PK Cafe’ : Transition Work Center

ศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำของ ‘สุภาพบุรุษคนพิเศษ’ ปทุมคงคา

เมื่อก้าวเข้าสู่ PK Cafe’ ภาพการทำงานของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนปทุมคงคาซึ่งเป็นโรงเรียนนักเรียนชายล้วนระดับมัธยมศึกษาในย่านเอกมัยแห่งนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนมิติใหม่ของการจัดการศึกษาพิเศษของหน่วยงานภาครัฐที่วางเป้าหมายสนับสนุนให้ผู้เรียนที่มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเป็นพิเศษทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง ผ่านการทำงานตามความสนใจหรือความถนัด โดยโรงเรียนและคณะครูเปิดพื้นที่และออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนแต่ละคนมีโอกาสพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จะนำไปสู่การมีอาชีพหลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยใช้แนวคิด Transition in Special Education โรงเรียนปทุมคงคาถือเป็นโรงเรียนนำร่องในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 ที่ดำเนินงาน Transition work Center หรือศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำแห่งนี้เข้าสู่ปีที่สอง (พ.ศ. 2561) เกิดอะไรขึ้นบ้างจากกระบวนการทำงานร่วมกันของคณะครูและนักเรียน หลักคิดและองค์ความรู้ที่น่าสนใจอาจจุดประกายให้โรงเรียนต่างๆ เริ่มต้นสร้าง Transition Center ที่เหมาะสมในบริบทของโรงเรียนและนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษของตนได้ไม่ยากนัก

PK Cafe’ : Transition Work Center 22

ที่มา โรงเรียนปทุมคงคาได้ขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับมัธยมศึกษาให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มออทิสติกและมีปัญหาทางการเรียนรู้ จึงได้ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลางซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร ร่วมกันจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษขึ้นในปีพ.ศ. 2552 เพื่อให้บริการทางการศึกษาและส่งต่อการมีอาชีพให้กับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ

หลักการและเหตุผล ศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำ (Transition Center) พี.เค.คาเฟ่ เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้ค้นพบศักยภาพในตนเอง และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพเมื่อจบการศึกษา นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนหารายได้ระหว่างเรียน รู้จักการออม คุณค่าของเงิน ประยุกต์เนื้อหาในวิชาเรียนเข้ากับชีวิตจริง และยังเป็นการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้อีกด้วย

พันธกิจ

จัดทำแผน ITP (Individual Transition Plan) เพื่อวางแผนและส่งต่องานอาชีพเพื่อการมีงานทำ
จัดการเรียนการสอนงานอาชีพเพื่อการมีงานทำและบูรณาการเนื้อหาสู่การปฏิบัติตามศักยภาพของนักเรียน
จัดหาสื่อและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการนักเรียน
ประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำ
ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้เพื่อการมีงานทำ
ส่งต่อนักเรียนสู่การมีอาชีพตามศักยภาพ
อำนวยความสะดวกให้กับผู้มารับบริการทุกคน

เป้าหมายเชิงปริมาณ

นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษทุกคนสามารถหารายได้ระหว่างเรียนและประกอบอาชีพเมื่อจบการศึกษาได้ตามศักยภาพ

เป้าหมายเชิงคุณภาพ

องค์กร ภาครัฐ เอกชน องค์กรท้องถิ่น สถานประกอบการ มีส่วนร่วมจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเข้าฝึกงานและประกอบอาชีพได้

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โรงเรียนปทุมคงคา ศูนย์พัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ โรงเรียนลพบุรีปัญญานุกูล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง

PK Cafe’ : Transition Work Center 23

ภาพรวมห้องเรียนคู่ขนาน

โรงเรียนปทุมคงคาเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษสมัครเข้าเรียนร่วมจำนวน 5 คนต่อปีการศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษกลุ่มภาวะอาการต่างๆ หลากหลาย โดยทั้งโรงเรียนมีจำนวน 22 คน ซึ่งจัดให้มีระบบการสอนสนับสนุนผ่านห้องเรียนการศึกษาพิเศษในวิชาที่จำเป็นสำหรับแต่ละคน และนักเรียนมีโอกาสเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติตามศักยภาพ ทั้งนี้คณะครูการศึกษาพิเศษสอดแทรกกิจกรรมบำบัดต่างๆ ไว้ในบทเรียน เช่น ศิลปะบำบัด ตารางเก้าช่อง เทคนิกการปรับพฤติกรรม ฯลฯ ไม่แยกส่วนออกมา

อาจารย์รัตนาวดี พางาม ครูคศ.1 “เราใช้ชื่อว่าห้องเรียนคู่ขนานบุคคลออทิสติก ซึ่งในความจริงเราก็รับหมดทุกกลุ่มภาวะอาการโดยการคัดกรองเน้นว่านักเรียนช่วยเหลือตัวเองได้ และจัดให้เข้าเรียนร่วมวิชาต่างๆ ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งศูนย์พัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษนี้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2552 ปัจจุบันมีนักเรียนจบมัธยมหกไปแล้วสองรุ่น ที่ผ่านมาเด็กที่จบการศึกษาแล้วไปไหนต่อ…ก็ขึ้นอยู่กับทางบ้านเป็นหลักเลยค่ะ บางบ้านพ่อแม่อยากให้อยู่ช่วยทำงานที่บ้าน บางคนมีโอกาสทำงานเดินเอกสารในบริษัท อีกคนไปฝึกต่อที่ศูนย์พัฒนาบุคคลออทิสติกฯ เรื่องการดูแลช่วยเหลือตัวเอง เพราะแต่ละคนมีความหลากหลายทั้งกลุ่มอาการและระดับความสามารถแตกต่างกัน และก็มีคนหนึ่งที่กลับเข้ามาทำงานที่โรงเรียนซึ่งเรามีอัตราจ้างผู้พิการ เราเลือกเขาเพราะเป็นคนมีความรับผิดชอบดี ระยะแรกทำงานเดินเอกสาร ช่วยงานตามมอบหมาย ปัจจุบันเขาช่วยดูแลความสะอาดเรียบร้อยของร้าน PK Cafe’ ร่วมกับรุ่นน้องๆ”

PK Cafe’ : Transition Work Center 24

 

ศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำ

อาจารย์ขนิษฐา จันทร์หล้า ครู คศ.2 “เราเพิ่งเริ่มทำร้าน PK Cafe’ ปีนี้เป็นปีที่สองซึ่งเป็นสถานีฝึกฝนของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในโครงการศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำ (Transition Center) เบื้องต้นโรงเรียนได้รับการสนับสนุนทั้งในแง่เงินทุนและองค์ความรู้จากโรงเรียนลพบุรีปัญญานุกูล ซึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องจัดการอบรมคุณครูทั้งโรงเรียนให้เข้าใจบทบาทของ Transition Job Coach ซึ่งมีวิธีการและขั้นตอนการสอนเด็กพิเศษ ส่วนการเลือกเป็นศูนย์ฝึกอาชีพอะไร ก็ขึ้นอยู่กับบริบทที่เหมาะสมของโรงเรียนเองและจัดหาวิทยากรเพื่อมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ครูและนักเรียนเรียนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งครูต้องเข้าใจกระบวนการทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือนักเรียนได้หลังจากวิทยากรอบรมเสร็จแล้ว

PK Cafe’ : Transition Work Center 25

เดิมการจัดการเรียนการสอนถูกออกแบบให้เหมาะสมตามแผนการเรียนรายบุคคล (IEP) อยู่แล้ว เมื่อมี Transition Center เราก็มี ITP หรือแผนการฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำรายบุคคลควบคู่กันไปด้วยภายใต้หลักการที่เราเชื่อว่าเด็กทุกคนเรียนรู้ได้ตามศักยภาพรายบุคคล ในแง่การเรียนบางคนอาจไม่ประสบความสำเร็จ ทางเลือกนอกเหนือจากไปเรียนต่อระดับอุดมศึกษาคือ ฝึกการงานอาชีพอาจจะเหมาะสมกว่าและมีโอกาสสำเร็จได้ หลักสำคัญของ Transition คือเราต้องสำรวจความสามารถของเด็กที่แตกต่างกัน ค้นหาความถนัด ความชอบของเขา ไม่ใช่ทุกคนอยากทำกาแฟ บางคนทำได้นะคะแต่เขาไม่ชอบ เรามองหา passion หรือสิ่งที่เขาชอบ บางคนชอบ คอมพิวเตอร์ วาดรูป ภาษาอังกฤษ ครูต้องปรับหาโปรแกรมที่เหมาะกับเด็กแต่ละคน ในขณะเดียวกัน เราก็ให้ทุกคนมีโอกาสฝึกเรื่องการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมผ่านการทำงานหน้าที่ต่างๆ ในร้านนี้”

ทุกเมนูมีความรู้

อาจารย์รณชิต ฤทธิ์สำเร็จ ครูคศ.1 “ผมเป็นครูวิทยาศาสตร์ที่ผ่าน Transition job coach อาสามาช่วยโครงการนี้ด้วย ในแง่เนื้อหาวิชาคุณครูก็บูรณาการสาขาวิชาต่างๆ ให้สอดคล้องกับงานที่ทำ เช่น สอนคณิตศาสตร์ผ่าน ชั่ง ตวง วัด วิทยาศาสตร์ก็ใช้การทดลองผสมส่วนผสม ซึ่งฝึกจากการทำเครื่องดื่มต่างๆ จริงๆ ทำน้ำสี ฝึกหลักการผสมสี ให้ความสำคัญเรื่องรสชาติ มีกระบวนการเรียนผ่าน STEM ค้นคว้าหาข้อมูล ผลิตชิ้นงาน เช่น คิดเมนูส่วนตัว คิดคำนวณ สัดส่วนผสม ค่าใช้จ่าย หรือการคิดโปรโมชั่นซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากพวกเขาเพราะรู้ข้อมูลลูกค้ามากที่สุดว่าชอบอะไร ในขณะที่การประเมินเราใช้การสังเกตพฤติกรรมให้สอดคล้องเป้าหมายที่วางไว้กับแผนรายบุคคล IEP และเน้นไปที่ทักษะมากกว่าเนื้อหา ปรับระดับตัวชี้วัดให้ความสำคัญกับกระบวนการ เจตคติในการทำ การเก็บรักษา หรือมีจิตสาธารณะในการดูแลร้าน เป็นต้น”

PK Cafe’ : Transition Work Center 26

ปัจจัยความสำเร็จของโครงการ (4S PK Cafe’ keys of success)

การให้บริการ (Service) นักเรียนทุกคนสามารถให้บริการแก่ผู้ที่เข้าเยี่ยมชมร้าน สามารถบริการอาหาร เครื่องดื่ม และนำเสนอร้านให้กับผู้ที่เข้ามาใช้บริการได้

PK Cafe’ : Transition Work Center 27

ทักษะการทำงาน (Skill) นักเรียนมีทักษะการทำงานที่สามารถนำไปใช้เมื่อจบการศึกษาและสามารถเลือกทักษะงานตามที่ตนถนัดและให้ความสนใจตามศักยภาพที่มี

PK Cafe’ : Transition Work Center 28

ทักษะทางสังคม (Social) นักเรียนสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานและลูกค้า เกิดทักษะทางสังคม เข้าใจมรรยาทและปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม อันจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นตามศักยภาพของตนเอง

PK Cafe’ : Transition Work Center 29

มีจุดยืนที่มั่นคง (Strength) นักเรียนสามารถเลือกงาน เลือกหน้าที่ เลือกอาชีพที่ตนเองถนัดและสนใจ สามารถสร้างรายได้เพื่อดูแลตนเองและครอบครัว ลดการพึ่งพาบุคคลอื่น สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขอย่างมีจุดยืนตามศักยภาพ

PK Cafe’ : Transition Work Center 30

ระหว่างทางก่อนสู่ความสำเร็จ

อาจารย์ขนิษฐา จันทร์หล้า ครู คศ.2 “กระบวนการต่างๆ การจัดการร้านค้าคุณครูเป็นผู้บริหารเองโดยเราได้ศึกษาดูงานจากที่อื่นก่อนและมาปรับให้เข้ากับบริบทของรร. ช่วงแรกๆ มีฉุกละหุกบ้างเด็กๆ ยังไม่รู้บทบาทตัวเอง จำสูตรไม่แม่นบ้าง มาปีที่สองนี้เราเริ่มปล่อยได้แล้วครูไม่ต้องมาลงกำกับทุกขั้นตอน

ร้าน PK Cafe’ มีบาริสต้าหลักอยู่สองคนซึ่งตอนนี้รู้งานพอที่จะสอนคนอื่นๆ ได้แล้ว ซึ่งนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษแต่ละคนจะมีตารางมาฝึกทำงานที่ร้านหมุนเวียนกันไป บางคนอาจเรียนเก่งแต่มือไม้แข็งลงมาทำแล้วไม่คล่องแคล่วก็ยากหน่อย แต่ทุกคนจะมีโอกาสได้ฝึกและทำงานที่สามารถทำได้ เช่น ต้อนรับลูกค้า เสริฟ เก็บล้าง รดน้ำต้นไม้ อย่างงานเสริฟตอนนี้เรามีบริการส่งตามห้องพักครู ห้องประชุมด้วย

PK Cafe’ : Transition Work Center 31PK Cafe’ : Transition Work Center 32PK Cafe’ : Transition Work Center 33

คนที่ทำงานหลักๆ จะรู้จักลูกค้า เขารู้ว่าสต็อคส่วนผสมตัวไหนใกล้หมดก็จะบอกให้ครูซื้อเราไปหาซื้อของด้วยกัน เขารู้จักวัตถุดิบที่ใช้และพอรู้ว่าได้กำไรต่อแก้วกี่บาท บางคนมีความตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วอยากมีร้านกาแฟของตัวเอง ทุกคนที่มาทำงานจะมีรายได้ตามลักษณะงานที่ทำและปรับตามยอดขาย เช่น หากรายได้ร้านต่อวันไม่ถึงหนึ่งพันบาท บาริสต้ารับค่าแรง วันละ 40 บาท พนักงานเสริฟวันละ 20บาท ถ้ารายได้มากกว่าหนึ่งพัน ค่าแรงก็จะปรับสัดส่วนมากขึ้น เขาจะช่วยนับเงินทุกครั้งเวลาปิดร้านวันนี้ขายดีไม่ดีเขาจะรู้เลย

PK Cafe’ : Transition Work Center 34PK Cafe’ : Transition Work Center 35

บางเมนูเขาทำอร่อยกว่าครูแล้ว เพราะทำทุกวันจนชำนาญ ปิ้งขนมปังนี่ เขาจะรู้ว่าต้องปิ้งนานแค่ไหนถึงจะพอดีไม่ไหม้ ถ้าคนหลักไม่อยู่ ครูก็ต้องฝึกคนใหม่โดยฝึกจากที่เขาสอนครูนี่แหละค่ะ

ประเด็นเรื่องสังคมเห็นชัดเจนเขาทำงานขายของในร้านจนเริ่มมีเพื่อนๆ ห้องอื่นชั้นอื่นเป็นกลุ่มลูกค้าประจำพูดคุยทักทายกัน นี่คือการอยู่ร่วมกันในสังคมจริงๆ เหมือนที่เขาจะต้องไปเจอวันข้างหน้า

PK Cafe’ : Transition Work Center 36

แผนการเปลี่ยนผ่าน

อาจารย์วีรสิทธิ์ ประกอบศรี ครูผู้ช่วย “บางคนเขาขวนขวายเองเลยไปสมัครทำงานในร้านสะดวกซื้อทั้งๆ ที่ยังเรียนอยู่ นับเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่เขามีความตั้งใจที่ดี แต่เราก็ต้องช่วยดูแนะนำเรื่องการบริหารจัดการเวลา และความรับผิดชอบการเรียนให้จบ

โรงเรียนเราใกล้โรงหนัง ร้านค้ามากมาย ครูได้ติดต่อในเบื้องต้นไว้หากนักเรียนเราฝึกในร้านจนคล่องแคล่วแล้วการมีโอกาสได้ไปฝึกงานในร้านค้าข้างนอกจะช่วยสร้างประสบการณ์มากขึ้น และถ้าผ่านก็มีโอกาสจะได้รับการจ้างงานหากตัวเขาและครอบครัวต้องการไปในทางนี้ ประสบการณ์พวกนี้ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือแก่ห้างร้านที่จะเปิดรับให้เด็กไปทำงาน

PK Cafe’ : Transition Work Center 37

ในขณะเดียวกันครูการศึกษาพิเศษก็ยังพานักเรียนไปร่วมแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมกับโรงเรียนต่างๆ เพราะในการสมัครงานเขาจำเป็นต้องมีใบประกาศเหล่านี้ยืนยันถึงความสามารถที่มีจริงด้วย เด็กเราทำงานรูทีนได้ดี ข้อมูลที่ได้รับจากรุ่นที่จบไปแล้ว ก็ยังมีจุดที่เราต้องกลับมาเพิ่มเติมให้รุ่นต่อๆ ไป เช่น ทักษะการสื่อสาร มารยาททางสังคม ความยืดหยุ่น ในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น

การที่เขามาใช้ชีวิตในโรงเรียนผู้ปกครองอาจเป็นห่วง แต่ผมเชื่อว่าเขาจะเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้ เพื่อจะพร้อมเผชิญกับโลกภายนอกเมื่อจบไปและอยู่ได้ด้วยตัวเอง การมีร้านเตรียมความพร้อมแบบนี้ เขาจะจบไปโดยที่พึ่งพาคนอื่นน้อยที่สุดและสามารถสร้างรายได้พึ่งตนเองได้จนอยู่ได้ด้วยตัวเองคือสิ่งที่สำคัญ”

PK Cafe’ : Transition Work Center 38

กะมา บาริสต้า “ฝึกทำโกโก้ โอรีโอ้ปั่น ไม่ยาก จำสูตรได้ ทอนเงินเองได้ เรียนจบแล้วอยากทำร้านกาแฟ และอยากเรียนสถาปัตย์ด้วย งานที่ยากที่สุด จำสูตรต่างๆ ส่วนการชงไม่งงจำออร์เดอร์ได้ พ่อแม่ก็สนับสนุนให้เราชงกาแฟเป็น ทำขนมปังเป็น”

PK Cafe’ : Transition Work Center 39

แต้งค์ บาริสต้า “ผมชอบเล่นเกมส์ ฟังเพลง วิชาที่ถนัดคณิต ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ ตอนนี้ภาษาไทยดีขึ้น แต่การเขียนยังมีผิดอยู่ ฝึกจากกาแฟก่อน ทำตามสูตรเขาไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ถนัดทำน้ำสี มากกว่ากาแฟ ถ้าสลับไปมา ผมก็งง ผมดูส่วนผสมต่างๆ ทางยูทู้ปด้วยนะ มีสูตรอร่อยสตรอเบอรี่ใส่น้ำแข็งก่อนผสมกับลาเต้แล้วราดนมสด เดี๋ยวนี้ผมคุยกับคนเยอะขึ้น มีเพื่อนรุ่นน้องมากขึ้น เริ่มสนิทสนมกัน งานอื่นๆ ผมก็ทำได้หมด เสริฟ คิดเงิน ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเรื่องการจดออเดอร์เดี๋ยวนี้ใช้กระดาษให้ลูกค้าช่วยเขียนให้ไม่กลัวแล้ว อยากเปิดร้านของตัวเอง มันต้องหาเงิน หาที่ พวกของสินค้า แต่ถ้าการทำงานส่วนตัวเราพร้อมอยู่แล้ว”

PK Cafe’ : Transition Work Center 40

มี้ด พนักงานประจำร้าน PK Cafe’ (อายุ 22 ปี ศิษย์เก่าที่กลับมาทำงานประจำที่โรงเรียน)
“ผมมีความรับผิดชอบอาจารย์จึงเรียกกลับมาทำ ช่วงแรกมาทำงานเดินเอกสาร ทำงานตามสั่งจากอาจารย์หน้าที่ตอนนี้ ทำความสะอาดร้าน บริการลูกค้า เสริฟบ้างครับ ผมเดินทางไปกลับเอง ดูแลตัวเองให้มีระเบียบวินัยมากขึ้น การมีงานทำคิดจะขี้เกียจก็น้อยลง โรงเรียนเปิดโอกาสต้อนรับเด็กพิเศษครับ การทำงานไม่มีอะไรยากครับ ผมก็เข้าสังคมได้ปกติ ผมไม่รู้สึกอะไรเกี่ยวกับคำว่าเด็กพิเศษ
เวลาว่างก็ออกไปเที่ยวตามที่ต่างๆ บ้างตามที่อยากไป ไปคนเดียว ไปดูหนังมีบัตรโปรโมชั่น นานๆ ดูทีครับแต่ไม่ซื้ออะไรเข้าไปกินนะ มันแพง เงินเดือนผมเอาให้แม่เลย แบ่งไว้แค่ส่วนเดียว เพราะแม่เป็นคนดูแลค่าใช้จ่ายในบ้านทั้งหมด การใช้เงินถ้าต้องซื้ออะไรผมจะเตรียมเงินไปพอๆ กับราคาของ จะได้ไม่มึน ถ้าอยากได้ของชิ้นใหญ่ผมออกส่วนหนึ่ง แม่ออกส่วนหนึ่ง แต่เสื้อผ้าที่ใส่มาทำงาน ผมเก็บตังค์ซื้อเอง ทีแรกอยากเรียนต่ออยากเรียนพวกงานบริการ ผมเคยออกไปขายของตามตลาดนัดกับพ่อตั้งแต่เล็กๆ เลย ดีกว่าไปหาประสบการณ์ทางอื่น แต่แม่อยากให้ทำงานก่อน แม่บอกว่าคนที่จบสูงๆ หางานทำก็ยาก”

PK Cafe’ : Transition Work Center 41

ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่แท้จริง

อาจารย์สุภัทร เงินดี ผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมคงคา “เราดำเนินนโยบายการศึกษาพิเศษตามหลักมาโดยตลอดมาเพิ่มเรื่องทักษะอาชีพในสองปีหลังนี้ สิ่งที่ย้ำเสมอกับคุณครูคือการสอนต้องฝึกให้เขาดูแลตัวเองได้ด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณครูปรับหลักสูตร รายวิชามุ่งให้เด็กสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง จากเรื่องง่ายๆ ที่เขาทำได้ เด็กทุกคนแค่เราให้โอกาสเขาในการได้ฝึกได้ทำ เขาก็จะมีความสุขที่จะเรียนรู้และจะพัฒนายิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้คุณครูสำคัญที่สุด ถ้าคุณครูมีใจเด็กเขาสัมผัสได้อย่างครูการศึกษาพิเศษของเรา เด็กๆ สัมผัสได้ว่าครูพร้อมที่จะดูแลเขา ดังนั้นในแง่ผู้บริหารโรงเรียนสิ่งที่สำคัญคือนโยบายที่จะลงสู่คุณครู

ความสำคัญอีกด้านหนึ่งคือครอบครัวควรเปิดโอกาสให้ลูกได้อยู่ในสังคมโรงเรียน ถ้าให้อยู่แต่บ้านก็ปิดโอกาสเด็ก หากเรายึดปรัชญาการศึกษาพิเศษที่ว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้บนหลักความแตกต่างระหว่างบุคคลเราก็จะบรรลุเป้าหมายที่เราจะพัฒนาเด็กแล้วไม่ว่าจะมากหรือน้อย ถ้าพ่อแม่ครูผู้ปกครองร่วมมือกันหาความสามารถของเขาให้เจอ เจอเร็วเราก็พัฒนาเขาได้เร็วขึ้น เขาจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่ในสังคมได้ดี”

PK Cafe’ : Transition Work Center 42จากซ้าย ๐ อาจารย์ขนิษฐา จันทร์หล้า ครู คศ.2 ๐ อาจารย์รัตนาวดี พางาม ครูคศ.1 ๐ อาจารย์สุภัทร เงินดี ผู้อำนวยการ ๐ อาจารย์วีรสิทธิ์ ประกอบศรี ครูผู้ช่วย ๐ อาจารย์รณชิต ฤทธิ์สำเร็จ ครูคศ.1

ขอขอบพระคุณ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนปทุมคงคา

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์

โรงเรียนหรือหน่วยงานที่สนใจเรื่อง Transition ศึกษาเพิ่มเติมได้จากเอกสาร : Transition in Special Education ประสานสัมพันธ์ รอวันเปลี่ยนผ่าน , รวมแบบฟอร์ม ITP , The Transition Planning for Youth with Special Needs A Community Support Guide. , รวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่าน (ที่มาเอกสารประกอบ : อาจารย์วรัญนิตย์ จอมกลาง และ อาจารย์สุรัญจิต วรรณนวล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

 

นรรณ (แม่อ้อ) วงศ์พัวพันธุ์

บรรณาธิการ

แม่ที่ชอบเล่าเรื่อง และเชื่อว่าทุกคนมีแสงสว่างของตัวเอง

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก