*ซินเนสทีเชียสัมผัสสะท้อน (Mirror-Touch Synnesthesia หรือเรียกย่อว่า MTS)
ในบรรดาภาวะไม่ธรรมดาในสมองต่างๆ ที่ถูกตรวจพบได้ในมนุษย์ ภาวะที่ชื่อว่า “ซินเนสทีเชีย” (Synesthesia) อาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูมากนัก แต่ภาวะนี้กลับมีเอกลักษณ์หลายๆ อย่างที่น่าสนใจ ภาวะนี้เกิดจากพันธุกรรมที่ทำให้ระบบประสาทสัมผัสบางส่วน เช่น การมองเห็นและการได้ยิน เชื่อมต่อกับกันและกันจนรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัวพร้อมกัน การทำงานที่ไม่เหมือนในสมองทั่วไปแบบนี้ทำให้ผู้มีภาวะซินเนสทีเชียรับรู้โลกรอบตัวในแบบที่ไม่เหมือนใคร บางคนอาจเห็นสีลอยขึ้นมาตามอากาศเวลาได้ยินเสียงเพลง บางคนอาจได้ยินเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยินเวลาที่มีอะไรบางอย่างขยับไปมา ซินเนสทีเชียมีอาการหลากหลายรูปแบบมาก และผู้มีซินเนสทีเชียบางคนอาจเกิดมาพร้อมกับภาวะหลากหลายรูปแบบในตัวได้เช่นกัน
ซินเนสทีเซีย จากสีในตัวอักษร สู่การรู้สึกถึงอารมณ์ของผู้อื่น
เมแกน พอห์ลมานน์ (Megan Pohlmann) เป็นหนึ่งในผู้มีภาวะซินเนสทีเชียหลายประเภทในตัว เรียกว่า โพลี-ซินเนสทีท (Poly-synesthete) เธอเริ่มมองเห็นสีในตัวอักษรและรูปทรงต่างๆ ตั้งแต่ช่วงที่เธอยังเป็นเด็ก เพราะว่าสมองส่วนประมวลภาษาของเธอเชื่อมกับส่วนที่ประมวลสี การรับรู้แบบนี้ทำให้เธอรู้สึกขัดแย้งกับการสอนภาษาในช่วงเริ่มอ่านออกเสียง เพราะคุณครูของเธอพยายามสอนว่า ตัวอักษรเอ (“A”) คือแอปเปิ้ล (“Apple”) ที่เป็นสีแดง ในขณะที่สมองของเธอกลับรับรู้ว่าสามเหลี่ยมในตัวอักษรเอนั้นเป็นสีเหลือง นอกจากซินเนสทีเชียประเภทนี้แล้ว เมแกนยังรับรู้ตัวเลขเป็นบุคลิกภาพต่างๆ เช่น “เลขสาม” เป็นคุณยาย และแม้เธอจะไม่เห็นสีจากเสียง แต่ผิวหนังของเธอจะรู้สึกถึงสัมผัสกายภาพบางอย่างจากเสียงดนตรีประเภทต่างๆ แทน แทบจะเรียกได้ว่าชีวิตของเมแกนนั้นเหมือนจะเมายาเสพติดอ่อนๆ ตลอดเวลาเลยก็เป็นได้
โชคดีที่เมแกนได้ทำความรู้จักกับภาวะซินเนสทีเชียของเธอในช่วงวัยรุ่น เพราะคุณตาของเธอ (ซึ่งมีภาวะซินเนสทีเชียเหมือนกัน) ได้ลองส่งแบบสอบถามเกี่ยวกับภาวะซินเนสทีเชียไปให้แม่ของเมแกนลองถามเธอดู แต่ตัวเมแกนเองก็เพิ่งมารู้ในภายหลังว่าซินเนสทีเชียของเธอไม่ได้ส่งผลต่อสัมผัสกายภาพทั้งห้าของเธอเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ในวัยเด็ก เวลาที่เมแกนอยู่ใกล้แม่ของเธอ แล้วแม่มีความรู้สึกเครียดและเป็นกังวล เมแกนจะรู้สึกแบบนั้นตามในแทบจะทันที เมแกนไม่สามารถทำความเข้าใจกับความรู้สึกเหล่านั้นได้ทั้งหมด เนื่องด้วยช่วงวัยแม่ลูกที่ต่างกัน แต่เธอลับรู้สึกแบบเดียวกับแม่ของเธอได้ทั้งอย่างนั้น ในช่วงแรกๆ เมแกนทำความเข้าใจกับความรู้สึกตรงนี้ ว่าเธอเป็นผู้หญิงที่อ่อนไหวกว่าคนอื่นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การรับรู้ความทุกข์จากผู้อื่นที่ชัดเจนขนาดนี้ทำให้เมแกนมีแรงผลักดันในการช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุขกว่าเดิม จนเธอเติบโตขึ้นมาทำงานเป็นนางพยาบาลกุมารเวชในโรงพยาบาลเด็กเซนต์หลุยส์ (St. Louis Children’s Hospital) รัฐมิสซูรี่
เมื่อเมแกนอายุ 24 ปี เธอมีโอกาสได้รับการตรวจพบว่าเธอมีภาวะซินเนสทีเชียอีกประเภทหนึ่งในตัวเธอ นั่นคือ ซินเนสทีเชียสัมผัสสะท้อน (Mirror-Touch Synnesthesia หรือเรียกย่อว่า MTS) ภาวะซินเนสทีเชียประเภทนี้ส่งผลต่อเซลล์ประสาทสัมผัสสะท้อน (Mirror-Touch Neurons) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ประมวลความรู้สึกของผู้คนรอบตัวให้สมองได้รับรู้ แต่เซลล์ประสาทสัมผัสสะท้อนของผู้มี MTS นั้นสามารถทำได้มากกว่ารับรู้ความรู้สึก จนผู้มี MTS สามารถรู้สึกร่วมกับคนรอบข้างได้โดยอัตโนมัติ ความรู้สึกที่สามารถรู้สึกร่วมได้นั้นนับรวมไปถึงความเจ็บปวดทางกายภาพอีกด้วย
แม้ว่าใครหลายคน (รวมทั้งตัวเมแกนเองในช่วงแรกๆ) จะมองว่าเมแกนเป็นแค่ผู้หญิงที่เจ้าอารมณ์กว่าคนอื่นเป็นพิเศษ แต่ภาวะ MTS นั้นส่งผลต่อเมแกนมากกว่าความเจ้าอารมณ์ธรรมดามาก เช่น ถ้าเธอไปเข้าร่วมงานศพ เธอจะรู้สึกได้เลยว่าใครกำลังโศกเศร้า ใครกำลังปล่อยวาง ใครกำลังรู้สึกเกร็งจนทำตัวไม่ถูก และเด็กในงานคนไหนบ้างที่ยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ เมแกนรู้สึกแบบเดียวกับผู้ร่วมงานศพเหล่านี้พร้อมๆ กันทุกคนในเวลาเดียวกัน จนทำให้เธอรู้สึกเหนื่อยล้าได้โดยง่าย หรือถ้ามีผู้ชายมาหลงชอบเธอเข้า แล้วเธอไม่ชอบตอบ เธอจะรู้สึกกระอักกระอ่วนมากเวลาที่เธอรู้สึกถึงความชอบในตัวเธอจากผู้ชายคนนั้น แล้วไม่ได้รู้สึกชอบตอบกลับ นอกจากนี้ แม่และน้องสาวของเมแกนก็ถูกตรวจพบหลังจากตัวเธอเองว่ามี MTS เหมือนกันหมด กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้เวลาเมแกนกับแม่มีปัญหากัน ความรู้สึกของทั้งสองจึงกระเด้งไปหากันและกัน และการรู้สึกร่วมของทั้งสองก็กระเด้งไปหาน้องสาวที่อยู่ในห้องเดียวกันเสียอีก
การใช้พลังพิเศษของเมแกน
แต่กลับกลายเป็นว่าอาชีพพยาบาลกุมารเวชของเมแกนเป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมที่ภาวะ MTS ของเธอจะถูกใช้ให้กลายเป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวดต่อผู้อื่น จนทำให้เธอดูเหมือนมนุษย์ผู้มีพลังวิเศษเลยทีเดียว แม้ในช่วงแรกๆ เมแกนจะคุมพลังวิเศษที่ว่านี้ได้ไม่ดีนัก จนเธอพยายามกีดกันความรู้สึกต่างๆ ออกไป แต่เธอได้ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ของเธอเองผ่านหนังสือ Mirror Touch: Notes from a Doctor who can Feel your Pain โดยนายแพทย์โจเอล ซาลินาส์ (Joel Salinas, MD.) ผู้มี MTS และทำงานด้านการแพทย์เหมือนกับเธอ ผ่านประสบการณ์ร่วมระหว่างนายแพทย์โจเอลกับตัวเธอเอง เมแกนเริ่มเรียนรู้ที่จะมอง MTS ของเธอให้เป็นมากกว่าภาระการรับความรู้สึกทุกข์ยากของผู้อื่น และเปลี่ยนมันเป็นอุปกรณ์การสื่อสารและทำความเข้าใจผู้อื่นแทน จนเธอค้นพบว่า การยอมให้ความรู้สึกเข้าหาเธอนั้นทำให้เธอจัดการตัวเองได้ง่ายกว่าการพยายามปัดเป่ามันออกไปมาก
ระหว่างที่เธอทำงานพยาบาลร่วมกับความสามารถนี้ เมแกนสามารถรู้สึกร่วมกับเด็กทารกที่เธอรับหน้าที่ดูแล จนสามารถช่วยแพทย์ที่ทำงานกับเธอตรวจวินิจฉัยอาการผิดปกติในตัวทารกที่อายุน้อยเกินกว่าจะพูดภาษาคนได้อย่างแม่นยำ เช่นในวันหนึ่งที่เมแกนกำลังดูแลเด็กทารกคนหนึ่ง จู่ๆ เด็กทารกก็ร้องไห้จ้าขึ้นมาโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดร้องเลย ในจังหวะนั้น เมแกนรู้สึกปวดหัวอย่างหนักผ่านการรู้สึกร่วมกับทารกคนนั้น ทั้งๆ ที่อาการปวดหัวไม่ได้อยู่ในรายชื่ออาการป่วยของทารกคนนั้นเลย เมแกนและแพทย์ผู้ดูแลทารกจึงสรุปได้ว่าเด็กทารกกำลังแสดงอาการข้างเคียงจากการแพ้ยา และเมื่อแพทย์หยุดใช้ยา เด็กทารกก็สงบลงและหยุดร้องไห้ราวกับว่าเป็นทารกคนละคนกัน
และเมื่อเมแกนต้องดูแลทารกอีกคนหนึ่งที่ติดยาจากการคลอดออกมาจากแม่ที่ติดยากลุ่มโอปิออย์ด (diploids) จนให้นมแม่ได้ไม่มากพอ เด็กทารกคนนี้บางทีก็อยู่นิ่งมาก แต่จู่ๆก็ร้องไห้ดังและอาการผิดปกติขึ้นมาหน้าตาเฉย ไม่มีใครรู้ว่าเด็กทารกเป็นอะไร จนกระทั่งเมแกนเริ่มรู้สึกร่วมกับเด็กทารก และรู้สึกตื่นตระหนก ตัวสั่น และคลื่นไส้อยากอาเจียนพร้อมๆ กัน เธอจึงรู้สึกได้ว่าเด็กทารกกำลังมีผลข้างเคียงจากการหยุดรับยาโอปิออย์ดจากนมแม่กระทันหัน ทางโรงพยาบาลจึงต้องค่อยๆ ผสมนมผงกับนมแม่ที่มีตัวยาจนเด็กทารกอาการดีขึ้นและอยู่นิ่งพอที่จะกลับบ้านได้
นอกจากการช่วยเป็นกระบอกเสียงให้เด็กทารกแล้ว เมแกนยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยวัยรุ่นได้อีกด้วย แม้อารมณ์ของพวกเขาจะเตลิดเปิดเปิงจนเมแกนรู้สึกตามลำบากในบางครั้ง มีครั้งหนึ่งที่เธอตรวจจับได้ว่าอารมณ์ของวัยรุ่นผู้หญิงคนหนึ่งแปรปรวนทุกครั้งที่ญาติผู้ชายของเธอคนหนึ่งเดินเข้ามาอยู่ในที่เดียวกัน เธอรู้สึกเวียนหัว ไม่สบายตัว และอยากจะหนีจากผู้ชายคนนั้นให้ได้ เมแกนสรุปได้ว่าผู้หญิงคนนี้ถูกญาติผู้ชายทำร้ายร่างกาย และคอยให้การต่อนักสังคมสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือเธอในเวลาต่อมา
ภาวะ MTS ของเมแกนยังช่วยให้เธอปรับทุกข์โศกของพ่อแม่ผู้ปกครองที่พาลูกมารับการรักษาที่โรงพยาบาลเด็กเซนต์หลุยส์อีกด้วย แม้ว่าจะมีผู้ปกครองที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เธอก็สามารถเข้าใจความกลัวและความกังวลของพวกเขา และให้พวกเขาได้อุ้มเด็กก่อนปฏิบัติการแพทย์และคอยดูแลพวกเขาให้ใจเย็นลงได้ หรือในกรณีที่เธอและแพทย์ที่ทำงานร่วมกันต้องแจ้งผู้ปกครองว่าลูกของเขาต้องผ่านการปฏิบัติการที่อันตรายมากจนอาจทำให้ลูกเสียชีวิต เมแกนสามารถสื่อสารทางใจผ่านการสัมผัสและสายตากับผู้ปกครองให้สามารถระบายความทุกข์ได้ จนเรียกได้ว่าเป็นการเข้าใจอารมณ์ที่ลึกซึ้งกว่ามารยาทการดูแลผู้ป่วยของแพทย์ทั่วๆ ไป
ปัจจุบันนี้ เมแกน พอห์ลมานน์ มีอายุ 30 ปี อยู่กินกับสามีชื่อจอช (เธอหลงรักเขามากเพราะว่าเขาไม่แสดงอารมณ์หรือความรู้สึกโจ่งแจ้งเหมือนผู้ชายคนอื่นๆ ที่เข้ามาหาเธอ) และเป็นแม่ของลูกชาย 2 คน คาเลบ และเบน กับลูกสาววัยแบเบาะอีก 1 คนชื่อมิเรียม โดยทั้งคาเลบและเบนล้วนเริ่มแสดงภาวะซินเนสทีเชียของตนเองแล้ว โดยเฉพาะเบนที่ดูจะมี MTS เหมือนกับตัวเมแกนเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือ เมแกนพบว่าภาวะ MTS ของเธอเองมีพลังมากขึ้นเมื่อเธอเริ่มเป็นแม่ จนเธอไม่สามารถกรองเอาความรู้สึกที่เธอรับรู้ร่วมกับคนอื่นออกไปได้เลยเหมือนแต่ก่อน แต่นั้นยิ่งทำให้แรงผลักดันในการช่วยเหลือของเธอแข็งแกร่งขึ้นตามมาเท่านั้น เพราะเมแกนสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับภาวะการรับรู้ที่ไม่ธรรมดาของเธอได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่เธอรู้ถึง MTS ของเธอจริงๆ เป็นครั้งแรก
การฝึกหายใจเข้าลึกๆ และการนั่งสมาธิในช่วงเลิกงานช่วยเธอให้มีความคิดปลอดโปร่งขึ้นได้มาก และการคุยจุกจิกแบบไม่ใช้ความรู้สึกกับเพื่อนร่วมงานก็ทำให้เธอสบายใจและจิตนิ่งขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ทำให้เธออยู่ร่วมกับ MTS ของเธอได้มากที่สุดนั้น คือ การมีความสุขจากความสุขของผู้อื่น (จริงๆ ! ) ผ่านความแน่วแน่ในการทำให้ผู้อื่นรู้สึกดีขึ้น ที่เธอมีมาพร้อมกับตัวภาวะ MTS นั่นเอง จนตอนนี้ ตัวเมแกนเองก็นึกไม่ออกว่าจะใช้ชีวิตของเธอโดยไม่มีภาวะ MTS ในตัวเธอเลยได้อย่างไร การปรับตัวในระดับนี้เป็นสิ่งที่น่าศึกษาและนำไปปรับใช้มาก แม้ว่าจะเป็นการปรับใช้สำหรับภาวะอื่นๆ ที่ซับซ้อนกว่าซินเนสทีเชียก็ตาม
ในฐานะหนึ่งใน 1.5% ของประชากรโลกที่มีภาวะ MTS และได้เข้าถึงความรู้สึกในใจมนุษย์มากกว่าคนแทบทั้งโลก เมแกน พอห์ลมานน์ เชื่อว่าการเข้าอกเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญมาก และถ้าคนเราให้ความสนใจกับความรู้สึกและความเข้าใจเหล่านี้ เราจะสามารถแก้ปัญหาที่เรามีกับกันและกันหลายอย่างได้จริงๆ สำหรับเธอแล้ว การที่คนๆ หนึ่งนั่งฟังความรู้สึกของคนอีกคนที่ถูกระบายออกมา และตอบกลับว่า “เรารู้” นั้น มีค่าพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตใครหลายคนได้เลยทีเดียว ต่อให้เราไม่มีพลังจิตหยั่งรู้เหมือนภาวะ MTS แต่การให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่นนั้น ล้วนแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น ตราบใดที่พวกเรายังอยู่ร่วมกันบนโลกใบเดียวกันอยู่
แหล่งที่มา (source):
– https://www.glamour.com/story/meet-the-nurse-whose-superpower-is-synesthesia
– https://people.com/health/nurse-megan-pohlmann-mirror-touch-synethesia-feels-pain/
– https://www.babble.com/parenting/megan-pohlmann-mirror-touch-synesthesia/
– https://www.psychologytoday.com/us/blog/sensorium/201510/nurse-literally-feels-your-pain
– https://www.lovewhatmatters.com/if-someone-was-hurting-i-couldnt-let-it-go-it-hurt-me-too-mom-describes-her-rare-mirror-touch-synesthesia-condition/