประกอบที่เหมาะสม
สระว่ายน้ำมีคุณสมบัติของมัน สระที่เปิดโล่ง กับ สระในร่ม มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เด็กที่ตื่นตัวมากๆ อย่างออทิสติกควรอยู่ในสระที่เปิดโล่งกลางแจ้ง และถ้าเรามีพื้นที่มากพอให้เวลาเขาอยู่ในพื้นที่ก่อนลงสระ ทั้งบนบกและในน้ำ จะช่วยให้เขาสงบได้ ส่วนกลุ่มภาวะดาวน์ซินโดรม ผมแนะนำว่าเขาควรอยู่ในสระมีหลังคา สองกลุ่มนี้มีการเติบโตภายในที่แตกต่าง
สระว่ายน้ำมีองค์ประกอบสองสามอย่าง ระดับน้ำ ช่วงวัยของเด็กพิเศษที่ยังเล็กอยู่ควรอยู่ในสระเล็กๆ ที่ยืนถึง เขามีวิธีการมองเห็นมีความซับซ้อนเวลาที่อยู่ในน้ำ บางคนมองเห็นว่าน่ากลัวมาก บางคนเฉยๆ ในขณะเดียวกัน สระที่ความลึกพอสำหรับกลุ่มวัยรุ่น คือยืนอยู่ในระดับที่ลอยขาแล้วน้ำอยู่ระดับหน้าอกจะช่วยให้เขาได้ออกแรงมากขึ้น มีกิจกรรมในน้ำได้ดีขึ้น เด็กพิเศษที่ลอยตัวช่วยตัวเองได้แล้วสระที่มีความลึกให้เขาดำหาวัตถุใต้น้ำได้ก็จะช่วยเขาได้มากขึ้น การดำน้ำจะช่วยให้เขาจดจ่อกับสิ่งต่างๆ การหยิบของที่อยู่ในน้ำที่มีแรงดันอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงช่วยให้เด็กรู้สึกสงบช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัส สภาพแวดล้อมของสระว่ายน้ำที่มีนักกีฬาว่ายน้ำหรือนักเรียนเรียนว่ายน้ำส่งผลดีต่อออทิสติกและแอล.ดี. พวกเขาเรียนรู้ด้วยการจำ
ข้อสังเกตกลุ่มภาวะต่างๆ ช่วงวัยกับการตอบสนองต่อธาราบำบัด
กลุ่มภาวะดาวน์ซินโดรม เขามีเรื่องร่างกายกล้ามเนื้อเอ็นข้อต่อที่เราควรให้ความสำคัญ ว่ายน้ำเป็นกีฬาเดียวที่เหมาะกับการพัฒนาโครงสร้างร่างกาย ไม่ว่าจะมัดเล็กมัดใหญ่ แต่ก็ต้องให้เวลาเขามากพอสมควร
กลุ่มภาวะแอล.ดี. เขาไม่เข้าใจการใช้แรงหรือกล้ามเนื้อว่าจะใช้แบบไหน เพิ่มแรงในการดึงใช้แรงไม่เป็น โฟกัสกล้ามเนื้อตัวเองไม่เป็น ต้องออกแบบกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริม กลุ่มออทิสติก มีเรื่องพฤติกรรมเป็นหลัก การว่ายน้ำช่วยได้ร้อยทั้งร้อยอารมณ์ดีขึ้นร่างกายแข็งแรงขึ้น ครูและนักเรียนจะทำงานพัฒนาการโดยรวมได้ดีทั้ง ร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก ระบบคิด กลุ่มซี.พี. ที่มีความพิการทางร่างกาย น้ำมีแรงดันช่วยพยุงตัวเขารับรู้น้ำหนักเหลือแค่ 10% เมื่อไม่ถูกถ่วงด้วยน้ำหนัก เขาจะรู้สึกอิสระ สามารถยืดเหยียดได้มากขึ้น พร้อมทั้งบริหารกล้ามเนื้อที่มีปัญหาโดยทั่วๆ ไปได้ ผมเชื่อว่าอารมณ์ความรู้สึกเขาเหมือนกับผมที่มีความทรมานข้างในที่อธิบายออกมาไม่ได้ น้ำช่วยได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แค่แช่น้ำในช่วงเวลาสั้นๆ เราจะเห็นรอยยิ้มและอารมณ์ที่สดใสขึ้น นี่คือช่วงของพัฒนาการที่จะต่อยอดได้
และถ้าแบ่งตามช่วงวัย ผมมองกิจกรรมบำบัดในน้ำสำหรับบุคคลพิเศษว่า วัยเด็กช่วยพัฒนาร่างกายและภาษาพูด วัยรุ่นสร้างความท้าทายด้วยหลักต่างๆ ของการว่ายน้ำช่วยพัฒนาทางอารมณ์ และในวัยผู้ใหญ่ทบทวนความเข้าใจในประโยคและความหมายช่วยพัฒนาระบบคิด
ครูว่ายน้ำในโรงเรียนจะช่วยเด็กพิเศษที่เรียนร่วมอยู่ได้อย่างไรบ้าง
คุณครูจะทำงานกับเด็กได้ดีมากขึ้นถ้าเข้าใจพื้นฐานของแต่ละกลุ่มอาการ ผมอยากให้มีธาราบำบัดในทุกๆ โรงเรียน ทั้งช่วยการดูแลตัวเองของเด็กพิเศษในน้ำได้ ไม่เสี่ยงกับการจมน้ำ มีแนวทางคือโฟกัสเขามากกว่าคนอื่น เปิดโอกาสให้เขาเล่นเอง ใช้อุปกรณ์เพิ่มเช่น โฟมช่วยพยุงตัว เมื่อเขาลอยตัวในน้ำได้จะช่วยให้เขามีสมาธิเพิ่มมากขึ้น ลองประกอบกับตัวอย่างบทเรียนจากผู้มากมายในยูทู้ปซึ่งมีความหลากหลายในกระบวนการที่เขาสอน และยังมีหลายเรื่องที่พ่อแม่ก็ทำได้
การพัฒนาไปสู่การเป็นนักกีฬา
สำหรับคนที่มีศักยภาพเติบโตไปเป็นนักกีฬา ผมเป็นโค้ชได้ในระดับหนึ่งเพราะเรารู้จักเขาดีแต่ต้องทำควบคู่กับโค้ชระดับอาชีพ จุดที่ผมเน้นคือการจัดท่าทาง เราต้องให้อิสระเขามากพอไม่สอนด้วยลักษณะท่าทางเชิงลบทำร้ายให้เกิดอคติ พวกนี้มันส่งผลกระทบถึงภาวะดวงจิตของเขาในระยะยาว ถ้าเด็กทำได้การว่ายน้ำจะช่วยให้เขาจดจ่อในสิ่งที่ทำ มีเป้าหมายชัดเจน เช่น การว่ายตามระยะเขาแค่ต้องไปให้ถึงนั่นคือเป้าหมาย นักกีฬาต้องถูกฝึกเป็นพิเศษจำเป็นต้องใช้โค้ชที่มีความเข้าใจมีความรู้ หรือมีคนทำงานควบคู่กัน และต้องมีความยืดหยุ่นสูง สำหรับการแข่งกีฬาคนพิเศษนี่ดีนะครับแต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายก็ควรทำให้เป็นกิจวัตรในชีวิตของเขาด้วย ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อมาแข่งขันเท่านั้น
ธาราบำบัด เป้าหมายคือใช้การว่ายน้ำเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเป็นหลักไม่ได้เพื่อสุขภาพแข็งแรงเพียงเท่านั้นเพราะเขาย่อมได้อยู่แล้ว ที่ผมทำอยู่นี้ทำให้พัฒนาทั้งร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก และระบบคิดเติบโตขึ้น แม้อาจยังไม่สมวัยแต่ก็เท่าที่เขาควรจะเป็นซึ่งเป็นงานที่ใช้ระยะเวลา ว่ายน้ำยังส่งผลต่อพัฒนาการพูด ช่วงสองปีที่ผ่านมาสิ่งที่เราเห็นจากหลายๆ คนคือนอกจากเขาอารมณ์ดีขึ้น มีสมาธิเพิ่มมากขึ้น เขาพูดเป็นประโยคได้ยาวมากขึ้นจากพูดคำสั้นๆ พัฒนาการโดยรวมดูดีขึ้น
ผมมองว่าการว่ายน้ำหรือธาราบำบัดนี้ไม่ใช่แค่การเรียนหรือกิจกรรม แต่เป้าหมายคือการพัฒนาเด็กในระยะยาว คนที่สอนควรเข้าใจทั้งเรื่องพัฒนาการ และการเติบโตตัวตนของเขา เพื่อช่วยให้ลูกศิษย์ของเราเติบโตขึ้นทั้งภายในและภายนอก
ขอขอบพระคุณ : สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม