Social Enterprise บุกเบิกอาชีพใหม่ของคนตาบอด
เข็มและด้ายที่ปัก ขึ้น ลง ในความมืด
คือจุดเริ่มต้นของการ ‘มองเห็นซึ่งกันและกัน’
ณ มุมเล็กๆ กลางเมืองเชียงใหม่มีกลุ่มคนตาบอดและตาดีมาร่วมกันทดลองวิธีการทำงานใหม่ๆ เพื่อพัฒนาหลักสูตรต้นแบบการปักผ้าสร้างสรรค์ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างอาชีพหนึ่งเพื่อรองรับผู้พิการทุกประเภทในอนาคต
The Dreamer นักฝัน
คุณวันดี สันติวุฒิเมธี (ผึ้ง)
คุณผึ้งมีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่แบ่งแยก ครอบครัวของคุณผึ้งจึงจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เป็นประจำเพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันของเด็กๆ และเพื่อนผู้พิการประเภทต่างๆ ให้เป็นประสบการณ์จริงที่ทุกคนได้รู้จักคนพิการในฐานะเพื่อนในสังคม
จนวันหนึ่งครอบครัวของคุณผึ้งไปพบน้องตาบอดที่เคยมาร่วมกิจกรรมไปเป็นขอทานในตลาดหน้าบ้าน
“ที่เขาไปเป็นขอทาน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายปรับเรื่องอายุของคนตาบอดในศูนย์ฝึกอาชีพ คนที่โตแล้วก็ต้องออกจากศูนย์ฯ แต่เขาไม่มีทางเลือกอาชีพมากนักเพราะหลายอาชีพไม่ใช่งานที่ทำได้โดยลำพังหรือรายได้น้อยไม่เพียงพอยังชีพ เช่น เลี้ยงไก่ นวด ถักผ้าเช็ดมือ เขาจำเป็นต้องมีเพื่อนหรือครอบครัวช่วยดูแล สำหรับคนที่ต้องออกมาแต่ไม่มีครอบครัวสุดท้ายเขาต้องไปขอทานเพราะเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด เราไปเจอที่ตลาดหน้าบ้านตัวเอง น้ำตาไหลเลยว่าทำไมมันไม่มีทางเลือกอาชีพที่เขาอยู่ได้
ผึ้งเป็นคนชอบงานฝีมือมาก แต่สินค้าหัตถกรรมของคนพิการเป็นคำถามในใจเสมอว่าทำไมคนต้องช่วยซื้อด้วยความสงสาร เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เราเอามาใช้ในชีวิตประจำวันหรือดูเชยเกินไป โดยทั่วไปคนอยากซื้อของเพราะเราได้ใช้ มันสวย และอยากซื้ออีกเรื่อยๆ ก็เลยมาคิดว่าอะไรที่จะทำให้คนอยากซื้องานฝีมือของคนพิการ ตัวเราชอบเย็บผ้าพอเจอลายปักผ้าซาชิโกะ (ศิลปะการปักผ้าซาชิโกะ (刺し子) ของญี่ปุ่น) คิดว่าไหมมันเส้นใหญ่พอคนตาบอดน่าจะทำได้เพราะมีระบบรับสัมผัสที่ดี และเป็นงานทูโทนคือใช้ไหมสีอ่อนบนพื้นสีเข้มหรือกลับกัน ไม่จำเป็นต้องเล่นสีแต่งานสวยเรียบง่ายมีเสน่ห์ เลยมาปรึกษาคุณครูท่านเดียวที่สอนปักซาชิโกะในเชียงใหม่”
The Sen-sei ครูเจ้าสำนัก
คุณภวัญญา แก้วนันตา (ป้าหนู) แห่ง Sewing Studio
ป้าหนูคุณครูผู้รักการสร้างสรรค์ศิลปะ เมื่อตัดสินใจลาออกจากครูในโรงเรียนมาพักผ่อนและเปิดร้านเปิดบ้านสอนงานฝีมือที่ตัวเองชื่นชอบทำให้รู้จักกับคุณผึ้งหนึ่งในลูกศิษย์ที่มาเรียนทำกระเป๋าด้วยความหลงใหลในงานฝีมือทำให้ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนกัน
“ผึ้งเขาชอบทำงานบุญทำจิตอาสากับองค์กรต่างๆ วันหนึ่งมาชวนว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะสอนคนตาบอดปักผ้าเพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างงานให้ผู้พิการทางสายตา ซึ่งตอนนั้นป้าหนูสอนปักซาชิโกะอยู่แล้วมีเพื่อนชาวญี่ปุ่นถ่ายทอดให้ ถามว่าทำได้ไหม แวบแรกทำไมถึงคิดอยากทำก็ไม่รู้และเชื่อว่าทำได้ เพราะซาชิโกะมันมีฟอร์มของมัน มีจังหวะขึ้น ลง ซึ่งเราเชื่อว่าผู้พิการทางสายตามีจังหวะที่ดี และนิ้วของเขาสัมผัสจังหวะได้
ทีแรกก็ไม่มั่นใจหรอกนะคะ ทดลองหลับตาปักเองอยู่หลายชิ้น ก็พบว่ามันมีเงื่อนไขเรื่องการใช้อุปกรณ์ เราต้องสร้างเครื่องมือมาช่วยให้เขาทำงานได้ ก็ลองเริ่มต้นที่ชิ้นแรกคือ ที่สนเข็ม ได้รับคำแนะนำจากครูปฤณ เข็มสร้างสรรค์ เรื่องการใช้เส้นเอ็นที่ใช้งานได้ดีกว่าที่สนเข็มทั่วไปแบบลวดเล็กๆ ซึ่งขาดง่าย ป้าหนูลองติดกระพรวนเล็กๆ ที่ช่วยให้ควานหาง่าย ทำตกก็รู้ ซึ่งต่อมาเราก็เอามาติดกับอุปกรณ์อื่นๆ ด้วย มีกระเป๋าที่ใช้ใส่กล่องเครื่องมือของแต่ละคน แผ่นต้นแบบก็จัดเตรียมไว้ แต่ทั้งหมดนี้จะเหมาะสำหรับการทำงานของคนตาบอดจริงหรือไม่ คนที่จะตัดสินว่าทำได้หรือไม่ได้ ก็ต้องเป็นตัวแทนจากผู้พิการทางสายตาคนแรกที่มาทดลองใช้”
งานอันเกิดจากพลังใจมุ่งมั่นมักมีเรื่องที่อาจใช้คำว่า ‘ธรรมะจัดสรร’ ก็ได้ เมื่อคุณผึ้งผูกพันและอยากลงมือสร้างอาชีพเพื่อคนตาบอด ทำให้ได้กลับมาพบน้องชายคนหนึ่งซึ่งครอบครัวของทั้งคู่เป็นเพื่อนสนิทกัน ในช่วงวัยรุ่นเขาประสบอุบัติเหตุกลายเป็นผู้พิการทางการมองเห็น และปัจจุบันน้องชายคนนี้เป็นนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
The Aider มือที่หนุน
คุณต่อพงศ์ เสลานนท์ (เติ๊ด) นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
เมื่อคุณเติ๊ดรับรู้ความมุ่งมั่นตั้งใจของคุณผึ้งและป้าหนูที่จะช่วยสร้างทางเลือกอาชีพให้กับคนตาบอด สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยตอบรับและสนับสนุนโครงการนี้ได้เริ่มต้นและให้คำแนะนำเพื่อวางแผนการทดลองอย่างเป็นระบบ หากจะขยายงานออกไปสู่คนพิการทั้งคนตาบอดและกลุ่มผู้พิการอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน
“พี่น้องของเรามีความสามารถทางด้านหัตถกรรมนี้จริง คนทั่วไปอาจคิดว่าต้องใช้ตามอง แต่เรามั่นใจในความละเอียดของประสาทสัมผัสของนิ้ว หัตถกรรมของคนตาบอดไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ที่ผ่านมาเรามีงานร้อยลูกปัด ถักโครเช นิตติ้ง มาคราเม่ และจักสาน ปัญหาที่เราพบคือ คนมักทำในสิ่งที่เขาทำได้ โดยไม่ได้นึกว่ามันเป็นสิ่งที่คนอื่นเขาต้องการไหม ผมคิดว่างานปักผ้าซาชิโกะคือจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูงานหัตถกรรมของคนตาบอด เรามองในเชิงงานฝีมือที่มีคุณภาพก่อน และสินค้านี้มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบและมองว่าเป็นงานที่มีคุณค่า (มีมูลค่าทางการตลาด – ผู้เขียน)
สิ่งที่ผมคิดคือเอาพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ทางด้านหัตถกรรมมาเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีก่อนว่า หนึ่ง ตาบอดปักซาชิโกะได้ไหม จากนั้นคือดูเรื่องกระบวนการผลิต ต้นทุน ระยะเวลา การควบคุมคุณภาพ และการขยายผล พัฒนาเป็นหลักสูตรว่าคุณสมบัติควรเป็นอย่างไร ใช้ระยะเวลาแค่ไหน”
การนัดหมายเพื่อให้ตัวแทนคนตาบอดคนแรกที่จะทดลองปักผ้าและใช้อุปกรณ์ที่ป้าหนูเตรียมไว้จึงเกิดขึ้น
Dream Team ทีมต้นแบบ
โจทย์หาดรีมทีมชุดแรกนี้ไม่เน้นที่จำนวน แต่ต้องการคนที่พร้อมสู้ไปด้วยกันเพราะเป็นโครงการนำร่องมีโอกาสล้มลุกคลุกคลานจึงคัดคนที่ชอบงานฝีมือและเห็นความสำคัญว่าตัวเขาคือส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างอาชีพใหม่ให้คนตาบอดด้วยกัน
คุณอารีย์ เรืองฤทธิ์ (พี่อารีย์)
พี่อารีย์คือตัวแทนคนตาบอดคนแรกที่ได้ทดลองใช้อุปกรณ์และเป็นคนตัดสินใจว่าทำได้ไหม “แค่สนเข็มได้เราก็ดีใจแล้ว” ป้าหนูย้อนถึงบรรยากาศวันแรก
“ครั้งแรกได้ยินว่ามีอุปกรณ์ช่วยมันน่าจะง่ายคิดว่าจะมีแผ่นต้นแบบ (บล็อก) มาให้พอเอาแผ่นนี้ทาบไปตามผ้าแล้วก็เย็บโค้งๆ ไปไม่น่ายาก ก็เลยไปชวนคนอื่นๆ มาแรกๆ เพื่อนก็กลัว เราก็บอกว่าโอ้ยมันง่าย เขามีแผ่นให้เรา (หัวเราะ) พี่มีอาชีพหมอนวดแผนโบราณค่ะ ลองคลำๆ ลายดูก็คิดว่าเราน่าจะทำได้ ใช้เวลาว่างๆ ไม่มีลูกค้านวด ทำให้มันเป็นประโยชน์ แต่พอลองมาทำจริง มันก็ไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิดนะ เพื่อนๆ ที่เราไปชวนมาทำได้ทำคล่องกันทุกคน จนเราชักกังวลว่าถ้าเราท้อทำยังไงเนี่ย แต่พอพี่ถ่ายรูปงานปักกระเป๋าลงเฟซบุ๊คเพื่อนๆ คนตาดีก็เข้ามาชื่นชมทำให้เราใจชื้นขึ้นมา”
คุณศศิวิภา ลำเลียงพล (แป๋ว)
“แป๋วเป็นคนชอบทำงานฝีมืออยู่แล้ว ความเชื่อมั่นของเราคือเราทำได้ ตอนนี้อยากจะเรียกโครงการนี้ว่า ปักจิต สุขใจ เพราะว่าทำด้วยความสุขและคนซื้อก็ซื้อด้วยความสุข ชอบทำงานไม่ชอบอยู่ว่างๆ เคยขายล็อตเตอรี่ ตอนนี้อยู่บ้านกับแฟนเขาไม่ค่อยสบายต้องดูแล อยากมีอะไรทำที่รู้สึกว่าได้พัฒนาฝีมือตัวเองมากขึ้น จากครั้งแรกที่ไม่ค่อยได้เรื่อง ตอนนี้ทำด้วยความสุขแล้ว มันเพลินดีค่ะ
คิดว่าไปสอนต่อได้ค่ะ สัมผัสเรารู้นะคะแต่อาจไม่เท่ากับคนที่พิการตั้งแต่เกิด ของแป๋วมาไม่สบายแล้วมองไม่เห็นตอนอายุ 13 ปี คนที่มองไม่เห็นแต่เกิดจะไปได้ไวกว่าค่ะ”
คุณสุพัตรา จิโน (ป้าพัตร)
ป้าพัตรถือเป็นบุคลากรระดับแม่ครู เพราะทำงานหัตถกรรมมาตั้งแต่เด็กๆ ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการนวดและยังเปิดสอนร้อยลูกปัด มาคราเม่ ฯลฯ ดังนั้นจะรู้วิธีสอนมีวิธีสื่อสารใช้คำที่คนตาบอดด้วยกันเข้าใจได้ชัดเจน ป้าพัตรยังมีส่วนช่วยพัฒนาปรับให้อุปกรณ์เหมาะกับการใช้งาน เช่นการยึดแพทเทิร์นให้ติดกับผ้า เดิมออกแบบเจาะเทมเพลทตรงกลางเพื่อตรึงเพียงรูเดียว พอนำมาใช้งานจริงลายเขยื้อนไปมา ป้าพัตรเย็บตรึงซ้าย ขวาเพิ่ม กลายเป็นนวัตกรรมต้นแบบขึ้นมา
“แรกๆ มันอาจจะยากอยู่ แต่พอผ่านมาเราก็ทำมันได้ ทำแล้วชอบค่ะป้าชอบทุกอย่างที่เป็นการฝีมือ ตั้งแต่เล็กแล้วเราสนใจอะไรก็ไปเรียนเพิ่ม งานนี้กลับบ้านก็เอาไปคิดต่อค่ะ เอามาลูบ มาลองดู ไม่หลับไม่นอน ทำแทนการนั่งสมาธิ อยากทำออกมาเป็นดอกๆ เหมือนคนอื่นบ้าง กำลังลองอยู่แล้วจะเอามาให้ป้าหนูดู”
คุณสุดาพร ยศอาลัย (พี่หวล)
“อย่าว่าแต่คนตาดีเลยพวกเราเองก็ยังคิดว่าเราคงทำไม่ได้ มันเป็นงานที่ยากจริงๆ นะคะ ครั้งแรกที่พี่อารีย์มาชวน เขาเจรจาเก่ง บอกว่ามันไม่ยากหรอกไม่ต้องกลัวเขามีบล็อกให้ก็จิ้มขึ้นจิ้มลงไปตามรูนั่นแหละไม่ต้องห่วงก็เลยเชื่อ วันแรกมาผิดหวังมากเลยค่ะ (ป้าหนูให้ปักขึ้น ลงโดยไม่มีบล็อกเพื่อให้ฝึกมือ) เราตั้งความหวังไว้สูงเกินไป แต่พอมันไม่ใช่ก็ไม่อยากทำแล้ว วันแรกท้อค่ะขอกลับไปก่อน แต่สุดท้ายก็กลับมาเพราะป้าหนูค่ะ…
เรานึกว่าทางสมาคมฯ เป็นคนเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้ แต่พอมารู้ว่าป้าหนูทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจทำทุกอย่างให้เราทุกชิ้น ทุกขั้นตอน เราที่มานี่มีแต่ตัวกับหัวใจจริงๆ ในเมื่อป้าหนูเตรียมให้ทุกอย่างทำไมเราถึงไม่มาล่ะ คือประทับใจว่าป้าหนูไม่รู้จักพวกเราเลย ไม่เคยอยู่ร่วมกับคนพิการอย่างพวกเรา แต่ว่าจิตวิทยาสูง สอนเราได้ คนที่อยู่กับเราจริงๆ ยังไม่เข้าใจเราแบบนี้ วันที่สองเริ่มทำได้ก็มีกำลังใจ นี่ถ้าไม่ใช่ป้าหนูเราคงไม่กลับมาแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกว่ามันยากมีท้อบ้าง แต่พอทำได้ดีเราก็ภูมิใจ”
คุณกมลพร อิ่นแก้ว (น้องเมย์)
“แม่อารีย์มาชวนค่ะ ครั้งแรกไม่ได้มาตอนนั้นไม่สบายยังอยู่โรงพยาบาล หนูร้องเพลงอยู่ถนนคนเดินและทำงานฝีมือเล็กๆ น้อยๆ พวกที่มัดผม ลูกปัด ก่อนหน้านี้เวลาสนเข็มหนูใช้เส้นไม้กวาดมาวงเป็นวงกลมแล้วก็แหย่ด้ายเข้าไปค่ะ เขาก็เห็นว่าเราน่าจะทำได้เพราะทำงานฝีมืออยู่แล้ว ครั้งแรกหนูก็ปฏิเสธไป เขาก็ให้เพื่อนโทรมาตามอีกที เพื่อนว่าให้มาลองดูไหม ตัวเก่งอยู่แล้ว เขายอหนูก็เลยมาค่ะ (หัวเราะ)
ถ้าทำได้อันนี้มันเป็นโครงการนำร่องจะได้ไปสอนรุ่นต่อไปก็มาลองดู พอมาจับครั้งแรกเจอผ้าสี่เหลี่ยมไม่รู้จะทำยังไง ตอนแรกก็ยากนิดนึงกลัวตามเพื่อนไม่ทัน กลัวโดนดุ เพราะหนูเป็นคนขี้กลัว ไม่มั่นใจเท่าไหร่ หนูพอมองเห็นบ้างเลยเอามาส่องใกล้ๆ ตา มันพอจินตนาการได้ ความคล่องนี่ถ้าคะแนน 1 – 10 ตอนนี้น่าจะ 4 ยังต้องให้อาจารย์แก้ มันยังย่นอยู่ คิดว่าพอสอนได้ค่ะมีเพื่อนสองคนโทรมาจากกรุงเทพฯ อยากมาเรียน เพื่อนที่เชียงใหม่ก็อยากให้เราสอนให้”
คุณณัฏฐาสิรี บุญมา (พี่อิ๋ว)
หมายเหตุ วันที่บันทึกสัมภาษณ์พี่อิ๋วลา
ศักยภาพที่เกินคาด
คุณภวัญญา แก้วนันตา (ป้าหนู)
“ชิ้นแรกให้ฝึกการเดินเส้น เราให้ความหมายของจังหวะ คือ ปักลงความยาวเท่าเม็ดข้าวสาร กับ ปักขึ้นเว้นระยะเท่าก้านไม้ขีด คือใช้สิ่งสมมติที่เขาคุ้นเคย แรกๆ มีของจริงมาให้กะขนาดซึ่งตอนนี้เราไม่ต้องใช้แล้ว ทุกคนจะมีขนาดสรุปสัมผัสของตัวเองผ่านนิ้วมือ เพียงแต่เราต้องหาสัญลักษณ์ให้ชัดเจนให้เมื่อทุกคนสรุปได้นั่นก็เป็นหนึ่งวิธี
ป้าหนูออกแบบแผนการสอนมาให้งานแต่ละชิ้นใช้เวลาฝึกสองวัน เริ่มจากฝึกเดินเส้นบนแผ่นรองแก้วน้ำ เป็นงานสีเหลี่ยมชิ้นเล็กๆ ก่อน แต่วันแรกที่เราทำงานกันป้าหนูขนลุกตลอดเวลาเพราะเพียงแค่สองชั่วโมงเขาก็ทำชิ้นแรกได้แล้ว
พอเขาทำงานเป็นเร็วกว่าที่ออกแบบไว้ เราก็ต้องปรับ เริ่มจากแผ่นรองแก้วเป็นงานสเกลเล็ก ครั้งที่ 2 เลยให้ขึ้นลายหิมะทับถมคือเส้นวิ่งไป วิ่งมา เพื่อให้เกิดทักษะ ส่วนกระเป๋านี่วางไว้เป็นงานครั้งสุดท้าย แต่ในครั้งที่ 3 ก็ทำได้แล้ว สิ่งที่วางแผนไว้ว่าจะสอนต่อไปคือการทำเป็นดอกซ้อนไปซ้อนมา แต่ต้องฝึกมือให้คล่องก่อน และต้องสั่งผ้ามาเพิ่มเพราะที่เตรียมไว้ทำกันหมดแล้ว จะขยายงานไปปักลง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋าเล็กกระเป๋าน้อย ผ้ารองจาน พอเขาเรียนรู้ได้เร็วมันก็อยู่ที่เราแล้วว่าจะวางเครื่องมืออะไรให้เขาทำงานซับซ้อนขึ้นไปอีก
พวกเรายังเรียนรู้การพัฒนาอุปกรณ์ควบคู่ไปด้วยกัน ควรใช้สะดึงไหม เทมเพลทต้องปักยังไง เอ็นเบอร์ไหนเหมาะกับการสนเข็ม อุปกรณ์ตัวช่วยเราเตรียมให้ในช่วงแรกมีบางตัวที่เขาไปทำเพิ่มมาเอง อย่างเอ็นที่ผูกลูกกระพรวนเขาก็ทำมาเพิ่ม เทมเพลทก็ใช้จากต้นแบบเดิมให้ลองจับเขาจะเพิ่มจุดที่มีสัมผัส ต่อไปจะเอาเทมเพลทที่มีขายทั่วไปมาลองใช้เพื่อให้การเข้าถึงอุปกรณ์มันง่ายยิ่งขึ้น เขาจะช่วยเหลือและสอนกันเองได้
ส่วนวิธีการสอนจังหวะของงาน มันเป็นงานมือเราไม่ต้องกังวลว่ามันต้องเท่ากันทุกเส้น งานแฮนด์เมดจะมีเสน่ห์ของมันเอง งานนี้จะสวยเมื่อเรามีทักษะและฝึกบ่อยๆ ทุกคนมีพรสวรรค์อยู่แล้ว คือ ความพยายาม และ ความอดทน เพราะมันไม่มีอะไรที่จะยากไปกว่าการที่มองไม่เห็นอยู่แล้ว
วันแรกป้าหนูมีงานต้นแบบตัวอย่างที่ปักมีระยะสวยงามให้เขาสัมผัสกัน ดังนั้นเขาจะรู้ว่างานของเขาทำออกมาใหญ่ไปเล็กไป เขาจะเรียนรู้ของเขาเอง ข้อดีของงานซาชิโกะคือพอปักขึ้นลงได้นิ่งแล้ว มันจะพัฒนาลายต่อไปได้ไม่รู้จบ เมื่อฝึกระยะจนอยู่มือ ทีนี้ไม่ว่าจะลายอะไรก็ตาม เขาจะรู้ระยะว่าสวยไม่สวยและเขาน่าจะทำงานได้มหัศจรรย์กว่าคนตาดีอีกเพราะการทำในความมืดใช้สัมผัสทำเรื่อยๆ ได้ทั้งวัน ในขณะที่คนทั่วไปใช้สายตาแค่สองชั่วโมงก็ล้าแล้ว กลายเป็นว่าความมืดไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน
เท่าที่ผ่านมาเราไม่เห็นอุปสรรคเลย กลับกลายเป็นว่าเราต้องทำงานเพิ่มเพื่อรองรับศักยภาพของพวกเขาไม่ธรรมดาจริงๆ มีพรสวรรค์มากมาย ขอเพียงให้มีโอกาสในการฝึกและเรียนรู้ไปด้วยกัน
เคยมีคนตั้งคำถามกับป้าหนูนะคะ ว่ามาสอนคนตาบอดปักผ้านี่คิดดีแล้วหรือ ฝันไปหรือเปล่า วันนี้คงได้คำตอบแล้วนะคะ ป้าหนูรู้สึกดีมากว่าการทำงานกับผู้พิการทางสายตานี่มันยิ่งใหญ่ คุ้มกับเวลาที่เราได้อยู่กับเขา”
สร้างต้นแบบเพื่อขยาย
คุณวันดี สันติวุฒิเมธี (ผึ้ง)
“ดรีมทีมนี้คือทีมที่จะช่วยสื่อสารกับคนตาบอดด้วยกันเอง เราคนตาดีอธิบาย อาจไม่ชัดเจนเท่าคนตาบอดอธิบายกันเอง นี่เป็นช่วงเริ่มต้น สู้ไปด้วยกัน หลังจากที่ดรีมทีมชุดนี้มั่นใจในผลงานของเขาแล้ว เราจึงจะเปิดตัว ทดลองเปิดรับพรีออเดอร์ให้กับคนที่สนใจงานทุกชิ้นจะมีอักษรเบรลล์ ตัวย่อชื่อของศิลปินสร้างสรรค์งานจากนั้นเราจะทำต่อรุ่น 2 และ 3 ที่เรียนรู้จากครูต้นแบบ ให้ดรีมทีมมาเรียนรู้เป็นครูผู้ช่วยและให้เจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ ขึ้นมารับไม้ต่อจากป้าหนูเป็นคนช่วยตรวจคุณภาพเพราะเราวางแผนไปถึงการจะสอนผ่านทางไกลให้คนที่อยู่ในหมู่บ้านไกลๆ ถ้าต้องลงมาเรียนทุกสัปดาห์จะมีค่าใช้จ่ายสูงก็ให้ดรีมทีมและเจ้าหน้าที่ช่วยติดตามดูความคืบหน้าของฝีมือผ่านออนไลน์ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการผลิต
เราสร้างโมเดลนี้ที่เชียงใหม่ทดลองทำก่อน เมื่อเปิดตลาดได้แล้วจึงทำเป็นคู่มือออกมาเพื่อขยายออกไปสู่จังหวัดอื่นๆ โมเดลนี้ต้องถอดออกมาทั้งกระบวนการ รวมถึงต้นทุนและค่าแรงว่าสร้างรายได้เท่าไหร่ เมื่อตัวเลขชัดเจนก็น่าจะเป็นทางเลือกอาชีพหนึ่งให้คนตาบอดอยากเข้ามาทำ เราหวังให้เขาลังเลหากคิดจะไปขอทาน นี่คือเป้าหมายสูงสุดของเรา มันคือความฝันร่วมกันว่าเรากำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่คือสร้างอาชีพทางเลือกที่มีทั้งรายได้ งานมีคุณค่า และได้อยู่กับครอบครัว”
ปักจิต ปักใจ
Social Enterprise
ของคนพิการที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
คุณต่อพงศ์ เสลานนท์ (เติ๊ด)
“ชื่อ ปักจิต ปักใจ มีที่มาจากความชื่นชอบคำจำกัดความของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ว่าท่านมองตัวเองเป็น ช่างวาดรูป หรือ จิตรกร หากแปลตรงตัว คือ จิต และ มือ เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งตรงกับคนตาบอดที่ใช้จิตกับมือเป็นหนึ่งเดียวกัน (โดยไม่ผ่านดวงตาด้วยซ้ำ) ปักจิต คือการใช้จิตปัก เข็มเป็นเพียงเครื่องมือ ปักใจก็คือ ปรารถนาให้คนที่ใช้มีความสุข ประทับใจ
ผมเชื่อว่าการทำงานมีความหมายต่อชีวิตมนุษย์ มันคือการทำให้คนเห็นคุณค่าของตัวเอง ผมไม่ได้หมายถึงเงินนะครับ หมายถึงความหมายของตนเองในการดำรงอยู่กับสังคม
อนาคตผมมองไปถึงว่าการออกแบบของดีไซเนอร์ที่สนใจชิ้นงานบางส่วนจากฝีมือคนตาบอด เราเข้าไปร่วมได้ไหม กำหนดมาได้เลย แจกงานมา เราก็ส่งให้คุณเอาไปประกอบ คือเราไม่เอาสิ่งที่ตาบอดอยากทำเป็นตัวตั้ง แต่เอาสิ่งที่ดีไซเนอร์ออกแบบเป็นตัวตั้งซึ่งจะทำให้ของที่เราผลิตเชื่อมโยงกับตลาด ไม่จำเป็นที่คนตาบอดต้องทำเสื้อทั้งตัว เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน เราขายของเราเอง วันหนึ่งปักจิต ปักใจเป็นโคแบรนด์กับใครก็ได้
อีกมุมหนึ่งในวันที่มันขยายงานได้ ผ้าที่ปักนี้คืองานหัตถกรรมจากคนที่ตั้งใจทำ นอกจากคนตาบอดแล้ว ขยายไปถึงครอบครัวคนพิการ หรือกลุ่มคนพิการประเภทอื่นๆ ก็ได้
เราคิดว่าการทำการตลาดหรือบริหารจัดการก็คงทำแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งมีโครงสร้างการจัดการผลประโยชน์ที่ชัดเจน ต้นทุน วัตถุดิบ ค่าแรง ค่าฝีมือ การตลาด ส่วนที่เหลือที่จะนำกลับไปใช้อบรมอาชีพให้คนพิการอื่นๆ ต่อไป เพื่อลดการพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐที่ต้องมาลงทุนให้เราทั้งหมด”
ปักจิต ปักใจ คือตัวแทนของความฝัน ความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ทุกคน ซึ่งวันนี้คุณมีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่ออาชีพนี้แก่คนตาบอดและคนพิการอื่นๆ ด้วยการสนับสนุนงานปักผ้าสร้างสรรค์จากศิลปินเหล่านี้ ที่ยั่งยืนกว่าการหยอดกล่องหรือเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเพียงหนึ่งมื้อ ( ติดต่อ ปักจิตปักใจ ได้ที่ FB : @pakjitpakjai )
ขอบพระคุณ : สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนตาบอด จ.เชียงใหม่ (ภาพประกอบ fb: @SewingStudiobyPhanue และ fb: วันดี สันติวุฒิเมธี)
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม