มิเกล โทมาซิน เบื้องหลัง “ความพิเศษ” ของวงเรย์โนลส์
“สวัสดีครับ ผมคือมือกลองที่โด่งดังที่สุดในโลก”
นี่คือสิ่งแรกที่ อลัน คอร์ติส (Alan Courtis) และ โรเบอร์โต คอนลาโซ (Roberto Conlazo) คุณครูสอนดนตรีชาวอาร์เจนติน่าสองคนได้ยินจากปากของ มิเกล โทมาซิน (Miguel Tomasin) นักเรียนใหม่ของพวกเขา ผู้เกิดมาพร้อมกับภาวะดาวน์ซินโดรม
หากมองจากสายตาสังคมทั่วไปในช่วงต้นทศวรรษ 1990s บทสนทนาแบบนี้อาจจะดูเป็นอะไรที่ไร้สาระหรือน่าหัวเราะเยาะ แต่อลันและโรเบอร์โตเปิดสอนดนตรีให้กับคนพิเศษเป็นอาชีพอยู่แล้วทั้งคู่ พวกเขาจึงร่วมมองมุมต่างอย่างสุดโต่งกับมิเกล และรวมตัวกันฟอร์มวงดนตรีนามว่า “เรย์โนลส์” (Reynols) ขึ้นมา ในช่วงปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ.2536) โดยที่พวกเขาปล่อยให้ทัศนคติไร้ขอบเขตของมิเกล ผู้รับตำแหน่งเป็นทั้งมือกลองและนักร้องนำของวง ชักนำให้ทั้งเสียงดนตรีและมุมมองของพวกเขาหลุดกรอบขนบธรรมเนียมต่างๆ นาๆ ไปไกลโข
ในบางช่วงสมาชิกวงเรย์โนลส์จะมีสมาชิกคนที่สี่เพิ่มขึ้นมา เช่น คริสเตียน เดเกราเบเดียน หรือ แพทริซิโอ คอนลาโซ น้องชายของโรเบอร์โต แต่โดยรวมแล้วตัววงมีมิเกล อลัน และโรเบอร์โตเป็นสมาชิกหลักที่ทำเพลงด้วยกัน และออกสื่อนอกกระแสร่วมกัน
โดยรวมแล้วเพลงของวงเรย์โนลส์นั้นแบ่งได้เป็นเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีวงร๊อคเล่น กับเพลงที่ใช้ “เครื่องดนตรี” ประเภทอื่น แต่ดนตรีจากทั้งสองหมวดหมู่นั้นล้วนแหวกแนวพอๆ กัน และต่างปล่อยให้ความคิดสร้างสรรค์ของสมาชิกวงทุกคนเอ่อล้นท่วมหัวผู้ฟังอย่างไม่ลดละเหมือนกันทั้งคู่ เพราะทั้งอลันและโรเบอร์โตต่างก็ปล่อยให้จินตนาการและความคิดของมิเกลเป็นตัวออกไอเดียที่สำคัญที่สุดของวง และเปิดโอกาสให้มิเกลได้ตีกลองและร้องเพลงตามใจอยากอย่างเต็มที่
มิเกลเป็นมือกลองสายด้นสด เล่นไปตามอารมณ์ของตนเองอย่างอิสระ อลันกับโรเบอร์โตจึงเล่นเครื่องสายไฟฟ้าแบบด้นสดไปเรื่อยๆ กับมิเกลเสมอ มิเกลส่งจังหวะหรือเมโลดี้อะไรมา ไม่ว่าจะขัดจังหวะหรือผิดแผกแค่ไหน อลันกับโรเบอร์โตจะเล่นคล้อยตามทางดนตรีของเขาเสมอ พร้อมทั้งใส่เอฟเฟกต์และลูกเล่นสตูดิโอต่างๆ รวมกับจังหวะและทำนองของมิเกลเป็นหนึ่งเดียว ราวกับว่าทั้งสามคนมีโทรจิตเชื่อมต่อถึงกัน เหตุนี้ทำให้นักดนตรีทั้งสามหลับตาเล่นดนตรีตลอดเวลา เพื่อที่จะได้อินกับเสียงดนตรีแหวกแนวที่พวกเขาบรรเลงทุกวินาที จนสมาชิกวงเรย์โนลส์ทุกคนสร้างเอกลักษณ์ประจำวง ด้วยการใส่แว่นดำเล่นคอนเสิร์ตทุกครั้งไป
Reynols Live
ถ้าดนตรีวงสตริงของวงเรย์โนลส์ยังหลุดโลกไม่พอ พวกเขายังมีชื่อเสียงในวงการเพลงนอกกระแสจากอัลบั้มเพลงจำนวนมากที่แหวกแนวตามไอเดียของมิเกลจนหลุดจากกรอบของคำว่า “เครื่องดนตรี” โดยสมบูรณ์ พวกเขากล้าที่จะ “ปล่อยผลงาน” แบบนี้ตั้งแต่เดบิวอัลบั้มแรก “Gordura vegetal Hidrogenada” ในช่วงปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ไม่มีอะไรเลย! ไม่มีนี่คือไม่มีจริงๆ เพราะอัลบั้มนี้บรรจุแผ่นซีดีที่ถูกสลายภาวะวัตถุ (Dematerialized CD) หรือเรียกในภาษาทั่วไปได้ว่า อัลบั้มนี้เป็น “กล่องซีดีเปล่าๆ” นั่นเอง ทางวงได้กล่าวเรื่องอัลบั้มชุดนี้ว่า มันเป็นอัลบั้มที่มีอยู่ทุกที่ และทุกคนมีอัลบั้มนี้ในคอลเลคชั่นของตัวเอง แม้แต่คนที่ยังไม่ได้เกิดมาก็มีแล้ว! ถ้าว่ากันเป็นภาษาคนดนตรีแหกคอก คงเรียกได้ว่าเป็นการลูบคม จอห์น เคจ (John Cage – ผู้ประพันธ์เพลงทดลองรุ่นบุกเบิก ผู้เขียน “4.33” เพลงคลาสสิกที่ไม่มีโน้ตบนบรรทัดห้าเส้นสักตัว) ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ
นอกจากอัลบั้มไร้แผ่นแล้ว ผลงานเพลงสุดโต่งของวงเรย์โนลส์ยังมีอีกมากมายหลายอย่าง (ที่มีแผ่นให้ฟังในโลกวัตถุจริงๆ) ตั้งแต่ซิงเกิ้ลเพลงซิมโฟนีจากไก่หนึ่งหมื่นตัว “10,000 Chickens Symphony” ในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ที่ทางวงลงทุนเอาไมโครโฟนไปอัดเสียงในเล้าไก่ของเพื่อนแฟนโรเบอร์โตด้วยตัวเอง จนไปถึง “Blank Tapes” อัลบั้มจากปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ.2544) ที่รวมเสียงสัญญาณที่อัดมาจากแถบเทปเปล่าๆ หากงานนี้ดูผิวเผินอาจจะเป็นเรื่องไร้สาระ แต่สมาชิกวงเรย์โนลส์ทั้งสามก็ดูอินกับการควานหาเสียงเทปเปล่ามาก พวกเขาถึงกับตั้งข้อสรุปว่า “เทปยิ่งเก่า ซาวนด์ยิ่งดี”
ซินโฟนีไก่
วงเรย์โนลส์เล็งเห็นทุกสรรพสิ่งเป็นแหล่งกำเนิดเสียงที่ดีได้ ไม่ว่าจะเป็นหอไอเฟลกับประตูชัยฝรั่งเศส พวกเขาก็เคยลองไปเคาะแล้วอัดเสียงมาเล่น บางทีพวกเขาก็อัดเสียงกลางฤดูหนาวแล้วเขวี้ยงหิมะใส่เครื่องอัด หรือไปเคาะเสียงป้ายหน้าหลุมศพคนดัง โดยโรเบอร์โตได้กล่าวไว้ว่า เขาชอบเสียงการเล่นรูปปั้นของกวี ออสการ์ ไวล์ด (Oscar Wilde) ด้วยดอกกุหลาบมากเป็นพิเศษ
แม้ว่าตัวอลันกับโรเบอร์โตจะเป็นศิลปินเพลงที่มีความติสท์แตกและความเชื่อในจิตวิญญาณอย่างล้นหลามทั้งคู่ แต่พวกเขามอบเครดิตหัวหอกความแหวกแนวของวงให้มิเกลแทบทั้งหมด จนเรียกได้ว่าแรงบันดาลใจของมิเกลเป็นขุมพลังดนตรีหลักของวงเลยทีเดียว แน่นอนว่าพลังนี้เป็นพลังที่ไร้ขอบเขตแบบไม่มองหน้ามองหลัง แต่ครูสอนดนตรีทั้งสองก็ไม่เกรงกลัวที่จะเปิดโอกาสให้มิเกลใช้วงเรย์โนลส์เป็นที่แสดงความคิดของเขาอย่างเต็มที่
อลัมกับโรเบอร์โตมักจะอธิบายกับสื่อว่า มิเกลร้องเพลงในภาษาที่เขาคิดขึ้นมาเองแทบจะตลอดเวลา และสำหรับเขา ดนตรีของวงเรย์โนลส์นั้นเป็นเสียงจากมิติคู่ขนานที่มีชื่อว่า มิเนกชิโอ (“Minexcio”) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอธิบายได้ เพราะมิตินี้อยู่ระหว่างทุกสรรพสิ่ง ทำให้มันถูกนิยามแยกออกมาจากสรรพสิ่งอื่นๆ เพื่อระบุว่าตัวมิตินั้นคืออะไรไม่ได้เลย นอกจากจะเป็นหัวหอกการออกไอเดียภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ไร้ขีดจำกัดมากแล้ว มิเกลยังเป็นคนคิดชื่อเพลง ชื่ออัลบั้ม และเครื่องดนตรีประดิษฐ์เองทั้งหมดของวงอีกด้วย
หากเรื่องมิติคู่ขนานของมิเกลดูจะเป็นอะไรที่เข้าถึงยากเกินไป มิเกลยังมีประโยคประจำใจติดตัวที่เขามักจะพูดขึ้นมาบ่อยๆ นั่นคือ “porque non?” (Why not?) หรือ “ทำไมต้องไม่ทำ?” แสดงให้เห็นว่าไม่ว่ามิเกลจะมีความพิเศษรูปแบบไหน แต่จินตนาการไร้ขอบเขตของเขาเป็นของจริง อลันกับโรเบอร์โตถึงกับกล่าวในฐานะศิลปินผู้ร่วมงานว่า ถ้าจะทำงานดนตรีด้นสดอย่างอิสระที่สุดตั้งแต่ต้นจรดท้ายเนี่ย ร่วมงานกับมิเกลเนี่ยแหละเจ๋งที่สุด
อลันกับโรเบอร์โตได้กล่าวไว้อีกด้วยว่า การที่พวกเขาได้ทำงานกับมิเกลและการสอนคนพิเศษคนอื่นๆ เล่นดนตรีนั้น เป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตพวกเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว นอกจากพวกเขาจะได้ค้นพบอะไรบางอย่างในตัวเองที่ไม่เคยคิดว่าตนมีมาก่อนแล้ว การร่วมงานดนตรีกับผู้มีดาวน์ซินโดรมยังเป็นการทำลายเจตนาร้าย ลบการให้เหตุผลแย่ๆ และกัดกร่อนอีโก้ได้เป็นอย่างดี เมื่อสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้เข้ามาผสมกับความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณจากดนตรีอลันกับโรเบอร์โตชอบฟังแล้ว พวกเขาทั้งสองจึงได้รับมุมมองใหม่ๆ ที่นักดนตรีน้อยคนนักจะได้สัมผัส
มุมมองเหล่านั้นคืออะไร? เราลองมาดูตัวอย่างการตอบนักสัมภาษณ์ของทั้งสองคนกันดีกว่า
“พวกเราคือมิเกล วงเรามีมิเกลสามคน เรามักจะบอกว่าเรามีดาวน์ซินโดรมเสมอ…”
“…ผู้คนชอบบอกว่าวงเราแปลกมาก แต่ทำไมถึงบอกว่าแปลกล่ะ? เพราะมือกลองวงเรามีดาวน์ซินโดรมเหรอ?”
“… พอเรามองจากมุมมองนั้น [การเป็นครูสอนดนตรีให้คนพิเศษ] เราก็มีดาวน์เหมือนกัน และเราเจอจุดที่เรามีความสุขและรู้สึกมีเกียรติที่เรามีดาวน์ พวกเราทุกคนล้วนบ้า เพี้ยน และค่อนข้างปกติในคราวเดียวกัน”
สำหรับวงดนตรีนอกกระแสที่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ วงเรย์โนลส์ถือได้ว่าเป็นวงที่มีชื่อในวงการเพลงหลุดโลกได้เลยทีเดียว แน่นอนว่าพวกเขาไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในประเทศบ้านเกิดอย่างอาร์เจนติน่า (ตำรวจท้องถิ่นไม่ชอบขี้หน้าวงนี้มาก จนทางวงเกิดประท้วงด้วยการเล่นคอนเสิร์ตสาธารณะให้ผักกับน้ำแข็งแห้งดู โดยเอากีต้าร์เสียบเข้ากับฟักทอง! ) แต่พวกเขาก็ไม่ได้เกรงกลัวเรื่องขายเพลงไม่ออก แล้วตัดสินใจส่งจดหมายเชื้อเชิญค่ายเพลงอินดี้จากทั่วทุกมุมโลกให้มาทำงานร่วมกับพวกเขา จนทำให้วงเรย์โนลส์ได้ออกอัลบั้มนับร้อยชุดกับค่ายเพลงที่แทบไม่ซ้ำชื่อกันเลย และกลายเป็นว่าอัลบั้มเดียวที่พวกเขาส่งผลิตในอาร์เจนติน่า ก็คือเจ้าอัลบั้มเดบิวไม่มีแผ่นนั่นแหละ!
เรย์โนลส์ได้ออกทัวร์ยุโรป เล่นเป็นวงเปิดให้วงใต้ดินในอเมริกา และได้รับจดหมายจากแฟนเดนตายในประเทศอียิปต์ แม้มิเกลจะตามวงของเขาไปทัวร์ยุโรปไม่ได้เพราะเหตุผลส่วนตัว แต่ทางวงก็ถือว่ามิเกล อยู่กับพวกเขาตลอดเวลาอยู่แล้ว นอกจากนี้ พวกเขายังได้ด้นสดควบคู่กับนักประพันธ์เพลงทดลองหญิง พอลลีน โอลิเวโรส (Pauline Oliveros) ในช่วงปลายศัตวรรษที่ยี่สิบ และยังเคยเชิญชวน แดดดี้ แอนทอญญ่า (Daddy Antogna) มือกลองวงร๊อคมีชื่อประจำอาร์เจนติน่าให้มาแจมเพลงแล้วอัดแผ่นร่วมกัน แม้ว่าแดดดี้จะมีร่างกายที่พิการครึ่งท่อนจากการประสบอุบัติเหตุ แต่เขาก็ยังไฟแรงมากจนตีกลองด้วยแขนอย่างเดียวออกมาประทับใจสมาชิกวงเรย์โนลส์กันมาก
Pauline Oliveros and Reynols
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) เป็นต้นมา อลันและโรเบอร์โตได้ทำงานในวงเรย์โนลส์ตามแต่ที่สัญชาติญาณของมิเกลจะพาไป แต่ว่าในปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) วงเรย์โนลส์ได้ประกาศยุบวงลง หรือถ้าจะเรียกให้ถูกก็คือ “วงจรชีวิตของวงมาถึงจุดจบตามธรรมชาติ” มากกว่า โดยทางวงเองก็ไม่ได้ยุบวงด้วยความบาดหมางหรือเศร้าโศกแต่อย่างใด และพวกเขาทุกคนรู้สึกว่าควรจะยุบวงเมื่อถึงเวลาอันควรเอง เพื่อให้จิตวิญญาณของวงยังคงอยู่ต่อไป
อย่างไรก็ดี หลังจากยุบวงใหม่ๆ ทางวงเรย์โนลส์ก็ยังทยอยปล่อยของเหลือที่พวกเขาเคยอัดไว้รวมแล้วราวหนึ่งร้อยถึงสองร้อยชั่วโมงทีเดียว เรียกได้ว่าทำให้เหล่าสาวกได้หายคิดถึงกันได้บ้าง
ทางสมาชิกหลักของวงทั้งสามคนก็ยังทำงานร่วมกันบ่อยๆ อลัน คอร์ติส ยังออกไปทำโปรเจ็คต์เพลงทดลองให้ฟังกันบ้าง และเขายังมีโอกาสกลับไปเล่นโคฟเวอร์เพลงร๊อคคลาสสิกกับโรเบอร์โตและมิเกลตามงานคอนเสิร์ตการกุศล เพื่อเรียกทุนช่วยเหลือโรงเรียนและสถาบันสำหรับคนพิเศษ การเปิดโอกาสทางอาชีพให้คนพิเศษในอาร์เจนติน่าผ่านเสียงดนตรีของอลันและโรเบอร์โตก็ยังคงดำเนินต่อไป
วงการดนตรีได้เป็นทั้งกระบอกเสียงและที่เปิดโอกาสการทำอาชีพให้กับคนพิเศษหลายประเภทมานานนับทศวรรษ เสียงดนตรีในยุคปัจจุบันคงไม่มีโอกาสได้เจิดจรัสขนาดนี้หากขาดนักดนตรีผู้พิการทางสายตาหรือนักแต่งเพลงผู้มีภาวะไบโพลาร์หลายๆ คนไป แต่การที่วงดนตรีด้นสดเซอร์ๆ วงหนึ่งปล่อยให้ผู้มีภาวะดาวน์ซินโดรมพาเสียงดนตรีของพวกเขาข้ามไปอีกมิติหนึ่งอย่างไม่ลดละอะไรใดๆ ทั้งสิ้น โดยปราศจากความสงสารหรือการมองอย่างไม่เท่าเทียมใดๆ ก็ยังคงถูกมองว่าเป็นอะไรที่แปลกประหลาดเกินคาดคิดได้อยู่ดี
แต่ว่า… นี่เรากำลังทำอะไรอยู่? เรากำลังสรุปว่าวงดนตรีวงนี้แปลก
“เพราะมือกลองวงเรามีดาว์นซินโดรมเหรอ?”
ถ้าอลัน คอร์ติส มาเห็นเราในตอนนี้เข้า เขาคงจะบอกกับพวกเราอย่างเดียวกับที่บอกนักสัมภาษณ์ไปว่า “ตามมาตรฐานของเราเองน่ะ วงเราเนี่ยธรรมดามากนา”
ที่มาและแหล่งอ้างอิง (source)
สารคดี “Buscando a Reynols” (ต้นฉบับภาษาสเปนและบรรยายภาษาอังกฤษ)
ข้อมูลทั่วไป:
https://weirdestbandintheworld.com/2015/04/26/weird-band-of-the-week-reynols/
บทสัมภาษณ์วง:
• http://www.furious.com/perfect/reynols.html
• http://www.paristransatlantic.com/magazine/interviews/reynols.html
ข้อมูลอัลบั้มของวง:
https://www.discogs.com/artist/53815-Reynols
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม