ตัวอย่างการจ้างงานตามมาตรา 33 ในโรงพยาบาลมนารมย์
ในโลกของความจริงไม่อิงนิทานแบบที่ …แล้วทุกคนก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดไป
โดยเฉพาะในโลกของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษต้องเผชิญ
ครอบครัวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านให้มากไปกว่า..
ดิ้นรนเพื่อโอกาสการเข้าเรียนร่วม ผลักดันก้าวเข้าสู่การศึกษาระดับสูง การมีภาษาแบบอ่านออกเขียนได้หรือการตัดสินใจทำบัตรประจำตัวคนพิการเพื่อใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556) โดยเฉพาะมาตรา 33 การจ้างผู้พิการเข้าทำงานในสถานประกอบการ
เพราะโอกาสที่เขาได้รับไม่ใช่บทสรุปที่มีความสุขแบบในนิทาน
แต่เป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ทุกอย่างใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ความพร้อมด้านทักษะสังคม การควบคุมอารมณ์ ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า กลายเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นในการเติบโตในโลกใบใหม่ของเขา การมีที่พึ่ง ที่ปรึกษา หรือพี่เลี้ยงระหว่างการทำงานนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ แต่นั่นยังไม่ใช่ปัจจัยที่ผู้จ้างจำเป็นต้องจัดหาให้ตามกฎหมาย ฉะนั้นในทางปฏิบัติกระบวนการสนับสนุนที่สำคัญนี้ยังคงอาศัยใจล้วนๆ ของบุคลากรและนโยบายของผู้บริหารในสถานประกอบการแต่ละแห่ง
ตัวอย่างเรื่องราวการเริ่มต้นทำงานในระยะเวลาสองปีของ คุณธีรพัฒน์ จิรวราพันธ์ (ป๋อป๋อ) เจ้าหน้าที่ธุรการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โรงพยาบาลมนารมย์ ที่มีหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานเปิดใจเรียนรู้และช่วยกันประคับประคองอาจเป็นตัวอย่างของความพยายามใน ‘การต่อจิ๊กซอว์ความเข้าใจ’ เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
“ผมเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการครับ มีหน้าที่จัดเอกสารต่างๆ เป็นหลัก เวลาบางส่วนชอบงานออกแบบบ้างเป็นการฝึกมือ และช่วยถ่ายภาพงานของโรงพยาบาลบ้างครับ (คุณธีรพัฒน์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ – สาขาการถ่ายภาพและภาพยนตร์)
ผมปรับตัวได้ดีขึ้นมากจากช่วงสามเดือนแรก เวลามีปัญหาในงาน เราก็ปรึกษาหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน
อยากพัฒนาตัวเองให้ถ่ายวิดีโอได้ดีขึ้น ส่วนงานออกแบบสไลด์ก็ฝึกอยู่อยากทำได้ดีขึ้น งานส่วนใหญ่ผมเลือกข้อความจากหนังสือ ผมชอบสุภาษิตจีนมันตรงไปตรงมาดี
เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้ยังต้องการการดูแลบางเรื่องแต่ครอบครัวก็ต้องให้พื้นที่ส่วนตัวนะ อย่างในที่ทำงานเขาทำให้เรารู้สึกว่าเขามอบหมายงานให้เรารับผิดชอบก็เหมือนเราเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งและมีพื้นที่สำหรับเราได้นั่งทบทวนตัวเอง เมื่อเราต้องการคำปรึกษาก็มีคนคอยแนะนำ บางทีเราทำงานออกมาไม่ละเอียด ไม่มีสมาธิ ผมก็พยายามดูแลตัวเอง สภาพแวดล้อมที่นี่มีส่วนช่วยเยอะมาก
ที่จริงเราก็เหมือนคนทั่วไปเพียงแต่บางอย่างเราไม่เหมือนกัน บางทีสังคมเขาไม่เข้าใจ แต่ผมก็คิดว่า ก็เป็นอย่างที่เราเป็น ไม่ต้องเป็นเหมือนคนอื่น”
ภาพสะท้อนจากเพื่อนร่วมงาน
คุณทิวากร โปสาวาท
กราฟิกดีไซน์ แผนกพัฒนาธุรกิจ รพ.มนารมย์
ป๋อเขาเป็นคนร่าเริง เล่นมุกได้กับทุกคน น้องเขาจบมาทางด้านถ่ายภาพ เราก็ลองให้ทำงานว่าทำอะไรได้บ้างและทำอะไรได้ดี อย่างเช่น ช่วยพิมพ์งาน จัดชุดเอกสาร หรือโปรแกรมออกแบบก็สามารถใช้งานได้ เรื่องถ่ายภาพก็ทำได้ดี เขาจะสังเกตว่าวันไหนจะมีงานที่โรงพยาบาลก็จะเตรียมอุปกรณ์ของเขามา ซึ่งสำหรับงานถ่ายภาพนี่ผมคิดว่าถ้าเขาฝึกฝนเพิ่มเติมก็น่าจะทำเป็นอาชีพได้
การที่บุคคลที่มีความต้องการพิเศษจะเข้าไปทำงานในองค์กรหนึ่งๆ ปัจจัยที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ คือ พี่เลี้ยง มีผลมากที่จะช่วยพยุงให้ไปตลอดรอดฝั่งได้ เราต้องแบ่งย่อยรายละเอียดเป็นขั้นตอนและมีพี่เลี้ยงประกบให้ทำงานได้สำเร็จ โดยงานที่เขาทำได้ เราคอยประกบอยู่ห่างๆ คอยจัดการขั้นตอนให้เขาไปสู่เป้าหมายได้
เวลาอารมณ์ไม่ปกติผมก็ชวนให้นั่งพักก่อนอย่างทำแก้วน้ำตก เราก็ไม่ต้องเข้าไปยุ่งโวยวายแค่บอกธรรมดาๆ ว่าเอาผ้ามาเช็ดเก็บให้เรียบร้อยนะ เพราะทุกความผิดพลาดตัวเขาจะโทษตัวเองไปเยอะกว่าความเป็นจริงอยู่แล้ว หน้าที่เราคือช่วยให้เขาสงบ ลักษณะเขาคือโกรธง่ายหายเร็ว เดี๋ยวนี้เขาก็ปรับจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น
คุณจุฑามาศ บุณยประสพ
เจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจ รพ.มนารมย์
ป๋อเขาพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเรื่องการเข้าสังคมแรกๆ พวกพี่ๆ เองก็ยังใหม่ไม่ค่อยเข้าใจว่าควรดูแลอย่างไร แม้แต่เดิมเรามีน้องที่มีความต้องการพิเศษอีกคนอยู่แล้ว แต่ทั้งคู่ก็มีความแตกต่างกัน อีกคนเขาจะถูกฝึกงานให้ทำในสำนักงานมาก็จะคล่องแคล่วแต่สื่อสารไม่ได้มากเท่าป๋อ เราก็อาศัยการปรับตัวกันทุกฝ่าย
ทุกวันนี้เขารู้ตัวมากขึ้นทั้งเราและเขาเข้าใจวิธีการมอบหมายงาน สอนงานที่ต้องมีขั้นตอนอย่างละเอียดชัดเจน บางงานอาจต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน เราก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ข้อเด่นคือ เขาเป็นคนมองโลกในแง่ดี อยากช่วยเหลือแต่อาจเข้าไม่ถูกจุด คนอาจรู้สึกว่า เอ๊ะ มายุ่งอะไรกับเรา จริงๆ เขาหวังดีอยากช่วยแต่วิธีการอาจไม่เหมาะสม ป๋อเป็นคนมีไอเดียเยอะเรามีหน้าที่ช่วยเหลือ ตั้งคำถามให้เขาตกผลึกด้วยตัวเอง ว่ามันเป็นไปได้ไหม ถ้าอยากทำให้สำเร็จต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง อาจมีอุปสรรคอะไรบ้าง คือช่วยให้เขาคิดและตอบตัวเองได้ว่าควรทำอะไรบ้างเพื่อให้งานเป็นไปตามเป้าหมาย
คุณพัชราพรรณ ศิลปิกุล (ปิ่น)
ผู้จัดการแผนกพัฒนาธุรกิจ
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์
ตัวปิ่นเองเข้ามาทำงานพร้อมกับป๋อป๋อเลย ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นหัวหน้างานเขาทันที เราอยู่แผนกเดียวกัน
ช่วงแรกยังไม่ค่อยเข้าใจเขาเต็มที่ การมอบหมายงานโดยที่ยังไม่เข้าใจในลักษณะของเขาทำให้สับสนกันทั้งสองฝ่าย ตัวอย่างเช่น เดิมตำแหน่งที่นั่งของเขา คือ จุดที่ค่อนข้างเปิดรับสิ่งเร้าได้มาก ซึ่งลักษณะของเขาต้องมีพื้นที่ส่วนตัวเพราะสมาธิและอารมณ์ถูกสิ่งเร้ารอบตัวรบกวนได้ง่าย ถ้าที่ทำงานมีเสียงดังหรือมีคนหงุดหงิดมันกระทบถึงเขา ภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นช่วงแรกเราไม่เข้าใจว่าต้องทำอย่างไร โชคดีที่เราเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางมีโอกาสปรึกษาคุณหมอซึ่งให้คำแนะนำเรื่องการปรับที่นั่งใหม่ ก็เห็นเลยว่าเขาเปลี่ยนไป นิ่งขึ้น พฤติกรรมบางอย่างไม่ได้เกิดเพราะตัวเขา ใช่เป็นเพราะอาการของเขา แต่มันก็เป็นภาพสะท้อนของพวกเราเองด้วย เช่น เพราะเราเสียงดังส่งผลให้เขาอารมณ์ขึ้นหรือหงุดหงิดไปด้วย พอเราจัดสภาพแวดล้อมที่สงบเหมาะสมทุกอย่างก็ดีขึ้น
มองเห็นคุณค่า
งานที่เขาถนัด คือ คอมพิวเตอร์ ส่วนงานที่ใช้ทักษะมือที่เป็นงานละเอียดจะไม่ค่อยถนัดนัก คือ ฝึกให้ดีขึ้นได้ประมาณหนึ่ง แต่ที่ถนัดและทำได้ คือ งานคอมพิวเตอร์ เช่น พิมพ์งาน ส่วนถ่ายรูปก็เป็นเรื่องที่เขาสนใจและทำได้ดี
การมอบหมายงานถือเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างละเอียดเรียกว่าทั้งป๋อและเรา(เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน) ต่างได้พัฒนาตัวเองไปด้วยกัน ที่จริงเราอาจได้มากกว่าป๋อด้วยซ้ำ คือ เราได้ฝึกตัวเองให้ใจเย็น เข้าใจเขา การสั่งงานของเราต้องละเอียด ถ้าเราสั่ง 3 ครั้ง แต่เขายังทำไม่ได้ มันต้องปรับที่เราแล้วล่ะ เพราะน้องมีข้อจำกัด เราต้องปรับวิธีการอธิบายให้เขาเข้าใจได้ มองในแง่ดี คือ เราได้ฝึกเป็นคนละเอียด พูดจาชัดเจน และใจเย็น
งานบางอย่างครั้งนี้ทำได้ ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์เขาอาจจะลืมก็ได้ ซึ่งเขาไม่ได้ขี้เกียจหรือตั้งใจลืม แต่เป็นภาวะอาการของเขา ข้อดีของเขา คือ เป็นคนมีน้ำใจ ขยัน จะมาถามตลอดว่ามีอะไรให้ช่วยบ้าง หน้าที่เราก็ต้องหางานที่เหมาะสมให้
ต่อเติมจุดแข็ง
เขาชอบถ่ายภาพก็จะช่วยถ่ายเวลามีกิจกรรมภายในของโรงพยาบาลซึ่งเราจะคุยกันให้ชัดเจนก่อนว่าจะเอารูปไปทำอะไร บางครั้งให้เขาเล่าให้ฟังเลยว่าจะถ่ายช็อตไหนบ้าง งานภายในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นซ้ำๆ เขาเคยผ่านมาแล้ว เช่น งานทำบุญครบรอบวันก่อตั้งโรงพยาบาล เขาก็จะรู้ว่าพิธีการจะมีอะไรบ้าง รูปที่ออกมาก็ใช้ได้ แม้จะไม่เป๊ะมาก
เราอยู่กันมาพักนึงแล้ว การพูดคุยกันทำให้เขาเชื่อใจฟังเรามากขึ้น ช่วงแรกๆ ไปสอนอะไรเขาอาจไม่ค่อยฟังเรานัก ก็เหมือนคนทำงานร่วมกันทั่วไปนะคะ เริ่มทำงานด้วยกันใหม่ๆ ก็ต้องสร้างความไว้วางใจกันก่อน ไปบอกอะไรเขายังไม่ฟังทันที แต่พอเราได้ใจเขาแล้วก็ฟังเรามากขึ้น เราก็แนะให้เขาลองดูพี่ๆ ที่เขาถ่ายเป็นกล้องหลัก ซึ่งพี่ๆ เขาก็สอนแนะนำให้ก็ยังต้องฝึกฝนกันอยู่ งานที่ออกมาบางภาพก็เป็นมุมมองที่แตกต่าง บางมุมก็น่าสนใจ
เมื่อ ‘ใจต่อใจ’
ทักษะทางสังคมเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องช่วยกันเติม ถ้ามองผิวเผินคนที่ไม่เข้าใจจะมองว่าเขาไม่มีมารยาทที่จริงเขาเป็นเด็กใสๆ บางเรื่องเราเองก็อาจจะคิดเหมือนเขาเพียงแต่พอกลั่นกรองแล้วเราไม่พูดออกมา แต่น้องเขาพูดออกมาตรงๆ
ในช่วงแรกเราเองก็ไม่เข้าใจ ไปปรึกษาคุณหมอก็ได้หนังสือมาอ่านสองสามเล่มว่าเราต้องดูแลอย่างไร และไปค้นเพิ่มทั้งของไทยและต่างประเทศว่าในที่ทำงานที่มีบุคคลที่มีความต้องการพิเศษทำงานเขาต้องการอะไรบ้าง เราควรเตรียมตัวอย่างไรและมาอธิบายให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ฟัง คนรอบข้างก็มีความเข้าใจมากขึ้น ทุกวันนี้การพูดโพล่งออกมาเลยยังมีอยู่บ้างแต่ในทีมไม่มีใครโกรธแล้ว เพราะรู้ว่าลึกๆ เขาไม่มีอะไร เพียงแค่พูดสิ่งที่คิดออกมา เราก็พยายามสอนเขาไปด้วย คนทั่วไปอาจจะสังเกตและเรียนรู้เองได้ แต่เขาเราต้องอธิบายให้เขาฟังซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ
ภาวะทางอารมณ์ตอนนี้เรารับมือได้ดีขึ้นและตัวเขาเองก็ควบคุมได้ดีขึ้น เขาใช้วิธีพูดกับตัวเองว่าอันนี้ทำไม่ได้นะ เราก็จะชมเขาเลยว่าเก่งมากที่เข้าใจอารมณ์ตัวเองและหยุดตัวเองได้ เวลาอยู่ในภาวะอารมณ์ไม่ปกติ การปาของหรือทำร้ายตัวเองเดี๋ยวนี้น้อยลงมาก ตัวเราเองก็ยังมีอารมณ์เสียใช่ไหม เขาก็เป็นเหมือนเราและอาจจะง่ายกว่าด้วยแต่เขาพยายามดูแลควบคุมตัวเอง
หาสาเหตุ – ให้ตัวช่วย
อารมณ์โมโหเดี๋ยวนี้ให้เขานั่งพักคุยกับตัวเองไม่เกินห้านาทีก็จะดีขึ้นได้เอง เรามีพื้นที่และคนที่คอยรับฟัง มีอะไรเกิดขึ้น? เล่าให้ฟังไหม? รู้สึกอย่างไร? เขาก็จะเล่า อารมณ์ต่างๆ บางทีเกิดจากการดูข่าวหรือฟังเพลงที่เขาอินไปด้วย เราก็แนะนำว่าถ้าเขาไม่ใช้มือถือฟังหรือดูก็จะมีสมาธิในการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเราไม่อยากห้ามการใช้มือถือในเวลางานก็มีขอบ้างแต่ไม่เคร่งครัดนัก พยายามหาจุดสมดุลอยากให้เขาคุมตัวเองได้มากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ความหิวก็ทำให้อารมณ์เสียได้ เราก็ต้องนำมาปรับใส่ในตารางการทำงานว่าบ่ายสามโมงครึ่งเขาต้องเบรคทานของว่างนะและต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจนไม่งั้นเดี๋ยวหายไปเลย (ยิ้ม)
การมีตารางงานทำให้เป้าหมายการทำงานแต่ละวันชัดเจนว่าเขาจะทำอะไรบ้าง ตอนนี้เริ่มสอนเขาทำสต็อคเอกสารโบรชัวร์ต่างๆ งานเอกสารมีหลากหลายก็มีบางงานที่เขาไม่ชอบนัก แต่ก็ฝึกให้เขา ทำให้เรียนรู้ว่าต้องทำเรื่องที่ไม่ชอบบ้าง เพราะมันเป็นงาน
องค์กรได้อะไร ?
เราถือว่าการทำงานที่นี่ให้โอกาสเราได้ทำอะไรดีๆ สำหรับชีวิตคนอีกคนหนึ่งซึ่งมันอาจจะยาก แต่มีคุณหมอช่วยให้แนวทาง เรื่องงานเราไม่คาดหวังมากเกินไป ตั้งเป้าหมายตามความเป็นจริง
ที่ออฟฟิศของเรามีบุคคลที่มีความต้องการพิเศษทำงานอยู่ 2 คน ทั้งคู่มีความแตกต่างไม่เหมือนกัน คนทั่วไปมีความรู้เรื่องนี้น้อย และบางทีเป็นความรู้ที่ตายตัว เช่น บุคคลที่มีความต้องการพิเศษที่เราพบแต่ละคนมีตัวตนของเขา ไม่ใช่ทุกคนจะชอบงานซ้ำๆ เขามีความแตกต่าง เราต้องเปิดรับความหลากหลายตัวตนของเขาที่มีความพิเศษต่างกันไป ซึ่งหากองค์กรใดต้องการเปิดพื้นที่ให้โอกาส อย่างน้อยเราควรเข้าใจประเภทของภาวะอาการต่างๆ ว่ามีเรื่องอะไรที่น่าจะติดตัวมา เช่น ทักษะสังคม ลักษณะการสื่อสาร สิ่งเร้าหรือปัจจัยที่สร้างความเครียด ฯลฯ เช่น ออทิสติกที่พูดได้คล่องแคล่ว ดูภายนอกเราอาจจะดูไม่ออกก็จะไม่เข้าใจเขาเวลามีปัญหาทักษะสังคม หากพนักงานมีความเข้าใจพื้นฐาน หรือจะให้ดีในหน่วยงานมีทีมที่พร้อมเป็นโค้ช เป็นเพื่อนเขาก็จะช่วยได้มาก
สิ่งที่องค์กรจะได้คือความหลากหลาย เข้าใจความแตกต่าง มีความเห็นอกเห็นใจ ฝึกให้เราเป็นคนทำงานชัดเจน มีขั้นมีตอน พยายามหาเครื่องมือมาช่วย พร้อมปรับและพัฒนาเพื่อให้ออกมาเหมาะใช้งานกับแต่ละบุคคลได้ดีที่สุด และสำหรับสิ่งที่เราได้กับตัวเองเลย คือ การปรับตัว หาวิธีการใหม่ เราได้เห็นแง่มุมจากเขาที่แตกต่างจากเรา ส่งผลให้เราทำงานกับคนอื่นๆ ได้ดีขึ้น เพราะในการทำงานเราย่อมพบคนที่คิดต่างจากเราแน่นอน
จากการร่วมงานกับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ เราคิดว่าเขาน่าจะใช้ชีวิตในสังคมในแบบของตัวเองได้ เพียงแต่ต้องมีคนที่เข้าใจฝึกเขาในสิ่งที่เขาควรเป็นและทำได้ เข้าใจเขาในแบบที่เขาเป็น และถ้าผู้ร่วมงานได้รับข้อมูลเพื่อที่จะเข้าใจวิธีการช่วยเหลือก็จะเป็นประโยชน์มาก
ขอขอบคุณ โรงพยาบาลมนารมย์
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์
Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม