เบื้องหลังเลนส์พิศวงของ Pete Eckert

ช่างภาพมืออาชีพผู้พิการทางสายตา

หากเราพูดถึงประเด็นโอกาสสร้างอาชีพสำหรับผู้มีความพิการทางสายตา ย่อมมีบางอาชีพที่เรานึกถึงก่อนเป็นอันดับแรกๆ เช่น นักดนตรีหรือนักร้อง และมีบางอาชีพที่เราอาจไม่เคยนึกเลยว่าคนที่มองไม่เห็นจะทำได้เช่น อาชีพ “ช่างภาพ” ซึ่งเป็นสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ “ภาพ” และ “การมองเห็น” อย่างโจ่งแจ้ง จนดูเหมือนน่าจะถูกตัดขาดจากกลุ่ม “คนตาบอด” โดยสมบูรณ์ แต่แท้จริงแล้ว “การถ่ายภาพ” ในฐานะสื่อประเภทหนึ่งนั้น กลับเป็นช่องทางสำหรับการเชื่อมโลกของผู้มีสายตาปกติกับโลกของผู้พิการทางสายตาเข้าด้วยกันได้ นี่คือสิ่งที่ พีท เอคเคิร์ท (Pete Eckert) หนึ่งในช่างภาพมืออาชีพผู้พิการทางสายตา ได้ค้นพบ เรียนรู้ และแสดงออกจนประสบความสำเร็จในวงการทัศนศิลป์โลก

เบื้องหลังเลนส์พิศวงของ Pete Eckert 5
พีท เอคเคิร์ท (Pete Eckert)

พีทไม่ได้ตาบอดมาตั้งแต่เกิด และเขาไม่เคยสนใจการถ่ายภาพอย่างจริงจังเลยในวัยเรียน พีทชอบงานสร้างและประดิษฐ์สิ่งต่างๆ จนเขาตั้งมั่นจะเป็นประติมากรมืออาชีพ เขาศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเยลล์และทำกิจการก่อสร้างขนาดเล็กของตนเอง แต่แล้วในช่วงวัยยี่สิบปี พีทถูกตรวจพบว่าเป็นโรคจอตามีสารสี (Retinis Pigmentosa) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เซลล์รับแสงในจอตาทำงานผิดปกติมากขึ้นเรื่อยๆ จนตาจะบอดสนิทในที่สุด แน่นอนว่าพีทในวัยหนุ่มแน่นกลัวการสูญเสียการมองเห็นอย่างมาก เขาเริ่มรู้ตัวว่าเขาจะขี่จักรยานยนต์คันโปรดไม่ได้อีกต่อไป และงานก่อสร้างก็อันตรายเกินกว่าที่เขาจะทำต่อได้ เขาใช้เวลาตั้งสติและรวบรวมกำลังใจไปสองปี ก่อนเริ่มหาหนทางการใช้ชีวิตที่จะทำให้เขาพึ่งพาตัวเองได้เมื่อสายตาของเขามืดหายไปจนหมด

พีทมีความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียสายตาอยู่สองอย่าง ได้แก่ การป้องกันตัวเอง และการหารายได้ ดังนั้น เขาจึงใช้เวลาฝึกฝนตนเองและหาโอกาสให้มากที่สุดก่อนที่สายตาจะมืดสนิท หลังจากที่เขาย้ายไปอยู่กับครอบครัวที่ฝั่งตะวันออกของอเมริกาและแต่งงานกับภรรยาของเขา พีทเรียนวิชาศิลปะป้องกันตัวจนเชี่ยวชาญถึงขั้นได้คาดสายดำ และเรียนเพิ่มเติมจนได้ปริญญาโทมาอีกสองใบ แม้ทั้งสองอย่างนี้จะช่วยเป็นกำลังใจให้เขาได้ แต่ปัญหาในใจของพีทยังไม่หมดไป ในช่วงที่พีทจบปริญญาโทสายตาของเขาเลือนลางลงอย่างมาก เขาลองสมัครงานเป็นพนักงานธนาคารหลายแห่ง ทุกที่ล้วนสนใจในตัวเขา จนกระทั่งพวกเขารู้ว่าสายตาของพีทกำลังจะบอด การถูกปฏิเสธทำให้เขารู้ซึ้งถึงมลทินที่สังคมติดตรึงไว้กับผู้พิการทางสายตาเป็นครั้งแรกในชีวิต

ด้วยเหตุนี้ พีทจึงกลับมาหาทางเลี้ยงตนผ่านงานศิลปะอีกครั้ง เขาเริ่มต้นจากการทำงานไม้ต่างๆ เช่น รูปสลักและนาฬิกา แต่งานสลักไม้นั้นมีกระบวนการที่ช้าไป จนภรรยาที่ต้องนั่งดูผลงานไม้ทุกชิ้นของเขาเริ่มรับไม่ได้ ส่วนงานทำนาฬิกาก็ออกผลกำไรช้ากว่าที่เขาต้องการ พีทไม่อยากทำงานศิลปะเป็นแค่งานอดิเรก เขาจึงต้องการสื่อกลางรูปแบบอื่นที่เขาสามารถทำงานด้วยได้เมื่อสายตาของเขาบอดสนิทแล้ว

พีทค้นพบว่าการถ่ายภาพเป็นสื่อกลางที่เขาต้องการ ในวันที่เขาเจอกล้องถ่ายรูป Kodak รุ่นเก๋ากึ๊กของแม่ยายบนชั้นวางของระหว่างที่เขากำลังทำความสะอาดบ้าน ด้วยความที่เป็นคนสนใจสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มาก่อน เขาจึงติดใจการใช้กล้องถ่ายรูปจนถอนตัวไม่ขึ้น พีทสนใจระบบถ่ายรูปอินฟราเรดของกล้องตัวนั้นเป็นพิเศษ และคิดว่าถ้าคนตาบอดถ่ายภาพผ่านระบบรังสีที่มองไม่เห็นน่าจะเป็นอะไรที่สนุกสนานดี พีทตัดสินใจใช้ช่วงสุดท้ายก่อนตาจะบอดสนิทไปกับการแวะไปร้านกล้องถ่ายรูป แคเมรา อาร์ทส (Camera Arts) ในเมืองแซคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย (Sacramento, CA) และซักถามเรื่องเทคนิกการใช้กล้องถ่ายรูปเป็นประจำทุกวัน แถมด้วยการใช้ซอฟท์แวร์ทอล์คกิ้งสแกนเนอร์ (Talking Scanner) อ่านหนังสือกล้องถ่ายรูปที่ไม่มีอักษรเบรลล์ พีทเป็นศิลปินที่มีความรู้เรื่องการถ่ายภาพเป็นศูนย์ แต่เขาตั้งมั่นเรียนรู้อย่างมากจนพนักงานที่ร้านแคเมรา อาร์ทส อนุญาตให้เขาเอากล้องถ่ายรูปของทางร้านไปใช้ได้ฟรีๆ ทำให้เขามีโอกาสออกไปถ่ายภาพตอนกลางคืน โดยมี อูซุ (Uzu) สุนัขนำทางคู่ใจคอยป้องกันเขาจากอันตรายยามวิกาล ในที่สุดพีทก็หารูปแบบการถ่ายภาพที่ถ่ายทอดโลกการรับรู้ของผู้พิการทางสายตาได้ในเวลาต่อมา

เบื้องหลังเลนส์พิศวงของ Pete Eckert 6

พีท เอคเคิร์ท และอูซุ (Uzu) สุนัขนำทางคู่ใจของเขา

เมื่อพีทเข้าสู่โลกของผู้พิการทางสายตาโดยสมบูรณ์ เขาได้นำความรู้ศิลปะ สถาปัตยกรรม และการถ่ายภาพ มาหลอมรวมกับความทรงจำและ “การมองเห็น” ภายในห้วงจิตของเขาเอง พีทมักทำงานในสตูดิโอที่มืดสนิท และใช้การได้ยินกับการสัมผัสเสมือนสายตาแบบใหม่ เหมือนกับเด็กทารกที่ยังมองเห็นหน้าพ่อแม่ตัวเองไม่ชัด บางครั้งเขายังเคาะวัตถุที่เขาจะถ่ายภาพหรือพูดให้เสียงกระทบวัตถุนั้น เพื่อให้เขาสามารถรับรู้ถึงวัตถุนั้นได้เหมือนค้างคาวเวลาส่งเสียงจับวัตถุในความมืด นอกจากนี้เขาพบว่า เขามองเห็นแถบแสงหลากหลายสีปรากฏเหมือนเอฟเฟกต์แสงโชว์ไฟท่ามกลางความมืดจากภาวะตาบอดสนิท และบางครั้งเขายังเห็นแสงเหล่านี้ไหลไปตามโครงกระดูกของตนเอง โดยเขามักอธิบายว่าการมองเห็นแบบนี้คล้ายเป็นสัมผัสลวงตา (Phantom Sense/Ghost Pain) แบบคนที่สูญเสียแขนหรือขาไปมักจะรู้สึกเจ็บหรือคันตามส่วนที่ถูกตัดไปขึ้นมาเอง การรับรู้น่าพิศวงนี้เป็นแรงบันดาลใจหลักสำหรับแกลเลอรี่ภาพ “Bone Light” ของเขา และยังเป็นแนวทางการถ่ายภาพที่ใช้ลูกเล่นการฉายแสงกระทบวัตถุคู่กับการถ่ายภาพตั้งความเร็วชัตเตอร์ค้างเป็นเวลานาน หรือ Long Exposure อันเป็นลายเซ็นหลักที่ปรากฏในผลงานของเขาแทบทุกชิ้น ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกสตูดิโอก็ตาม

เบื้องหลังเลนส์พิศวงของ Pete Eckert 7

ตัวอย่างภาพจากชุด “Bone Light”

สไตล์ที่ฉูดฉาดเหนือจริงของพีทได้รับความสนใจเป็นอย่างดี และทำให้เขาได้รับรางวัลการถ่ายภาพต่างๆ หลายครั้ง เช่น รางวัลศิลปินโดดเด่นจากงานแสดง อินไซทส์ (Insights) สองสมัยติดกัน (ค.ศ. 2002-2003) และรางวัลชนะเลิศในงาน Artist Wanted “Exposure” Competition (ค.ศ. 2008) นอกจากนี้ เขายังได้รับว่าจ้างให้ถ่ายภาพจากบริษัทแบรนด์เนมชั้นนำ เช่น บริษัทเครื่องประดับ เช่น สวารอฟสกี้ (Swarovski) และงานโฆษณารถยนต์ โวลค์สวาเกน อาร์เทออน (Volkswagen Arteon) อีกด้วย

เบื้องหลังเลนส์พิศวงของ Pete Eckert 8ภาพงานชุด Swarovski

โฆษณา Volkswagen Arteon

ผลงานของพีทเน้นการใช้เทคนิกถ่ายภาพเฉพาะทางจนดูเหมือนงานศิลปะคอนเซปชวลมากกว่าภาพถ่าย ซึ่งตัวพีทเองก็มองตัวเองเป็นวิชวลอาร์ทติสท์ที่ใช้การถ่ายภาพเป็นสื่อหลัก เขาตั้งใจใช้ฉากหลังมืดสนิทและเอฟเฟกต์แสงเหนือจริงในผลงานของเขา เป็นการนำเสนอโลกของผู้พิการทางสายตาที่เขาได้สัมผัสให้ผู้มีสายตาได้มองเห็น ผ่านความทรงจำของงานภาพที่เขาเคยวาดในช่วงที่ยังมองเห็นปกติและผ่านการนึกคิดและไตร่ตรองในห้วงจิตใต้สำนึกมาอย่างละเอียด สำหรับพีทแล้วภาพถ่ายที่เขาสัมผัสได้นั้นอยู่ในกระบวนการที่เขาถ่ายทอดภาพที่อยู่ในหัวลงบนภาพถ่าย ส่วนตัวภาพที่ถูกผลิตออกมานั้นเป็นเหมือนตัวแทนที่สื่อสารรูปที่เขาทำขึ้นให้ผู้ชมได้เห็น ซึ่งในกระบวนการนี้พีทลงมือทำได้ทั้งหมดด้วยตัวเอง ผู้มีสายตาจะมาช่วยเขาสำรวจดูผลงานที่ถูกผลิตออกมาจนเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ พีทยังมองว่าการถ่ายภาพของผู้พิการทางสายตาแบบนี้เป็นพัฒนาการของศิลปะที่มีเหตุผลดี เขาเทียบประสบการณ์การถ่ายภาพและสร้างงานศิลปะของเขากับผลงานของศิลปินยุคอิมเพรชชันนิสท์ที่ทิศทางการวาดภาพเปลี่ยนไปตามสภาวะการมองเห็น เช่น คลอว์ด โมเนท์ (Claude Monet) ที่ถูกค้นพบภายหลังว่าโมเนท์มีอาการต้อกระจกในช่วงที่เขาทำผลงานชิ้นท้ายๆ ออกมา เอคเคิร์ทมองว่าผลงานของศิลปินที่มองเห็นน้อยลงเป็นการแสดงให้เห็นถึงมุมมองเชิงรูปธรรมที่แตกต่างออกไปผ่านสไตล์การสร้างผลงานที่แตกต่างจากเดิม

มีผลงานวิจัยในผู้พิการทางสายตารายงานว่า แม้ดวงตาของพวกเขาจะมองไม่เห็นโลกภายนอกเหมือนคนทั่วไป แต่เปลือกสมองส่วนการมองเห็นของพวกเขายังคงทำงานอยู่ พีทคิดว่าถ้ามีคนใช้คลื่นแม่เหล็กถ่ายภาพสมองของเขาผ่านเครื่องเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging – MRI) เราอาจจะเห็นเส้นประสาทส่วนการมองเห็นเหล่านี้เชื่อมกับประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆแทน ราวกับว่า ‘การมองเห็นของเขาเป็นการมองเห็นแบบใหม่มากกว่าความพิการหรือจุดอ่อน’

สำหรับพีท เอคเคิร์ท เขารับรู้ถึงโลกรอบตัวเขาเหมือนกับว่าโลกอยู่ใต้น้ำ นั่นแปลว่าภาพถ่ายแหวกแนวของเขาเป็นเหมือนทางลัดให้ผู้มีสายตาทั่วไปสามารถมองผ่านสายตาแบบพิเศษของผู้ที่ถูกมองว่ามองไม่เห็นด้วยความคิดสร้างสรรค์และจิตตั้งมั่นที่ล้นเหลือ พีทกลายเป็นหนึ่งในช่างภาพผู้ “พิการ” ทางสายตาที่ประสบความสำเร็จ และทำให้ศิลปินกลุ่มย่อมๆ กลุ่มนี้เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการทัศนศิลป์และถูกบันทึกลงในหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะ นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่าช่างภาพแบบพีทไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป และการรับรู้ที่แตกต่างของพวกเขานั้นมีคุณค่า

ดังที่พีทชอบกล่าวประโยคประจำใจนั่นแหละ:

“ผมเป็นคนเห็นภาพ ผมแค่มองไม่เห็น”
“I’m a visual person. I just can’t see.”

เบื้องหลังเลนส์พิศวงของ Pete Eckert 9

ที่มาของภาพประกอบ (photo credit)
https://www.shotinthedark-film.com/en/2017/07/22/indian-magazine-better-photography-shows-portfolios-of-pete-eckert-and-sonia-soberats/
https://humanrights.ca/blog/sight-unseen-interview-pete-eckert/
https://www.sixt.com/magazine/innovations/pete-eckert-vw-arteon/
https://petapixel.com/2013/08/07/blind-photographer-pete-eckert-describes-how-he-sees-and-captures-the-world/
ภาพชุด “Bone Light” http://peteeckert.com/portfolio/bone-light-gallery/
ภาพชุด Swarovski  http://peteeckert.com/portfolio/swarovski-shoot/

แหล่งอ้างอิง (reference)
• Pete Eckert Official Website: http://peteeckert.com/
https://edition.cnn.com/style/article/pete-eckert-blind-photographer/index.html
• ชมสารคดีสั้นเกี่ยวกับการทำงานของพีท เอคเคิร์ทได้ที่ https://petapixel.com/2013/08/07/blind-photographer-pete-eckert-describes-how-he-sees-and-captures-the-world/
• อ่านบทสัมภาษณ์พีท เอคเคิร์ท เพิ่มเติมได้ที่ https://humanrights.ca/blog/sight-unseen-interview-pete-eckert
• บทความเรื่องโรคการมองเห็นกับอิมเพรชชันนิซึ่ม https://www.nytimes.com/2007/12/04/science/04impr.html
• ผลงานวิจัยเรื่องเปลือกสมองส่วนการมองเห็นในคนตาบอด https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3667661/

ธรรมชาติ จันทพลาบูรณ์

นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และคอลัมน์นิสต์ประจำ Midnight Beam ที่ว่าด้วยเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมและชีวิตของบุคคลพิเศษจากทั่วโลก

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก