โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส

เราต่างต้องการ ‘เพื่อน’
Best Buddies RAJA

โครงการเพื่อนที่แสนดี หรือ Best Buddies Thailand ดำเนินงานโดยสถาบันราชานุกูลตัวแทนประเทศไทยซึ่งร่วมมือกับ Best Buddies International มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2549 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านทักษะสังคมของผู้ที่มีความแตกต่างด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ และในปีพ.ศ.2560 สถาบันราชานุกูลได้เปิดรับสมัครโรงเรียนแกนนำซึ่งมีนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมและตระหนักถึงความสำคัญการสร้างสัมพันธภาพให้แก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษกับเพื่อนนักเรียนแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ผ่านการวางแผนงานและจัดกิจกรรมสร้างสายสัมพันธ์ทั้งการเรียนรู้ทักษะทางสังคม สร้างความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีต่อกัน

โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 18

โรงเรียนวัดราชาธิวาส คือหนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายของ Best Buddies Thailand การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นการต่อยอดระบบบัดดี้หรือเพื่อนอาสาซึ่งมีอยู่แล้วในทุกห้องเรียนที่มีนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วม ด้วยการเพิ่มความสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวที่จะเอื้อต่อบทเรียนทักษะทางสังคมมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ หากแต่ยังส่งผลถึงนักเรียนที่อาสาเข้ามาเป็นเพื่อนที่แสนดี (peer buddies) ได้รับโอกาสสำรวจความคิด ความรู้สึกของตัวเองจากการสร้างมิตรภาพกับเพื่อนที่แตกต่างของเขาซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจและทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิตร่วมกันต่อไป


เกี่ยวกับโรงเรียนวัดราชาธิวาส
โรงเรียนวัดราชาธิวาสเปิดรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนร่วมตั้งแต่ปีพ.ศ.2552 เริ่มต้นจากห้องเรียนคู่ขนานออทิสติก จากนั้นคณะครูการศึกษาพิเศษส่งนักเรียนที่มีความพร้อมให้เข้าเรียนรวมบางเวลา เมื่อครูในชั้นเรียนเริ่มเรียนรู้เด็ก เด็กเริ่มเรียนรู้เพื่อน โดยยังมีครูการศึกษาพิเศษช่วยดูแลอยู่ ในเวลาต่อมาสามารถผลักดันเด็กเข้าเรียนรวมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ (พ.ศ.2554) ปัจจุบันโรงเรียนยังมีห้องเรียนคู่ขนานไว้คอยรองรับสนับสนุนการเรียนของนักเรียนแต่ละคนตามความจำเป็น ภาพรวมนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษของที่นี่ดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันได้และคณะครูมีความเข้าใจ
ทั้งนี้เกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเพื่อเข้าเรียนรวมนอกจากแบบทดสอบความพร้อมการเรียนรู้ในระดับม.1 แล้ว โรงเรียนให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์ผู้ปกครองซึ่งต้องมีเวลาดูแลพัฒนาการของเด็กอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่สนับสนุนการทำงานการศึกษาพิเศษของโรงเรียนวัดราชาธิวาสให้ประสบความสำเร็จคือ การนำหลักวิชาการต่างๆ มาบูรณาการกับกระบวนการทำงานโดยประยุกต์ใช้ตามบริบทจริงของโรงเรียน เน้นทัศนคติของครู เพื่อนนักเรียน ชุมชน และความร่วมมือของครอบครัว การบริหารจัดการมีความยืดหยุ่นรองรับความหลากหลายของนักเรียนแต่ละคน

การเข้าร่วมโครงการ Best Buddies Thailand โรงเรียนวัดราชาธิวาสตั้งเป้าหมายเบื้องต้นคือการพัฒนาทักษะสังคมให้แก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนและสร้างทัศนคติความเข้าใจที่ดีแก่เพื่อนอาสา และยังมุ่งหวังให้ขยายความเข้าใจนี้ไปทั้งโรงเรียน รวมทั้งพัฒนาเพื่อนอาสาให้เป็นแกนนำสามารถนำกระบวนการนี้ขยายเป็นบทเรียนตัวอย่างแก่ที่อื่นๆ ต่อไปได้

จากเพื่อนช่วยเรียน มาเป็นเพื่อนคนพิเศษ

คุณครูดลยา ศิริวัฒนานนท์ (ครูอาม)

โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 19

โรงเรียนเรามีเด็กพิเศษเรียนร่วมตั้งแต่ ม.1 – ม.6 ห้องละ 3 คน แต่ละระดับชั้นมี 2 ห้อง ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการ Best Buddies Thailand เราดูแลกันมาโดยไม่ได้มีหลักเกณฑ์อะไรมากคือ เปิดให้มีอาสาสมัครในห้องเรียน 1 คนที่ช่วยดูเรื่องการเรียน ติดตามภาระงานต่างๆ ของเพื่อนที่เรียนร่วมในห้อง 3 คน แต่สำหรับโครงการนี้ต้องจับคู่เพื่อนกันแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งเราก็เห็นว่าการจัดการที่เป็นระบบน่าจะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายทั้งเพื่อนอาสาและนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษก็ต่างได้เรียนรู้ ครูและผู้ปกครองเองก็สามารถติดตามพัฒนาการด้านต่างๆ ได้ใกล้ชิดและชัดเจนมากขึ้น ทางผู้บริหารจึงตกลงเข้าร่วมโครงการนำร่องในปี 2560

การเปิดรับเพื่อนอาสา (Peer Buddies)

ครูการศึกษาพิเศษของเราไปเรียนรู้กับสถาบันราชานุกูลก่อนว่าเราจะเตรียมความพร้อมให้ทั้งนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ (Buddy) และ เพื่อนอาสา (Peer Buddy) อย่างไร ควรจัดกิจกรรมและการติดตามผล อย่างไร จากนั้นคณะครูกลับมาขยายผลในโรงเรียน
ในปีแรกนี้เราเริ่มด้วยการจับคู่บัดดี้จำนวน 20 คู่ โดยทั้งสองฝ่ายสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ และเปิดโอกาสให้เลือกจับคู่กันเอง บางคู่เขาก็เรียนรู้กันมาระยะหนึ่งแล้วจากการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือในห้อง การเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้เขาเข้าใจบทบาทตัวเองมากขึ้น ครูก็จะรู้ว่าคนไหนช่วยดูแลใครและคอยให้คำแนะนำเพิ่มเติม

โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 20

ในกลุ่มเพื่อนอาสา (Peer Buddies) มีนักเรียนที่อาสาเองประมาณ 80% ส่วนที่เหลือครูจะดูแววแล้วชักชวนหรือขอความช่วยเหลือ ที่เราพบบ่อยคือเพื่อนอาสาอาจจะเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ เพราะเด็กในช่วงที่เป็นวัยรุ่นนี้ เขาเองก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัวเช่นกัน ส่วนเด็กที่มาสมัครเองส่วนหนึ่งคือกลุ่มที่ชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว เขามองว่าจะได้โอกาสในการเรียนรู้ใหม่ๆ และโรงเรียนก็มอบเกียรติบัตรจิตอาสาเพื่อนำไปใช้ประกอบการยื่นสมัครการศึกษาต่อ

ที่ผ่านมาเราจัดกิจกรรมพบปะให้ความรู้ทั้งกลุ่มเพื่อนอาสาและนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ เช่น การวางตัวกับเพื่อน เด็กพิเศษบางคนอาจจะโทรหาเพื่อนวันละหลายๆ รอบ เราต้องให้คำแนะนำว่ากี่ครั้งต่อสัปดาห์จึงเหมาะสม สอนเรื่องการมีช่องว่างให้เพื่อน การมารวมทำกิจกรรมยังทำให้เพื่อนอาสาไม่รู้สึกเครียดหรือหนักใจ เขามีโอกาสได้พูดคุยปรึกษาแลกเปลี่ยนกันกับ Peer Buddies คนอื่นๆ เมื่อทำกิจกรรมไปครูติดตามดูความสัมพันธ์ในชั้นเรียน พบว่าเพื่อนอาสาบางคนช่วงแรกเขาไม่แน่ใจว่าจะทำได้ แต่พอได้มาลองร่วมกิจกรรมและเปิดใจ เขาบอกความรู้สึกว่าเพื่อนก็น่ารักดี การที่เราให้ข้อมูล ให้ความรู้ และจัดให้ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ จากที่เขารู้สึกว่าเป็นภาระก็กลายเป็นหาจุดร่วม และทำงานไปด้วยกันได้

โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 21

Workshop for Peer Buddies

คุณชรรินชร เสถียร (แม่ริน)
ที่ปรึกษาวิทยากรกระบวนการ

สำหรับการอบรม Best Buddies Thailand ที่จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2561 เป็นการอบรมครั้งที่ 2 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนที่อาสาเป็น peer buddies ให้กับเด็กพิเศษได้เรียนรู้ทักษะ การทำความเข้าใจตนเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และเข้าใจว่าเด็กพิเศษเองก็เป็นมนุษย์อีกคนหนึ่งที่มีความรู้สึก มีความต้องการเช่นเดียวกัน

ด้วยความเข้าใจเช่นว่านี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการทำหน้าที่ของ peer buddies ที่จะมีมุมมองต่อความพิเศษว่า นั่นคือความธรรมดาของเพื่อนคนหนึ่งที่มีความบกพร่องในการจัดการความรู้สึกและความเข้าใจของตนเองบางอย่าง และส่งผลสู่การมีพฤติกรรมที่คนทั่วไปอาจเข้าใจได้ยาก

โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 22

โครงการ Best Buddies มองเห็นว่านักเรียนที่อาสาเป็น peer buddies ควรมีความรู้ความเข้าใจที่ครอบคลุมข้อมูลความรู้ทางวิชาการเรื่องเกี่ยวกับเด็กพิเศษ (เท่าที่จำเป็น) จึงได้ได้จัดการอบรมประเด็นนี้ไปในครั้งแรก และในครั้งที่สองนี้เป็นประเด็นครอบคลุมทักษะการดูแลและจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งการออกแบบกระบวนการอยู่บนแนวคิดพื้นฐานของการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง (experiential learning) และเรียนรู้ผ่านการสะท้อนคิด (reflection) จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่ยึดเอาเนื้อหาเป็นหลัก แต่ยึดเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง กิจกรรมต่างๆ จึงถูกออกแบบให้ตอบโจทย์เป้าหมายที่ต้องการและให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัยของ peer buddies ที่มาเรียนรู้ร่วมกัน (อายุ 12 – 17 ปี) ซึ่งมีการผสมผสานทั้งงานศิลปะ เกม การสนทนากลุ่ม และกระบวนการละคร ทำให้ peer buddies ที่เข้าร่วมอบรมได้รับทั้งความสนุกและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงจากในกิจกรรมและในชีวิตจริงมาเป็นวัตถุดิบในการเรียนรู้ร่วมกัน

โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 23โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 24โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 25โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 26

การอบรมแม้เพียงวันเดียวอาจสร้างความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นบางอย่างในตัว peer buddies สังเกตได้จากการสะท้อนบทเรียนก่อนปิดกิจกรรม นักเรียนส่วนใหญ่พูดสะท้อนถึงความต้องการในการฝึกฝนตนเองเพื่อให้สามารถรับภาระหน้าที่นี้ได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่ต้องการการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อเสนอแนะต่อโครงการ Best Buddies Thailand สร้างพื้นที่การสนทนาประเด็นเหล่านี้กับ peer buddies ให้สม่ำเสมอยิ่งขึ้น รวมถึงการเปิดโอกาสให้ peer buddies ได้สื่อสารความรู้สึกทั้งทางบวกและทางลบในการดำเนินภารกิจนี้ โดยความรู้สึกทั้งทางบวกและทางลบดังกล่าวล้วนเป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่สำคัญที่สามารถนำไปสู่การสนับสนุนให้ peer buddies เกิดความเข้าใจความแตกต่าง เกิดการยอมรับในธรรมชาติของเพื่อนพิเศษ และพัฒนา peer buddies รุ่นแรกไปสู่การเป็นแกนนำให้กับน้องๆ ในรุ่นต่อๆ ไป

โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 27โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 28โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 29โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 30

เปิดมุมคุยกับเพื่อนอาสา (Peer Buddies)

ด.ญ.แพรวา บุญยืน ม.3  ๐ นายวรชิต สิงห์แก้ว. ม.4  ๐ น.ส.วรรณวิสา สังข์ชัย ม.5 

โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 31

ทำไมถึงมาร่วมโครงการนี้ ?
๐ อยากมาลองดูว่าเราจะปรับทัศนคติของเราเกี่ยวกับเพื่อนที่เป็นเด็กพิเศษได้แค่ไหน อยากให้เขารู้ว่าเราก็เป็นเพื่อนคนหนึ่งนะ ไม่อยากให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว
๐ มันน่าสนใจที่ได้ลองอะไรใหม่ เหมือนเราได้อะไรมาเสริมเพิ่มตัวเองมากขึ้น เข้าใจเพื่อนที่อยู่ในห้องด้วย
๐ มีประสบการณ์ก่อนหน้าโครงการนี้ เคยช่วยเอางานไปให้เพื่อนดูเพราะเขาจดไม่ทัน เวลาเขาทะเลาะกันจะเข้าไปช่วยห้าม เจอเพื่อนที่แยกตัวทานข้าวคนเดียว เราก็ขอให้เพื่อนในกลุ่มรับเข้ามาอยู่ด้วย บางคนก็อาจจะยังไม่รับ แต่เราก็พยายามบอกว่าเราไม่ได้อยู่ด้วยกันไปตลอดนะ อะไรที่ช่วยได้ก็ช่วยเถอะ

สิ่งที่เราได้รับจากกิจกรรมครั้งนี้
๐ เราเข้าใจเด็กพิเศษมากขึ้น ทำอย่างไรเราจะคุยกันรู้เรื่องและจัดการอารมณ์ตัวเองได้ ไม่ปรี๊ดไปก่อนเขา และรู้ว่าจะช่วยเขาดูแลอารมณ์ตัวเองอย่างไร
๐ ได้ปรับความเข้าใจเกี่ยวกับเขาใหม่ว่าเขารู้สึกอย่างไร เรารู้สึกอย่างไร ถ้าต่างคนต่างไม่เข้าใจกันไปกันคนละทาง แต่ถ้าเพื่อนกันทำความเข้าใจกันเราก็ร่วมทางกันได้เพราะยังไงเขาก็เป็นเพื่อนในห้องเราอยู่ดี
๐ ปรับความเข้าใจกับเพื่อนได้ดี ตอนแรกหนูก็ไม่ชอบเด็กพิเศษ มาทำร่วมกิจกรรมอันนี้ก็ดีใจที่ ตัวเองก็ปรับทัศนคติของตัวเองกับเพื่อนด้วย

โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 32

การมีเพื่อนเป็นเด็กพิเศษ มีข้อดีกับเราและเพื่อนๆ ไหม
๐ เราได้รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร ได้เพื่อนเพิ่มขึ้นมา เราไม่มองว่าเขาเป็นเด็กพิเศษ เขาก็คือคนปกติคนหนึ่งที่เราต้องดูแลเขามากกว่าเดิม เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ใช่เห็นเขาเป็นเด็กพิเศษแล้วปิดเลย เขาก็คือเพื่อนเราคนหนึ่งที่ต้องการมีเพื่อนเหมือนกันกับเรา
๐ ได้รู้ว่าตัวเองอยู่ในขีดจำกัดไหน สามารถช่วยอะไรให้เขาได้บ้าง
๐ ได้เพื่อนใหม่มาเรียนรวม ได้ความสัมพันธ์กับเพื่อนในห้องจากเดิมที่ไม่ชอบเด็กพิเศษ ตอนนี้ก็มาจับกลุ่มนั่งเล่นเกมส์ด้วยกัน

หากเป็นตัวแทนโรงเรียนอยากบอกคนอื่นๆ ว่าโครงการนี้ดีอย่างไร
๐ มันโอเคนะคะได้เรียนรู้เพื่อนใหม่ และ ได้เข้าใจคนมากขึ้น
๐ ลองเปิดใจรับเด็กพิเศษดูว่าเขาเป็นเด็กปกติคนหนึ่งที่อาจมีความพิเศษ เขามีความสามารถบางอย่างที่อาจมากกว่าเด็กทั่วไปอีก บางทีเขาสามารถทำชื่อเสียงให้โรงเรียนได้มากกว่าเด็กอื่นๆ อีก
๐ เขาก็คือเพื่อนคนหนึ่ง เราก็ควรเปิดใจมีงานอะไรเขาก็ช่วยเหลือเราได้ เขามีน้ำใจมากกว่าหลายๆ คน การเปิดใจจะทำให้เราเห็นว่าเด็กพิเศษทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้นด้วยซ้ำ

ความพิเศษที่สร้างการเปลี่ยนแปลง

คุณครูจุติพร ปานา (ครูหญิง)

โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 33

การจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียนรวมในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 9 ปีที่ผ่านมาสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
หนึ่ง ครูในโรงเรียนมีเมตตาสูงมากจากที่เขาเคยกังวลว่าจะดูแลได้หรือไม่ หรืออาจมีความคาดหวังสูงเพราะเขาอยากให้เด็กได้ ก็เปิดใจรับเด็กมากขึ้นโดยมีฝ่ายการศึกษาพิเศษเป็นหน่วยสนับสนุน จุดที่ทำให้ครูเปิดใจที่จะดูแลส่วนหนึ่งคือเด็กของเรามีวินัย ไม่ขาดเรียน มีมารยาท และความรับผิดชอบ ครูเขาสบายใจอยากสอน

สอง เพื่อนในโรงเรียน เมื่อก่อนเรื่องเด็กพิเศษเป็นเรื่องใหม่ การย้ายโรงเรียนมาเด็กของเราต้องปรับตัวเยอะทำให้มีพฤติกรรมต่างๆ ที่อาจทำให้โดนแกล้งโดนแหย่บ้าง ฝ่ายการศึกษาพิเศษต้องหาช่องทางสื่อสารกับทุกฝ่าย พูดคุยกับเด็ก เข้าประชุมหรือปฐมนิเทศผู้ปกครองและนักเรียนทุกระดับชั้น เพื่อสื่อสารให้รู้ว่าเรามีเด็กพิเศษเรียนร่วมนะ เราขอความช่วยเหลือ เรามีเพื่อนแบบนี้ช่วยครูดูแลหน่อยนะ ครูการศึกษาพิเศษจะทำความรู้จักเด็กในโรงเรียนให้มากที่สุดถึงแม้จะไม่ได้สอนก็ตาม เราละลายตัวเองเข้าไปในทุกๆ กิจกรรมเพื่อให้เด็กเห็นเราเป็นสื่อกลาง จากความต่างความแปลกอยู่กันมาจนเป็นความเคยชินซึ่งเราปรับจูนให้เป็นการดูแลกัน และโชคดีที่โรงเรียนเราไม่เปลี่ยนห้องใหม่ระหว่างชั้นปีทำให้เด็กอยู่ด้วยกันต่อเนื่องคือ มัธยมต้น 3 ปี มัธยมปลาย 3 ปี ความสัมพันธ์ของพวกเขาจึงแนบแน่น

เราจะเห็นว่าเด็กพิเศษเวลาไปถูกเด็กห้องอื่นแกล้ง เพื่อนในห้องที่เคยแหย่กันเข้ามาปกป้องไม่ยอมเพราะนี่เพื่อนเขา หรือการช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลกันในโลกโซเชียลมีเดีย เราได้มากกว่าที่เราขอ ปัจจุบันเด็กพิเศษของเราเหมือนเด็กทั่วไปในโรงเรียน มีแขกมาเยี่ยมโรงเรียนเขาก็มองไม่ออกเพราะกลมกลืนกันไปหมด

สาม ชุมชนในซอยวัดราชาฯ เด็กบางคนที่เดินทางกลับบ้านเอง แม่ค้า วินมอร์เตอร์ไซด์ ช่วยเป็นหูเป็นตาให้ ทั้งชุมชนเข้าใจเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น กระเป๋ารถเมล์ก็มีประสบการณ์ที่ต้องช่วยเหลือดูแลเกิดความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ ขยายวงกว้างออกไป เราหวังว่าเมื่อสังคมรับรู้ว่ามีเด็กเหล่านี้อยู่จะเปิดโอกาสให้พวกเขามากขึ้น

โครงการเพื่อนที่แสนดีในโรงเรียนวัดราชาธิวาส 34

ร่วมกันสร้างสังคมที่มี Best Buddies

โรงเรียนพยายามทำหน้าที่ส่งต่อให้ไปให้ได้ไกลที่สุดคุยกับครอบครัวว่าวางแผนอย่างไร เราไม่อยากให้ทิ้งไว้บ้าน จบมัธยมต้นถ้าอยากเรียนต่อมัธยมปลายเราจะรับเลย หรืออยากไปฝึกอาชีพเราจะประสานให้ เด็กของเราไม่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เขาปรับตัวจนอยู่ในสังคมได้ ใครจะไปสายไหนเราก็จะเตรียมเขาในทิศทางนั้น ไม่ว่าการอยู่ร่วมกับเพื่อน พาไปดูสถานที่จริง ให้ดูตัวอย่างจากรุ่นพี่ ปรับสภาพใจให้พร้อมก่อนแล้วค่อยมาดูเรื่องการเรียน การส่งใบสมัคร เด็กรุ่นแรกของเราตอนนี้อยู่ปีสี่ ส่วนใหญ่เขาอาจเป็นผู้ใหญ่ช้ากว่าวัยบ้าง แต่เขาก็ดูแลตัวเองและเรียนได้ บางคนได้รับการจ้างงานในหน่วยงานและไปกลับที่ทำงานเองได้

แม้ว่าทุกวันนี้ในสังคมเราเปิดโอกาสให้เด็กพิเศษและคนพิการมากขึ้นทั้งสิทธิการเรียนและการจ้างงาน แต่สิ่งที่เรายังขาดคือบุคลากรที่จะทำงานพัฒนาอย่างต่อเนื่องและระบบสนับสนุนที่รับช่วงต่อ เช่น เมื่อเด็กจบจากโรงเรียนไปแล้วเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาซึ่งเขาต้องปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง แต่ไม่มีพื้นที่หรือระบบที่ปรึกษารองรับเด็กหลายคนไม่มีที่ไป เข้าหาเพื่อนไม่ได้ รู้สึกเคว้งคว้างบางคนกลับมาโรงเรียนเก่า ในสถานประกอบการผู้จ้างงานก็เช่นกัน ดูเผินๆ องค์กรอาจรู้สึกไม่คุ้มค่าหากจะมีระบบ Peer Buddies หรือ Job Coach รองรับ แต่หากเรานำทางเขาได้ดี เราเชื่อว่าศักยภาพของเขาจะกลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าแก่องค์กร

ขอขอบคุณ

คณะผู้บริหาร ครู และนักเรียน โรงเรียนวัดราชาธิวาส โครงการ Best Buddies RAJA และ คุณชรรินชร เสถียร

ถ่ายภาพ ศุภจิต สิงหพงษ์

Beam Talks คือความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

นรรณ (แม่อ้อ) วงศ์พัวพันธุ์

บรรณาธิการ

แม่ที่ชอบเล่าเรื่อง และเชื่อว่าทุกคนมีแสงสว่างของตัวเอง

Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ม.ค.-ส.ค.2561)

ดำเนินงานโดย นรรณ วงศ์พัวพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง Special Plaza มีความสุขเป็นพิเศษ และ
บรรณาธิการบริหาร Beam Talks Magazine
ติดต่อ : BeamTalkTeam@gmail.com
สงวนลิขสิทธิ์ © specialplaza.co

สมัครสมาชิก